‘สัปเหร่อ’ : ความตาย, งาน และซอฟต์เพาเวอร์

คนมองหนัง

ความตายและการตีความ

แน่นนอน ถ้ามองในบางแง่มุม “สัปเหร่อ” หนังจาก “จักรวาลไทบ้าน” ภาคล่าสุด ที่ทำรายได้ไปหลายร้อยล้านบาท ณ ขณะนี้ ก็มีสถานะเป็น “หนังผี” เพราะหนังมีตัวละครหลักที่เป็น “ผี” อยู่จริงๆ

อย่างไรก็ดี คนดูจำนวนหนึ่งอาจมองว่า “เรื่องผี” ไม่ใช่ประเด็นหลักของหนังเรื่องนี้ หากแต่เป็นสะพานที่เชื่อมโยงให้เรามองเห็นถึงวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมชนบท (อีสาน) ตลอดจนความคิด ความฝันของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในสังคมดังกล่าว

กระนั้นก็ตาม ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า “ผี” และ “ความตาย” เป็นประเด็นสำคัญมากๆ ในภาพยนตร์

จุดที่น่าสนใจ คือ “ผีใบข้าว” นั้นปรากฏกายขึ้นโดยไม่บอกอะไรตรงๆ กับผู้คนที่ได้พบเจอเธอ หรือถูกเธอหลอกหลอน

ผู้ชมจะรับทราบแต่เพียงความรู้สึกนึกคิดของคนที่ได้เจอ “ผี” หรือมีความผูกพันกับ “ผี”

เช่น เรารู้ว่า “เซียง” ยังรักและตัดใจจากคนรักเก่าอย่าง “ใบข้าว” ไม่ได้ เรารู้ว่า “แม่ของใบข้าว” อยากจัดงานเผาศพลูกสาว ส่วนผู้ใหญ่บ้านและพ่อแก่แม่เฒ่าบางรายในชุมชนก็เห็นควรด้วยว่าต้องรีบเผา “ผี”

ทว่า เราไม่อาจรับรู้ได้เลยว่า “ผีใบข้าว” ต้องการอะไรกันแน่? เพราะเธอแทบไม่ได้สื่อสารผ่านคำพูด

การเที่ยวตระเวนหลอกคนรู้จักในหมู่บ้าน หมายถึงการบอกให้รีบเผาศพตัวเอง อย่างที่ผู้ใหญ่บางคนเข้าใจจริงๆ หรือ?

“เซียง” อาจไปได้ไกลที่สุดด้วยการถอดจิตไปหา “ใบข้าว” แต่ “วิญญาณหญิงสาว” ก็ทั้งไม่ได้เหนี่ยวรั้งเขา และไม่ได้สั่งสอนตรงๆ ให้เขาปล่อยวาง

การยึดติดกับคนที่ตายไปแล้วอย่างบ้าคลั่งขาดสติ และการพยายามเริ่มต้นชีวิตใหม่ ล้วนเป็นการตัดสินใจและการเลือกของตัว “เซียง” เองทั้งสิ้น

มองแบบนี้ “ผี” จึงมีพลังและตัวตนขึ้นมาได้ ด้วย “การตีความ” ของคนที่ยังอยู่

ไม่ต่างอะไรจากพิธีกรรมงานศพของมนุษย์/สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในหนัง ซึ่งถูกตีความแตกต่างกันไป ตามความแตกต่างทางศาสนา-ความเชื่อ, เพศวิถี และชนชั้น ซึ่งนำไปสู่รายละเอียด, ขนาดเล็ก-ใหญ่ ตลอดจนสีสัน ที่ผิดแผกจากกัน

“ความตาย” และ “การจัดการกับความตาย” จึงเป็นเรื่องของ “วัฒนธรรมแห่งการตีความ” ไม่ต่างจากประเด็นเกี่ยวกับ “ผี”

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก SF Cinema

คนมีงานและคนไม่มีงาน

นอกจากเรื่อง “ผี” และ “ความตาย” หนังเรื่อง “สัปเหร่อ” ยังเล่าถึงผู้คนสองกลุ่มในสังคมชนบท (ซึ่งอาจจะหมายถึง “ชนบทอีสาน” หรือ “ชนบทในภูมิภาคอื่นๆ” ด้วยก็ได้) นั่นคือ “คนมีงานทำ” และ “คนไม่มีงานทำ”

ในขณะที่ “เฮิร์บ” มีกิจการร้านโชห่วยประจำชุมชน

สมาชิกในครอบครัวของ “สัปเหร่อศักดิ์” ต่างมีงานทำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพ่อที่ทำงาน “สัปเหร่อ” แม้นั่นอาจเป็นงานในเชิง “จิตอาสา” ซึ่งไม่มีรายได้แน่นอน ส่วนลูกชายคนโตคือ “หมอแจ๊ค” ก็เป็นเจ้าหน้าที่อนามัย ลูกชายคนเล็กอย่าง “เจิด” ก็จบนิติศาสตร์ และเตรียมสอบตั๋วทนาย

เรายังเห็น “พ่อใหญ่คำตัน” ทำงานเป็นผู้ใหญ่บ้าน แล้วก็เห็นตำรวจที่ทำงานเป็น “โฆษกอ่านกลอนไว้อาลัย” ตามงานศพ และ “พระป่อง” พระบวชใหม่ ซึ่งมีหน้าที่ตีระฆังในวัด (แม้ในสายตาของหลายคน “งานสองประเภทหลัง” อาจเข้าข่าย “งานที่ไม่ต้องมี” หรือ “bullshit jobs”)

แต่อีกด้านหนึ่ง เราจะพบว่า “จาลอด” พระเอก “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” ยังใช้ชีวิตแบบร่อนไปเร่มา ไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง แม้ลูกน้อยของเขาใกล้ลืมตาดูโลกแล้ว

ส่วนตัวละครนำในหนังภาคนี้ เช่น “เซียง” ก็มัวอกหักช้ำรักคิดถึงคนที่ตายจาก จนไม่มีกะใจทำงานใดๆ

แล้วยังมีแก๊งก๊งเหล้าหน้าร้านเฮิร์บ ซึ่งเป็นแรงงานรับจ้างในภาคเกษตร ที่ไม่มีงานประจำ

ทางเดินชีวิตของตัวละครใน “สัปเหร่อ” จึงมีสองวิถี วิถีแรก คือ คนที่กำลังจะขยับขึ้นไปเป็น “ชนชั้นกลาง” ซึ่งเรียนจบปริญญา มีวิชาชีพเฉพาะ มีรถยนต์ใช้

เมื่อ “เจิด” และ “สัปเหร่อศักดิ์” คืออีกสองตัวละครหลักของหนัง เราจึงพบว่า “สัปเหร่อ” นั้นเป็นมหรสพที่มีคำคมสอนใจชัดๆ ตามแบบสื่อบันเทิงของคนเมือง และให้คุณค่ากับ “ครอบครัว” แบบคนชั้นกลาง ผิดกับ “ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 1-2” ที่เป็นหนังเน้นการต่อมุขเล่นหัวไปเรื่อยๆ ไม่มีแก่นแกนแง่คิดชัดเจน (แม้จะแฝงรายละเอียดน่าสนใจไว้เยอะแยะตามรายทาง)

ส่วนตัวละครอีกหลายราย (ที่เคยโดดเด่นใน “ไทบ้าน เดอะซีรีส์”) กลับเป็นพวกคนไม่มีงานทำ ไม่รู้วิธีหาเงิน แม้คนที่พอมีทุนและลองเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ก็ประสบความล้มเหลว และมองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก พรรคเพื่อไทย

สัปเหร่อกับซอฟต์เพาเวอร์

“สัปเหร่อ” เป็น “ซอฟต์เพาเวอร์” หรือไม่? ผมยังไม่แน่ใจ เพราะพลังที่เราสัมผัสได้จากหนังเรื่องนี้ คือ การสื่อสารกับผู้คนจำนวนมากในประเทศ ทั้งที่ยังใช้ชีวิต ณ ต่างจังหวัด และคนต่างจังหวัดที่เดินทางเข้ามาทำงานตามเมืองใหญ่

ที่แน่ชัด คือ นี่เป็นการสำแดงพลังทางวัฒนธรรมของ “(อดีต) อาณานิคมภายใน” ให้ “เจ้าอาณานิคมที่ศูนย์กลางกรุงเทพฯ” ได้ประจักษ์

แต่หาก “ซอฟต์เพาเวอร์” หมายถึงการมีพลังอำนาจในการ “โน้มนำ” ให้ประเทศอื่นๆ และคนต่างชาติคล้อยตาม นี่ยังเป็นสิ่งที่เราต้องตั้งคำถามกับศักยภาพของ “สัปเหร่อ” และหนังอื่นๆ ใน “จักรวาลไทบ้าน”

เนื่องจากผลงานในจักรวาลนี้ที่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ ล้วนทำเงินมหาศาลภายในขอบเขตประเทศไทย ด้วยวิถีแบบ “ป่าล้อมเมือง” แต่ยังไม่เคยได้รับการยอมรับในวงกว้างโดยผู้บริโภคต่างประเทศ หรือเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม ถ้า “ซอฟต์เพาเวอร์แบบไทยๆ” หรือ “ซอฟต์เพาเวอร์แบบรัฐบาลเพื่อไทย” คือ การเปลี่ยนวิถีการผลิตครั้งสำคัญและการมุ่งมั่นเพิ่มอัตราการจ้างงานครั้งใหญ่

ตัวละครคนหนุ่มสาวที่เคว้งคว้างว่างงานอยู่ในชนบทบ้านเกิด และเข้ามาแสวงโชคในกรุงเทพฯ ไม่ได้ ดังที่ปรากฏใน “สัปเหร่อ” ก็ดูจะต้องการการมาถึงของ “ซอฟต์เพาเวอร์” ตามความหมายเช่นนั้น

และแค่เพียงนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” ก็คงแก้ปัญหาข้างต้น รวมถึงปลุกพลังของ “หนุ่มสาวไร้งาน” ในต่างจังหวัดไม่ได้ เพราะด้วยวิถีการผลิตแบบเดิม ด้วยจินตนาการแบบเดิม นั่นอาจกลายเป็นเม็ดเงินที่ถูกใช้จ่ายให้หมดไปวันๆ เท่านั้น •

 

| คนมองหนัง