ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 พฤศจิกายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | เงาตะวันออก |
เผยแพร่ |
เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล
เศรษฐกิจการเมืองชนชาติลุ่มแม่น้ำโขง (1)
ภูมิหลัง
ในยุคสมัยที่ความคิดเรื่องรัฐชาติ (Nation State) ยังไม่เกิดขึ้นนั้น คงไม่มีชนชาติพันธุ์ใดที่ใช้ชีวิตอยู่ตามริมสองฝั่งแม่น้ำโขง จะได้คิดถึงการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของทรัพยากรทั้งที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำนี้
แต่การไม่คิดในที่นี้ต่างถูกละเอาไว้ในฐานที่เข้าใจว่า ต่างคนต่างก็เป็นเจ้าของทรัพยากรจากแม่น้ำสายนี้ร่วมกัน
สภาพดังกล่าวดำรงอยู่มาเป็นเวลาช้านาน และโลกในปัจจุบันก็เรียกวิถีชีวิตเศรษฐกิจเช่นนี้ว่าเศรษฐกิจแบบยังชีพ
แต่ภายใต้วิถีชีวิตเช่นนี้เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่อาจหลีกหนีความเป็นจริงทางการเมืองในชั่วขณะหนึ่งๆ ไปได้ นั่นคือ ความเป็นจริงทางการเมืองที่ผูกพันกับอุดมการณ์เทวราช หรืออุดมการณ์ความเชื่อในเรื่องศูนย์กลางจักรวาล โดยตัวแสดงที่มีบทบาทสำคัญก็คือ กษัตริย์หรือจักรพรรดิ
บนความจริงข้อนี้ทำให้ผู้นำของบางชนชาติในลุ่มแม่น้ำโขงต้องแข่งขันกันตั้งตนเป็นศูนย์กลาง
การแข่งขันดังกล่าวบางครั้งก็นำมาซึ่งสงคราม บางครั้งก็จบลงด้วยดีเมื่อชนชาติหนึ่งยอมจำนนต่ออีกชนชาติหนึ่ง แต่ผลที่ตามข้อหนึ่งก็คือ ชนชาติที่มีอำนาจบารมีจนตั้งตนเป็นศูนย์กลางขึ้นมาได้นั้นมักจะได้เขตแดนของตนเพิ่มขึ้น
ซึ่งก็หมายความว่า ชนชาตินั้นสามารถขยายแหล่งทรัพยากรของตนได้กว้างขวางมากขึ้น โดยทรัพยากรที่ว่านี้ไม่เพียงหมายถึงทรัพย์สินที่พึงได้จากธรรมชาติเท่านั้น หากยังรวมไปถึงแรงงานมนุษย์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจการเมืองดังกล่าวทำให้เราสามารถแยกชนชาติต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงที่มีอยู่หลายสิบชนชาติได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ
กลุ่มหนึ่ง เป็นชนชาติที่มีความเจริญมั่งคั่งและอำนาจรัฐอยู่ในกระแสหลัก
อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นชนชาติที่มีฐานะด้อยกว่ากลุ่มแรก บางชนชาติก็มีขนาด (ทั้งประชากรและพื้นที่ครอบครอง) เล็กมากและกระจัดกระจายไปหลายแห่ง ชนชาติในกลุ่มนี้บางครั้งก็ร่วมมือกับกลุ่มแรก บางครั้งก็ปลีกตนเองออกจากการแข่งขันต่อสู้ของกลุ่มแรก
ตราบจนเมื่อความคิดรัฐชาติเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากนักล่าอาณานิคมตะวันตกเข้ามามีอิทธิพล สภาพเศรษฐกิจการเมืองของชนชาติในลุ่มแม่น้ำโขงก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง
ยิ่งเมื่อกระแสโลกตกอยู่ในยุคสงครามเย็นหรือยุคโลกาภิวัตน์ด้วยแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็ยิ่งทวีความสลับซับซ้อนมากขึ้น
แต่เนื่องจากชนชาติในลุ่มแม่น้ำโขงมีภูมิหลังจากที่กล่าวมาข้างต้น การศึกษาเพื่อทำความเข้าใจพัฒนาการเศรษฐกิจการเมืองของชนชาติเหล่านี้ในปัจจุบันจึงไม่อาจละเลยภูมิหลังที่ว่าได้ หาไม่แล้วการมองไปสู่อนาคตก็ไม่อาจชัดเจนขึ้นได้
เสี้ยวประวัติศาสตร์
เป็นความจริงที่ว่า ชนชาติพันธุ์ต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงมีอยู่นับสิบชนชาติ แต่เราก็มีข้อมูลที่ให้รายละเอียดลึกซึ้งของหลายชนชาติน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับชนชาติที่มีบทบาทสำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง
ชนชาติที่มีบทบาทสำคัญในที่นี้ก็เช่นชนชาติจีน (ฮั่น) ไต มอญ ไทยใหญ่ พม่า กะเหรี่ยง ไทย (สยาม) ลาว เวียดนาม และเขมร เป็นต้น
ส่วนกลุ่มชนชาติที่มีข้อมูลน้อยในที่นี้หมายถึง กลุ่มชนชาติที่กระจัดกระจายตามที่ต่างๆ ตลอดลุ่มแม่น้ำโขง หรือถ้าหากกล่าวบนพื้นฐานความเข้าใจของคนไทยแล้ว ส่วนหนึ่งก็คือ กลุ่มชาวเขาทางภาคเหนือของไทยในปัจจุบันส่วนหนึ่งนั้นเอง
ทั้งที่จริงแล้ว ชนชาติเหล่านี้บางชนชาติไม่ได้กระจุกตัวอยู่แต่เพียงในไทยเท่านั้น หากกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ของพม่า ลาว จีน กัมพูชา และเวียดนามด้วย
ส่วนที่ว่ามีข้อมูลน้อยในที่นี้ไม่ได้หมายถึงข้อมูลทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม การปกครอง ฯลฯ ซึ่งจากหลายสิบปีที่ผ่านมาได้มีผู้ศึกษาเอาไว้พอสมควร หากแต่คือข้อมูลอันเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมา ที่มักจะรวมไปถึงบทบาททางการเมืองเอาไว้ด้วย
ทั้งที่โดยความจริงแล้วชนชาติเหล่านี้มีบทบาทมาโดยตลอด มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป
แต่โดยภาพรวมแล้วก็คือ กลุ่มชนชาติที่ได้รับผลสะเทือนจากบทบาทของชนชาติกลุ่มแรก และเป็นชนชาติที่มักจะตกเป็นฝ่ายผู้ถูกกระทำอยู่เสมอ
บนพื้นฐานความจริงดังกล่าว กลุ่มชนชาติที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั้น สามารถทำให้เราพอประมวลภาพรวมได้ว่า เป็นกลุ่มชนชาติที่มีทั้งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและอยู่กันด้วยความขัดแย้ง
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ มีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างจะลุ่มๆ ดอนๆ แต่ถ้าจะฉายภาพให้ชัดขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เราอาจสรุปภาพรวมที่ว่าได้โดยสังเขป
ดังนี้
จีน อิทธิพลของจีนในลุ่มแม่น้ำโขงเมื่อครั้งอดีตมีพื้นที่เป้าหมายอยู่ที่มณฑลอวิ๋นหนัน (ยูนนาน) ในปัจจุบัน จีนมีประสบการณ์ (ซึ่งอาจจะรวมถึงทัศนคติ) ที่ไม่สู้ดีกับชนชาติที่อยู่รายล้อมตน จนต้องทำสงครามกับชนชาติเหล่านี้อยู่เนืองๆ โดยเฉพาะชนชาติที่อยู่ทางภาคเหนือ
ดังนั้น กล่าวเฉพาะในพื้นที่อวิ๋นหนันแล้ว สิ่งที่จีนได้กระทำให้บรรลุเป้าหมายของตนก็คือ การรวบรวมชนชาติต่างๆ ในพื้นที่นี้ให้มาขึ้นต่อตน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางอุดมการณ์ที่เชื่อว่าตนเป็นศูนย์กลางของโลก
หรือเพื่อความมั่นคงภายในของตนในอันที่จะมั่นใจได้ว่า ชนชาติเหล่านี้จะไม่รุกรานตนในวันหนึ่ง) ก็ตาม
ควรกล่าวด้วยว่า แม้จีนจะมีประสบการณ์กับชนชาติต่างๆ ดังที่ว่า แต่สำหรับความรู้สึกของบางชนชาติแล้ว กลับไม่ได้คิดว่าตนเป็นฝ่ายรุกรานจีน หากแต่คิดว่า จีนต่างหากที่เป็นฝ่ายรุกรานตน
ตัวอย่างเช่น เกาหลี ซึ่งนับเป็นชนชาติหนึ่งที่กล่าวอ้างเช่นนั้นในประวัติศาสตร์ของตน ทัศนะหรือความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้มักจะรู้กันน้อย ถ้าหากเราละเลยที่จะศึกษาข้อมูลอีกด้านหนึ่งจากชนชาติเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ว่าใครเป็นฝ่าย “รุกราน” นั้น จริงๆ แล้วต่างฝ่ายต่างก็เป็นผู้รุกรานได้พอๆ กัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละสมัย เป็นต้น
และแล้วเสี้ยวประวัติศาสตร์สำคัญช่วงหนึ่งก็เกิดขึ้นคือ เมื่อราชวงศ์หมิง (1368-1644) ที่เพลี่ยงพล้ำให้แก่ชนชาติแมนจูผู้รุกรานนั้น ในปี 1659 กษัตริย์องค์หนึ่งของราชวงศ์นี้ได้หนีมาอยู่ที่อวิ๋นหนันพร้อมกับผู้ติดตามหลายพันคน การหนีครั้งนี้ต่อมาจะได้ส่งผลสะเทือนมาจนถึงปัจจุบัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022