ชวนชม ปรากฏการณ์หายากในประเทศไทย เมฆเลนส์แบบหลายชั้น

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

ช่วงปลายเดือนก่อนในเช้าวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม ใครอยู่แถวชลบุรี หรือเดินทางมุ่งตรงไปชลบุรี อาจมีสิทธิ์ลุ้นได้เห็นเมฆสวยงามแปลกตา ดูน่าพิศวงราวกับภาพวาด ลองชมภาพที่นำมาฝากกันครับ

ภาพหนึ่งเป็นของคุณนพมณี สงวนพงศ์ ส่วนอีกภาพเป็นของคุณพิเชษฐ อิทธิสัทธากุล ทั้งสองท่านเป็นสมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆซึ่งอยู่ใน facebook ตรงนี้นะครับ www.facebook.com/groups/CloudLoverClub

เมฆในภาพทั้งสองนี้มีชื่อเรียกว่า เมฆเลนส์แบบหลายชั้น (stacked lenticular clouds) คำว่า lenticular clouds หมายถึง ‘เมฆเลนส์’ ส่วนคำว่า stacked มาจากคำกริยา stack ที่แปลว่า ‘ซ้อนกัน’ เมฆเลนส์แบบหลายชั้นจัดว่าเป็นเมฆหายากในบ้านเรา

น่ารู้ด้วยว่าฝรั่งยังมองเมฆเลนส์แบบหลายชั้นคล้ายจานวางซ้อนกันอยู่หลายๆ ใบ และเรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า pile d’assiettes (ปิล ดาซิแอตส์) อีกด้วย

ผมขอแนะนำลักษณะของเมฆเลนส์ในกรณีทั่วไปก่อน เมฆเลนส์มีผิวเรียบเนียน ขอบค่อนข้างคมชัด ต่างจากเมฆก้อนตามปกติที่เราคุ้นเคย เพราะเมฆก้อนทั่วๆ ไป มักจะมีด้านบนตะปุ่มตะป่ำ ส่วนด้านล่างหรือฐานเมฆ มักจะค่อนข้างเรียบแบน หรืออาจขรุขระเล็กน้อย

ชื่ออย่างเป็นทางการของเมฆเลนส์ คือ เลนติคิวลาริส (lenticularis) เป็นภาษาละติน คำนี้มาจากคำว่า lenticular ซึ่งมาจากคำว่า lens อีกที โดยคำว่า lens หมายถึง ถั่วเม็ดแบน (lentil)

เมฆเลนส์แบบหลายชั้น วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2566 เวลา 07.08 น. อ.เมือง จ.ชลบุรี
ภาพ : นพมณี สงวนพงศ์

ในการเรียกชื่อเมฆตามระบบของ International Cloud Atlas ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก คำว่า lenticularis จัดเป็นชนิด (species) ของเมฆ ซึ่งอาจเกิดได้ในเมฆ 3 สกุล ได้แก่ ซีร์โรคิวมูลัส (Cirrocumulus) แอลโตคิวมูลัส (Altocumulus) และสเตรโตคิวมูลัส (Stratocumulus)

เมฆเลนส์มีทั้งแบบก้อนเดี่ยวๆ กับแบบหลายก้อนติดกัน พวกก้อนเดี่ยวๆ ฝรั่งมองว่ามีรูปร่างคล้ายเลนส์ หรือเมล็ดอัลมอนด์ จึงเรียกว่า lenticular cloud แปลตรงตัวว่า “เมฆรูปร่างคล้ายเลนส์” แต่ผมขอเรียกสั้นๆ ว่า “เมฆเลนส์”

บางครั้งเมฆเลนส์ก้อนเดี่ยวอาจดูคล้ายจานบิน หรือสิ่งบินลึกลับ ฝรั่งชาวบ้าน (หมายถึง ไม่ใช่นักวิชาการ) จึงอาจเรียกง่ายๆ ว่า UFO cloud (เมฆยูเอฟโอ) แต่บางครั้งก็เรียก UFO-like cloud (เมฆคล้ายยูเอฟโอ) หรือ UFO-shaped cloud (เมฆรูปร่างแบบเดียวกับยูเอฟโอ)

น่ารู้ด้วยว่าคำว่า UFO ย่อมาจาก Unidentified Flying Object หรือ วัตถุบินลึกลับที่ไม่อาจระบุได้ว่าคืออะไร แต่คนไทยชอบเรียกว่า ‘จานบิน’ แต่จริงๆ แล้วคำว่า ‘จานบิน’ ตรงกับคำว่า flying saucer ทำให้เวลาแปลคำว่า UFO cloud แบบไทยๆ ก็อาจแปลแบบไม่ตรงตัวว่าเป็น ‘เมฆจานบิน’ ในบางครั้ง

เมฆเลนส์เกิดขึ้นได้ยังไง?

เมฆเลนส์แบบหลายชั้น วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2566 เวลา 09.04 น. จุดพักรถมอเตอร์เวย์ ก่อนออกบางแสน
ภาพ : พิเชษฐ อิทธิสัทธากุล

ลองนึกถึงบริเวณแนวเทือกเขา กระแสอากาศที่ไหลมาปะทะแนวเทือกเขาจะถูกบังคับให้ยกตัวสูงขึ้น แต่เมื่อผ่านแนวเทือกเขาไปแล้ว กระแสอากาศอาจจะไหลกระเพื่อมเป็นคลื่น เรียกว่า คลื่นทางฝั่งปลายลม (lee wave) ดูแผนภาพครับ

กระแสอากาศมักแบ่งเป็นชั้นๆ ซ้อนกันอยู่ เมื่อมองภาพรวมจะพบว่า กระแสอากาศในชั้นล่างๆ จะกระเพื่อมมากกว่า ส่วนกระแสอากาศชั้นบนจะกระเพื่อมน้อยกว่า

อากาศในแต่ละชั้นเมื่อถูกยกให้ลอยสูงขึ้นก็จะขยายตัวออก ส่งผลให้อุณหภูมิลดลงไป ผลก็คือ ไอน้ำจะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำขนาดจิ๋วจำนวนมหาศาล ซึ่งมองภาพรวมก็คือ ‘เมฆ’ นั่นเอง

แต่เมฆที่เกิดขึ้นนี้ถูกกักอยู่ในชั้นอากาศที่ว่ามาแล้ว จึงมีรูปร่างแบนๆ ยืดยาวออกทางด้านข้าง และผิวมักค่อนข้างเรียบ ดูละม้ายคล้าย ‘เลนส์’ หรือ ‘จานบิน’ หรือ อันเป็นที่มาของชื่อเมฆชนิดนี้นั่นเอง ดังนั้น หากเห็นเมฆจานบินใกล้ๆ ภูเขา ก็แสดงว่าตรงเมฆนั้นเป็นยอดคลื่น คือกระแสอากาศกระเพื่อมขึ้นสูงสุด

เรื่องน่าอัศจรรย์เล็กๆ อย่างหนึ่งคือ เมฆเลนส์มักอยู่ที่เดิม คือไม่เคลื่อนที่ไปตามกระแสลม นั่นคือในขณะที่เมฆอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ๆ โดยรอบจะถูกกระแสลมพัดพาไป แต่เมฆเลนส์ยังนิ่ง เพียงแต่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงรูปร่างไปทีละน้อย บางครั้งพบว่าเมฆเลนส์อาจคงตัวอยู่นานหลายชั่วโมงก็มี

ทีนี้ย้อนกลับไปที่ภาพตั้งต้น – คำถามก็คือ เมฆเลนส์แบบหลายชั้น เกิดขึ้นได้ยังไง?

แผนภาพแสดงการเกิดเมฆเลนส์ทางฝั่งปลายลมหลังแนวเทือกเขา
ภาพดัดแปลงจาก https://communitycloudatlas.wordpress.com/category/lenticular/

นักอุตุนิยมวิทยาชาวอังกฤษ ชื่อ ริชาร์ด ซีการ์ สกอเรอร์ (Richard Segar Scorer) เสนอสมมุติฐานไว้ว่าลักษณะซ้อนๆ กันหลายชั้นในเมฆเลนส์เกิดจากปริมาณความชื้นที่มากน้อยแตกต่างกันไปในแนวดิ่งสลับเป็นชั้นๆ ชั้นไหนชื้นมาก ก็เกิดหยดน้ำมาก ชั้นไหนชื้นน้อย ก็เกิดหยดน้ำน้อย

ส่วนคำอธิบายที่แม่นยำขึ้นไปอีกอยู่ในผลงานของนักวิจัย 2 คน คือ เอ็ม โอ จี ฮิลส์ (M.O.G. Hills) และ ดี อาร์ เดอร์แรน (D.R. Durran) ซึ่งตีพิมพ์บทความชื่อ Quantifying moisture perturbations leading to stacked lenticular clouds ในวารสารชื่อ Quarterly Journal of the Royal Meteorological Society บทความนี้เผยแพร่แบบออนไลน์ในเดือนมกราคม ค.ศ.2014 ใครสนใจบทความ ตาม link นี้ไปดาวน์โหลดไฟล์ pdf ครับ https://atmos.uw.edu/~durrand/pdfs/Hills_Durran_qjrms_2014.pdf

สาระสำคัญคือ ฮิลส์และเดอร์แรนใช้การจำลองเหตุการณ์ด้วยระเบียบวิธีเชิงตัวเลขความละเอียดสูง และคำนวณพบว่าความชื้นสัมพัทธ์ที่แตกต่างกันแม้เพียงน้อยนิด คือ ต่างกันแค่บวกหรือลบ 0.25% ก็สามารถทำให้ชั้นของเมฆเลนส์เกิดการเยื้องกันได้ราว 170 เมตร นั่นคือสายตาของคนเราสามารถสังเกตเห็นได้

พวกเขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าความแตกต่างของความชื้นในปริมาณระดับนี้น่าจะเป็นเรื่องปกติในธรรมชาติ แต่ที่น่าสนใจด้วยก็คือ อุปกรณ์ตรวจวัดมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ (ในขณะที่พวกเขาเขียนบทความดังกล่าว) ยังมีความแม่นยำไม่ดีเพียงพอที่จะสามารถตรวจจับความแตกต่างระดับดังกล่าวได้ เพราะความแตกต่างของความชื้นละเอียดกว่าขีดความสามารถของอุปกรณ์ราว 10 เท่า

อาจมีคำถามว่า แล้วในบริเวณที่ไม่มีภูเขาเลย จะมีโอกาสเกิดเมฆเลนส์ได้หรือเปล่า?

คำตอบคือ ได้ครับ! แต่เกิดยากกว่าบริเวณที่มีภูเขา เมฆเลนส์แบบนี้ เรียกว่า เมฆเลนส์ที่เกิดเหนือพื้นราบ (flat-terrain lenticular clouds)

 

ในต่างประเทศ เคยเกิดที่รัฐเท็กซัส และที่ Grand Rapids รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ข้อมูลจากเว็บ Earthsky.org ระบุว่าเมฆเลนส์อาจเกิดเหนือพื้นผิวราบเนื่องจากลมเฉือน (shear winds) อันเป็นผลมาจากแนวปะทะอากาศ (front)

ส่วนในบ้านเรา แม้จะไม่มีแนวปะทะอากาศก็ตาม แต่ผมเคยเจอเมฆเลนส์ที่เกิดเหนือพื้นราบอย่างน้อย 3 ครั้งที่จังหวัดนนทบุรี สองครั้ง และที่ปทุมธานีอีก 1 ครั้ง

กรณีที่จังหวัดนนทบุรีทั้งสองครั้งเป็นช่วงเวลาที่ลมหนาวพัดแรงเป็นพิเศษ นั่นคือวันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2560 เวลาประมาณ 10.48 น. โดยมองเห็นจากบริเวณใกล้ๆ ถนนสนามบินน้ำ และอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2563 เวลา 11.42 น. โดยมองเห็นจากถนนงามวงศ์วาน

ส่วนกรณีที่จังหวัดปทุมธานี เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 เวลา 07.54 น. โดยมองเห็นจากสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

เมฆเลนส์สอนให้เรารู้ว่าท้องฟ้ามักมีอะไรโผล่มาให้เราแปลกใจเสมอครับ!