อุษาวิถี (จบ) โครงสร้างและความเปลี่ยนแปลง (ต่อ) | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สิ่งสำคัญยิ่งของสิทธิตามประเพณีไทยนี้ ไม่เพียงจะสะท้อนถึงฐานคิดเกี่ยวกับสิทธิของสังคมสยามที่ตั้งอยู่บนฐานวัฒนธรรมที่มั่นคงเท่านั้น หากแม้แต่เมื่อความคิดตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลในสังคมสยามไม่น้อยแล้วในพุทธศตวรรษที่ 23 นั้น

สิทธิตามประเพณีไทยนี้ยังคงมีพลังที่จะวิวาทะกับสิทธิที่มีรากฐานวัฒนธรรมตะวันตกอยู่ไม่เสื่อมคลาย

เป็นอยู่แต่ว่าสังคมสยามในยุคที่ถูกเปลี่ยนไปเรียกเป็น “สังคมไทย” แล้วเท่านั้น ที่พลังในการอธิบายนั้นได้ถูกบดบังไปอย่างน่าเสียดาย

และผู้บดบังก็หาใช่ใครที่ไหน หากคือชนชั้นนำทางอำนาจใหม่ที่เป็นผลผลิตจากวัฒนธรรมตะวันตกนั้นเอง

 

ความลงท้าย

การศึกษาในบทนี้แม้จะมีปัญหาเกี่ยวกับนิยามของอุษาวิถีอยู่บ้างก็ตาม แต่จากที่ศึกษามานี้จะพบว่า แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองที่รัฐในเอเชียอิงอยู่กับรากฐานวัฒนธรรมอย่างอิสระนั้น ใช่จะเป็นแนวทางที่ปราศจากความเป็นจริงอันใดมารองรับเสียเลยทีเดียว

เป็นอยู่แต่ว่า รากฐานวัฒนธรรมที่ว่านี้อาจจะมีขีดจำกัดเมื่อนำมาปฏิบัติอยู่บ้าง

ด้วยเหตุนั้น จึงไม่แปลกที่รัฐที่อ้างรากฐานวัฒนธรรมเดิมของตน มาอธิบายการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นแนวทางการพัฒนาที่มิได้คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์บ้าง เป็นแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยบ้าง

หรือแม้กระทั่งเป็นแนวทางที่ชนชั้นปกครองนำมาอ้างอิง เพื่อพิทักษ์ระบอบอำนาจนิยมหรือระบอบเผด็จการของตนก็มีบ้างเช่นกัน ดังในกรณีจีน เป็นต้น

อะไรคือขีดจำกัดจนกลายเป็นที่มาของการวิวาทะอันไม่รู้จบดังกล่าว จะตอบคำถามนี้ได้ก็ต้องเริ่มด้วยการย้อนกลับไปดูที่มาของสิ่งที่ถูกนำมาอ้าง ว่าเป็นรากฐานวัฒนธรรมเดิมของตนเสียก่อน ว่าเอาเข้าจริงแล้วเป็นรากฐานที่มีเงื่อนปัจจัยและสภาพแวดล้อมอันใด ที่สำคัญต่อการนำมาอ้างอิง และต่อการทำให้เกิดขีดจำกัดนั้นขึ้นมา

 

จากการศึกษาเฉพาะกรณีอินเดียและจีน (อันเป็นรากฐานที่สังคมไทยรับมาและยังคงมีอิทธิพลแม้ในทุกวันนี้) พบว่า พัฒนาการของทั้งสองกระแสนี้มีความแตกต่างกันอย่างมาก

กล่าวคือ ในกรณีของอินเดียนั้นแม้หลักคำสอนของศาสนาพุทธจะครอบคลุมกว้างไกลก็ตาม แต่การวางตนอย่างอิสระจากทางโลกย์นั้น นับว่ามีส่วนไม่น้อยในการทำให้ศาสนานี้เสื่อมลงด้วยอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์

และแม้ศาสนาอิสลามจะมีส่วนอย่างสูงในการทำลายศาสนาพุทธ แต่ก็หลังจากที่ศาสนาพุทธได้ถึงกาลเสื่อมถอยอย่างที่สุดแล้ว

ที่สามารถปรับตัวอย่างรวดเร็วในทางขนบจารีต ที่สำคัญคือ การไม่เคยละทิ้งบทบาทของตนในการเข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสถาบันทางการเมือง

 

ส่วนในกรณีของจีนก็เห็นได้ชัดว่า ภายหลังที่ได้เกิดลัทธิขงจื่อขึ้นแล้วนั้น ลัทธินี้ไม่ได้รับการยอมรับจากสถาบันทางการเมืองต่างๆ ในจีนก็แค่ไม่กี่ร้อยปีเท่านั้น แต่หลังจากนั้นก็ถูกใช้สืบต่อกันมาเป็นเวลานับพันปี

กระทั่งฝังรากลึกอยู่ในสังคมจีนอย่างยากที่จะถอนขึ้นมาจนทุกวันนี้ ดุจเดียวกับศาสนาพราหมณ์ในอินเดีย

กล่าวโดยรวมก็คือ ลัทธิขงจื่อก็ไม่ต่างกับศาสนาพราหมณ์ในประเด็นของการสร้างขนบจารีตขึ้นมา และการเข้าไปมีบทบาทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสถาบันทางการเมืองนั้นเอง

พัฒนาการดังกล่าวมีผลอย่างน้อยสองประการคือ

หนึ่ง ก่อนที่อิทธิพลตะวันตกจะเข้าไปกระทบสังคมจีนและอินเดียนั้น รากฐานวัฒนธรรมของทั้งสองสังคมหาได้ปรับตัวไม่ หรือไม่ก็ปรับแต่น้อยจนมองไม่เห็นว่าจะต้านอิทธิพลตะวันตกได้อย่างไร อีกทั้งในบางยุคบางสมัยก็ยังมีการบิดเบือนรากฐานที่ว่าด้วยซ้ำไป

สอง เห็นได้ชัดว่า รากฐานวัฒนธรรมทั้งของอินเดียและจีนนั้น ต่างก็มีตรรกะอธิบายในประเด็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ/หรือประชาธิปไตยแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับตรรกะของตะวันตก

ด้วยผลทั้งสองประการดังกล่าวจะเห็นได้ต่อไปว่า เมื่อตะวันตกเข้ามาแผ่อิทธิพลในสมัยอาณานิคมแล้ว รัฐในเอเชียก็มิอาจทานกระแสใหม่ไปได้ แต่นั่นยังไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่นำมาซึ่งความพ่ายแพ้ของเอเชียต่อตะวันตก

เพราะเอาเข้าจริงแล้ว หากตะวันตกคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือประชาธิปไตยแล้ว การกระทำของตะวันตกในฐานะนักล่าอาณานิคมก็ไม่น่าป่าเถื่อนโหดร้าย จนไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือประชาธิปไตยให้สมกับคำกล่าวอ้างของตน

แท้ที่จริงแล้ว ชัยชนะของตะวันตกเหนือเอเชียในสมัยอาณานิคมนั้น นอกจากจะเป็นเพราะผลทั้งสองประการดังกล่าวแล้ว การใช้กำลังอาวุธที่ทันสมัยกว่าก็นับเป็นปัจจัยชี้ขาดที่สำคัญอีกด้วย

ฉะนั้น ประเด็นคำถามสำคัญจึงกลายเป็นว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วอะไรเล่าคือเหตุผลสำคัญของตะวันตกในขณะนั้น ตะวันตกต้องการเผยแผ่หลักธรรมทางการเมืองของตนกระนั้นหรือ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เหตุใดหลักธรรมของตะวันตกจึงเต็มไปด้วยความป่าเถื่อนโหดร้ายด้วยเล่า?

 

ความจริงก็คือว่า ตะวันตกได้พัฒนาเศรษฐกิจการเมืองบนแนวทางของตนขึ้นมาจนถึงขีดสุด ภายใต้เศรษฐกิจลัทธิอุตสาหกรรมและการเมืองลัทธิเสรีประชาธิปไตยไปแล้ว ขีดขั้นการพัฒนาดังกล่าวทำให้การมุ่งแสวงหาความมั่งคั่งภายในไม่เพียงพออีกต่อไป

การขยายการค้าเพื่อความมั่งคั่งยิ่งๆ ขึ้นจึงเกิดขึ้น กระทั่งนำมาซึ่งการล่าอาณานิคมในที่ต่างๆ ในที่สุด

เหตุฉะนั้น การอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็ดี การอ้างประชาธิปไตยก็ดี จึงมิใช่อะไรอื่นเลย หากแต่ก็คือ เพื่อความชอบธรรมต่อการขยายการค้าของตะวันตกเองเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ผลจากพัฒนาการของเอเชียก่อนการเข้ามาของตะวันตกทั้งสองประการที่ว่ามาข้างต้น จึงได้กลายเป็นเงื่อนปัจจัยสำคัญที่ประกอบเข้ากับสภาพแวดล้อมของลัทธิอาณานิคมได้ลงตัวพอดี

ผลคือ เอเชียแทบทั้งหมดได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของตะวันตกไปในที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม เงื่อนปัจจัยและสภาพแวดล้อมดังกล่าว แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์และตอบโต้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ตาม แต่กล่าวในแง่รากฐานแล้ว หาได้มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยไม่ การคุกคามของตะวันตกในรูปแบบต่างๆ กลับทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้น

จนหากจับไม่ได้ไล่ไม่ทันแล้ว ก็แทบจะมองไม่เห็นลัทธิอาณานิคมที่ซ่อนอยู่ภายในการคุกคามนั้นเลยก็ว่าได้ และผู้ที่มองเห็นก็คือ กลุ่มประเทศที่อ้างอิงรากฐานวัฒนธรรมเดิมของตนนั้นเอง

ปัญหาจึงมีว่า การอ้างอิงดังกล่าวนี้ยังคงหนีไม่พ้นเงื่อนปัจจัยและสภาพแวดล้อมดังที่ได้เคยเกิดขึ้น และดำรงอยู่ก่อนที่การล่าอาณานิคมจะเกิดขึ้น นั่นคือ เป็นการอ้างอิงที่ยังมีขีดจำกัดในการอธิบายรากฐานวัฒนธรรมของตน

หากจะมีสิ่งใดที่แตกต่างไปจากอดีตแล้ว สิ่งนั้นก็น่าจะเป็นการประกาศตนอิสระจากการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้แนวทางเดียวกันกับตะวันตกนั้นเอง

และเพราะต้องการอิสระเช่นนั้น ประเทศที่กล่าวอ้างจึงต้องการดำรงแนวทางการพัฒนาทางการเมืองแบบเดิมของตนเอาไว้ อย่างน้อยก็ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นรากฐานวัฒนธรรมเดิมที่ไม่เหมือนตะวันตก และตะวันตกไม่มีทางเข้าใจ หรือไม่ก็ไม่ยอมเข้าใจ