ก่อนจะเป็นลานคนเมือง : จากศูนย์กลางพระนครศักดิ์สิทธิ์ สู่พื้นที่ลานประชาชน (2)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ก่อนจะเป็นลานคนเมือง

: จากศูนย์กลางพระนครศักดิ์สิทธิ์

สู่พื้นที่ลานประชาชน (2)

 

พื้นที่ลานขนาดใหญ่ด้านหน้าโบสถ์พราหมณ์ (ลานคนเมือง ณ ปัจจุบัน) ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ แม้เราจะมีหลักฐานไม่มากนักว่าถูกใช้สอยในกิจกรรมอะไรบ้าง แต่จากลักษณะที่ตั้งและสิ่งปลูกสร้างรายล้อมที่ปรากฏสันนิษฐานว่า พื้นที่นี้คงมีสถานะเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับใช้ประกอบพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย”

พระราชพิธีนี้ประกอบด้วย 2 พิธีต่อเนื่องกัน คือ “พิธีตรียัมปวาย” กับ “พิธีตรีปวาย”

โดยพิธีแรกเป็นพิธีพราหมณ์ทำขึ้นเพื่อต้อนรับพระอิศวร ซึ่งเรารู้จักกันดีในชื่อ “พิธีโล้ชิงช้า” ซึ่งจะทำในวันขึ้น 7 ค่ำ ตอนเช้า และวันขึ้น 9 ค่ำ ตอนเย็น ของเดือนยี่

ส่วนพิธีที่สองเป็นพิธีพราหมณ์กระทำเพื่อต้อนรับพระนารายณ์ เรียกโดยทั่วไปว่า พิธีแห่พระนารายณ์ กระทำกันในวันแรม 1 ค่ำ ถึงวันแรม 5 ค่ำ เดือนยี่

ทั้งสองพิธีนี้เป็นพิธีปีใหม่ของพราหมณ์ จัดขึ้นทุกปี และถือเป็นหนึ่งใน “พระราชพิธี 12 เดือน”

ถนนบำรุงเมืองมุมสูง

มีเกร็ดเล็กน้อยที่หลายคนอาจไม่ทราบ คือ ตำแหน่งที่ตั้งเสาชิงช้าที่เราเห็นกันปัจจุบัน (ตั้งอยู่กลางถนนบำรุงเมือง) เป็นตำแหน่งใหม่ที่เพิ่งย้ายมาในราวปลายสมัยรัชกาลที่ 5

ในขณะที่ตำแหน่งดั้งเดิมแรกสถาปนาเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 อยู่ด้านหน้าโบสถ์พรามณ์ เยื้องมาทางทิศใต้ บริเวณหน้าตลาดเสาชิงช้าเดิม

จากภาพถ่ายมุมสูงถนนบำรุงเมืองที่มองไปยังเสาชิงช้า ถ่ายราวกลางรัชกาลที่ 5 (ภาพประกอบ 1) หากสังเกตให้ดี เราจะเห็นตำแหน่งเสาชิงช้าเดิมว่ามิได้ตั้งอยู่กลางถนนบำรุงเมือง

และหากพิจารณา “แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย” (พ.ศ.2430) ประกอบ เราจะเห็นตำแหน่งฐานที่ตั้งเสาชิงช้าอย่างชัดเจน (ตำแหน่งที่ผมทำสัญลักษณ์วงกลมล้อมไว้ในแผนที่)

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ ในบรรดาภาพถ่ายเก่าเสาชิงช้าที่หลงเหลือมาจนปัจจุบัน มีอยู่ภาพหนึ่ง สันนิษฐานว่าถูกถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 4 หรือต้นรัชกาลที่ 5 (ภาพประกอบ 2) ปรากฎภาพของ “เจดีย์ทรงลอมฟาง” ขนาดเล็กตั้งอยู่ทางด้านหลังของเสาชิงช้า

รูปแบบศิลปะดังกล่าวเป็นที่นิยมสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ไม่ปรากฏให้เห็นในยุคสมัยก่อนหน้า ดังนั้น ทำให้น่าเชื่อว่าเจดีย์องค์นี้คงถูกสร้างเพิ่มเข้ามาใหม่ประกอบในแผนผังของเสาชิงช้า ในสมัยรัชกาลที่ 4

ส่วนตัวคิดว่าการสร้างเจดีย์ลอมฟาง ณ ตรงนี้มีความสำคัญ แม้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด แต่น่าคิดว่า องค์ประกอบเจดีย์ทางพุทธศาสนาแบบรัชกาลที่ 4 อาจถูกเพิ่มเข้ามาโดยเกี่ยวข้องและสอดคล้องไปกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย ในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่โปรดให้เพิ่มพิธีทางพุทธศาสนาเข้าไปในในพระราชพิธีโล้ชิงช้าด้วย

การแทรกเพิ่มพิธีทางพุทธศาสนาเข้าไปในพิธีพรามหณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่อย่างมีนัยยะสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 4 และปรากฏในหลายพระราชพิธี โดยเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปพุทธศาสนา (ก่อตั้งธรรมยุติกนิกาย) ของพระองค์ ซึ่งจะไม่ขออธิบายในที่นี้ เพราะจะยืดยาวมาก

ในทัศนะผม การปรากฏเจดีย์ทรงลอมฟางที่เป็นสัญลักษณ์พุทธ ตั้งประกบอยู่กับเสาชิงช้าที่เป็นสัญลักษณ์พราหมณ์ อาจเป็นหนึ่งในหลักฐานที่นำมาศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางความคิด ความเชื่อทางศาสนา และการประกอบพิธีกรรมในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มากขึ้น

แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย แสดงตำแหน่งเสาชิงช้าเดิม และตำแหน่งโรงแก๊ส

ย้อนกลับมาที่ความเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ลานหน้าโบสถ์พราหมณ์อีกครั้ง

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งในเชิงการใช้งานและความหมาย จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยมีจุดตั้งต้นมาจากโครงการตัดถนนบำรุงเมืองที่เป็นถนนแบบทันสมัยตามอย่างตะวันตกผ่านเข้ามายังพื้นที่

ถนนเส้นนี้เริ่มตั้งแต่สนามไชย ผ่านวัดสุทัศน์ ไปจนถึงวัดสระเกศฯ ซึ่งในเวลาต่อมา ราว พ.ศ. 2413 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงถนนบำรุงเมืองครั้งใหญ่ มีการปรับแนวถนนให้ตรงได้แนวกับวัดสุทัศนเทพวราราม และขยายถนนออกไปอีก 6 ศอก (แต่เดิมถนนกว้างเพียง 3 วา) พร้อมทั้งสร้างตึกแถว 2 ข้างถนนบำรุงเมืองในเวลาต่อมา

ถนนและตึกแถวแบบตะวันตกได้ทำให้พื้นที่ย่านเสาชิงช้าเดิมค่อยๆ เปลี่ยนกลายมาเป็นย่านเศรษฐกิจสมัยใหม่ของกรุงเทพฯ

และแน่นอน ย่อมส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลานหน้าโบสถ์พราหมณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่กลางเมืองที่มีถนนสมัยใหม่ตัดผ่านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เจดีย์ทรงลอมฟาง บริเวณเสาชิงช้า

จุดเปลี่ยนใหญ่ของการใช้สอยพื้นที่แห่งนี้ เริ่มต้นในปี พ.ศ.2417 เมื่อมีการสร้าง “โรงแก๊ส” ขึ้นในพื้นที่

ในสมัยรัชกาลที่ 4 (ก่อนที่จะมีไฟฟ้าใช้) ไฟแก๊สคือสิ่งสำคัญมาก เป็นเชื้อเพลิงจุดไฟส่องสว่างที่ให้พลังงานมากกว่าเทียนหลายเท่า เป็นนวัตกรรมที่ทำให้บรรยากาศยามค่ำคืนของกรุงเทพฯ (คงเฉพาะแค่สถานที่สำคัญ เช่น พระราชวัง สถานที่ราชการ และอาคารบางประเภท) เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และเป็นทั้งสัญลักษณ์ของความเป็นสมัยใหม่ยุคแรก

เมื่อแรกเริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ 4 โรงแก๊สตั้งในพระบรมมหาราชวัง นำเข้ามาโดย นายห้างสกอตต์แอนด์โก (R.S. Scott) หนังสือจดหมายเหตุ The Bangkok Recorder วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2409 ตีพิมพ์ข่าวการนำเข้าไฟแก๊สมาใช้ครั้งแรกอย่างใหญ่โต เอาไว้ว่า

“…ณ วันศุกร เดือน 11 แรม 2 ค่ำ เวลา 2 ทุมเสศ มิศเตอสกอด แอนกำปะนี, ได้สำแดงไฟแคสที่โรงษีเข้าใหม่ ไฟแคสนั้น. ดีงามนัก แสงสว่างชอบตาคนนัก, ไม่ต้องใช้น้ำมันประพรม, มีโคมแก้วเปนรูปช้างปักไว้ตรงน่าต่างส่องไฟออกมาหน้าโรงษีงามนัก. เขาเอาอักษรเปนต้นพระนามในหลวงใส่ที่น่าต่าง, คนทั้งปวงได้อ่านดูเหนชัดงามนัก. เรามีความปราฐนาให้ไฟแคสนี้ได้ไช้, ที่โรงษีจักรกลไฟทุกแห่ง, แลที่กงสุล, แลที่นายห้างใหญ่ทุกแห่ง. แลในพระบรมมหาราชวัง, แลจวนท่านผู้ใหญ่ที่เปนสำคัญ…”

อย่างไรก็ตาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2417) โรงแก๊สที่ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวังเกิดระเบิดขึ้น ซึ่งแม้จะสามารถระงับเหตุได้ทันโดยที่ไม่ได้สร้างความเสียหายแก่พระบรมมหาราชวัง แต่ก็สร้างความกังวลถึงอันตรายของไฟแก๊ส

ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีพระราชดำริในการย้ายโรงแก๊สออกนอกวัง และด้วยลักษณะทางกายภาพและเส้นทางคมนาคมของเมืองกรุงเทพฯ ณ ขณะนั้น ก็ไม่มีพื้นที่ใดที่จะเหมาะสมไปมากกว่าย่านเสาชิงช้า ณ บริเวณลานกว้างหน้าโบสถ์พราหมณ์

 

โรงแก๊สถูกย้ายมาตั้งในพื้นที่เสาชิงช้า โดยมีการสร้างกำแพงทึบปิดล้อมทั้งสี่ด้าน ภายในมีการขุดสระใหญ่ไว้เลี้ยงจระเข้ให้คนเข้าไปดูได้ด้วย อาณาบริเวณทั้งหมด หากพิจารณาจากแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย โดยนำมาเทียบกับพื้นที่ปัจจุบันก็จะพบว่าคือพื้นที่ลานคนเมืองและศาลาว่าการกรุงเทพมหานครนั่นเอง

โรงแก๊สได้ทำให้สถานะและความหมายของพื้นที่บริเวณนี้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ

จากเดิมที่เคยเป็นลานศักดิ์สิทธิ์ เป็นเสมือนประตูที่เทพเจ้าใช้ลงมาสู่โลกมนุษย์ในทุกรอบปี เปลี่ยนกลายมาสู่พื้นที่เมืองสมัยใหม่แบบทางโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ทางเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่

(แน่นอน แม้จะยังมีการจัดพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย เหมือนเช่นเดิม แต่สถานะของความศักดิ์สิทธิ์ขรึมขลังของพื้นที่ย่อมถูกลดทอนลงไม่มากก็น้อย)

 

ความเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้งของพื้นที่จะเกิดขึ้นเมื่อสยามเริ่มมีการนำไฟฟ้าเข้ามาใช้แทนที่ไฟแก๊ส

ด้วยความสว่างของไฟฟ้า ที่มีคุณภาพมากกว่าและมีอันตรายน้อยกว่า ได้ทำให้ไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทแทนที่ไฟแก๊สอย่างรวดเร็ว จนไม่มีใครต้องการใช้ไฟแก๊สอีกต่อไป สุดท้ายโรงแก๊สจึงถูกรื้อทิ้งในที่สุดเมื่อราวต้นทศวรรษ 2440

เมื่อรื้อโรงแก๊สลงแล้ว พื้นที่นี้ถูกกำหนดให้เป็นตลาดใหญ่แห่งใหม่กลางพระนคร เรียกกันว่า “ตลาดเสาชิงช้า”

ตัวตลาดออกแบบเป็นตึกแถวสูง 2 ชั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ตัวตึกแถววิ่งยาวล้อมรอบพื้นที่เดิมของโรงแก๊ส มีการเปิดพื้นที่ว่างตรงกลางภายในเพื่อใช้สำหรับทำเป็นพื้นที่ตลาด โดยเมื่อสร้างแล้วเสร็จ ได้มีการย้ายตลาดเสาชิงช้าเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 มารวมกันไว้ในที่เดียวกัน โดยตลาดใหม่เปิดใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ.2444

ตลาดใหม่มิได้กินพื้นที่แค่เฉพาะโรงแก๊ส แต่ยังกินอาณาบริเวณเข้ามาจนถึงที่ตั้งของเสาชิงช้า ซึ่งส่งผลทำให้ต้องมีการย้ายเสาชิงช้าจากตำแหน่งเดิม มาตั้งใหม่บริเวณกลางถนนบำรุงเมือง อันเป็นตำแหน่งที่ตั้ง ณ ปัจจุบัน

ใต้ภาพ

1-ถนนบำรุงเมืองมุมสูง

2-แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย แสดงตำแหน่งเสาชิงช้าเดิม และตำแหน่งโรงแก๊ส

3-เจดีย์ทรงลอมฟาง บริเวณเสาชิงช้า