อวสานของกองทหารปลดแอก ประชาชนมุสลิมไทย

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

อวสานของกองทหารปลดแอก

ประชาชนมุสลิมไทย

 

การตัดสินใจประกาศตั้งกองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทยในเขต 2 สงขลา เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับการต่อสู้ปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ให้ก้าวขึ้นสู่ระดับสูงขึ้น คือการมีกองทหารประจำการในเขตปฏิบัติงาน

หากยุทธศาสตร์นี้ประสบความสำเร็จ หมายความว่าโอกาสของการพัฒนาเข้าสู่การยึดอำนาจรัฐด้วยกำลังอาวุธ โดยใช้ชนบทล้อมเมืองนั้นก็ใกล้ความจริงมากขึ้น

ความคิดในการก่อตั้งกองทัพประชาชนในเขตภาคใต้ตอนล่างมีมาระยะหนึ่ง ราวปี พ.ศ.2510 ด้วยการส่งกำลังไปจากสุราษฎร์ธานี เพื่อตั้งกองทัพเขตสงขลาขึ้น ในปี 2515 ส่งกำลังไปอีกชุดหนึ่งแต่เกิดปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหารในคลองกอย อ.รัตภูมิ เสียชีวิตไปหลายคน ทำให้แผนในการขยายกองทัพร่วมกับสหายชุดเดิมที่มาก่อนแล้วต้องสะดุดลง

การตั้งกองทัพสงขลาจึงดำเนินไปโดยสหายในพื้นที่สงขลาเองร่วมกับสหายชุดก่อน จนกระทั่งวันที่ 7 สิงหาคม 2520 จึงมีการประกาศตั้งกองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทยขึ้นมา

ในปี 2517 ศูนย์กลางพรรคเห็นว่าเขตงานภาคใต้สามารถสร้างที่มั่นทางการทหารได้สำเร็จ ด้วยการหนุนช่วยของงานมวลชนที่ราบ จึงเสนอให้เร่งขยายงาน “สร้างฐานที่มั่น” ให้ได้เพื่อยกระดับการต่อสู้

ต่อปัญหานี้สหายนำเขตพัทลุงคือสหายชอบ (ประสิทธิ์ เทียนศิริ) มีความเห็นต่างว่าลักษณะภูมิประเทศและเงื่อนไขของภาคใต้ สร้างฐานที่มั่นแบบภาคเหนือขึ้นไม่ได้ เขาจึงเดินทางขึ้นไปที่ศูนย์กลางพรรคภาคเหนือเพื่อคัดค้าน และถูกให้ประจำการที่ศูนย์กลางพรรคไม่ได้กลับมารับผิดชอบงานที่ภาคใต้อีก (ธง แจ่มศรี ใต้ธงปฏิวัติ มปป. หน้า 431)

ตอนที่ผมเข้าไปอยู่ในเขตนี้ สหายเดิมที่มาจากพัทลุงและสุราษฎร์ฯ ยังเล่าถึง “คุณแดง” (อีกชื่อของสหายชอบ) บ่อยๆ ว่าเป็นสหายนำที่ทุกคนนับถือยกย่องอย่างสูง ในความสามารถทั้งการนำและทางความคิด

 

ตอนที่ผมอยู่ในเขตงานที่ 2 สงขลา ได้ฟังข่าวจากสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ทุกวัน

หลายข่าวให้ภาพลักษณ์และความคิดว่าเขตงานภาคเหนือสามารถสร้างฐานที่มั่นเหมือนกับที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนได้ทำก่อนที่เยนอานภายใต้การนำของประธานเหมาเจ๋อตง จนกลายเป็นสัจธรรมว่าหนทางชนบทล้อมเมืองแล้วยึดเมืองในที่สุดด้วยกำลังนั้นต้องเดินตามแบบของ พคจ.

ปัจจัยสำคัญในขณะนั้นคือการมีฐานที่มั่นในชนบทป่าเขาที่รัฐบาลเข้ามาไม่ได้ ส่วนฐานที่มั่นก็ไม่มีมวลชน มีแต่กองทหารประจำการ ทำการเพาะปลูกเลี้ยงตนเอง

ผมก็เริ่มคล้อยตามว่าถ้าเขตจรยุทธ์ภาคเหนือสามารถสร้างฐานที่มั่นได้ก็เป็นนิมิตหมายอันใหญ่หลวงยิ่ง พวกนักศึกษาเริ่มมีกำลังใจว่าคงจะได้กลับสู่เมืองในเวลาอันไม่นานนัก

คุณชาติสหายนำขณะนั้นแสดงความเห็นส่วนตัว (ไม่ใช่ในนามของพรรค) ว่าในความเป็นจริงภูมิประเทศภาคใต้ไม่รองรับการตั้งฐานที่มั่นแบบนั้น เพราะสภาพพื้นที่ภาคใต้ไม่เหมือนกับภาคเหนือที่เป็นเขาสูงและมีหลังพิงในประเทศเพื่อนบ้านด้วย เส้นทางการเข้าล้อมปราบก็ยากกว่า

เงื่อนไขของภาคใต้จึงอยู่ที่ฐานมวลชนว่าจะเข้มแข็งและสนับสนุนกองทหารได้มากน้อยแค่ไหน โดยที่เขตมวลชนนั้นกำลังทหารรัฐบาลยังสามารถเข้ามาปฏิบัติการได้

อย่างไรก็ตาม แม้สภาพภายในของเขตงานและกองทหารยังไม่เติบใหญ่เต็มที่ สหายนำก็ตัดสินใจทำการประกาศก่อตั้งกองทหารในวันที่ 7 สิงหาคม 2520 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบการต่อสู้ด้วยอาวุธครบ 12 ปี

ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน ทางเขตพัทลุง ตรัง สตูล ก็ประกาศสถาปนากองร้อยทหารราบเคลื่อนที่กองร้อยที่ 1 ขึ้นมา

 

ในวันที่ 7 สิงหาคม 2520 ในค่ายใหญ่ของเราก็มีการจัดงานวันเสียงปืนแตกและประกาศก่อตั้งกองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทยขึ้น

แม้เราจะได้ข่าวกระเส็นกระสายมาก่อนแล้ว แต่รายละเอียดของการก่อตั้งและคำประกาศเป็นเรื่องที่รู้กันเฉพาะในหมู่สหายนำระดับสูงเท่านั้น

คืนนั้นสหายชาติเป็นผู้ขึ้นมาอ่านคำประกาศจัดตั้งกองทหารฯ ดังกล่าว

ต่อมาคำประกาศนั้นถูกส่งไปยังสถานีวิทยุ สปท. เพื่อออกอากาศไปทั่วประเทศ

มีการอ่านคำประกาศฉบับภาษายาวีด้วย แต่จำไม่ได้ว่าสหายคนใดเป็นผู้อ่าน ในตอนนั้นมีการรับคนมลายูในพื้นที่ที่เป็นนักศึกษาเข้ามาอีกหลายคน

คำประกาศเริ่มต้นว่า

 

“สวัสดีสหายที่รักและพ่อแม่พี่น้องที่เคารพทั้งหลาย วันนี้เป็นวันปฐมฤกษ์ของกองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทยของเรา ที่ได้ก่อตั้งขึ้นมาและมีความสำคัญลักษณะประวัติศาสตร์ของประชาชนชนชาติของเรา และเป็นกำลังส่วนหนึ่งของการปฏิวัติประชาชาติไทย ประชาชนชนชาติของเรามีความภาคภูมิใจ และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่กองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทยของเรา ได้อยู่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างสัมบูรณ์ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้นำสัจธรรมทั่วไปของลัทธิมาร์กซ์ ลัทธิเลนิน ความคิดเหมาเจ๋อตง มาประสานกับการปฏิบัติของการปฏิวัติประเทศไทย นำมวลชนต่างๆ ในประเทศไทยเข้าทำการต่อสู้กับศัตรูของประเทศชาติและของประชาชนเพื่อเอกราชประเทศ และประชาธิปไตยของประชาชนทุกๆ ชนชาติแห่งประเทศไทย พรรคของเราได้กำหนดแนวทาง นโยบายและหนทางได้อย่างถูกต้อง ล้วนสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนทั้งสิ้น

“พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นดวงประทีปส่องทางและความหวังของประชาชนชนชาติต่างๆ ที่ปฏิวัติ ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประชาชาติไทย พรรคของเราได้กำหนดนโยบายที่เป็นรูปธรรมไว้อย่างชัดเจน ข้อที่ 2 เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา ข้อ 5 ชนชาติต่างๆ แห่งประเทศไทยมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มีสิทธิในการใช้ภาษา หนังสือ รักษาวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม คัดค้านการกดขี่เหยียดหยามระหว่างชนชาติ ในเขตรวมของชนชาติให้ดำเนินการปกครองตนเองได้โดยอยู่ภายใต้ครอบครัวใหญ่แห่งประเทศไทย และพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา การสาธารณสุขอย่างทั่วถึง”

สุดท้ายคือการพูดถึงลักษณะของกองทัพปลดแอกประชาชนว่ามีคุณลักษณะที่แตกต่างจากกองทหารในรัฐบาลทั่วไปอย่างไรดังนี้

“กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย นักรบทุกคนเป็นลูกหลานของประชาชนที่ถูกกดขี่ขูดรีด และมีชะตากรรมอันเดียวกับประชาชน กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยที่ปฏิบัติหน้าที่ทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รับใช้ประชาชนอย่างสุดจิตสุดใจ นักรบของเราทุกคนต้องส่งเสริมจิตใจมานะพยายามบากบั่นต่อสู้ สามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยึดกุมแนวทางนโยบาย ภาระหน้าที่ และวินัยของกองทัพปลดแอกประชาชนอย่างมีจิตสำนึก เสริมทรรศนะที่ไม่กลัวยากลำบาก ไม่กลัวตาย เพิ่มจิตใจเคียดแค้นศัตรูของชาติของประชาชนให้สูงยิ่งขึ้น ปักใจทำลายศัตรูให้มากยิ่งขึ้น ประสานและหนุนช่วยซึ่งกันและกัน วันแห่งชัยชนะของประชาชนชนชาติต่างๆ แห่งประเทศไทย นับวันยิ่งใกล้เข้ามาทุกที

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจงเจริญ!

กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยจงเจริญ!

ประชาชนชนชาติต่างๆ แห่งประเทศไทยจงเจริญ!

พระองค์อัลเลาะห์แนบสนิทในดวงใจของประชาชนปฏิวัติ!

 

ในคำประกาศก่อตั้งกองทหารฯนี้มีการบรรยายถึงประวัติการต่อสู้ของพี่น้องมุสลิมไทยที่สำคัญได้แก่

“กรณีบูกาซาเมาะ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี กรณีดุซงญออำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และกรณีท่านหะยีสุหรง นักการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ท่านได้เป็นตัวแทนที่ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชาติของเรา และเป็นบุคคลที่เราเคารพรักและไว้วางใจ ท่านได้เสนอข้อเรียกร้อง 12 ข้อ ต่อรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เกี่ยวกับสิทธิและความเสมอภาคของชนชาติมลายูภาคใต้ ยุครัฐบาลคึกฤทธิ์มีการชุมนุมประท้วงของประชาชนที่จังหวัดปัตตานี กรณีทหารนาวิกโยธินฆ่าคนมุสลิมไทย 5 ศพ โยนทิ้งน้ำที่สะพานกอตอ แม่น้ำสายบุรีอย่างโหดเหี้ยมป่าเถื่อน ทำให้ประชาชนชาติต่างๆ ที่รักความเป็นธรรม…เดินทางมาร่วมชุมนุมกันที่ปัตตานี การชุมนุมครั้งนี้ใหญ่โตเป็นประวัติการณ์…ชนชั้นปกครองที่ปฏิกิริยาพยายามทำลายการชุมนุมของมวลชนที่คัดค้านพวกมัน ได้ปาระเบิดใส่ประชาชนที่กำลังชุมนุมอยู่เป็นผลให้มีคนตายไป 12 คน บาดเจ็บกว่า 30 คน”

นั่นเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของคนมลายูมุสลิมที่ผมไม่เคยได้ยินและฟังมาก่อน

ประสบการณ์ในการร่วมตั้งกองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทยครั้งนั้น มีส่วนผลักดันให้ผมหันมาศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์การต่อสู้ของพวกเขาอย่างจริงจังมากขึ้นหลังเกิดกรณีมัสยิดกรือเซะในปี 2547 ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย” (2547)

ทำให้ผมได้เห็นต้นฉบับ “คำร้องขอ 7 ข้อ” ของหะยีสุหรง ไม่ใช่ 12 ข้อดังที่คำประกาศก่อตั้งกองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทยอ้างถึง รวมถึงรัฐบาลสมัยนั้นก็ไม่ใช่จอมพล ป.พิบูลสงคราม หากแต่เป็นรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์

 

หลังจากมีการก่อตั้งกองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทยแล้ว การใช้ชีวิตต่างๆ ก็ต้องแยกกันระหว่างแบบไทยกับมุสลิม เช่น อาหาร การศึกษา ภาษา และวัฒนธรรม

สหายไทยพุทธที่ได้รับคัดเลือกให้ไปร่วมงานกับกองทหารปลดแอกมุสลิมไทย ต้องเข้าพิธีมาโซะยาวีหรือพิธีสุนัต คือการเข้ารับศาสนาอิสลาม ทั้งสหายชายและหญิง พากันไปทำพิธีในหมู่บ้านมุสลิมข้างล่าง

บรรดาชาวบ้านพากันตื่นเต้นและดีใจที่เห็นสหายหันมาเป็นมุสลิมอย่างถูกต้อง คนที่ลงไปทำพิธีดังกล่าวคนแรกคือสหายพนม ซึ่งมาจากกองกำลังสุราษฎร์ฯ และได้ภรรยาคือสหายพิศ ซึ่งเป็นมวลชนจากหมู่บ้านแถวนั้น

หลังปี 2521 สถานการณ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างประเทศสังคมนิยมกันเอง ระหว่างจีนกับเวียดนามและกัมพูชา มีผลกระเทือนต่อสัมพันธภาพระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหลายในภูมิภาค

ในค่ายของเราบรรดาผู้นำนักศึกษาและกรรมกรจากเมืองก็มีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานของ พคท.มากขึ้น ทวีความขัดแย้งระหว่างสหายเก่ากับสหายใหม่มากขึ้น

ในเขต 2 สงขลา ผู้นำนักศึกษาจาก มอ.คือสหายช่วง ซึ่งมีบทบาทมากในเมืองและเป็นผู้นำการวิพากษ์การนำในเขตงานนั้น

อีกคนคือผู้นำกรรมกรและนักศึกษาด้วยคือสหายยุคศรีอาริยะ ก่อกระแสวิกฤตศรัทธาในพรรคและการทำงานในเขตป่าเขา

กระแสการ “กลับบ้าน” เริ่มระบาดไปทั่ว ผมอยู่ช่วยคลี่คลายวิกฤตเท่าที่สามารถทำได้ตามที่รับปากกับสหายนำจนถึงวาระสุดท้าย

ช่วงสุดท้ายของเขต 2 สงขลาและกองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทย จบลงด้วยการทยอยออกจากค่ายและเขตงาน ของบรรดาสหายจากเมือง

จัดตั้งและผู้รับผิดชอบก็นำพาไปส่งจนกลับเข้าสู่เมืองได้อย่างเรียบร้อยปลอดภัย