‘ซอฟต์เพาเวอร์’ นั้นไซร้ คือ ‘หมาน่อยธรรมดา’?

ภาพจากทวิตเตอร์ @Thavisin

“ต่อไปนี้ผู้ใหญ่ลีจะขอกล่าว ถึงเรื่องราวที่ได้ประชุมมา ทางการเขาสั่งมาว่า ทางการเขาสั่งมาว่า ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร ฝ่ายตาสีหัวคลอน ถามว่าสุกรนั้นคืออะไร ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใด ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใด สุกรนั้นไซร้คือหมาน้อยธรรมดา หมาน้อย หมาน้อยธรรมดา หมาน้อย หมาน้อยธรรมดา”

เพลง “ผู้ใหญ่ลี” ประพันธ์คำร้อง-ทำนองโดย “อิง ชาวอีสาน” (พิพัฒน์ บริบูรณ์)

 

คํากล่าวบนเวทีเสวนาที่จัดโดยสถานีโทรทัศน์-สื่อสาธารณะไทยพีบีเอสของ “ต้องเต-ธิติ ศรีนวล” ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยรายได้หลายร้อยล้านเรื่อง “สัปเหร่อ” ก่อให้เกิดวิวาทะและอารมณ์ขุ่นข้องหมองใจตามมามากมาย

ประเด็นหลักที่ต้องเตสื่อสารออกมา ก็คือ เขาไม่รู้ว่า “ซอฟต์เพาเวอร์” ที่รัฐบาลกำลังโหมประโคมนั้นหมายถึงอะไรกันแน่? และเขาไม่แน่ใจว่าภาครัฐจะสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในภาพรวมอย่างไรบ้าง?

เอาเข้าจริง “ความไม่รู้ของต้องเต” กลับมีประเด็นที่ลงล็อก-ตรงจุด (แบบ “มุมกลับ”) กับนโยบาย “ซอฟต์เพาเวอร์” และแนวคิดในการจัดตั้งหน่วยงาน THACCA ของรัฐบาลเพื่อไทย-เศรษฐา อยู่พอดี

เพราะเท่าที่ติดตามการปราศรัย การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ของบุคลากรพรรคเพื่อไทย ตลอดจนรับฟังการประชุมซูเปอร์บอร์ดซอฟต์เพาเวอร์นัดแรก เข้าใจว่าโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลนั้นมีอยู่สองเรื่อง

เรื่องแรก คือ การใช้ “ซอฟต์เพาเวอร์” ผลักดันให้เกิดวิถีการผลิตแบบใหม่ อันนำไปสู่การจ้างงานที่ทวีจำนวนขึ้นอย่างมหาศาล (ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่รับฟังยังมองไม่เห็นภาพชัดๆ ของกระบวนการที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ดังกล่าว)

เรื่องที่สอง คือ การเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากอุตสาหกรรม/เศรษฐกิจสร้างสรรค์ภาคส่วนต่างๆ ได้เข้ามาคลี่เผยปัญหาอุปสรรคสำคัญของตนเอง พร้อมทั้งเสนอวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ตลอดจนเรียกร้องการสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐ

ด้วยเหตุนี้ อาการมึนงงสับสนที่ผู้กำกับฯ “สัปเหร่อ” เพิ่งแสดงออกมา จึงเป็นเหมือนการถามย้ำ-ถามทวนโจทย์เดิมที่รัฐบาลตั้งเอาไว้นั่นเอง

ภาพโดย ThaiPBS

ถ้าถกเถียงกันบนปัญหาพื้นฐานแค่นั้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็น่าจะดำเนินไปอย่างราบรื่น หรืออย่างน้อยก็พูดคุยกันรู้เรื่องกว่านี้

แต่สิ่งที่ทำให้นโยบาย “ซอฟต์เพาเวอร์” กลายเป็นมีมตลกในโลกออนไลน์ กลายเป็นสิ่งที่ผู้สนับสนุนเพื่อไทยต้องออกมาปกป้องพรรคด้วยอาการหงุดหงิดหัวใจ ก็อาจเป็นเพราะจุดตั้งต้นของนโยบายคือคำว่า “ซอฟต์เพาเวอร์” นั้น เป็น “คำใหญ่คำโต” จนเกินไป และมีนัยยะทางการตลาดแบบฉาบฉวยมากเกินไป

ยิ่งคำดังกล่าวตกไปอยู่ในมือระบบราชการไทย ซึ่งถนัดกับการจับ “สากกะเบือยันเรือรบ” ยัดใส่ลงไปใน “ไอเดีย/นโยบายใหม่ๆ” ที่รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ ณ ขณะนั้นๆ โยนลงมา

“ซอฟต์เพาเวอร์” ก็ยิ่งกลายเป็น “คำ” ที่ถอยห่างออกจาก “ความ” เป็น “จุดขาย-ลูกเล่น” ที่ล่องลอยออกจาก “กระบวนการทำงาน”

ยิ่งนานวัน ความหมายของคำว่า “ซอฟต์เพาเวอร์” จึงยิ่งกลวงเปล่าและโกลาหลปนเป ส่วนกระบวนการที่จะผลักดันให้ “ซอฟต์เพาเวอร์” ประสบผลสำเร็จ อย่างที่รัฐบาลต้องการขับเน้น ก็พลอยเจือจาง เบาบาง ถูกมองข้ามไป

กระทั่ง “คนในพรรคเพื่อไทย” เอง ก็มักทำให้นิยามของ “ซอฟต์เพาเวอร์” ฟังดูไขว้เขวมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นรองนายกรัฐมนตรี “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ที่เคยเสนออย่างจริงจัง (ในที่ประชุมซูเปอร์บอร์ดซอฟต์เพาเวอร์ครั้งแรก) ว่า ภาครัฐควรผลักดัน “ซอฟต์เพาเวอร์” ผ่านการสนับสนุน “นักกีฬาประเภทสัตว์เลี้ยง” เช่น การแข่งขัน “นกพิราบ”

หรือหัวหน้าพรรคคนใหม่ เช่น “แพทองธาร ชินวัตร” ที่อุปมา “ซอฟต์เพาเวอร์” กับกรณีศึกษาเรื่อง “ความสำเร็จของเครื่องดื่มช็อกมินต์”

จึงไม่ใช่เรื่องล้อเล่นหรือเรื่องน่าแปลกประหลาดใจ ถ้าวันใดวันหนึ่งในเวลาอันใกล้นี้ จะมีคนสวมวิญญาณ “ผู้ใหญ่ลี” เมื่อ พ.ศ.2504 ลุกขึ้นมาป่าวประกาศแบบฮาๆ แต่เอาจริงว่า “ซอฟต์เพาเวอร์นั้นไซร้ คือหมาน่อยธรรมดา หมาน่อย หมาน่อยธรรมดา” (ขออนุญาตสะกดเป็น “หมาน่อย” ตามสำเนียงการร้องเพลงที่เราคุ้นหูกันดี)

 

คําถามมีอยู่ว่า จากการเป็น “โอกาสใหม่ๆ ไม่ใช่ปัญหาเก่าๆ” ซึ่งกลายมาเป็น “คำใหญ่ๆ ที่มีปัญหาในการนิยามความหมาย” รัฐบาลเพื่อไทย-เศรษฐา ควรจะปรับโจทย์เรื่อง “ซอฟต์เพาเวอร์” อย่างไรดี?

ข้อแรก รัฐบาลและ/หรือซูเปอร์บอร์ดซอฟต์เพาเวอร์ คงต้องแจกแจงอย่างเร็วไวและชัดเจนว่า ได้ริเริ่มแก้ปัญหาให้อุตสาหกรรม/เศรษฐกิจสร้างสรรค์ภาคส่วนต่างๆ ไปถึงไหนแล้ว? เพื่อให้เอกชนผู้เชี่ยวชาญงานเฉพาะในแต่ละด้าน มีโอกาสเดินนำหน้าไปก่อน

จากนั้น จึงค่อยๆ เพิ่มความชัดเจนเป็นรูปธรรมให้แก่นโยบาย “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์” และการจ้างงานเพิ่มในหลักสิบล้านอัตรา ซึ่งแลดู “พร่าเลือน-เพ้อฝัน” ในวิสัยทัศน์ของคนนอกพรรค-นอกรัฐบาล

ข้อสอง ผู้รับผิดชอบคงต้องให้น้ำหนักกับการสื่อสารเรื่องกระบวนการทำงาน (ทั้งเรื่องที่จะทำและเรื่องที่ลงมือทำไปบ้างแล้ว) ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบาย “ซอฟต์เพาเวอร์” มากขึ้น แบบเยอะๆ ชัดๆ มากกว่าจะพาสังคมให้หลงเวียนวนอยู่กับนิยามอันงงงวยของคำว่า “ซอฟต์เพาเวอร์”

ข้อสุดท้าย แต่ถ้าผู้เกี่ยวข้องตระหนักได้ว่า คนจำนวนมหาศาลในสังคมไทยยัง “ไม่รู้” และ “มึนงง” ว่า “ไอ้ซอฟต์เพาเวอร์มันคืออะไรกันแน่?” พวกท่านอาจต้องอดทนรับฟังอาการจับต้นชนปลายไม่ถูกของผู้คนทั้งหลายให้มากขึ้น (อย่าเพิ่งโกรธ หงุดหงิด โต้ตอบพวกเขาแรงๆ ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว)

แล้วอาจต้องปรับโจทย์-ตั้งหลัก-ประมวลข้อมูลกันใหม่ให้ “เข้าใจตรงกัน” ก่อนว่า “ซอฟต์เพาเวอร์แบบไทยๆ” นั้นคืออะไร? ควรเป็นอย่างไร? และจะสามารถเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งเสริมสร้างจินตนาการความใฝ่ฝันใหม่ๆ ของคนส่วนใหญ่ในประเทศได้มากน้อยแค่ไหน?

โดยลืม “โจเซฟ ไนย์” หรือ “โคเรียนเวฟ” ไปก่อน •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน