14 ตุลาฯ กับทหาร (6) ความพลิกผันในกองทัพ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

14 ตุลาฯ กับทหาร (6)

ความพลิกผันในกองทัพ

 

“จากนั้นการเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์ชาติไทยก็เริ่มขึ้น คลื่นมนุษย์ 500,000 คน ไหลบ่าออกจากประตูธรรมศาสตร์ด้านสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เลี้ยวออกไปตามถนนราชดำเนินกลาง มองดูแต่ไกลเหมือนงูยักษ์ที่เลื้อยออกจากถ้ำ…”

คำบรรยายการเคลื่อนขบวนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516

ประจวบ อัมพะเศวต (2543)

 

หากย้อนเวลาได้จริงแล้ว น่าสนใจดังที่เคยกล่าวแล้วว่าผู้นำทหารในขณะนั้นประเมินสถานการณ์การชุมนุมของนิสิต นักศึกษา ประชาชนอย่างไร ซึ่งเราแทบไม่เคยเห็นมุมมองในเรื่อง 14 ตุลาฯ ของผู้นำทหารในช่วงเวลาดังกล่าวปรากฏในที่สาธารณะเท่าใดนัก… ผู้นำทหารในสายจอมพลถนอม-จอมพลประภาสคิดอย่างไร ผู้นำทหารในสายที่ยืนคนละฝั่งกับรัฐบาลมองอย่างไร

เป็นที่น่าเสียดายว่าในแง่ของการศึกษานั้น เราไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวกรองในช่วงนั้น และนายทหารชั้นผู้ใหญ่และบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายคนได้จากไปด้วยเงื่อนไขอายุขัยของแต่ละคน เป็นแต่เพียงมีข้อมูลที่ปรากฏเป็นภาพสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในกองทัพอย่างมีนัยสำคัญ คือปัญหาความแตกแยกของผู้นำทหารในโครงสร้างอำนาจรัฐเดิมที่เกิดสืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร 2514 แล้ว

 

ศูนย์อำนาจเปลี่ยน

ในภาวะเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีความพยายามประนีประนอมในหมู่ผู้นำทหาร โดยจอมพลถนอมที่ต่ออายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาก่อนแล้วในปี 2514 นั้น ยอมที่จะลงจากตำแหน่งทางทหารในวันที่ 30 กันยายน 2516 และเปิดทางให้ พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ ขึ้นดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทนในวันที่ 1 ตุลาคม 2516 (ดำรงตำแหน่งนี้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2517) และจอมพลประภาสยอมถอยออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และเปิดโอกาสให้ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งที่สำคัญที่สุดตำแหน่งหนึ่งในการเมืองไทยในวันที่ 1 ตุลาคม 2516 เช่นกัน (ดำรงตำแหน่งนี้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2518 และดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาทหารสูงสุดต่อจาก พล.อ.อ.ทวีในวันที่ 1 ตุลาคม 2517 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2518)

อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้มีข้อมูลที่จะสะท้อนถึงการคุมอำนาจรัฐในยุคนั้น ด้วยการต่ออายุราชการที่ไม่เป็นไปตามปีงบประมาณ ดังจะเห็นได้จากการต่ออายุราชการจอมพลถนอม กล่าวคือ จอมพลถนอมต่ออายุราชการครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2514 ต่ออายุครั้งที่ 2 ในเดือนสิงหาคม 2515 และครั้งที่ 3 ในเดือนสิงหาคม 2516 ในส่วน พล.อ.ประภาสต่ออายุราชการครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2515 ต่ออายุครั้งที่ 2 ในเดือนธันวาคม 2516 ซึ่งดูจะเป็นการดำเนินการนอกปีงบประมาณ

การที่ “2 จอมพล” ยอมก้าวลงจากตำแหน่งสำคัญเช่นนี้ อาจตีความได้ว่าเป็นเสมือนกับความพยายามที่จะประนีประนอมกับกลุ่มขัดแย้ง และยอม “ซื้อใจ” พลเอกทั้งสองด้วยการยอมให้ตำแหน่งในระดับสูงสุด เพื่อไม่ให้ปัญหาที่ดำรงอยู่กลายเป็นความขัดแย้งแตกหัก แต่การยอมเช่นนี้ย่อมมีนัยโดยตรงถึงการเปลี่ยน “ขั้วอำนาจ” ในกองทัพ โดยเฉพาะในส่วนของกองทัพบก เพราะความจริงของการเมืองไทยที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ กองทัพบกเป็น “ศูนย์กลางอำนาจรัฐ” ที่จะเป็นผู้กำหนดทิศทางอนาคตการเมืองไทยในหลายวาระอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และแน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนตัวบุคคลเช่นนี้ทำให้สมดุลอำนาจในการเมืองไทยต้องเปลี่ยนตามไป เพราะผู้บัญชาการทหารบกเป็น “ตัวละครหลัก” ของการเมืองไทยมาตั้งแต่ยุค 2475 แล้ว

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นหลักประกันเชิงอำนาจหลังการยอมเปิดทางให้ พล.อ.อ.ทวี และ พล.อ.กฤษณ์ขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุดในกองทัพแล้ว ตัวจอมพลประภาสจะดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และยังดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจ แทน พล.ต.อ.ประเสริฐ ที่เกษียณอายุราชการไป พร้อมกันนี้ในเดือนมิถุนายน 2516 ยังมีการเลื่อนยศ พล.อ.ประภาสขึ้นเป็น “จอมพล” ทั้ง 3 เหล่าทัพ (เป็นช่วงเวลาที่กระแสการเคลื่อนไหวเรื่องทุ่งใหญ่ฯ มีความเข้มข้นมากขึ้น)

 

ในทางการเมือง จอมพลประภาสดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็นรองหัวหน้าคณะรัฐประหาร 2514 (เรียกตามคำประกาศ คือ รองหัวหน้าคณะปฏิวัติ) และในทางทหารดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ส่วนจอมพลถนอมนอกจากจะเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีกด้วย ทั้งยังดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร 2514 (หัวหน้าคณะปฏิวัติ) อันเป็นความพยายามที่จะควบคุมการเมืองในโครงสร้างอำนาจส่วนบน อย่างน้อยเพื่อเป็นหลักประกันของการคุมอำนาจรัฐในสายจอมพลถนอม-จอมพลประภาส หรือที่ในยุคนั้นเรียกกันว่า “สายถนอม-ประภาส” อีกทั้งยังเชื่อมต่อ 2 ส่วนนี้เข้าด้วยกันด้วยการสมรสของ พ.อ.ณรงค์ กับบุตรสาวของจอมพลประภาส

อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจร่วมกันประการหนึ่งว่าสังคมการเมืองไทยมีความสับสนในการใช้คำว่า “ปฏิวัติ” (revolution) และ “รัฐประหาร” (coup) เพราะการยึดอำนาจของทหารเป็นเพียงการรัฐประหาร ไม่ใช่การปฏิวัติ แต่มรดกทางภาษาจากการเมืองในอดีตทำให้เกิดการใช้คำว่า “ปฏิวัติ” ในความหมายของการทำ “รัฐประหาร” ดังนั้น จอมพลถนอมในกรณีนี้จึงถูกเรียกว่าเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการยึดอำนาจในการเมืองไทยเป็นเพียงการรัฐประหารของทหารเท่านั้น!

 

ลมเปลี่ยนทิศ

สําหรับการปรับเปลี่ยนตัวบุคคลในตำแหน่งที่สำคัญทั้งสองนั้น อาจตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญกับอนาคตการเมืองไทยที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2516 เป็นต้นไป และจะมีนัยกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาในวันที่ 14 ตุลาคม อย่างหนีไม่พ้นเช่นกัน…

บางทีอดคิดไม่ได้ว่าถ้าผู้บัญชาการทหารบกในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ยังเป็นจอมพลประภาสแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น เพราะในช่วงที่เกิดเหตุนั้นเขาดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งไม่มีอำนาจสั่งการเคลื่อนย้ายกำลังของกองทัพบก

ดังที่กล่าวแล้วว่าการเคลื่อนกำลังที่ออกมาปะทะกับผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนินเกิดขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคมนั้น… เมื่อการปะทะเกิดขึ้นแล้ว และรัฐบาลต้องการให้ผู้บัญชาการทหารบกสั่งการให้นำกำลังเสริมออกมาสนับสนุนปฏิบัติการบนถนนราชดำเนิน แต่ ผบ.ทบ.กลับไม่ยอมดำเนินการตามคำสั่งของรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่าการตัดสินใจเช่นนั้นย่อมทำให้สถานการณ์การปะทะไม่ขยายไปจนเป็น “สงครามบนถนนราชดำเนิน” จนควบคุมไม่ได้ หรืออย่างน้อยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนถนนจะไม่ถูก “ยกระดับ” (escalation of conflict) และจำกัดความรุนแรงไม่ให้ขยายวงกว้างออกไป

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในโครงสร้างอำนาจรัฐนั้น อาจต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะในระบอบทหารที่เกิดจากการรัฐประหารในทุกประเทศ เมื่ออยู่ในอำนาจนานขึ้นแล้ว ย่อมเกิดความขัดแย้งภายในรัฐบาล จนต้องถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะการเมืองในระบอบการเลือกตั้งก็มีความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องปกติไม่แตกต่างกัน เป็นแต่เพียงว่าความขัดแย้งดังกล่าวสามารถตัดสินได้จากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันเป็นการใช้กระบวนการทางรัฐสภาในการแก้ปัญหา

แต่ปัญหาภายใน “ระบอบถนอม” ปรากฏให้เห็นเค้าลางตั้งแต่หลังจากการจัดตั้งรัฐบาลในปี 2512 แล้ว ดังจะเห็นได้ว่าการดำรงตำแหน่งภายในกองทัพอย่างยาวนานในยุคจอมพลถนอมกลายเป็นปัญหาในตัวเองอย่างมาก เช่น หลังการสิ้นสุดของ “ระบอบสฤษดิ์” ในปลายปี 2506 แล้ว จอมพลถนอมขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประภาสเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรองผู้บัญชาการทหารบก ส่วน พล.อ.จิตติ นาวีเสถียร เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรองผู้บัญชาการทหารบก แต่เมื่อถึงเวลาของการเกษียณอายุราชการกลับมีการต่ออายุเฉพาะในกรณีของจอมพลถนอม และ พล.อ.ประภาส

ตัวอย่างของความขัดแย้งจากกรณีเช่นนี้ที่ปรากฏเป็นที่รับรู้อย่างชัดเจน คือ การไม่ต่ออายุราชการของ พล.ต.อ.ประเสริฐ และแต่งตั้งให้ พล.อ.ประภาสเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน การใช้การต่ออายุของฝ่ายตนจึงเป็นการใช้กลไกของระบบราชการช่วยในการดำรงอำนาจของกลุ่ม แต่การกระทำเช่นนี้ในทางกลับกันก็เสมือนดังการเพิ่มแรงเสียดทานภายในระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งยังเป็นที่รับรู้ในเวลาต่อมาถึงความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประภาสกับ พล.ต.อ.ประเสริฐ ที่ก่อตัวให้เห็นในรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 2512 แล้ว

เมื่อทั้งสองต้องเกษียณอายุราชการพร้อมกันในปี 2515 การต่ออายุราชการเกิดเฉพาะในส่วนของ พล.อ.ประภาสเท่านั้น ซึ่งย่อมทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจอย่างแน่นอน ทั้งยังมีปัญหากรณี “พังป้อมยามตำรวจ” ที่เกิดในปี 2513 จากการกระทำของ พ.ท.ณรงค์ (ยศในขณะนั้น)

 

จุดสุดท้าย

การรักษาฐานอำนาจทางการเมืองด้วยการใช้กลไกระบบราชการเช่นนี้เท่ากับเป็นคำตอบในตัวเองว่านายทหารระดับสูงคนอื่นๆ จะไม่มีโอกาสได้ต่ออายุราชการเลย นอกจากจอมพลถนอมกับ พล.อ.ประภาสเท่านั้น ประกอบกับภาวะเช่นนี้ทำให้การไหลลื่นของนายทหารที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งในระดับบนนั้นเป็นไปได้ยากมากหรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะการอยู่ในตำแหน่งอย่างยาวนานของนายทหารทั้งสอง ส่งผลให้เกิดภาวะ “ตีบตัน” ในการขึ้นสู่ตำแหน่งระดับบนของกองทัพบก แต่ต้องยอมลดแรงกดดันด้วยการเปิดทางให้ พล.อ.อ.ทวี และ พล.อ.กฤษณ์ขยับขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุด

ดังนั้น เมื่อสถานการณ์เริ่มตึงเครียดบนถนนราชดำเนินในตอนสายของวันที่ 14 ตุลาคม พ.อ.ณรงค์จึงขออนุมัตินายกรัฐมนตรี (จอมพลถนอม) ในการนำกำลังของกรมทหารราบที่ 11 ซึ่งถูกส่งเข้ามาควบคุมพื้นที่บริเวณสวนรื่นฤดีออกปฏิบัติการบนถนนราชดำเนิน โดยร่วมกับกำลังตำรวจปราบจลาจลจากกองปราบปรามสามยอด และรวมถึงการนำเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกออกมาปฏิบัติการในวันดังกล่าวด้วย แต่การนำกำลังเสริมจากกองทัพบกในส่วนอื่นมิได้เกิดขึ้น

อีกทั้งยังมีรายงานถึงการ “ย้ายข้าง” ของผู้นำทหาร อันส่งผลโดยตรงให้ระบอบถนอมเกิดภาวะ “ขาลอย” จากการควบคุมกองทัพ จน พ.อ.ณรงค์ให้สัมภาษณ์ในปี 2546 (30 ปีหลังเหตุการณ์) ว่า พล.อ.กฤษณ์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ … กระนั้นต้องยอมรับว่า พล.อ.กฤษณ์เป็นนายทหารคนสำคัญที่ทำให้การเคลื่อนย้ายกำลังของกองทัพบกออกสู่ถนนราชดำเนินไม่เกิดขึ้น และปฏิบัติการของทหารกับนักศึกษาและประชาชนไม่ขยายเกินจากที่เป็นข่าว

การย้ายข้างหรืออาจเรียกในปัจจุบันว่าเมื่อกองทัพบก “เท” รัฐบาลจอมพลถนอมแล้ว ทางออกจึงเหลือแค่ประการเดียว คือ การลงจากอำนาจและเดินทางออกจากประเทศไทยในวันที่ 15 ตุลาคม 2516!