‘ปกติ’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ชะนีมือขาว - ส่วนใหญ่เวลาของชะนีจะใช้ชีวิตอยู่บนเรือนยอดไม้ เมื่อมองย้อนแสง เห็นเป็นเงาดำ รูปร่างธรรมดาๆ ของชะนี ก็คล้ายจะเปลี่ยนไป

คนทำงานในป่า มักเลี่ยงไม่พ้นกับคำถามซึ่งถูกถามบ่อยๆ ว่า “อยู่ในป่า เจอเรื่องผิดปกติบ้างไหม” ผู้ถามหมายถึงเรื่องราวลี้ลับต่างๆ รวมทั้งเรื่องของสัตว์ป่าดุร้ายอันตราย อย่างที่ได้ยินมา

ผมจะเลือกตอบว่า ไม่เจอ เป็นคำตอบที่ใช่ว่าจะไม่เคยเจอ แต่ผมเลือกที่จะเชื่อว่า โดยประสบการณ์ของผมว่า สิ่งต่างๆ หรือเรื่องซึ่งพิสูจน์ไม่ได้นั้น มันเป็นเรื่องที่มาพร้อมกับงานที่ทำ

มีหลายครั้งที่ผมพบว่า สิ่งที่เจอแล้วคิดว่าผิดปกตินั้น บางทีไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร

เช่น นอนอยู่ในเต็นท์ แล้วมีเสียงคล้ายคนเดินอยู่รอบๆ ออกมาดูก็ไม่เห็นอะไร กลับเข้าไปนอนก็ได้ยินอีก หากผมหยุดเพียงแค่นี้ เรื่องเล่าของผมก็จะเป็นเรื่องตื่นเต้นลี้ลับ นอนในป่ามีเสียงเดินรอบเต็นท์

แท้จริงมันคือเสียงน้ำค้างจากปลายฟลายชีตหยดลงพื้น

มีเสียงลม เสียงต้นไม้ เสียดสี รวมทั้งเงาโน่นนี่ไหว อันทำให้คิดว่าเป็นเสียงและภาพลี้ลับขณะอยู่ในป่า และตอนอยู่ในซุ้มบังไพรได้เสมอ

อีกนั่นแหละ หลายคนย่อมมีประสบการณ์แตกต่างออกไป

เพียงแต่ผมเลือกที่จะเชื่อเช่นนี้ เพราะสำหรับผม ป่าไม่ใช่ดินแดนลี้ลับ ไม่มีที่ใดอันตราย ป่า, ภูเขา เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล เตรียมตัวให้พร้อม เหมาะสมกับการอยู่ในที่แบบนั้น จะช่วยให้งานได้ผล

 

“ระวังโว้ย เสือมา”

ท่ามกลางความเงียบ เสียงตะโกนของนิพนธ์ เพื่อนร่วมทางปลุกให้ผมตื่น ดูนาฬิกาเพิ่งตีสาม ลงจากเปล ฉายไฟ ผมเห็นเขายืนมองไปทางลำห้วย

“เสือโคร่งครับพี่ ตัวเบ้อเริ่มเลย มันวิ่งผ่านแคมป์ และไปทางนี้” เขาชี้ไปในความมืด

ผมฉายไปดูที่พื้น หารอยตีน “ไม่มีรอยนะ ฝันไปหรือเปล่า”

“ผมเห็นชัดเลยครับ แหม ที่นี่แรงเอาเรื่อง” นิพนธ์พูดก่อนลงนั่งเป่าท่อนฟืนที่เหลือถ่านแดงๆ กองไฟติด บริเวณแคมป์อบอุ่นขึ้น

นิพนธ์เชื่อว่า สิ่งที่เขาเห็น เป็นความ “ผิดปกติ” หรือในอีกความหมาย เรื่องนี้ย่อมเป็นสิ่งปกติในอีกความเชื่อ

ว่าตามจริง เรื่องราวแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกของคนทำงานในป่า ถึงที่สุดแล้ว มันก็กลายเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการพิสูจน์ว่า แท้จริง สิ่งเช่นนิพนธ์เห็นนั่นเป็นเสือจริง หรือเป็นแค่ภาพที่เขาเห็นไปเอง

เหตุการณ์เมื่อสักครู่ จะกลายเป็นเรื่องเล่าข้างกองไฟอีกเรื่องหนึ่งต่อไป

 

อีกนานกว่าจะสว่าง อากาศเย็นยะเยือกเมื่อห่างกองไฟ

“ถ้าไม่นอนต่อก็หุงข้าวเลยเถอะครับ เผื่อกลางวันด้วย” ผมบอก

กองไฟสว่างขึ้น นิพนธ์เติมฟืน นาฬิกาบอกเวลาตีสี่ ความง่วงหายไป ผมเดินมาที่กองไฟ

“ต้มน้ำชงโกโก้น่ะครับ” นิพนธ์พูดเบาๆ แววตาแสดงความดีใจที่มีคนนั่งเป็นเพื่อน

ผมนั่งบนเก้าอี้ตัวเล็ก เปลวไฟไหววูบวาบ นิพนธ์นั่งอีกฝั่ง หม้อสนามเริ่มสั่น น้ำหยดลงกองไฟดังฟู่

เราหลีกเลี่ยงการนั่งทับท่อนฟืน มีความเชื่อหลายอย่างที่มาจากเหล่าลูกป่าที่ได้รับสืบทอดมาจากรุ่นพ่อรุ่นปู่ เป็นสิ่งที่เราปฏิบัติตาม พูดตามตรง ใช่ว่าจะเชื่อกับสิ่งเหล่านี้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การทำให้เพื่อนร่วมงานไม่สบายใจ ย่อมไม่ใช่วิธีอันฉลาดนัก

“ตอนหัวค่ำ นั่งทับฟืนหรือเปล่า” ผมถาม

“แหมพี่ นี่ขนาดว่าไม่ได้ลบหลู่อะไรแล้วนะยังโดนล้อเล่นจนได้” ผ่านเหตุการณ์ระทึกใจมาแล้ว ที่เหลือคือเวลาที่พูดถึงได้อย่างสนุก

ชะนีมือขาว – ส่วนใหญ่เวลาของชะนีจะใช้ชีวิตอยู่บนเรือนยอดไม้ เมื่อมองย้อนแสง เห็นเป็นเงาดำ รูปร่างธรรมดาๆ ของชะนี ก็คล้ายจะเปลี่ยนไป

“แต่ที่พี่ดนเล่าให้ฟังว่ามีเสือเข้ามาในแคมป์นั่น จริงนะเขาถ่ายรูปไว้ได้ เข้ามากลางวันแสกๆ เลย” ผมพูด

เสือคล้ายจะเป็นชีวิตซึ่งอยากรู้อยากเห็น ดนเล่าให้ผมฟังว่า ขณะพวกเขากำลังพักผ่อนอยู่ในแคมป์ เสือโคร่งตัวหนึ่งไม่รู้มาจากไหน มันเดินเข้ามายืนดูพวกเขาสักครู่ ก็เดินจากไป

“ทุกคนแยกย้ายกันขึ้นต้นไม้หมดครับ ผมเอาโทรศัพท์ถ่ายมันไว้ได้ แต่ก็ตอนที่มันเดินจะลงห้วยแล้ว” ดนเล่าขำๆ

ท้องฟ้าเริ่มมีสีทอง ช่วงรอยต่อระหว่างกลางคืนและกลางวัน เป็นช่วงเวลาที่ท้องฟ้างดงามที่สุด เป็นช่วงสั้นๆ และเวลานี้ก็จะผ่านไป

เวลาอีกนั่นแหละ ที่จะทำให้ช่วงเวลานี้เปลี่ยนไปอยู่ในความทรงจำ

 

ทํางานในป่า ไม่ใช่เรื่องสบายนักหรอก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องของความยากลำบากอะไร โดยเฉพาะเมื่อยอมรับถึงสิ่งต่างๆ ที่มาพร้อมกับงานที่ทำ

เตรียมตัวให้พร้อม ทำความรู้จักกับสิ่งที่อยู่รอบๆ ยอมรับกับสิ่งที่ป่าเป็น ไม่ใช่อย่างที่เราอยากให้เป็น

ข้อสำคัญ ต้องมีใจอันยอมรับว่า ในป่ามีชีวิต มีเสียงที่ไม่เคยได้ยิน มีภาพที่เราไม่รู้จักมากมาย

หลายครั้ง แม้ว่าจะพบเจอกับสิ่งที่คล้ายความ “ผิดปกติ”

ผมก็เข้าใจดีว่า นั่นคือความ “ปกติ” ที่ป่าเป็น •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ