33 ปี ชีวิตสีกากี (45) | ตำรวจมีวิธี “สะกดรอยคนร้าย” อย่างไร

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

การตระเตรียมงานติดตามสังเกตผู้ต้องสงสัย เนื่องจากเป็นงานที่ยาก เสี่ยงต่อการที่จุดหรือผู้สงสัยจะรู้ตัว จึงต้องมีการเตรียมงานเพื่อมิให้ฝ่ายตรงข้ามล่วงรู้ ต้องเตรียมให้รัดกุม เพื่อให้มีประสิทธิภาพ 100%

การเตรียมการทำให้แก้ไขได้ แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ

1. Case Study ศึกษาเรื่องราวของงาน ว่าไปอย่างไร มาอย่างไรเกี่ยวกับอะไร เคยทำการสืบสวนหรือเปล่า หรือมีใครทำมาแล้วบ้าง ใช้การติดตามแบบไหน เป็นองค์การหรือขบวนการ อยู่ที่ไหน เช่น ตรวจดูว่างานนี้เคยทำมาแล้วหรือยัง

2. Casing การสำรวจลาดเลา

3. Planningการวางแผนการ

 

1.Case Study

1.1 เกี่ยวกับบุคคล:- หาจากรายงานหลักฐานที่มีอยู่แล้วหรือไปหามา เช่น ชื่อจริง ชื่ออย่างอื่น ลักษณะรูปพรรณ ภาพถ่ายต่างๆ ที่หาได้ นิสัยลักษณะท่าทางที่เด่น ความเคยชินที่ปฏิบัติตามปกติ เรื่องราวที่เป็นมาของบุคคล ชื่อลักษณะรูปพรรณของคนที่มาติดต่อด้วย เหตุผลลักษณะการที่เขามาติดต่อ ตำบลสถานที่ที่น่าจะไปบ่อยๆ

1.2 ท้องที่บริเวณนั้น เราต้องศึกษา:- ประเภทของบริเวณท้องที่ ย่านการค้า ที่อยู่อาศัย ฯลฯ ประเภทของบุคคลที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น ภาษาที่ส่วนใหญ่ใช้ ใช้ภาษาไหน กิริยาอาการ เครื่องแต่งตัว ประเพณีของบริเวณนั้น

1.3 สถานที่ที่เราสงสัย:- ตำบลสถานที่ที่เขาไปบ่อยๆ สถานที่เฉพาะอย่าง วันเวลาที่เขาใช้สถานที่นั้น

1.4 ยวดยานพาหนะที่เกี่ยวข้อง:- จุด เคยใช้ยานพาหนะอะไร เพื่อเตรียมตัวช่วยสะกดรอย ชนิดรูปร่าง ลักษณะของรถ เลขหมายทะเบียน ท่าทางความชำนาญในการขับขี่ โรงซ่อมและสถานที่ให้ความสะดวกของจุด เช่น ปั๊มน้ำมัน ถนนเส้นทางที่ชอบไป ลักษณะขอบเขตแต่ละกรณี (จุดที่สงสัยเพราะว่าอะไร)

ตัวอย่างของกรณีที่เคยทำมาก่อนแล้ว เป็นอย่างไรบ้าง

 

2.Casing

ต้องรู้ว่าภูมิประเทศเป็นอย่างไร ทิศไหนจรดอะไร

แหล่งทำมาหากิน แหล่งอบายมุข แหล่งเสื่อมโทรม แหล่งบันเทิง

ไปตรวจสอบพื้นที่นั้นๆ ถึงสภาพภูมิประเทศ ประเภทของประชาชนในบริเวณนั้น ลักษณะการแต่งตัว ประเพณี ทางหนีทีไล่

ที่เฝ้าจุดมีที่แอบแฝงหรือไม่ เอารถไปจอดได้ไหม ผิดสังเกตไหม จราจรพลุกพล่านหรือไม่

สำรวจเส้นทางเข้าออก

 

3.Planning

วางแผนการ โดยมีวัตถุประสงค์ ให้จุดอยู่ในสายตาและงานมีประสิทธิภาพให้รัดกุม แนบเนียน มิให้จับได้ การวางแผนการติดตาม

1) เกี่ยวกับตัวผู้ติดตาม รูปร่างของคนที่จะไป เสื้อผ้าผู้ติดตามจะต้องให้คล้ายคลึงกับคนในท้องที่ เครื่องประดับเพชรพลอย วัตถุที่เห็นเด่นชัดอย่างอื่นว่าเราเป็นตำรวจ ลักษณะหน้าตาของผู้สะกดรอย เช่น เอาหน้าตาเล็กๆ ไปสะกดรอยแถวเยาวราช รองเท้าสวมสบาย เดินไม่มีเสียงดัง

2) ทุนทรัพย์ ค่าใช้จ่าย ให้เพียงพอ และมี pocket money 100 บาทติดตัวเมื่อฉุกเฉินและมีเงินย่อย

3) เอกสารและเครื่องแสดงตัวต่างๆ ควรเอาติดตัวไปด้วย (*แต่ถ้างานความลับ ไม่ควรเอาไป แต่สะกดรอยควรเอาไป*) ใบอนุญาตขับขี่ พกอาวุธ เดินทางข้ามแดน เพื่อป้องกันการเสียเวลา แต่เอกสารเหล่านี้เราจะไม่นำออกแสดงเป็นอันขาด *เว้นแต่ถูกจับกุมหรือไม่มีทางหลีกเลี่ยงแล้ว* บางทีต้องเตรียมเรื่องปกปิดตัวเอง (Alibis)

4) ยานพาหนะ ถ้ามีความจำเป็น ควรใช้รถเก๋ง และต้องให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นที่นิยมใช้กันในบริเวณนั้น หรือรถบรรทุก จักรยานยนต์ อื่นๆ เท่าที่จำเป็น

5) ห้องหรือแหล่งซ่อนรูป เพื่อแอบฟัง สังเกตดู

6) กลวิธีและเทคนิค เพื่อตกลงหน้าที่กันอย่างแน่นอนและแบ่งหน้าที่ว่าใครทำหน้าที่อะไร

7) อาณัติสัญญาณ จะต้องตั้งคนหนึ่งคนใดเป็นหัวหน้ารับผิดชอบ และเป็นคนกำหนดอาณัติสัญญาณให้เข้าใจตรงกัน เช่น เดินต่อไป เลี้ยวซ้าย เดินกลับ ฯลฯ สัญญาณเหล่านี้ใช้อิริยาบถของคนทั่วไป เช่น การเลี้ยวซ้าย อาจจะล้วงกระเป๋า เลี้ยวขวา จุดบุหรี่สูบ กลับหลังอาจจะใช้ยกแขนขึ้นดูนาฬิกา หรืออาจจะใช้ จับหูซ้าย จับหูขวา เสยผม ดูนาฬิกา ล้วงกระเป๋า หยิบผ้าเช็ดหน้า

8) ที่หยุดพัก ถ้ามีการติดตามเป็นเวลานานๆ ผู้ถูกติดตามอาจจำหน้าได้ เราอาจจะเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว หรือเปลี่ยนคนติดตาม

9) การติดต่อสื่อสาร ในระหว่างที่ติดตามอาจติดต่อกับสายบัญชาการ ซึ่งอาจจะใช้วิทยุ หรือโทรศัพท์ (กรณีโทรศัพท์ ในทางสายลับไม่นิยมใช้) การรายงานต้องมิดชิดแนบเนียน ควรจะใช้ในกรณีฉุกเฉินและจำเป็นจริงๆ

10) การเตรียมเบ็ดเตล็ด ได้แก่ การเตรียมต่างๆ เช่น อาวุธ กระบอกไฟฉาย กล้องส่องทางไกล กุญแจมือ ยาแก้ปวดหัวตัวร้อนต่างๆ

 

การติดตามสังเกตด้วยการเดิน

1. จะได้ผลขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ ถ้ามีมาก โอกาสที่จะหาจุดลอดก็มีน้อย

2. ความคับคั่งของคนในท้องถนนว่ามีมากน้อยเพียงใด ถ้าคนคับคั่งพลุกพล่านมากก็ได้ผลน้อย

3. ความสำคัญของพวกเราในการซ่อนเร้นว่าเรากำลังติดตามให้น้อยลง

4. ผู้ถูกติดตามมีความสามารถที่จะหลบหลีกมากน้อยเพียงใด

แบ่งการเดินติดตามออกเป็น ดังนี้

1. การติดตามคนเดียว อาจจะพบโดยบังเอิญ โดยไม่คาดฝัน การเดินระยะต่อไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความคับคั่งมากน้อยเพียงใด ถ้าคับคั่งมากก็อาจใกล้ตัว แต่ข้อเสีย คือ จุดอาจเล็ดลอดไปได้

*ถ้าที่คับคั่งมากก็ใกล้จุดมาก แต่ถ้าคับคั่งน้อยก็ห่างจุด

*หลักสำคัญ คือ อย่ามองหน้าจุด เพราะอาจจะจำหน้าได้

ถ้าเดินตามหลังไปนานๆ จุดอาจสงสัย เราอาจจะเดินมาฝั่งตรงข้ามจุดบ้าง และอาจเยื้องมาข้างหลังบ้างเล็กน้อย และสังเกตดูว่า จุดอาจจะแวะเข้าร้านค้า หรือบ้านใครบ้างหรือไม่

2. การติดตามคู่ ทำให้โอกาสที่จุดจะหลุดก็มีน้อยลง การติดตามก็เหมือนเดิม คือ ถ้าคับคั่งมากก็ใกล้จุด แต่ถ้าไม่ก็ห่าง แต่อีกคนควรจะอยู่ฝั่งตรงข้าม

3. การติดตาม 3 คน ตำแหน่งต่างๆ อาจจะสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งกันได้ ทำให้มีโอกาสจำหน้าได้น้อย เวลาเดินมาหัวเลี้ยว คนที่เดินฝั่งตรงข้าม ต้องเร่งฝีเท้ามาตรงสี่แยกเพื่อสังเกตดู

4. การติดตามสังเกตแบบคืบหน้าทีละขั้น เป็นการติดตามประจำว่า ออกจากบ้านกี่โมง แวะที่ไหนบ้าง ฉะนั้น การที่จะไปติดตามที่บ้าน จึงเป็นการเสียเวลา ดังนั้น การติดตามก็ทำได้โดยการไปยังที่ที่สืบทราบมาว่าจะไปไหน

5. วิธีผสม คือ การติดตามด้วยการเดินเท้าและยวดยาน ทำได้โดยใช้ผู้ติดตาม 2-3 คน และยวดยานอีก 2-3 คัน แต่ละคันจะต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำรถ 3 คน มีคนรับฟังคำสั่ง อีก 2 คน ทำหน้าที่ติดตาม ช่วยเหลือ พร้อมที่จะออกจากรถช่วยเหลือได้ทันที

ข้อเสียคือ ถ้าขับรถติดตามโดยชะลอช้าๆ ลากเกียร์ 2 ก็อาจจะเป็นที่สังเกตได้