จัตวา กลิ่นสุนทร : บ้าน “ศิลปินแห่งชาติ” (กมล ทัศนาญชลี) ในสหรัฐอเมริกา

มีความจำเป็นต้องเว้นวรรคกับเรื่องที่เขียนติดต่อกันมาสักตอนสองตอน

เนื่องจาก กมล ทัศนาญชลี “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม+สื่อผสม) ซึ่งมีบ้านพักอยู่ที่นครลอสแองเจลิส (Los Angeles) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California) สหรัฐ ได้ส่งข่าวแจ้งมาว่า “ไม่ต้องเป็นห่วง ปลอดภัยดีแล้ว”

สำหรับท่านทั้งหลายที่เสพข่าวความเคลื่อนไหวเป็นไปของโลกนี้นอกเหนือจากประเทศไทยซึ่งเล็กกระจิริดเป็นอาหารสมอง ย่อมทราบกันดีแล้วว่าได้เกิด “อัคคีภัย” ขยายเป็นวงกว้างในในบริเวณตอนเหนือของนครลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

เท่าที่ได้ติดตามไฟไหม้ขยายวงกว้างมากมายครั้งนี้เกิดขึ้นประมาณต้นเดือนสุดท้ายของปี 2560 ซึ่งดูเหมือนว่า “ไฟป่า” จะเกิดขึ้นเป็นประจำแทบทุกปีในตอนแห้งแล้งและสายลมแรง ซึ่งเป็นตัวพัดพาไฟให้โหมลามไปยังบริเวณอื่นๆ สร้างความเสียหายมากมายใหญ่หลวง

สหรัฐอเมริกาต้องใช้นักผจญเพลิงจำนวนมากพร้อมเครื่องมือในการดับไฟ ซึ่งมิได้โหมไหม้อาคารบ้านเรือนเป็นหลัก หากแต่เป็น “ป่าไม้” ซึ่งมีพื้นที่หนาแน่นอยู่เป็นจำนวนมากจริงๆ ในประเทศอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้ ขณะเดียวกันผู้คนของประเทศเขาก็นิยมชมชื่นกับการอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ รักและปกปักษ์รักษาธรรมชาติ

คนมีชื่อเสียงไม่ว่าจะเป็นนักแสดง เศรษฐีจำนวนมากย่อมชอบที่จะสัมผัสกับธรรมชาติ การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยมักอิงแอบแนบชิดธรรมชาติ

เมื่อเกิดไฟไหม้ป่าไม้ครั้งใหญ่ที่มีลมเป็นตัวช่วยโหมเร่ง บ้านเรือนเหล่านี้ก็มักอยู่ในอันตราย

 

เมื่อเจ้าหน้าที่ทางการบ้านเมือง นักผจญเพลิงซึ่งทำงานกันอย่างหนักแม้จะมีเครื่องมืออันทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินสำหรับขนน้ำ น้ำยาเคมีเพื่อใช้ในการดับเพลิง แต่ยังเอาไม่อยู่ก็ต้องเร่งร้องเตือนให้เจ้าของคฤหาสน์ทั้งหลายเร่งอพยพเอาชีวิตรอดไว้ก่อนโดยไม่ต้องมัวแต่จะหอบหิ้วทรัพย์สมบัติซึ่งสามารถจะหาเอามาได้ใหม่ในอนาคต

จากการรายงานของ กมล ทัศนาญชลี ทำให้พอทราบได้ว่าครั้งนี้เป็นการเกิดไฟไหม้บริเวณที่เป็นป่าไม้ใกล้กับอาคารบ้านเรือนสถานที่สำคัญๆ มากกว่าครั้งก่อนๆ

ที่บ้านพักของเขาก็พอมองเห็นเปลวเพลิงแดงฉานได้อย่างชัดเจน

บริเวณ “พิพิธภัณฑ์ศิลป์” (Museum Art) ที่เขาเคยพาคณะครูศิลป์ ยุวศิลปิน หลายรุ่นจากประเทศไทย รวมถึง (ท่านพี่) ชวน หลีกภัย “ฐาปนันดรศิลปิน” (อดีต) นายกรัฐมนตรี ผู้มีอารมณ์ศิลปินอยู่หลายส่วนในหัวใจไปศึกษาดูงานศิลปะ

“เมื่อต้นเดือนธันวาคมเกิดไฟป่าในเมืองใกล้เคียงหลายแห่ง โดยมองเห็นและถ่ายรูปจากหน้าต่างหลังบ้าน เมือง Chatsworth ตอนนี้สงบลงแล้ว ที่น่ากลัวแถวๆ J Paul Getty พิพิธภัณฑ์ศิลป์ แต่ก็โชคดีที่ไม่เป็นอะไร? กลับไปเกิดอีกฝั่งตรงข้ามย่านคนร่ำรวยมีฐานะ บ้านดารา เศรษฐี จึงเสียหายหลายหลัง

มีพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กอยู่ในย่านนั้น ชื่อ Weisman Museum มีงานสะสมดีๆ ของโลก เป็นศิลปะร่วมสมัยที่สำคัญมากราว 1,800 ชิ้น บางชิ้นมีราคากว่า 100 ล้านเหรียญ/สหรัฐ อีกหลายชิ้นมูลค่าประกันกว่า 1,000 ล้านเหรียญ/สหรัฐ ทำให้บริษัทประกันภัยต้องเตรียมพร้อมที่จะขนย้ายงานศิลปะ โดยจะเอางานราคา 100 ล้านเหรียญ/สหรัฐ กับงานที่ทำรายการไว้จำนวนไม่น้อยออกไป แต่โชคดีลมเกิดเปลี่ยนทิศทาง จึงปลอดภัยในที่สุด”

กมล ทัศนาญชลี ซึ่งขณะนี้พักอยู่ที่บ้านในสหรัฐ รายงานก่อนที่เขาจะส่งข่าวต่อมาอีกว่า

 

“พิพิธภัณฑ์ศิลป์” แห่งนี้เขาได้เคยพา (อดีต) นายกรัฐมนตรี (ท่านพี่) ชวน หลีกภัย รวมทั้งครูผู้สอนศิลปะ นักศึกษาศิลปะของบ้านเราไปดูงานมาโดยตลอดดังกล่าว มีงานศิลปะของศิลปินร่วมสมัยจำนวนมาก รวมทั้งงานของศิลปินผู้มีชื่อเสียงโด่งดังก้องโลกอย่าง “Pablo Picasso ยุค Blue และ Pink”

เจ้าของพิพิธภัณฑ์ ชื่อ Mrs.Billi Weistman เคยได้ให้การต้อนรับ (ท่านพี่) ชวน “ฐาปนันดรศิลปิน” (อดีต) นายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมแสดงผลงานศิลปะกับ “ศิลปินแห่งชาติ” จากประเทศไทย รวมทั้งปฏิบัติภารกิจอีกหลายอย่าง ทั้งเล่นดนตรีเพื่อสร้างบรรยากาศให้เป็นกันเองกับกลุ่มคนไทยในลอสแองเจลิส และสร้างชื่อเสียงอีกแง่มุมหนึ่งให้กับประเทศของเราในระหว่างที่ท่านว่างเว้นจากงานบ้านเมืองที่ต้องรับผิดชอบ

(ท่านพี่) ชวน หลีกภัย ไม่เคยปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ลมหายใจของท่านเป็นไปพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคมประเทศชาติ เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างใดที่จะได้เห็นการทำงานในหลายบทบาทเมื่อท่านอาสาไปเขียนภาพจิตรกรรม ซึ่งเป็นฉากบังเพลิงยังบริเวณท้องสนามหลวงระหว่างก่อสร้าง “พระเมรุมาศ” เมื่อเดือนพฤศจิกายน-ตุลาคม ปี พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา

(ท่านพี่) ชวนจะเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาอีกครั้งหนึ่งเพื่อร่วมแสดงงานกับเหล่า “ศิลปินแห่งชาติ” จำนวนมากในเดือนมีนาคม-เมษายน 2561 (ขณะนั้นน่าจะยังไม่ถึงเวลาที่บ้านเราจะมีการเลือกตั้ง เพราะตามกำหนดดูเหมือนจะปลายปี 2561)

 

“ศิลปินแห่งชาติ” ซึ่งมักเรียกกันว่า “ศิลปินสองซีกโลก” ด้วยเหตุได้สร้างชื่อเสียง และมีสถานที่พำนักอยู่ใน 2 ประเทศ ระหว่างตะวันตก-ตะวันออก คือ สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย เป็นศิลปินผู้ซึ่งเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อวงการศิลปะในบ้านเรา สามารถเรียกได้ว่า ทั้งชีวิต ลมหายใจเข้าออกของเขาคือ “ศิลปะ”

เขาเป็นผู้ประสานงาน และริเริ่มจัดงานแลกเปลี่ยนศิลปะนานาชาติขึ้นซึ่งในปี พ.ศ.2561 จะเป็นครั้งที่ 8 แต่งานนี้ได้เริ่มมาแล้วเป็นเวลา 16 ปี เนื่องจากเป็นการจัดให้มีขึ้นแบบปีเว้นปี กับหอศิลป์ LA Artcore ของ City Los Angeles ซึ่งจะมีศิลปินในสัดส่วน 10 ต่อ 10 คน เป็น “ฝ่ายศิลปินไทย” กับ “นานาชาติ” หลายประเทศ

ในปี พ.ศ.2561 นอกจาก กมล ทัศนาญชลี “ศิลปินแห่งชาติ” เป็นตัวหลักแล้วก็ยังมีเหล่าศิลปินแห่งชาติปีต่างๆ กันอีกหลายคนที่เรียกกันว่า “ศิลปินอาจารย์” ซึ่งมีตำแหน่งทางวิชาการแทบทุกคน (แต่จะไม่บอกยศถาบรรดาศักดิ์-ตำแหน่งทั้งหลายทั้งปวง, จะบอกแต่เพียงชื่อ เนื่องจากเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว) เช่น เดชา วราชุน, อิทธิพล ตั้งโฉลก, ปรีชา เถาทอง, วิโชค มุกดามณี, ธงชัย รักปทุม และ ปัญญา วิจินธนสาร เข้าร่วมงาน

กมลบอกว่าในปี พ.ศ.2561 นี้นอกจากงานดรอว์อิ้ง (Drawing) ของ (ท่านพี่) ชวน แล้วยังจะมีผลงานของซูเปอร์สตาร์ (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี ผู้ล่วงลับไปร่วมแสดงด้วย โดยงานของทั้ง 2 ท่านจะนำออกแสดงครั้งแรกที่ “หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน” กรุงเทพฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ก่อนเดินทางไปสู่สหรัฐอเมริกา

 

มีเรื่องเล่าย้อนหลังไปถึงเดือนตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา “ซิตี้ ออฟ ลอสแองเจลิส” ได้มอบเกียรติบัตรให้กับ กมล ทัศนาญชลี ประธาน “สภาศิลปกรรมไทย ในสหรัฐอเมริกา” หลังมอบเงินเกือบ 1 ล้านบาทให้กับวัดไทยในนครลอสแองเจลิส

เขากล่าวว่าน้องภรรยามาบอกว่าพบผลงานศิลปะพิงแอบทิ้งไว้ที่วัดไทย จึงนำเอามาซ่อมแซมสำหรับในวงการศิลปะแล้วใครเห็นก็พอจะทราบว่าเป็นงานของศิลปินผู้ล่วงลับไปแล้วท่านหนึ่งได้ทำไว้ประมาณปี พ.ศ.2505-2506

งานชิ้นนี้ถูกนำไปทิ้งรวมกับผลงานอีกหลายชิ้น แต่บังเอิญงานเหล่านั้นชำรุดเสียหายมาก มีเพียงชิ้นนี้ที่เสียหายประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์จึงได้นำมาซ่อมแซม เสร็จแล้วได้นำกลับมาขายให้ภาครัฐในเมืองไทยได้เงินมาประมาณ 1 ล้านบาทโดยถูกหักภาษีไปบ้างจึงนำมามอบให้กับวัดไทย

ผลงานชิ้นดังกล่าวถูกสร้างขึ้นมากว่า 50 ปี เชื่อว่า “ศิลปินแห่งชาติ” ผู้ล่วงลับเองก็แทบจะจำผลงานของเขาเองไม่ได้

บังเอิญท่านไม่มีโอกาสได้เห็น เพราะได้จากโลกนี้ไปเสียก่อน?