สกัด ‘แก๊งทิ้งขยะพิษ’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ประกาศกฎกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับใหม่ที่มุ่งเอาผิดกับตัวการต้นเหตุปล่อยของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมด้วยโทษปรับสูงสุด 2 หมื่นบาทมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น จะเป็นเครื่องมือพิสูจน์ว่าสามารถสกัดปัญหาแก๊งลักลอบทิ้งขยะพิษในบ้านเราได้จริงแค่ไหน

กฎกระทรวงฉบับนี้นำหลักการว่าด้วย “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือเป็นผู้รับผิดชอบ” (Polluter Pays Principle : PPP) มาใช้เต็มรูปแบบ

กำหนดความรับผิดตั้งแต่ต้นทางโรงงานที่ปล่อยของเสียจนกระทั่งของเสียนั้นๆ ได้รับการจัดการบำบัดหรือกำจัดเสร็จสิ้น

ต่างจากฉบับเดิมที่ความรับผิดชอบของโรงงานต้นทางสิ้นสุดเมื่อว่าจ้างให้โรงงานบริการรับกำจัดขนขยะพิษออกไป

ที่ผ่านมา การสอบสวนหาตัวการลักลอบทิ้งขยะพิษมาลงโทษ ค่อนข้างเป็นเรื่องยากเพราะเจ้าของโรงงานที่ไร้สำนึกมักใช้วิธีการนิติกรรมอำพราง

ส่วนใหญ่ที่เป็นข่าวอึกทึกครึกโครมเพราะชาวบ้านอดรนทนไม่ไหวจึงแจ้งเบาะแสให้สื่อนำไปขยายผล และเจ้าหน้าที่ร่วมมือเอาจริงเอาจัง

 

ตามข้อมูลของมูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุว่าตั้งแต่ปี 2560-30 มิถุนายน 2566 มีเหตุการณ์ลักลอบทิ้งขยะพิษทั้งในพื้นที่ของเอกชนและที่รกร้างว่างเปล่า 395 ครั้ง แบ่งเป็นเหตุการณ์ปล่อยน้ำเน่าเสีย 260 ครั้ง ทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม 90 ครั้ง ทิ้งขยะติดเชื้อ 18 ครั้ง และทิ้งขยะอื่นๆ อีก 27 ครั้ง

พื้นที่ทิ้งขยะพิษสูงสุดใน 5 อันดับ ได้แก่ จ.ระยอง 40 ครั้ง จ.ชลบุรี 30 ครั้ง จ.ปราจีนบุรี 27 ครั้ง จ.สมุทรสาคร 26 ครั้ง และ จ.นครราชสีมา 20 ครั้ง

เฉพาะปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงสิ้นเดือนมิถุนายน โรงงานมักง่ายเห็นแก่ตัวแอบปล่อยน้ำเสีย 25 ครั้ง ทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม 10 ครั้ง ขยะทั่วไป 3 ครั้ง

สถิตินี้สะท้อนให้เห็นว่า พฤติกรรมการลักลอบทิ้งน้ำเสีย ขยะพิษของกลุ่มนายทุนมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

พฤติกรรมการทิ้งขยะพิษ มีหลากหลาย บางแห่งใช้วิธีตั้งโรงงานรีไซเคิลบังหน้า แต่ไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์รีไซเคิล ไม่มีระบบบำบัดตามมาตรฐาน เปิดบริษัทรับจ้างขนขยะพิษ เอาไปทิ้งตามที่สาธารณะ

หรือไม่ก็ตัวเจ้าของโรงงานที่ไร้สำนึกแอบเอาของเสียอันตรายโยนทิ้งเสียเองเพราะหวังลดต้นทุน

 

กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นในโกดังบริษัทแห่งหนึ่งใน อ.ภาชี และ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมอุกอาจและจงใจทำลายสภาพแวดล้อมอย่างโจ่งครึ่ม

โกดังบริษัทนี้ได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นโรงงานคัดแยกกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย

แต่ปรากฏว่าเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบกลับพบกากสารเคมีอันตรายเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ทิ้งเกลื่อนรอบโรงงานโดยไม่ผ่านการบำบัดและเททิ้งสารเคมีมีความเข้มข้นเหมือนน้ำกรดลงในลำรางสาธารณะที่ไหลผ่านทุ่งนาและชุมชนบริเวณนั้นๆ ใช้น้ำจากบ่อบาดาล

จุดเริ่มต้นมาจากประชาชนนำเบาะแสไปแจ้งให้ข่าว 3 มิติว่า มีรถบรรทุกขนสารเคมีต้องสงสัย ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี คุณมนตรี อุดมพงษ์ นักข่าว 3 มิติตามแกะรอยจนกระทั่งรู้ว่าเป็นรถบรรทุกของบริษัทอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งขนสารเคมีไปพักเก็บไว้ในโกดังของบริษัทนี้ ก่อนเอาไปเททิ้งในที่สาธารณะและท้องไร่ท้องนาที่ไกลหูไกลตาชาวบ้าน

บริษัทที่เป็นเจ้าของรถบรรทุกมีโรงงานหลายแห่งทั้งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา เพชรบูรณ์ เป็นบริษัทที่ให้บริการกำจัดกากอุตสาหกรรมทั้งของแข็งและของเหลว

ในเว็บไซต์ของบริษัทนั้น อ้างว่าได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผ่านการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม ISO9001 ISO14000 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ว่าด้วยระบบบริหารคุณภาพและระบบบริหารสิ่งแวดล้อม

ตามข่าวเมื่อต้นเดือนกันยายน คุณจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ขู่จะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตบริษัทและเอาผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุดไม่ทราบว่าคุณจุลพงษ์ดำเนินการกับ 2 บริษัทไปถึงไหน แต่พฤติกรรมที่ปรากฏหลักฐานชัดเช่นนี้ ควรเอาผิดถึงที่สุด

ก่อนหน้านี้โรงงานของบริษัทที่สาขา อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เทน้ำเน่าเสียมีกลิ่นเหม็นลงในแหล่งน้ำ สร้างปัญหาให้กับชุมชน และกรมโรงงานอุตสาหกรรมเคยสั่งให้หยุดเดินเครื่องชั่วคราวมาแล้ว

ส่วนการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม ISO กรมโรงงานอุตสาหกรรมน่าจะยกเครื่องกันใหม่ เพราะกลายเป็นจุดโหว่ให้นายทุนที่ไร้สำนึกใช้เป็นเครื่องมือบังหน้า

 

อีกข่าวที่บ่งชี้ว่า บริษัทที่อ้างรักษ์โลกเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกำจัดมลพิษหรือแปรรูปขยะของเสีย ในบ้านเรานั้น มีหลายๆ บริษัทไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารสิ่งแวดล้อมอย่างที่คุยโม้โอ้อวดสรรพคุณไว้ มิหนำซ้ำยังทำในทางตรงกันข้ามคือทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชน

ดังในกรณีบริษัทเอกชนปล่อยสารเคมีอันตรายซึมกระจายทั่วพื้นที่ ต.น้ำพุ และ ต.รางบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี ทำให้ชุมชนโดยรอบได้รับความเดือดร้อนและมีผลกระทบต่อสุขภาพกว่า 1 พันคน

ชาวตำบลน้ำพุและรางบัวผนึกกำลังต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมมานานกว่า 20 ปี จนกระทั่งชนะคดีถือเป็นคดีด้านสิ่งแวดล้อมคดีแรกของเมืองไทยที่มีการฟ้องแบบรวมกลุ่ม (Class Action) เมื่อปี 2563 แม้ชนะคดี บริษัทก็ยังไม่จ่ายค่าเสียหายให้กับชาวบ้าน

พฤติการณ์ของโรงงานขัดกับหลักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเริ่มขึ้นเมื่อปี 2544 ชาวบ้านได้กลิ่นเหม็นที่ลอยมาจากโรงงานและพบน้ำเน่าเสียจากโรงงานปล่อยทิ้งลงในพื้นที่สาธารณะ ชาวบ้านร้องเรียนแต่ไม่เป็นผล

ปี 2555-2556 กรมควบคุมมลพิษ ตื่นตัวนำสารเคมีที่ปนเปื้อนในโรงงานและบริเวณชุมชนโดยรอบไปตรวจสอบพบเป็นโลหะหนัก สารอินทรีย์ระเหยง่าย และน้ำใต้ดินปนเปื้อนสารอันตรายด้วย โรงงานถูกสั่งปิด

กระทั่งกลางปี 2565 เกิดเหตุไฟไหม้ในโรงงานนี้ ชาวบ้านพากันหวาดผวาจะมีสารพิษปนเปื้อนมากกว่าเดิมท่ามกลางข้อสงสัยเหตุเพลิงไหม้เพราะโรงงานปิด แต่ไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปคลี่คลายปัญหา

“ธนู งามยิ่งยวด” ชาวสวนลำไย ในตำบลน้ำพุ ห่างจากโรงงานราว 400 เมตร บอกกับสื่อว่า ต้องทนกับกลิ่นเหม็นจากโรงงานมานานกว่า 20 ปี น้ำเน่าเสียปนเปื้อนสารเคมีไหลซึมใต้ดินลงไปในบ่อบาดาลของสวนลำไย ทั้งที่ขุดบ่อลึกถึง 34 เมตร

เมื่อนำน้ำในบ่อบาดาลไปตรวจสารปนเปื้อน ปรากฏว่า ไม่ผ่านมาตรฐาน กระทบต่อการส่งออกลำไย และทุกคนในครอบครัว “งามยิ่งยวด” ตรวจพบมีสารโลหะหนักในร่างกาย ทุกครั้งที่สัมผัสกับน้ำในลำห้วยจะมีผื่นขึ้นบริเวณหลัง

“ธนู” เป็น 1 ในผู้ฟ้องร่วมคดี ศาลตัดสินให้โรงงานชดเชยค่าเสียหาย 6 แสนบาท

“ธนู” บอกว่าไม่คุ้มค่ากับความเสียหายและไม่รู้ว่าความเดือดร้อนจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่

เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผ่านไปเกือบ 1 ปี รัฐบาลที่ผ่านมาออกแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม “ราชบุรีโมเดล” เพื่อเป็นต้นแบบกำจัดของเสีย สารพิษปนเปื้อนในโรงงานดังกล่าว ประเมินว่ามีจำนวน 12,000 ตัน

“ราชบุรีโมเดล” นี้รัฐบาลต้องควักเงินจ่ายราว 60 ล้านบาท

ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ความเจ็บป่วยของผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อ และรัฐต้องเสียงบประมาณอีกมากมายในการบำบัดฟื้นฟู

เมื่อเทียบกับค่าปรับจากเหตุโรงงานปล่อยสารพิษแค่ 2 หมื่นบาท ช่างต่างกันราวฟ้ากับดิน •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]