อาชญากรรม ‘โลกร้อน’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

“เคธี่ เซอร์มา” เขียนบทความน่าสนใจในชื่อเรื่อง “โลกร้อนกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งและอาชญากรรมสงครามในประเทศต่างๆ ได้อย่างไร” เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์อินไซด์ ไคลเมต เชนจ์ นิวส์ ซึ่งเป็นเว็บที่ให้ข้อมูลข่าวสารด้านการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ พลังงานและสิ่งแวดล้อม เว็บนี้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ของสหรัฐเมื่อปี 2559

“เซอร์มา”เกริ่นในบทความว่า ความแห้งแล้ง น้ำท่วมและสภาพภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรงกำลังผลักดันให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงเพิ่มขึ้นทั่วโลก ในเวลาเดียวกันสงครามทำลายล้างระบบนิเวศ ทรัพยากร และผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือประชาชนเจ็บป่วยจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ

เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มพันธมิตรขององค์กรสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมายยื่นจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ “คาริม เอ. เอ. ข่าน” อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ หันมาประเมินความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอาชญากรรม

พร้อมกับให้จัดลำดับความสำคัญของการดำเนินคดีอาญาที่ก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม

“เคธี่ เซอร์มา”

บทความชิ้นนี้ ไล่เรียงกรณีตัวอย่างที่เกิดขื้นในหลายจุดทั่วโลก เช่น บริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบในทวีปแอฟริกา ที่นั่นเกิดความแห้งแล้งและสภาพภูมิอากาศสุดขั้วทำให้ชุมชนที่ต้องพึ่งพาการเกษตรตกอยู่ในภาวะคับขัน ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ บีบบังคับให้บรรดาชายหนุ่มหันไปเข้าหากลุ่มติดอาวุธ เช่น กลุ่มโบโกฮารัม

กลุ่มโบโกฮารัม เป็นกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงค้าอาวุธ ปล้นสะดม ค้าสัตว์ข้ามแดน มีเขตอิทธิพลแถวๆ ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไนจีเรีย

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มนี้ก่อเหตุร้ายหลายครั้งลักพาตัวนักเรียนหญิงนับร้อยคน บุกโจมตีฐานที่มั่นของทหารไนจีเรีย

การก่อเหตุร้ายของกลุ่มโบโกฮารัมสร้างความปั่นป่วนให้กับรัฐบาลไนจีเรียอย่างมาก เมื่อ 4 ปีที่แล้ว นายมูฮัมมาดู บูฮารี ประธานาธิบดีไนจีเรียในเวลานั้น เคยออกทีวียอมรับว่ารัฐบาลไม่สามารถยุติความรุนแรงได้

ในประเทศยูเครน หลังเกิดสงครามกับรัสเซีย กองทัพรัสเซียปล่อยน้ำจากเขื่อน “คาคอฟก้า” (Kakhovka) น้ำทะลักท่วมผู้คนที่อยู่ปลายน้ำพากันอพยพทิ้งบ้านเรือน ปลาในเขื่อนตายเป็นเบือและชุมชนต่างๆ ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้

ส่วนที่อัฟกานิสถาน สงครามเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดสี่ทศวรรษทำลายภูมิทัศน์ และจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องสิทธิที่ดิน น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ขณะที่ชาวอัฟกันเจ็บป่วยจากการสู้รบและเสียชีวิตสารพิษ

 

“ริชาร์ด เจ. โรเจอร์ส” กรรมการบริหารของที่ปรึกษาด้านสภาพภูมิอากาศให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศจะต้องได้รับการพิจารณาทางกฎหมายในฐานะที่เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

ขณะที่สำนักงาน “คาริม เอ. เอ. ข่าน” ออกแถลงการณ์ระบุว่า สำนักงานกำลังเตรียมนโยบายใหม่เกี่ยวกับอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สำนักงานอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศได้รับคำขออย่างน้อย 5 เรื่องเพื่อให้อัยการสอบสวนข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศกัมพูชาและบราซิล แต่ศาลอาญาระหว่างประเทศระบุไม่มีข้อบัญญัติชัดเจนว่าการทำลายสิ่งแวดล้อมถือเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ดังนั้น การรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมตามสภาพภูมิอากาศจึงถือเป็นเรื่องใหม่

“โรเจอร์ส” ให้ความเห็นว่า อัยการของศาลมีส่วนร่วมในการรวบรวมพยานหลักฐานอยู่แล้ว และสามารถเพิ่มองค์ประกอบคดีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ถามพยานว่าเคยมีประสบการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรือไม่ และมีส่งผลต่อความขัดแย้งอย่างไร

 

จดหมายเปิดผนึกซึ่งนำโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนซูดานและกลุ่มไคลเมตเคาน์เซล ซึ่งเป็นกลุ่มเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมเตือนว่า แทบทุกวิกฤตที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ส่วนหนึ่งมาจากความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อม

ศาลอาญาระหว่างประเทศจึงแต่งตั้งที่ปรึกษาพิเศษด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศแบบ “นิติเวช” ในการสืบสวน

หน่วยงานระดับโลก ไม่ว่าคณะกรรมการกาชาดสากล หน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติ อาทิ คณะมนตรีความมั่นคงและโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ต่างส่งสัญญาณเตือนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทั่วโลก และทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น

จดหมายเปิดผนึกได้ชี้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมายาวนานในพื้นที่ดาร์ฟูร์ของซูดาน ซึ่งอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี-มูน ระบุว่าในปี 2550 ถือเป็นความขัดแย้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งแรกของโลก

 

การสู้รบที่ “ดาร์ฟู” เริ่มขึ้นเมื่อกองกำลังของรัฐบาลซูดานและกองกำลังติดอาวุธพันธมิตรปะทะกับกลุ่มกบฏในภูมิภาคดาร์ฟูร์ ส่งผลให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยื่นเรื่องไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศ และอัยการได้สอบสวนข้อกล่าวหาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ การบังคับย้ายถิ่นฐาน การข่มขืน และการโจมตีชาวซูดานฝ่ายตรงข้าม

ในปี 2562 ซูดานพยายามเปลี่ยนโฉมให้เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ในช่วงกลางเดือนเมษายนปีนี้ เกิดการสู้รบระหว่างกองทัพของประเทศและกลุ่มทหารกึ่งทหาร ตลอดระยะเวลาหกเดือน การสู้รบได้ทำให้มีผู้พลัดถิ่นหลายล้านคนและคร่าชีวิตผู้คนเกือบ 1 หมื่นคน

สำนักงานอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศกำลังสืบสวนข้อกล่าวหาใหม่เกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในภูมิภาค ในการปล้นสะดม การเผาบ้านเรือนประชาชน และการสังหารในสงครามดาร์ฟูร์

ความขัดแย้งในซูดานเป็นการแย่งชิงอำนาจกันว่าใครจะเป็นผู้ควบคุมอนาคตทางการเมืองของประเทศ แต่สาเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้งและความรุนแรงมาจากผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น ความแห้งแล้ง การแปรสภาพเป็นทะเลทราย อุณหภูมิที่สูงขึ้น และการขาดแคลนน้ำ

ซูดานเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่เริ่มต้นในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ปริมาณน้ำฝนในซูดานตะวันตกลดลง 30 เปอร์เซ็นต์ และทะเลทรายซาฮาราขยายตัวประมาณ 2.2 กิโลเมตรต่อปี

ขณะเดียวกัน อุณหภูมิในซูดานซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ร้อนที่สุดในโลกอยู่แล้วมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น

ผลกระทบเหล่านี้ทำให้ปริมาณที่ดินที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรลดลง และทำให้การแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรรุนแรงขึ้น เกษตรกรบางรายทิ้งไร่นาหันมาทำเหมืองทองคำและใช้สารพิษ อาทิ ปรอทและไซยาไนด์

กลุ่มไคลเมต แคลเซลสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนำไปสู่ความขัดแย้งและชนวนสงครามของโลก

 

กลับมาดูบ้านเรา

จะเห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองแบ่งเป็นสี แบ่งเป็นฝ่าย นำไปสู่การสู้รบเข่นฆ่า มีรากที่มาจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม จนกระจุก รวยกระจาย และความแตกต่างทางความรู้การศึกษา

เมื่อผนวกกับสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ร้อนแล้งและน้ำท่วม กลุ่มคนจนยิ่งจนลง

ขณะที่คนรวยรวยเพิ่ม

ถ้ายังแก้ปมตรงนี้ไม่ได้ ประเทศไทยยังคงตกอยู่ในวังวนอลหม่าน

และวิกฤตการณ์ทางการเมืองสังคมเศรษฐกิจจะย้อนกลับมาอีกครั้ง •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]