แผนแจกเงินกำลังทำลายความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ในที่สุดเดือนตุลาคมก็ผ่านไปโดยคุณเศรษฐา ทวีสิน ไม่ชี้แจงเรื่องที่มาของเงินซึ่งจะใช้แจกประชาชน 5.6 แสนล้าน ทั้งที่คุณเศรษฐาเคยประกาศว่าจะแถลงเรื่องนี้แบบรวดเดียวจบภายในเดือนตุลาคม

มิหนำซ้ำนอกเหนือจะไม่ชี้แจงเรื่องนี้ คุณเศรษฐายังไม่ชี้แจงเรื่องอื่นอย่างตกลงจะแจกเงินด้วยวิธีไหน เริ่มแจกในเดือนอะไร

โครงการแจกเงินหมื่นเป็นอภิมหาโครงการแจกเงินรวดเดียวที่ใหญ่ที่สุดที่ประเทศเคยทำ เม็ดเงินที่ต้องใช้แจก 5.6 แสนล้าน เทียบเท่ากับ 16% ของงบประมาณประเทศซึ่งถือว่าสูงมาก

ต่อให้รัฐบาลจะอ้างว่ารัฐบาลคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เคยใช้เงินขนาดนี้ แต่การใช้เงินระดับนี้รวดเดียวนั้นไม่มีใครทำมาก่อนอย่างแน่นอน

“โจทย์” หรือ “ข้ออ้าง” ที่รัฐบาลนี้ใช้ในการแจกเงินคือกระตุ้นเศรษฐกิจไทย และถ้ายอมรับความจริงว่าไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็ใช้ “ข้ออ้าง” นี้ทำนโยบายแจกเงิน

ประเทศไทยวันนี้ก็เหมือนคนป่วยที่ใครเป็นรัฐบาลก็ล้วนเอาภาษีประชาชนมหาศาลไปแจกวิธีต่างๆ โดยใช้คำว่ากระตุ้นเศรษฐกิจเป็นข้ออ้างตลอดเวลา

ถ้าทุกรัฐบาลทำถูกเรื่องแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจริง เศรษฐกิจประเทศไทยก็ควรเติบโตจนไม่จำเป็นต้องกระตุ้นต่อไปอีก

แต่ถ้าทุกรัฐบาลแจกเงินโดยอ้างเรื่องกระตุ้นเหมือนกันหมด ก็เท่ากับมีหลายรัฐบาลที่แจกเงินแล้วกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ หรือกระทั่งจงใจใช้การกระตุ้นเป็นข้ออ้างในการแจกเงิน

 

ยังไม่มีใครตอบได้ว่านโยบายแจกเงิน 5.6 แสนล้านเป็นนโยบายที่ดีหรือไม่ดี

แต่ที่ทุกคนตอบได้แน่ๆ ก็คือรัฐบาลทำนโยบายนี้ภายใต้ความไม่พร้อมที่ยิ่งนานยิ่งเห็นชัดจนเหลือเชื่อ

เพราะนอกจากรัฐบาลจะไม่มีเงินทั้งที่เคยบอกช่วงหาเสียงว่ามี รัฐบาลยังไม่พูดแล้วว่าเมื่อไรจะประกาศความชัดเจนเรื่องที่มาเงิน

ลำพังการแจกเงินรวดเดียวมหาศาลก็เป็นเรื่องที่ทำให้โครงการนี้ถูกวิจารณ์มากอยู่แล้ว

ยิ่งแผนแจกเงินที่ตอนนี้เริ่มชัดเจนว่ายังไม่รู้เรื่องแหล่งที่มาของเงิน รวมทั้งไม่สามารถเปิดเผยว่าจะเอาเงินจากไหนมาแจกภายในระยะเวลาที่กำหนด กระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ยิ่งมากขึ้นเป็นทวีคูณ

เงินฟรีใครๆ ก็อยากได้ เหมือนของฟรีที่ไม่มีใครปฏิเสธ

ปัญหาของโครงการแจกเงิน 5.6 แสนล้านจึงไม่ได้อยู่ที่คนอยากให้รัฐบาลเอาภาษีประชาชนไปแจกหรือไม่

แต่อยู่ที่การแจกว่าทำอย่างไรจะไม่ให้รัฐบาลโดนด่าว่าดีแต่แจกเหมือนกับที่พรรคเพื่อไทยและประชาชนเคยด่ารัฐบาลที่ผ่านมา

กองเชียร์รัฐบาลมักจำคำพูดรัฐบาลไปพูดต่อว่าแจกเงิน 5.6 แสนล้านดีเพราะมีเป้าหมายให้ GDP เติบโต แต่ทุกรัฐบาลพูดเป้าหมายนี้เวลาแจกเงินจนเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว

คำอธิบายว่าแผนแจกเงินดีเพราะมุ่งให้เศรษฐกิจโตจึงเป็นประโยคที่พูดเองเออเอง (Self-Claim) จนกว่าจะมีอะไรพิสูจน์ได้จริงๆ

 

ที่ผ่านมานั้นสังคมไทยมีความรู้มากพออยู่แล้วว่า “เศรษฐกิจโต” มักหมายถึงการทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจของระดับมหภาคของประเทศเติบโตขึ้นในแง่เม็ดเงินโดยรวมหรือ GDP

ส่วนการทำให้ “เม็ดเงินโดยรวม” กระจายไปสู่ประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างกว้างขวางถูกมองว่าสำคัญน้อยจนแทบไม่มีใครทำเลย

แจกเงิน 5.6 แสนล้านจะทำให้ GDP โตแค่ไหนไม่รู้

แต่ที่แน่ๆ คือการทำให้เม็ดเงิน “กระจาย” มากกว่า “กระจุก” ยังไม่ชัดเจนนัก

เพราะถึงรัฐบาลจะให้ใช้เงินในรัศมี 4 ก.ม.ของภูมิลำเนา แต่เงื่อนไขนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงโอกาสที่คนจะซื้อสินค้าแบบมือถือหรือ IT ที่เงินจะไหลออกนอกประเทศอย่างเดียว

ในเงื่อนไขที่รัฐบาลปล่อยให้คนใช้เงินซื้ออะไรก็ได้ตามใจชอบ ยกเว้นเหล้า, เบียร์ และสินค้าอบายมุขต่างๆ ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าเงิน 5.6 แสนล้านจะถูกใช้เพื่อซื้อสินค้าของคนไทยจนเงินไปถึงคนไทยมากที่สุด

รวมทั้งไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าเงินจากภาษีคนไทยจะไม่ไหลไปนอกประเทศไทยเลย

 

หนึ่งในข้อหาที่พรรคเพื่อไทยโจมตีคุณประยุทธ์สมัยทำนโยบายคนละครึ่งคือ “อุ้มเจ้าสัว” เพราะเงินจากภาษีประชาชนถูกใช้จนไหลไปที่ “เจ้าสัว” ตลอดเวลา แต่นโยบายแจกเงิน 5.6 แสนล้านก็ไม่ได้พูดถึงการป้องกันเงินไหลเข้า “เจ้าสัว” จนน่าสงสัยว่ารัฐบาลชุดนี้อาจไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นปัญหาอะไรเลย

เม็ดเงิน 5.6 แสนล้านมากพอจะกระตุ้นการบริโภคในประเทศได้แน่ๆ แต่การกระตุ้นการบริโภคอาจไม่เท่ากับการกระตุ้นการผลิตจนเกิดการขยายตัวของการจ้างงานและการลงทุนในประเทศอย่างกว้างขวาง ถ้าประเภทของสินค้าที่คนเลือกซื้อเป็นสินค้านำเข้าที่ไม่มีผลต่อการผลิตและการจ้างงานในไทย

คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ของพรรคเพื่อไทยเป็นคนเดียวในรัฐบาลที่รอบคอบพอจะพูดถึงปัญหานี้ขึ้นมา แต่คุณกิตติรัตน์ไม่มีตำแหน่งอะไรในรัฐบาลมากกว่าที่ปรึกษาลอยๆ จึงเป็นไปได้มากว่าเสียงคุณกิตติรัตน์จะเป็นแค่การเปรยตามสายลมโดยไม่มีผลต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเลย

หากไม่มีประเด็นจำกัดพื้นที่ใช้เงิน รัฐบาลชุดนี้ก็ไม่มีกลไกอะไรที่จะกำกับให้เม็ดเงิน 5.6 แสนล้านไหลไปสู่ประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้เลย

หลักการกระตุ้นเศรษฐกิจคือการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบจนได้ผลตอบแทนสูงกว่าเม็ดเงินที่ใส่เข้าไป แต่ปัญหาของนโยบายแจก 5.6 แสนล้านคือรัฐบาลยังยืนยันไม่ได้ว่าการแจกเงินจะทำให้เศรษฐกิจโตขนาดไหน ยกเว้นธนาคารชาติที่ประเมินว่าเศรษฐกิจจะโตไม่ถึง 4.4% หากอัดฉีดต่ำกว่า 5.6 แสนล้านบาทลงมา

ที่ปรึกษานายกฯ ระบุว่าแผนแจกเงินหางบฯ จากปี 2566 ไม่ทันจนต้องเลื่อนไปใช้งบฯ ปี 2567 ซึ่งเท่ากับกว่าจะได้แจกเงินจริงๆ ก็ปาเข้าไปเดือนกันยายน

คำประกาศนี้เท่ากับรัฐบาลไม่สามารถแจกเงินในเดือนกุมภาพันธ์ได้ หรือเท่ากับ “ข้ออ้าง” ของรัฐบาลเรื่องต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้เร็วไม่มีความหมายอีกเลย

 

ทั้งที่นโยบายแจกเงินเป็นนโยบายใหญ่ที่ใช้เม็ดเงินมากที่สุดของรัฐบาล แต่ทุกอณูของนโยบายกลับเต็มไปด้วยความสับสนจนกระทบความเชื่อมั่นต่อการบริหารนโยบายอย่างที่สุด ปัญหาที่มาเงินเป็นเรื่องซึ่งไม่ควรเกิดอย่างที่เกิดไปแล้ว แต่ที่มากกว่านั้นคือข่าวเลื่อนแจกเงินไปกันยายนปีหน้าโดยไม่มีใครปฏิเสธเลย

นักเศรษฐศาสตร์ที่น่านับถือหลายคนตั้งคำถามต่อนโยบายนี้มากกว่าการหาเงิน, หนี้ท่วม หรือเลื่อนแจกเงิน ตัวอย่างเช่น ปัญหา Supply Disruption ที่ร้านค้าต้องใช้เงินสดซื้อสินค้าเพื่อมาขายหรือผลิตทดแทนสินค้าที่ประชาชนซื้อด้วยเงินดิจิทัล ซึ่งปัญหาแบบนี้ยังไม่มีการตอบหรือแม้กระทั่งพูดถึงจากฝ่ายรัฐบาล

แจกเงินเป็นนโยบายใหญ่ที่เพื่อไทยถอยไม่ได้ และแค่รัฐบาลจะเลื่อนจ่ายเงินไปหลังเดือนกุมภาพันธ์ก็จะทำให้รัฐบาลเสียหายอย่างย่อยยับ เส้นทางของรัฐบาลต่อเรื่องนี้จึงไม่มีทางเลือกนอกจากดันนโยบายไปให้สิ้นสุด แต่ความสำเร็จของนโยบายนี้เป็นคนละเรื่องกับการได้แจกเงินอย่างสิ้นเชิง

นโยบายแจกเงินกำลังเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำลายความเชื่อมั่นรัฐบาลมากกว่าเพิ่มความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล