การยกระดับนักแสดงรับจ้าง ในอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ให้กลายเป็นวิชาชีพ

เดือนตุลาคม พ.ศ.2566 ท่ามกลางความเงียบเหงาซบเซาของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในยุคหลังโควิด จู่ๆ ก็มีภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่งกวาดรายได้เป็นกอบเป็นกำทำให้เกิดกระแสขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งกับเรื่องราวของหนังเองและกับตัวผู้กำกับภาพยนตร์

นั่นก็คือปรากฏการณ์หนังเรื่อง “สัปเหร่อ” ของ “ต้องเต” ธิติ ศรีนวล ผู้กำกับฯ สุดแนวที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และยากจะมีใครเหมือน ตามข่าว “ต้องเต เตรียมแก้บนครั้งใหญ่ หลังสัปเหร่อพุ่งสู่ 500 ล้าน” 

ผลจากกระแสสัปเหร่อฟีเวอร์ได้สร้างความคึกคักให้หวนคืนกลับมาสู่อุตสาหกรรมภาพยนต์ไทย ไปพร้อมกับการเปิดฉากออนแอร์ละครโทรทัศน์ช่อง 3 เรื่อง “พรหมลิขิต” อันเป็นภาคต่อของละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ที่เคยสร้างความนิยมแบบถล่มทลายมาแล้วจากการออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2561

เมื่อบวกเข้ากับภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักนักพากย์” ของผู้กำกับฯ “อุ๋ย” นนทรีย์ นิมิบุตร ทาง Netflix ที่สามารถทะยานขึ้นติดชาร์ตอันดับ 1 คอนเทนต์ที่มียอดรับชมสูงสุดทาง Netflix ได้ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ออกฉาย

ก็ยิ่งตอกย้ำถึงศักยภาพมหาศาลของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของอุตสาหกรรมบันเทิงอันประกอบไปด้วยภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ เพลง และศิลปะการแสดงในรูปแบบต่างๆ

 

กระแสความนิยมที่ถูกจุดติดในชั่วข้ามคืนและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วทั้งในกรุงเทพฯ ในต่างจังหวัด และในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง อย่างเช่น ประเทศลาว ได้สร้างความตื่นเต้นดีใจให้กับภาคส่วนอื่นๆ ด้วย รวมทั้งในแวดวงการเมือง

เช่น ในข่าว “เสริมศักดิ์ยกสัปเหร่อต้นแบบซอฟต์เพาเวอร์ ดึงทุนวัฒนธรรมสร้างรายได้” 

และในข่าว “อนุทินยกทีมภูมิใจไทยดูสัปเหร่อ ประกาศดันซอฟต์เพาเวอร์ไทย ดันกรมพัฒนาชุมชนขยายเวลาจัดงาน OTOP”  เป็นต้น

ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดจากหลายแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำรายได้ทะลุ 500 ล้านบาทภายในเวลาไม่กี่วันหลังออกฉาย และมีทีท่าว่าอาจไปไกลในระดับพันล้านบาทได้สำเร็จ หลังจากที่ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก เรื่องเดียว และเรื่องสุดท้ายที่เคยไปไกลถึงระดับพันล้านบาทได้ก็คือเรื่อง “พี่มาก พระโขนง” ซึ่งเผนแพร่ในปี พ.ศ.2556 หรือเมื่อสิบปีก่อนนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ทั้งหมดนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับแวดวงอุตสาหกรรมไทยเป็นอย่างมากก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งซึ่งยังไม่ได้รับการพัฒนาให้เข้าสู่มาตรฐานสากลมากนัก และประชาชนทั่วไปก็ไม่ค่อยรู้ นั่นคือความเป็น “วิชาชีพ” ของการรับจ้างแสดงภายในแวดวงบันเทิงไทย

เนื่องจากงานแสดงรับจ้างเป็นงานที่แม้จะมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพได้บ้างก็ตาม แต่ก็ไม่มีความแน่นอน รวมทั้งไม่มีสวัสดิการใดๆ

ทำให้ชีวิตของนักแสดงแต่ละคนมีความผันผวนและอ่อนไหวเปราะบางอย่างมาก

บางคนอาจรุ่งและร่วงได้ภายในปีเดียวหรือไม่กี่ปี ซึ่งหากขาลงของนักแสดงคนนั้นเกิดขึ้นแบบปุบปับฉับพลันในวันที่สังขารร่วงโรยก็แทบจะหาทางไปประกอบอาชีพอื่นไม่ได้

 

ความเปราะบางดังกล่าวนี้มาจากสาเหตุหลายประการ อาทิ อาชีพนักแสดงในไทยมีระบบสังกัดเฉพาะกับคนที่ยังอายุน้อยเท่านั้น เมื่ออายุมากขึ้นถึงจุดหนึ่งแทบทุกคนก็ต้องรับงานอิสระหรือที่เรียกว่าเป็น “ฟรีแลนซ์” นั่นเอง

โดยส่วนใหญ่แล้วนักแสดงในไทยจะพ้นวัยที่มีสังกัดในตอนอายุยี่สิบปลายๆ จนถึงสามสิบต้นๆ ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยอายุที่น้อยมากเมื่อเทียบกับวงการบันเทิงในประเทศอื่น เช่น ฮอลลีวู้ด บอลลีวู้ด หรือในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

ข้อดีของการเป็นฟรีแลนซ์ก็คือความอิสระในการรับงาน แต่ข้อเสียก็คือหาความมั่นคงไม่มี

กล่าวอีกทางหนึ่งก็คือ ในขณะที่นักแสดงในประเทศอื่นกำลังเริ่มต้นประสบความสำเร็จ หรือไม่ก็กำลังยกระดับฝีมือทางการแสดงให้เหนือชั้นขึ้นไปกว่าเดิม นักแสดงส่วนใหญ่ในประเทศไทย ณ วัยเดียวกัน กลับกำลังถูกปลดระวาง และต้องมองหาอาชีพอื่นมาทดแทน

แม้นักแสดงแต่ละคนจะมีโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัวได้ในเร็ววันมากกว่าอาชีพอื่น แต่ในขณะเดียวกันก็มีความไม่มั่นคงอย่างมาก

ดังนั้น เมื่อต้องหาทางหนีทีไล่อยู่ตลอดเวลาในขณะที่กำลังมีงานทำอยู่ พวกเขาจึงไม่สามารถทุ่มเทสมาธิและเวลาทั้งหมดไปกับการพัฒนาขีดความสามารถของตัวเองในอาชีพนักแสดงได้

 

นอกจากนี้ ยังมีระบบการว่าจ้างที่ไม่ค่อยมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนมากนัก แต่ขึ้นกับความพอใจของผู้จ้างเป็นการส่วนตัวเสียมากกว่า สภาพแวดล้อมเช่นนี้จึงทำให้นักแสดงในไทยถูกบีบให้ต้อง “อยู่เป็น” ไม่แสดงความคิด การกระทำ หรือพฤติกรรมใดๆ ที่ขัดต่อความพอใจของผู้จ้าง แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับงานการแสดงเลยก็ตาม

ผลจากบรรยากาศนี้จึงทำให้ผู้ถูกจ้างจำนวนมากมีบุคลิกภาพแบบเอาอกเอาใจสูง และไม่กล้าแสดงทัศนะอะไรในเชิงวิพากษ์วิจารณ์มากนัก

การว่าจ้างที่ดูจะเป็นระบบวิชาชีพที่ชัดเจน มีมาตรฐาน และไม่ขึ้นต่อความพึงพอใจส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่งมากเกินไปก็คือในแวดวงโฆษณา ซึ่งมีรูปแบบในการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักแสดงที่เข้ามาทำงานเบื้องหน้าได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ส่วนตัว นอกจากนี้วงการโฆษณายังมีขอบเขตของการจ้างงานที่เคร่งครัดชัดเจนอีกด้วย

ฉะนั้น หากถามว่าจะยกระดับอาชีพนักแสดงในสายละครและภาพยนตร์ให้ขึ้นไปสู่การเป็นวิชาชีพตามมาตรฐานสากลได้อย่างไร ก็อาจไม่จำเป็นต้องเดินทางไปดูงานไกลถึงต่างแดนก็ได้

แต่เบื้องต้นเพียงแค่ยกระดับการจ้างงานให้มีกรอบกฎเกณฑ์และมีระบบระเบียบที่เป็นมาตรฐานชัดเจน ในลักษณะเดียวกับวงการโฆษณาก็ถือว่าน่าพอใจแล้ว

 

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของอาชีพนักแสดงอีกอย่างหนึ่งก็คือการขาดไร้ทั้งมาตรฐานวิชาชีพ และสวัสดิการพื้นฐานของอาชีพ ทั้งในระหว่างที่ยังทำงานอยู่ และในช่วงเวลาหลังจากที่เกษียณจากการทำงานแล้ว ซึ่งทำให้นักแสดงแต่ละคนจึงจำเป็นต้องเก็บหอมรอมริบให้ได้สถานเดียวเท่านั้น

เพราะหากโชคร้ายเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมาในเวลาที่ตนไม่มีเงินเก็บอยู่ ก็สามารถตกอับสิ้นเนื้อประดาตัวได้แบบไม่มีทางหวนกลับ

ซึ่งนักแสดงที่เข้าตาจนเช่นนี้ก็มีตัวอย่างให้เห็นอยู่มากตามหน้าข่าว หลายรายต้องออกสื่อเพื่อขอความสงสารเห็นใจจากประชาชนในการขอรับเงินบริจาคสำหรับการรักษาตัวยามป่วยไข้

ทั้งนี้ ก็อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยไม่ใช่รัฐสวัสดิการ ดังนั้น ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดก็ตามที่ไม่มีสวัสดิการรองรับก็ล้วนแล้วแต่ตกอยู่ในความเสี่ยงทั้งนั้น ซึ่งรวมถึงอาชีพนักแสดงด้วย

น่าเสียดายที่ท่ามกลางบรรยากาศครึกครื้นของความสำเร็จอย่างน่าตื่นเต้นของภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ ละครเรื่องพรหมลิขิต และภาพยนตร์เรื่องมนต์รักนักพากย์อีกส่วนหนึ่ง จะมีใครบ้างที่สังเกตว่าอาชีพต่างๆ ในอุตสาหกรรมบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง ตลอดจนทีมงานเบื้องหลังทั้งหมดในกองถ่าย ยังไม่ได้รับการพัฒนาและยกระดับขึ้นให้กลายเป็น “วิชาชีพ” ที่มีองค์กรทางวิชาชีพรองรับอย่างพร้อมเพรียง

ทั้งนี้ อาจมีกฎหมายเฉพาะขึ้นมาคุ้มครองดูแล มีสวัสดิการที่เหมาะสม อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำให้เกิดสถานะที่มั่นคง สามารถฝากชีวิตไว้ในระยะยาวได้ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มิใช่แค่เพียงเพื่อผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมบันเทิงโดยรวมในระยะยาว สำหรับพัฒนาขีดความสามารถของคนทำงานทั้งหมดในระบบ

รวมทั้งยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาวงการบันเทิงไทยให้ไปได้ไกลถึงในระดับโลก