กระแสญี่ปุ่นคงอยู่

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

กระแสหลัก คลื่นญี่ปุ่นในสังคมไทย เป็นอยู่อย่างมั่นคง เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตปัจเจก เป็นมาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม คงเป็นไปด้วยมิติซับซ้อน หลากหลาย และลงลึกมากขึ้น

กรณีเล็กๆ มีขึ้นไม่กี่วันมานี้ ให้ภาพสะท้อนเช่นนั้น เกี่ยวกับ Nitori เครือข่ายธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ได้ตัดสินใจมาปักหลักเปิดเครือข่ายสาขาครั้งแรกในกรุงเทพฯ ด้วยความร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัล

แม้ดูสอดคล้องกันยุทธศาสตร์ธุรกิจฝ่ายญี่ปุ่นเป็นสำคัญ Nitori กิจการอายุราวครึ่งศตวรรษ เพิ่งเปิดตัวขยายเครือข่ายนอกญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกชิมลางที่ไต้หวันเมื่อทศวรรษก่อนหน้า (2550) จากนั้นมุ่งสู่สหรัฐ (2556) และจีนแผ่นดินใหญ่ (2557) อย่างตั้งใจในเวลาใกล้เคียงกัน

เพิ่งจะขยายเครืออข่ายมาสู่อาเซียนหมาดๆ เปิดฉากที่มาเลเซีย และสิงคโปร์ (2565) และไทย (2566) ตามกันเป็นระลอก

กระนั้น ถือว่าเป็นกรณีมาเสริมคลื่นญี่ปุ่นในสังคมไทย ให้เป็นไปต่อเนื่อง ท่ามกลางกระแสการลงทุนญี่ปุ่นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แม้บางปีพิจารณางบประมาณลงทุนน้อยกว่าจีน แต่กลับมีจำนวนโครงการมากกว่า พอจะตีความได้ว่า เป็นแผนการต่อเนื่อง เป็นฉากต่อจากโครงการใหญ่ที่มีมานานแล้ว และเป็นแผนการลงทุนที่ซับซ้อนมากขึ้นๆ

ขณะอีกด้านหนึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์อันแนบแน่น มองผ่านฐานผู้บริโภคไทย ขยับขยายจากสินค้า สู่การท่องเที่ยว ประเทศญี่ปุ่นเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวไทย มาอย่างน้อยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2556 ญี่ปุ่นมีมาตรการยกเว้นวีซ่า)

ว่าไปแล้วสินค้าญี่ปุ่นซึ่งตอบสนองวิถีชีวิตสมัยใหม่ มีอิทธิพลอย่างจริงจังในสังคมไทยมาแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ

คลื่นระลอกแรกๆ มาเป็นขบวนใหญ่มาก โดยเฉพาะรถยนต์ กรณี Nissan กับ Toyota (2505) Honda (2507)

และอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน ในกรณี Panasonic มาก่อตั้งโรงงาน ถือเป็นแห่งแรกในต่างประเทศขึ้นในประเทศไทย (2504) และตามมาด้วย Toshiba ร่วมทุนตั้งโรงงานเช่นกัน (ราวปี 2510)

ช่วงเดียวกันมีสินค้าคอนซูเมอร์ด้วย มีการลงทุนร่วมทุน ตั้งแต่ผงซักฟอก (Lion-2510) ไปจนถึงชุดชั้นในสตรี (Wacoal-2513)

 

ตัดภาพมาสู่คลื่นญี่ปุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน เปิดฉากอย่างครึกโครมพอสมควรในทศวรรษที่ผ่านมา

กรณีค้าปลีก ญี่ปุ่นเองพยายามปรับตัวอย่างไม่ลดละ อย่างกรณี Jusco Department store ผู้มาที่หลัง Daimaru ถึง 2 ทศวรรษ (ปี 2527) ต้องดิ้นรนเช่นกัน ในที่สุดปรับตัวมาเป็น MaxValu เริ่มต้นอีกครั้งในสังคมไทย (2550) ด้วยการปรับโมเดลธุรกิจใหม่เป็น ตั้งใจเปิดบริการ 24 ชั่วโมง

อีกกรณีที่อ้างถึง Uniqlo เข้ามาเมืองไทย (2554) อย่างเต็มตัว ในฐานะแบรนด์ญี่ปุ่นที่เติบโตอย่างรวดเร็วในระดับโลก เทียบเคียงและแข่งขันอยู่ในระดับเดียวกัน แบรนด์ระดับโลกอย่าง Mark & Spencer ของอังกฤษ H&M ของสวีเดน และ Zara ของสเปน

Uniqlo มีเครือข่ายร้านค้าของตนเองในญี่ปุ่นนับพันแห่ง และในต่างประเทศอีกนับร้อย

สำหรับเมืองไทยเข้ามาด้วยแผนการเชิงรุก ลงทุนทั้งระบบ สามารถขยายเครือข่ายร้านอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในศูนย์การค้าใหญ่ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องเที่ยว

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ กรณีความร่วมมือกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวกับกลุ่มเซ็นทรัล ในช่วงเวลากลุ่มเซ็นทรัลเดินแผนการขยายเครือข่ายทั่วประเทศไทย

 

กลุ่มเซ็นทรัล เครือข่ายค้าปลีกไลฟ์สไตล์ใหญ่และทรงอิทธิพลอยู่กับสังคมไทยมานาน ที่น่าทึ่ง มีประสบการณ์การต่อสู้กับห้างญี่ปุ่นหลายครั้งหลายครา มักจะเป็นห้างญี่ปุ่นที่ล่าถอย

หนึ่งในแบรนด์สำคัญ “เซ็นทรัลพลาซา” เป็นโมเดลผสม (mixed-use) มีศูนย์การค้าเป็นใจกลาง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้เดินแผนอย่างเข้มข้นขยายออกไปตามชานเมืองและหัวเมืองในภูมิภาค อย่างครอบคลุม

ภายในเครือข่ายธุรกิจเซ็นทรัล มีกลุ่มธุรกิจหนึ่งควรกล่าวถึง

เซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป หรือ CMG ธุรกิจหลัก สินค้าแฟชั่น ถือแบรนด์ระดับโลกมากกว่า 40 แบรนด์ ซึ่งสะท้อนทิศทางและความเป็นมาของเครือเซ็นทรัล ให้ความสำคัญกับแบรนด์ในโลกตะวันตกมาช้านานตั้งแต่ยุคก่อตั้ง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อเนื่องสู่ยุคสงครามเวียดนาม ภายใต้อิทธิพลสหรัฐอเมริกา

นับเป็นกรณีแรกๆ ที่สำคัญ กลุ่มเซ็นทรัลปรับตัวหันมาหาแบรนด์ญี่ปุ่น เมื่อ Muji เปิดสาขาแรกในไทยที่เซ็นทรัลชิดลม (2549) โดยห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลถือสิทธิ์แบบแฟรนไชส์ ในเวลาต่อมา (2559) สามารถขยับสู่โมเดลร่วมทุน ตามแผนผลักดันให้เครือข่าย Muji ในไทยเติบโตขึ้น จากช่วงแรกๆ เน้นสินค้าเสื้อผ้า ขยายไปสู่ของใช้ภายในบ้านและอาหาร

ในช่วงเดียวกันนั้น (2548) กลุ่มเซ็นทรัล (ในนาม เซ็นทรัล เรสเตอรองส์กร๊ป หรือ CRG) เปิดตัว Ootoya ร้านอาหารญี่ปุ่น ซึ่งก่อตั้งในญี่ปุ่นมากว่าครึ่งศตวรรษ มีสาขาหลายร้อยแห่งในญี่ปุ่น ให้ความสำคัญมาเมืองไทยเป็นพิเศษ

ก่อนไปเปิดสาขาในภูมิภาคเดียวกัน จากไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย และสิงคโปร์

 

นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ อิทธิพลใหม่ญี่ปุ่น ไม่นานจากนั้น สังคมไทยเต็มไปด้วยเครือข่ายร้านอาหารญี่ปุ่นจากต้นตำรับญี่ปุ่นอย่างมากมาย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีมากกว่าเมืองใหญ่ไหนๆ ในโลกก็ว่าได้

เป็นปรากฏการณ์ที่ลงลึกในกระแสคลื่นญี่ปุ่นแห่งทศวรรษ ว่าไปแล้วการขยายตัวร้านอาหารญี่ปุ่นในสังคมไทยค่อยๆ พัฒนามาก่อนหน้านั้น เคียงคู่กับสินค้าญี่ปุ่นสำคัญอื่นๆ จนปรากฏการณ์ก้าวไปอีกขั้น จากร้านอาหารญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นภายใน สู่ร้านอาหารญี่ปุ่นมาจากญี่ปุ่นโดยตรง

ตำนานร้านอาหารญี่ปุ่นในสังคมไทย ลงหลักปักฐานมาก่อนหน้าราว 3 ทศวรรษ ตั้งแต่กรณี Fuji ค่อยๆ ขยายธุรกิจ มาถึง Oishi ตำนานอันโลดโผน

ร้านอาหารญี่ปุ่น Fuji ก่อตั้งขึ้นโดยชาวญี่ปุ่นผู้เข้ามาทำงานในเมืองไทย สาขาแรกเปิดขึ้น พร้อมๆ กับการเปิดเซ็นทรัลลาดพร้าว (2521) ปัจจุบันมีสาขานับร้อยแห่ง

ครั้นร้านอาหารญี่ปุ่นเข้าสู่กระแสหลัก การพาเหรดของร้านอาหารจากญี่ปุ่น เจ้าของร้าน Fuji ได้นำร้านอาหารญี่ปุ่นจากญี่ปุ่นมาเมืองไทยด้วย-CoCoICHIBANYA ร้านอาหารประเภทแกงกะหรี่สไตล์ญี่ปุ่น

ส่วนกรณี Oishi เริ่มต้นเมื่อปี 2542 ถือว่ามีส่วนเร่งกระแสร้านอาหารญี่ปุ่นในสังคมไทย จนได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ถือเป็นปรากฏการณ์ช่วงสั้น ทศวรรษก่อนหน้า การมาถึงร้านอาหารญี่ปุ่นจากญี่ปุ่น

ในช่วงทศวรรษมานี้ กลุ่มเซ็นทรัล (ในนาม CRG) เป็นผู้นำในการสร้างกระแสอย่างแท้จริง ได้ร่วมมือกับเครือข่ายร้านอาหารญี่ปุ่นจากญี่ปุ่นอย่างเป็นระบบ อย่างต่อเนื่อง เป็นไทม์ไลน์ที่น่าทึ่ง

ต่อจากปี 2548 Ootoya ที่ว่ามาแล้ว ตามมาเป็นขบวนใหญ่

ปี 2550-Pepper Lunch ร้านสเต๊กสไตล์ญี่ปุ่น

ปี 2553-Chabuton ร้านราเมนจากญี่ปุ่น

ปี 2554-Yoshinoya ข้าวหน้าญี่ปุ่น

ปี 2556-Tempura Tendon Tenya ร้านเทมปุระอันดับ 1 จากญี่ปุ่น

ปี 2557-Katsuya ร้านหมูทอดยอดนิยมอันดับ 1 ในญี่ปุ่น

จากนั้น เว้นวรรคไปช่วงสั้นๆ คาบเกี่ยวกับช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 ล่าสุดในปีที่ผ่านมา (2565) ร้านอาหารต้นตำรับญี่ปุ่นอีก 2 แบรนด์ก็มาถึง

Shinkansen Sushi ซูชิ ร้านเล็กๆ มาเปิดครั้งแรกในเมืองไทย ในย่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

และ Ramen Kagetsu Arashi ร้านราเมนจากญี่ปุ่นมีมานานกว่า 30 ปีว่างั้น

อิทธิพลญี่ปุ่นในสังคมไทย ไม่ได้จางเลย •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com