Things only we know ศิลปะแห่งคำสัญญา ในความทรงจำถึงคนรักผู้จากไป

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ศิลปะ นอกจากจะเป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อสร้างความสวยงามเพลิดเพลินเจริญตาให้แก่ผู้ชมแล้ว

หลายครั้ง ศิลปะยังเป็นเครื่องมือสื่อสารถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานเหล่านั้นขึ้นมา ทั้งความรู้สึกสุข เศร้า หรือแม้แต่ความรัก ความผูกพัน และความคิดถึงคนึงหา

ดังเช่นผลงานที่ปรากฏในนิทรรศการ Things only we know : ภาพคู่ สัญญา จิ้งจก ตุ๊กตา โดยคู่รักศิลปิน นพไชย อังควัฒนะพงษ์ (ต้อย) และ ปิยลักษณ์ เบญจดล (บอลล์) ที่เป็นเสมือนหนึ่งคำมั่นสัญญาและความถวิลหาอาวรณ์ถึงความทรงจำที่มีต่อคนรักผู้จากไปของศิลปินฝ่ายชาย

นิทรรศการครั้งนี้จึงไม่ต่างอะไรกับจดหมายรักและถ้อยคำอำลาที่นพไชยส่งไปถึงปิยลักษณ์ผู้ล่วงลับนั่นเอง

ในนิทรรศการประกอบด้วยผลงานศิลปะที่สร้างขึ้นจากวัตถุข้าวของ สิ่งละอันพันละน้อย อันเป็นเหมือนพยานวัตถุจากความสัมพันธ์ของทั้งสอง ที่ชีวิต ความรัก ความสัมพันธ์ และศิลปะหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแยกไม่ออก

ทั้งกระป๋องคุกกี้เก่าๆ ที่ถูกนำมาใช้แทนเฟรมผ้าใบวาดภาพคู่ของศิลปินทั้งสอง ในลีลาและท่วงทีที่ดูคล้ายกับจะล้อเลียนภาพวาด Girl with a Pearl Earring (1665) ของ โยฮันเนส เวอร์เมียร์ (Johannes Vermeer) อยู่ไม่หยอก

เก้าอี้และเตียงเก่าๆ ที่เห็นร่องรอยการดัดแปลงเพื่อใช้งานกับผู้ป่วย ถูกนำมาจัดวางเรียงเคียงกัน ประดับด้วยหลอดไฟนีออนสี ดัดเป็นรูปทรงนามธรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เราคุ้นเคยในงานของนพไชย (เตียงและเก้าอี้ที่ว่านี้เอง ที่นพชัยดัดแปลงให้ปิยะลักษณ์ใช้เป็นพื้นที่ใช้ชีวิตและทำงานในยามที่เธอป่วยหนักจนติดเตียง)

ข้าวของเครื่องมือเครื่องใช้เก่าแก่แปลกตา ที่บางชิ้นถ้าไม่ถามเจ้าของผลงาน เราก็ไม่รู้ว่าเอาไว้ทำอะไรบ้าง ถูกวางไว้ตามมุมต่างๆ ของห้อง

ตู้กระจกเก่าๆ แบบที่เราเคยเห็นตามร้านขายยาแผนโบราณ หรือร้านขายของชำตามต่างจังหวัด ถูกนำมาวาดภาพเครื่องหมายการค้าและถ้อยคำโฆษณาทับลงไป ราวกับจะเปลี่ยนความหมายในการใช้งานที่มีอยู่แต่เดิม เพื่อล่อหลอกให้ผู้ชมอย่างเราฉงนสนเท่ห์ (ซึ่งเครื่องหมายการค้าเหล่านี้ ทราบจากปากคำของศิลปินว่าเป็นฝีมือของปิยลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญในการวาดภาพกราฟฟิกของสิ่งพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์เป็นคนวาดลงไปนั่นเอง)

ตู้ใส่พู่กันไทย ที่เราเคยเห็นในร้านขายเครื่องเขียนสมัยเป็นเด็ก ถูกนำมาบรรจุด้วยตุ๊กตาบาร์บี้ที่มีขาเรียวยาวราวกับพู่กัน

ตุ๊กตาเหล่านี้ยังถูกแขวนห้อยกลับหัวเรียงรายในตู้ ราวกับเป็นพู่กันมนุษย์ ให้อารมณ์น่ารักขบขัน (ปนสยอง) อยู่เหมือนกัน

ไม้วัดส่วนสูงโบราณ ที่ถูกนำมาแต่งเติมสีสันสดใส ประดับด้วยภาพกิ้งกือและสะดือจิ้มลิ้มดูเก๋ไก๋ปนแปลกประหลาดน่าพิศวง ราวกับหลุดมาจากภาพวาดของศิลปินเซอร์เรียลลิสต์อย่าง เรอเน มากริตต์ (Ren? Magritte) ก็ไม่ปาน

ภาพวาดใส่กรอบทองบนผนัง ที่ดูให้ดีๆ ไม่ใช่ภาพวาด แต่เป็นเบาะหนังเทียมสีแดงเก่าๆ แตกๆ ขาดตรงกลาง ที่ชวนให้เรานึกไปถึงภาพวาดสีแดงมีรอยกรีดตรงกลางอย่าง Spatial, Waiting, Red concept (1965) ของ ลูซิโอ ฟอนตานา (Lucio Fontana) ขึ้นมาตงิดๆ

แต่ในขณะเดียวกันเราก็ถูกเบรกอารมณ์ด้วยภาพตุ๊กแกลายพร้อย หน้าตาน่ารักน่าชังที่บรรจงวาดอยู่บนนั้นอีกที

ผลงานชิ้นหลักที่โดดเด่นเป็นสง่ากลางห้องแสดงงานชั้นสองอย่าง หีบไม้เก่ากรุและตู้เก็บของไม้เก่าแก่ ที่ถูกนำมาวางเรียงซ้อนกันจนมีความสูงเท่ากับคนสองคน (ถ้าให้เดาก็คงจะมีความสูงเท่ากันกับศิลปินทั้งคู่นั่นแหละนะ)

บนหีบและตู้ นอกจากจะถูกวาดด้วยภาพสรรพสัตว์ต่างๆ อย่าง นก, หนู, แมว ไปจนถึงสัตว์เลื้อยคลานอย่าง งู, ตุ๊กแก และตัวเงินตัวทองแล้ว ด้านบนยังเทินด้วยภาชนะเก่าๆ ประดับหลอดไฟนีออนดัดหลากสีสัน

บนภาชนะทั้งสองมีภาพวาดของศิลปินทั้งคู่ประดับอยู่ ทราบความจากศิลปินว่าผลงานชิ้นนี้เป็นเสมือนหนึ่งภาพคู่ภาพสุดท้ายของพวกเขานั่นเอง

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการในนิทรรศการครั้งนี้ก็คือ ในมุมหนึ่งของพื้นที่แสดงงานยังมีห้องหับที่ถูกจัดไว้เป็นเหมือนกับห้องตัดเย็บเสื้อผ้า มีจักรไฟฟ้า โต๊ะตั่งดีไอวายที่มีขาเป็นตู้เก็บของและบันไดไม้ บนหิ้งไม้ด้านหลังมีกล่องสังกะสีจากร้านขายยาจำนวนมากวาดประดับลวดลายและถ้อยคำสัพเพเหระ และเสื้อผ้าที่มีรอยเย็บปะเก่ไก๋แปลกตา

หรือว่าศิลปินจะจัดแฟชั่นโชว์ขึ้นที่ในนิทรรศการนี้ก็ไม่แน่ใจ เพราะได้ข่าวแว่วๆ มาว่า ล่าสุดพี่ต้อยเขาไปเอาดีทางด้านเดินแบบแฟชั่นอยู่น่ะนะ

ด้วยความที่นิทรรศการนี้จัดแสดงในพื้นที่แสดงงานที่ดูเหมือนเคหสถาน ที่อยู่อาศัย หรือเรือนรับรอง มากกว่าจะเป็นห้องหับสี่เหลี่ยมผนังขาวสะอาดตา (White cube) เหมือนหอศิลป์ตามขนบโมเดิร์นนิสต์ทั่วๆ ไป และด้วยความที่ผลงานแต่ละชิ้นถูกจัดวางอย่างแนบเนียนกลมกลืนไปกับตัวบ้านและเครื่องเรือนต่างๆ หรือบางครั้งตัวงานก็อยู่ในรูปของเฟอร์นิเจอร์ด้วยซ้ำ

จนทำให้บางครั้งเราแยกไม่ออกว่าที่เห็นอยู่นั้นเป็นงานศิลปะ หรือข้าวของเครื่องใช้ที่อยู่ในบ้านหลังนี้ตั้งแต่แรกกันแน่

หรือไม่ก็พาลคิดไปว่าของแต่งบ้านบางชิ้นที่เห็นนั้นเป็นงานศิลปะของศิลปินคู่นี้ด้วยซ้ำไป

ก็ไม่รู้ว่าเป็นปัญหาของศิลปะร่วมสมัย ที่ผู้ชมแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นศิลปะกันแน่

หรือเป็นการจงใจหลอมรวมศิลปะเข้ากับชีวิตประจำวันแบบที่เราเรียกกันเก๋ๆ ว่า สุนทรียศาสตร์เชิงสัมพันธ์ (Relational Aesthetics) หรือเปล่าก็ไม่รู้!

หากใครเป็นมิตรรักแฟนคลับผลงานของนพไชยมาก่อน ถ้าหากได้มาชมนิทรรศการครั้งนี้ก็อาจจะผิดหวังเล็กน้อยถึงปานกลาง ที่อาจจะไม่ได้เห็นผลงานศิลปะอันล้ำสมัยที่เล่นสนุกกับการทดลองและการค้นหาความหมายและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของวัสดุและเทคโนโลยีต่างๆ หลากหลายอย่างสนุกมือ

หรือผลงานอันเปี่ยมด้วยอารมณ์ขันเสียดสีอันแสบสัน ที่ตั้งคำถามและกระตุ้นให้ผู้ชมตระหนักรู้ถึงประเด็นทางสังคมและการดำรงอยู่ของมนุษย์

และอาจจะรู้สึกว่าผลงานในนิทรรศการครั้งนี้อ่อนดีกรีความเข้มข้นกว่านิทรรศการที่ผ่านๆ มาของเขาอยู่ไม่น้อย

แต่ในทางกลับกัน ผลงานเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นถึงแง่มุมอันอ่อนโยนของเขาที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน อีกทั้งยังถูกเติมเต็มด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันน่ารักอ่อนหวาน (แต่ไม่อ่อนแอ) ของอิตถีเพศที่อวลไออยู่ในผลงานของปิยลักษณ์

นับเป็นผลงานศิลปะที่แสดงให้เราเห็นถึงความรักความผูกพันและความห่วงหาอาทรอันเปี่ยมล้นของทั้งคู่ จนเรียกได้ว่าเป็นนิทรรศการศิลปะที่อบอุ่นที่สุดเท่าที่เคยชมมาในรอบหลายปีนี้เลยก็ว่าได้

นิทรรศการ Things only we know : ภาพคู่ สัญญา จิ้งจก ตุ๊กตา โดย นพไชย อังควัฒนะพงษ์ และ ปิยลักษณ์ เบญจดล จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม-17 ธันวาคม 2023 ที่ Sriwiang Gallery บ้านเลขที่ 1 ถนนศรีเวียง สีลม บางรัก สอบถามรายละเอียดได้ที่ 08-2595-3596 •

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์