รากฐาน มูลเชื้อ แห่ง เมดอิน USA สุจิตต์ วงษ์เทศ

บทความพิเศษ

 

รากฐาน มูลเชื้อ

แห่ง เมดอิน USA

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

สุจิตต์ วงษ์เทศ เริ่มต้น “เมด อิน U.S.A.” ของเขาด้วยประโยค ก็ยังไม่รู้จนกระทั่งบัดเดี๋ยวนี้ (ขณะเดินทำโก้อยู่ท่าเรือบินดอนเมือง) ว่า

ผมจะไปอเมริกาทำไม

รู้แต่เพียงว่าต้องไปและไปให้ถึงอเมริกา จะตายโหงตายห่าเสียกลางทางก็ช่างหัวมัน ถ้าแม้ว่าเครื่องบินจะไปถูกจี้กลางหาวแล้วพาไปลงละแวกเทือกเขาหิมาลัยก็ช่างหัวมัน

ดีเสียอีก จะได้เดินทางไปนอกฟ้าป่าหิมพานต์

ญาติสนิทมิตรสหายหลายคนทักถามเมื่อสองสามวันก่อนว่าไปเรียนต่อทำปริญญามหาบัณฑิต หรือว่าไปดูงานการทำน้ำพริกกะปิแห้ง ผมตอบไปตามประสาว่า

สุดแท้แต่พระเดชพระคุณจะคิดเอาเถิดว่าจะไปทำอะไร

 

ทองปน บางระจัน

หนุ่มหน่ายคัมภีร์

น่าสังเกตว่าเมื่อแรกที่เขียน “คำตอบ” ของ “คำถาม” ที่ว่า ทำไมจึงเดินทางไปสหรัฐอเมริกา สุจิตต์ วงษ์เทศ ดำเนินไปในท่วงทำนองแบบ ทองปน บางระจัน

นั่นก็คือ “ตัวเกล้ากระผมเองก็ไม่รู้ว่าจะไปทำไม”

“รู้แน่ก็แต่เพียงว่า เมื่อกลับจากอเมริกาแล้วนั่นแหละ รังสีรัศมีสวยสดงามตามันแวววับจับโครงกระดูกมากขึ้นกว่าเดิม

เกล้ากระผมเป็นคนกระดูกใหญ่และไฝฝ้าจับดำมาแต่กำเนิด

อยากจะแลเห็นกระดูกตัวเองระยับกับมนุษย์เขาบ้าง—นี่แล เป็นเหตุที่คิดบั้นแรก

จะเอาจริงเอาจังอะไรนักหนากับคำตอบของมนุษย์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์อย่างผมซึ่งเป็นไทยเดิมตั้งโด่มาแต่ไหนแต่ไร ถ้าใครถามว่าไปไหนมาก็ตอบว่า สามวาสามศอกเสียก็สิ้นเรื่องสิ้นราว ถือเสียว่าตอบแล้ว

ส่วนจะถูกจะผิดนั้นขอให้ผู้ได้รับคำตอบนำไปพินิจพิจารณากันเอาเอง”

 

เงาสะท้อน นิราศ

เหินฟ้า สู่อเมริกา

จากนั้น, รายละเอียดของการเดินทางก็ค่อยปรากฏ เป็นรายละเอียดที่แม้มิได้บ่งบอกถึงเป้าประสงค์ของการเดินทาง

กระนั้นก็เป็นสิ่งที่ล้วนเคยปรากฏผ่าน “นิราศ” มาแล้วใน “วงวรรณคดี”

หยิบตั๋วเครื่องบินออกมาพิจารณาเพราะตัวเขียนที่ผ่านกระดาษคาร์บอนสีแดงทำให้ตั๋วหนังสือเป็นสีแดงเลือดนกคล้ายตั๋วจำนำของโรงจำนำแถวพรานนก

ตั๋วเรือบินของผมแปลกกว่าคนอื่นที่แบ่งออกเป็น 2 ท่อน

ท่อนแรกเขียนว่า บางกอก-แฟรงก์เฟิร์ต เที่ยวบิน ที.ดับลิว 741 ลงวันที่ 22 เมษายน 2514 จำได้ว่าท่อนนี้ผู้การเล็กแห่งหน่วยรถถังปฏิวัติกับผู้ (อำนวย) การกระจกฝ้า “นักเขียนหนุ่มผู้ไม่อื้อฉาว” แห่งสายปนัดดามอบให้ไว้

ท่อนหลังเป็นตั๋วต่อจากแฟรงก์เฟิร์ตถึงนิวยอร์ก ราคา 268 ดอลลาร์อเมริกัน

ซึ่งจำได้แน่นอนว่าจัดหามาด้วยเช็คเงินสดธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนตะนาว ในบัญชีของผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์สยามรัฐและโต้โผโขนคณะธรรมศาสตร์

ดูพลางก็นั่งวิปัสสนาเพ่งกสิณรำลึกถึง

เก็บตั๋วเครื่องบินใส่กระเป๋าตามเดิมแล้วนึกว่า วันนี้วันที่ 22 พรุ่งนี้ก็เป็นวันที่ 23 ซึ่งเป็นวันเกิดของผมตามทะเบียนสำมะโนครัว

แล้วรายละเอียดอันคล้ายกับ “รหัส” ก็ได้รับการคลี่คลายในภายหลัง

เมื่อ “เมด อิน U.S.A.” พิมพ์เป็นเล่ม ผ่าน “คำนำ” โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ เอง

 

คำนำ นำเสนอ

ไปในนาม สยามรัฐ

ปลายเมษายนปี 2514 ผมขอลางานกับบรรณาธิการสยามรัฐรายวัน-นพพร บุณยฤทธิ์ เพื่อเดินทางไปสหรัฐอเมริกา

(โดยให้ ขรรค์ชัย บุนปาน ซึ่งมีหน้าที่ตระเวนเหนือตระเวนใต้เข้าประจำการในกองบรรณาธิการแทน)

ด้วยตั๋วเครื่องบินกรุงเทพฯ-แฟรงก์เฟิร์ต

ซึ่งได้รับความอุปการะจาก พ.อ.เล็ก สุนทรศร และ พ.ต.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา แห่งสถานีวิทยุยานเกราะ

และเมื่อรายงานต่อ ผู้อำนวยการ “สยามรัฐ” อาจารย์ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านก็อุปการะด้วยการจ่ายเงินซื้อตั๋วจากแฟรงก์เฟิร์ตถึงนิวยอร์กให้อีกทอดหนึ่ง

ผมขอกราบขอบพระคุณไว้ ณ ตรงนี้

 

ปักหลัก ณ อิทะกะ

ปักหลัก คอร์แนล

ที่อเมริกา-เวลาส่วนใหญ่นั้นผมอยู่ที่เมืองอิทะกะอันเป็นเมืองมหาวิทยาลัย มีมหาวิทยาลัยคอร์แนลตั้งอยู่เป็นสำคัญ

และที่นี่เองที่ผมดีดต้นฉบับส่งมาให้ ขรรค์ชัย บุนปาน เพื่อนำลงในสยามรัฐรายวัน และบางครั้งก็ส่งให้ สุทธิชัย หยุ่น เพื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษ (เพราะผมเขียนภาษาอังกฤษไม่ได้) ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น

จากบทความที่ผมส่งมาให้สยามรัฐและเดอะเนชั่นนั่นเอง ผมก็คัดอย่างสะเปะสะปะครั้งหนึ่งและเขียนเพิ่มเติมอย่างสะเปะสะปะอีกครั้งหนึ่งเพื่อที่จะพิมพ์ออกมาให้เป็น “เมด อิน U.S.A.”

ผมเขียนทำไม และพิมพ์ออกมาเพื่ออะไร

คำถามข้อแรกดูเหมือนจะไม่ต้องตอบ เพราะผมชอบที่จะเขียนลายสือไทย และยิ่งตอนนั้นผมไปในฐานะผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ก็ยิ่งต้องเป็นหน้าที่ที่จะต้องเขียนเพิ่มขึ้นไปอีก

แน่นอน เป้าหมายลึกๆ ของการเขียนอาจจะเพื่อบอกข่าวหรือเล่าสู่กันฟังถึงสิ่งที่บังเอิญไปพบไปเห็นมาด้วยผมก็ถือคติว่า “จะรู้ลึกรู้ตื้นนั้นไม่สำคัญ” ข้อสำคัญอยู่ที่ว่ากันเป็นสัจจะเอาไว้ก่อน

ส่วนคำถามข้อหลังก็คงไม่ต้องตอบอีก เพราะหนังสือที่ผมเขียนนั้นพิมพ์ออกมาเป็นเล่มกว่า 10 เล่มแล้ว ถ้าจะตอบก็เห็นจะต้องตอบว่าเพื่อขายให้แก่สำนักพิมพ์

ผมจะได้มีเงินไปเลี้ยงเหล้าเพื่อนฝูงนะซีครับ

สุจิตต์ วงษ์เทศ อาจไม่ตอบหรือหากถือว่าเป็นคำตอบก็เป็นการตอบที่ยียวนด้วยท่วงทำนองแบบ ทองปน บางระจัน

คำตอบจึงอยู่ที่ เมด อิน ไทยแลนด์ ของ ขรรค์ชัย บุนปาน มากกว่า

 

ตัวตน สุจิตต์ วงษ์เทศ

จาก ขรรค์ชัย บุนปาน

หนังสือเล่มนี้อ่านสนุกและเพลิดเพลินเป็นอย่างยิ่งเพราะตัวผู้เขียนคือ สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นผู้ที่รู้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ขณะนี้คันตรงไหน

รสชาติของตัวหนังสือที่ออกมาเป็นเรื่องราวก็จัดแจงเกาตรงนั้น

ประการสำคัญ สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นผู้เขียนหนังสือเป็น

ใคร่ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การเขียนหนังสือได้ กับ การเขียนหนังสือเป็นนั้น ไม่เหมือนกัน

ตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็น คือ ในวงการหนังสือพิมพ์บ้านเราแม้ผู้ที่เขียนย้ำถึงสรรพสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวว่าตกอยู่ในอาการน้ำเน่า หากพิจารณาให้แท้จริงลงไปข้อเขียนนั้นๆ เองก็เป็นน้ำเน่าชนิดหนึ่ง

เพราะเต็มไปด้วยถ้อยคำซ้ำซาก ความคิดจำเจ น่าเบื่อหน่าย

ผลที่ปรากฏออกมาแสดงให้เห็นว่า ผู้เขียนเป็นเพียงผู้เขียนหนังสือได้ไม่ใช่เขียนหนังสือเป็น เหตุที่เขียนหนังสือได้ก็ด้วยวิถีชีวิตบังเอิญพลัดเข้าไปอยู่ในเส้นทางของการขีดๆ เขียนๆ

ทางแก้ในเรื่องนี้ง่ายมาก เบื้องแรกคือ ต้องเป็นผู้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยการอ่านหนังสืออยู่เสมอ ต่อมาต้องเป็นผู้มีหลักการในหัวใจมั่นคง

ขณะเดียวกัน ก็ต้องเป็นผู้มีใจกว้างขวาง มองโลกด้วยสายตาของนักเรียนที่ใคร่เรียนรู้ ไม่ใช่ประพฤติตนเป็นศาสดาไปเสียทุกเรื่องทุกอย่าง ทั้งๆ ที่บางเรื่องหรือทุกเรื่องตัวผู้เขียนหนังสือได้ก็ทำงานได้แค่เปลือกหรือกระพี้

คนหนุ่มในประเทศด้อยพัฒนานี้มิค่อยมีเวลามากนัก ไหนจะต้องหมดเปลืองเวลากับการโต้เถียงอันไร้สาระ ไหนจะต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความถูกความควร ซึ่งในชั่วชีวิตน้อยๆ ของเราพบแต่สิ่งไม่ถูกไม่ควร

ไหนจะต้องอดทนกับเสียงของผู้ที่ไม่ยอมเผชิญหน้า

เรามิได้ปรารถนาอะไรมากไปกว่าการเกิดมาเพื่อทำงานในสิ่งที่เราเห็นว่าเราต้องทำ และปรารถนาเหลือเกินที่จะเห็นเพื่อนหนุ่มสาวได้ทำงานด้วยความถนัดตามธรรมชาติอันใฝ่ดีของเขาและหล่อน

การกระทำของเราทั้งอดีต ปัจจุบัน ตลอดจนอนาคตที่จะมาถึงจะทำให้ตัวเองและเพื่อนฝูงเป็นฝ่ายเจ็บปวดบ้าง เราก็ยินดีบอกว่าเราจะทำต่อและไม่สิ้นเพียร

แม้จะเป็นอะไรไปก็ตามเรายังเชื่อว่าคนทำงานอย่างเราทั้งที่เกิดมาก่อนและที่จะเกิดตามมาย่อมมีอยู่ในแผ่นดินนี้

และทวีจำนวนมากขึ้นทุกวัน