การวางสภาพแวดล้อมพื้นฐาน ในสายงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

www.facebook.com/bintokrit

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

การวางสภาพแวดล้อมพื้นฐาน

ในสายงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

 

สัปดาห์ที่แล้วผมได้เขียนบทความเผยแพร่ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์เรื่อง “การยกระดับนักแสดงรับจ้าง ในอุตสาหกรรมบันเทิงไทยให้กลายเป็นวิชาชีพ” ตามลิงก์ https://www.matichonweekly.com/column/article_722742

ซึ่งหลังจากที่เผยแพร่ออกไปก็มีเสียงสะท้อนกลับมาหลายอย่าง

บางอย่างสร้างความประหลาดใจให้ผมมาก เช่น บางคนไม่เข้าใจว่านักแสดงรับจ้างไม่เป็นอาชีพอย่างไร เพราะการไปรับจ้างแสดงก็นับว่าเป็นอาชีพแล้ว

คำถามนี้มาจากความเข้าใจผิดที่มาจากการอ่านแต่เพียงชื่อเรื่อง แต่ไม่ได้อ่านเนื้อหาในบทความนั่นเอง เนื่องจากในบทความมีคำตอบทั้งหมดอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความกระจ่างมากยิ่งขึ้น และสามารถมองเห็นแนวทางการยกระดับนักแสดงรับจ้างให้กลายเป็นวิชาชีพได้อย่างเป็นรูปธรรม

จึงขอแสดงรายละเอียดเพิ่มเติม 2 ข้อ ดังต่อไปนี้

 

1.อาชีพไม่เท่ากับวิชาชีพ วิชาชีพเป็นระดับของอาชีพที่มีระเบียบ กฎเกณฑ์ และมาตรฐานที่สูงขึ้น

วรรณทิพ สมจินตนา ได้แสดงความหมายของคำว่า วิชาชีพ ไว้ในบทความเรื่อง “ข้อพิจารณาด้านความเหมาะสมในการจัดตั้งสภาวิชาชีพ : ศึกษากรณีการจัดตั้งสภาวิชาชีพบุคลากรการกีฬา” ตามลิงก์ https://www.krisdika.go.th/data/activity/act13486.pdf ว่า “วิชาชีพ (Profession) ตามพจนานุกรม Oxford Advanced Dictionary แปลว่า อาชีพโดยเฉพาะอาชีพที่ต้องมีการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรมเป็นพิเศษ เช่น กฎหมาย สถาปัตยกรรม แพทย์ และตามพจนานุกรม Webster Dictionary แปลว่า อาชีพที่ต้องมีการฝึกอบรมชั้นสูงในศิลปศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ ซึ่งโดยปกติเป็นงานในทางความคิดมากกว่ากำลังกาย”

ทั้งนี้ วรรณทิพได้นำเสนอนิยามนี้โดยอ้างอิงตามที่จิตติ ติงศภัทิย์ ใช้ในหนังสือเรื่อง “หลักวิชาชีพนักกฎหมาย” อีกทีหนึ่ง

ส่วนความแตกต่างระหว่าง “อาชีพ” กับ “วิชาชีพ” นั้น วรรณทิพอธิบายโดยอาศัยการอ้างเนื้อความจากศาสตราจารย์ปรีดี เกษมทรัพย์ ที่เคยให้ความเห็นไว้ว่าอาชีพใดจะเป็นวิชาชีพได้ก็ต่อเมื่อมีลักษณะพิเศษ ดังนี้

1) เป็นอาชีพในแง่ที่เป็นการงานที่มีการอุทิศตนทำไปตลอดชีวิต

2) การงานนั้นต้องได้รับการสั่งสอนอบรมที่เป็นวิชาชีพชั้นสูงที่ต้องอบรมเป็นเวลานานหลายปี

3) ผู้ทำการงานประเภทนี้จะมีชุมชนหรือหมู่คณะที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำนึกในจรรยาบรรณ เกียรติยศ และศักดิ์ศรีของวิชาชีพของตน มีองค์กรและขบวนการเพื่อสอดส่องพิทักษ์รักษาขนบธรรมเนียม เกียรติยศ ศักดิ์ศรี และวิชาชีพ

นอกจากนี้ วรรณทิพยังได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างอาชีพกับวิชาชีพ ตามที่กุลพล พลวัน ได้อธิบายเอาไว้ในรายงานการวิจัยประกอบการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เรื่อง “บทบาทขององค์กรวิชาชีพกับการศึกษา” อีกด้วย ว่ามีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

(1) วิชาชีพโดยทั่วไปต้องมีการศึกษาและฝึกอบรมชั้นสูง (Learning) เป็นการศึกษาอบรมทางความคิดยิ่งกว่าทางร่างกาย โดยต้องได้รับหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพได้ ในขณะที่การประกอบธุรกิจหรืออาชีพอื่น อาจจะได้มาจากการศึกษาอบรมหรือจากประสบการณ์ สามัญสำนึกหรือจากการฝึกอบรมทางร่างกายก็ได้

(2) วิชาชีพเป็นบริการที่จำเป็นแก่ชุมชน ต่างกับธุรกิจหรืออาชีพอื่นที่อาจไม่ถึงขนาดที่จำเป็นขาดเสียไม่ได้

(3) วิชาชีพต้องทำด้วยเจตนารมณ์รับใช้ประชาชน (Spirit of public service) เพราะฉะนั้นผลประโยชน์ที่จะได้รับส่วนตัวย่อมมีความสำคัญรองลงไป วิชาชีพจะต้องมีกฎของการประกอบวิชาชีพโดยเฉพาะ และต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่สังคม

หากมีการประพฤติผิดข้อบังคับ จะต้องมีการลงโทษทางวินัยหรือจรรยาบรรณอย่างเข้มงวด

 

การที่อาชีพใดมีความสำคัญจนได้รับการยอมรับให้เป็นวิชาชีพนั้น จำเป็นต้องมีการจัดตั้ง “สภาวิชาชีพ” ขึ้นรองรับสำหรับการควบคุม ดูแล กำหนด และกำกับมาตรฐานในด้านต่างๆ ของสายงานนั้น ทำให้เกิดสภาวิชาชีพขึ้นมากมาย ซึ่งปัจจุบันมีการก่อตั้งสภาวิชาชีพเฉพาะขึ้นในประเทศไทยอย่างน้อย 16 สภาวิชาชีพ คือ

(1) แพทยสภา (พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525)

(2) สภาการพยาบาล (พระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528)

(3) สภาทนายความ (พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528)

(4) ทันตแพทยสภา (พระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2537)

(5) สภาเภสัชกรรม (พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537)

(6) สภาวิศวกร (พระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542)

(7) สภาสถาปนิก (พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543)

(8) สัตวแพทยสภา (พระราชบัญญัติวิชาชีพสัตวแพทย์ พ.ศ.2545)

(9) คุรุสภา (พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546)

(10) สภาวิชาชีพบัญชี (พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547)

(11) สภาเทคนิคการแพทย์ (พระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ.2547)

(12) สภากายภาพบำบัด (พระราชบัญญัติวิชาชีพกายภาพบำบัด พ.ศ.2547)

(13) สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ.2551)

(14) สภาการแพทย์แผนไทย (พระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2556)

(15) สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ (พระราชบัญญัติวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ.2556)

(16) สภาการสาธารณสุขชุมชน (พระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ.2556)

วรรณทิพยกเรื่องนี้มาเพื่อจะนำไปสู่การพิจารณาเรื่องการจัดตั้งสภาวิชาชีพของบุคลากรกีฬา แต่ในบทความนี้ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อนำเสนอว่าอาชีพไม่เท่ากับวิชาชีพ วิชาชีพเป็นระดับขั้นที่สูงขึ้นไปกว่าอาชีพ เป็นมากกว่าแค่การทำงานแลกเปลี่ยนกับเงินค่าจ้าง แต่คือการทำให้มีมาตรฐานทางวิชาชีพ มีองค์กรทางวิชาชีพ และมีกฎหมายเฉพาะทางวิชาชีพขึ้นมารองรับ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาแวดวงนั้นๆ ไปสู่คุณภาพและมาตรฐานการทำงานขั้นสูง

ซึ่งการที่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมบันเทิงนั้นมีศักยภาพสูง มีอิทธิพลต่อผู้คนและสังคมมาก รวมทั้งมีเม็ดเงินที่ไหลเวียนอยู่ในระบบเป็นจำนวนมหาศาลอีกด้วย ดังนั้น หากต้องการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยไปสู่สากลอย่างยั่งยืน

จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ไม่ช้าก็เร็วจะต้องมีการจัดตั้งสภาวิชาชีพ หรือองค์กรวิชาชีพบางประการขึ้นเพื่อรองรับการทำงานในวงการนี้

 

2.การก่อตั้งองค์กรทางวิชาชีพเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งกับคนที่ทำงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง

ในสายงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์นั้นประกอบไปด้วยคนทำงานที่มีหน้าที่แตกต่างหลากหลายอย่างมาก แบ่งออกเป็น 2 สายหลักๆ คือ เบื้องหน้า และเบื้องหลัง

เบื้องหน้า ได้แก่ นักแสดงซึ่งมีทั้งที่เป็นนักแสดงอาชีพ และพวกที่เป็นนักแสดงสมัครเล่น ในบรรดานักแสดงอาชีพเองก็มีความแตกต่างกันมากระหว่างกลุ่มที่มีรายได้สูง ซึ่งประชาชนทั่วไปเรียกรวมๆ กันว่าเป็นดารา หากมีชื่อเสียงโด่งดังมากก็เรียกว่าซูเปอร์สตาร์ซึ่งมีรายได้สูงลิ่ว

ขณะที่นักแสดงสมัครเล่นกับนักแสดงอาชีพที่ไม่มีบทนั้นถูกเรียกเหมารวมกันไปว่าเอ็กซ์ตร้า ซึ่งมีรายได้แค่เพียงยังชีพได้ตามสมควรเท่านั้น ส่วนใหญ่ไม่พอแก่การยังชีพ ช่องว่างระหว่างกลุ่มบนกับกลุ่มล่างนี้มีความห่างกันไปไกลแบบไม่เห็นฝุ่น แต่ผู้ชมมักรับรู้เรื่องราวเฉพาะแต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มบนเท่านั้น ส่วนกลุ่มล่างแม้จะมีอยู่ในระบบเป็นจำนวนมากแต่กลับแทบไม่มีใครมองเห็น ในกลุ่มคนทำงานล่างสุดนี้อย่าว่าแต่เป็นวิชาชีพเลย เอาแค่เป็นอาชีพเฉยๆ ก็ยังยาก

ในส่วนของเบื้องหลังก็มีปริมาณไม่น้อยไปกว่ากัน หากคำนวณจริงๆ โดยเทียบเฉพาะเบื้องหน้าที่เป็นดารา ก็นับว่าฝ่ายเบื้องหลังมีมากกว่าเบื้องหน้าหลายเท่า และมีทักษะเฉพาะที่จำเป็นต้องผ่านการเรียน การฝึกฝน และการสั่งสมประสบการณ์จนช่ำชอง หากไม่ผ่านการศึกษาและทดลองทำงานมาก่อนก็ไม่สามารถที่จะทำให้เป็นหรือทำให้ดีได้

ยกตัวอย่างเช่น ผู้กำกับการแสดง ผู้กำกับภาพ ผู้กำกับแสง คนคุมแสง โปรดิวเซอร์ คนเขียนบท คนคุมเสียง สวิตเชอร์ โปรดักชั่นดีไซเนอร์ ช่างภาพ ช่างกล้อง แอ๊กติ้งโค้ช คนหาโลเกชั่น คอสตูมดีไซเนอร์ เมกอัพอาร์ติสต์ ผู้กำกับศิลป์ ผู้ออกแบบงานสร้าง ช่างตัดต่อ คอมพิวเตอร์กราฟิก ฯลฯ

จะเห็นว่าสายงานเบื้องหลังนั้นมีหลากหลายกว่าเบื้องหน้ามาก และมีเทคนิคการทำงานที่ซับซ้อนกว่าการใช้แรงงานทั่วไป

 

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงการแสดงให้เห็นภาพเบื้องต้นสำหรับวางอิฐก้อนแรก ในฐานะที่เป็น “การวางสภาพแวดล้อมพื้นฐานในสายงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” เพื่อยกระดับการทำงานของบุคลากรต่างๆ ในกองถ่ายให้กลายเป็นวิชาชีพ โดยเริ่มต้นจากการรวมกลุ่มของคนที่ทำงานในอาชีพเดียวกัน หรือระบุให้ชัดลงไปคือคนที่ทำงานภายใต้อาชีพ เทคนิค และทักษะเดียวกัน เช่น ระหว่างตากล้องในกองถ่ายภาพยนตร์ด้วยกัน หรือช่างตัดต่อด้วยกันเอง ฯลฯ จากนั้นหาทางพัฒนาไปสู่การจัดตั้งองค์กรวิชาชีพ และพยายามผลักดันให้มีกฎหมายเฉพาะขึ้นมารองรับ

หากไม่สามารถสร้างสถานะที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมดังกล่าวขึ้น ก็ไม่สามารถจะวางระเบียบกฎเกณฑ์ในการทำงานต่างๆ อย่างมีมาตรฐานสากลได้

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสวัสดิการวิชาชีพ เกณฑ์มาตรฐานทางวิชาชีพ อัตราค่าจ้างที่เหมาะสม ระยะเวลาการทำงานที่แน่นอน ฯลฯ

ซึ่งท้ายที่สุดนอกจากจะทำให้คนทำงานในระบบไม่มี “ความเป็นมืออาชีพ” (professional) เท่าที่ควรแล้ว ยังนำไปสู่สภาพแวดล้อมอันไม่เป็นธรรม เกิดอุปสรรคต่อการพัฒนาวงการ แถมยังยื้อแย่งงานสารพัดวิธีอย่างโกลาหล

จนในที่สุดก็กลายเป็นตัดราคากันเองทั้งระบบ