มิยาโมโตะ มูซาชิ โดย โชทาโร่ อิชิโนะโมริ

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

โชทาโร่ อิชิโนะโมริ (1938-1998) ชื่อนี้เป็นที่รู้จักกันดีจากผลงานโดดเด่น เช่น ไซบอร์ก 009 สกัลแมน คาเมนไรเดอร์ คิไคเดอร์

เขาเขียนสกัลแมนในปีเดียวกับที่เขียนมิยาโมโตะ มูซาชิ (c1584-1645) คือ ปี 1970 เขาเหมือนมูซาชิอยู่สองเรื่องเรื่องแรกคืออายุเท่ากัน เรื่องที่สองคือเป็นยอดฝีมือ

หากมูซาชิเป็นยอดฝีมือในวิชาฟันดาบ โชทาโร่ย่อมเป็นยอดฝีมือในการปาดพู่กัน สองคนยังปรากฏตัวอย่างเป็นทางการเมื่ออายุประมาณ 16 ปีเท่าๆ กัน แม้ว่าประวัติของมูซาชิอาจจะสับสนกว่าแต่ที่เขียนตรงกันในหลายที่คือเขามีพ่อเป็นนักดาบ ดวลดาบครั้งแรกเมื่ออายุ 13 ปี อีกครั้งเมื่ออายุ 16 ปี และเคยไปร่วมรบในสงครามเซกิงาฮาระปี ค.ศ.1600 เมื่ออายุ 16 ปี การดวลครั้งสำคัญๆ เกิดขึ้นหลังจากนั้น

ทบทวนข้อมูลสำคัญของนักเขียนและนักดาบพอสังเขปเท่านี้

มาอ่านการ์ตูนกัน

เป็นผลงานแปลของชัชวรรณ แผนสุพรรณ์ จัดพิมพ์โดย Cat Comics ปกแข็งแข็งแรง หนานิ้วเศษ มีหน้าสีช่วงแรก คุณภาพการพิมพ์หน้าขาวดำดีเลิศตลอดเล่ม ลายเส้นโดดเด่นของโชทาโร่อ่านง่ายสบายตา สวยงามทุกๆ รูป บทพูดและบทบรรยายน้อย ไม่พูดมากเสียเวลาฟันฉับๆ แบ่งบทตามคัมภีร์ห้าห่วงคือ ดิน น้ำ ไฟ ลม และความว่างเปล่า มีไคลแมกซ์ที่การดวลครั้งสำคัญกับซาซากิ โคจิโร่ บนเกาะกันริวที่เลื่องลือ

เปิดหน้าแรก มูซาชิ ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า ทาเคโซ ถูกหลวงจีนจับมัดบนต้นไม้ บอกเป็นนัยว่าเขาเป็นเด็กร้ายกาจ

ย้อนไปเล่าเรื่องก่อนหน้านั้น พ่อซึ่งเป็นนักดาบ มีเมียใหม่จึงส่งแม่ไปอยู่ที่อื่น ทาเคโซกับพี่สาวอยู่กับแม่ใหม่ด้วยความคับข้องใจ เขาเกเรและระรานผู้คน วันหนึ่งทาเคโซมีเรื่องขัดใจกับพ่อจึงหนีออกจากบ้านไปหาแม่ แต่แม่ก็มีผัวใหม่และลูกอีกหลายคน

ทาเคโซจึงออกพเนจรไป ดวลดาบเอาชนะอะคิมะ คิเฮ ได้ตั้งแต่อายุ 13 ปี เขาใช้ดาบไม้ฟาดอะคิมะ คิเฮ ถึงตาย หลังจากนั้นเขาเอาชนะอากิยามะแห่งทาจิมะในการดวลถึงตายอีกครั้งหนึ่ง เวลานั้นเขาอายุ 16 ปี

หลวงจีนจับเขามัดต้นไม้แล้วสั่งสอนมูซาชิเรื่องการใช้สติปัญญา มิใช่ต่อสู้เหมือนสัตว์แต่เพียงอย่างเดียว

เป็นหญิงคนรักสึอุที่ช่วยแก้มัดเขาจากต้นไม้แล้วปล่อยให้หนีไป สึอุขอติดตามแต่มูซาชิปฏิเสธ ตลอดทั้งเรื่องสึอุจะขอติดตามอีกหลายครั้งซึ่งมูซาชิปฏิเสธทุกครั้ง

แล้วมูซาชิไปร่วมรบในสงครามเซกิงาฮาระ

จบภาคคัมภีร์ดิน

 

เหตุการณ์สำคัญที่รู้จักกันดีคือการต่อสู้กับตระกูลโยชิโอกะที่เกียวโต

เริ่มจากมูซาชิเขียนคำท้าติดไว้กลางตลาด มีหรือตระกูลนักดาบซึ่งมีลูกศิษย์มากมายจะอยู่เฉยๆ ได้

โยชิโอกะ เซย์จูโร่ เป็นรายที่ 1 จากนั้นตามด้วยโยชิโอกะ เดนชิจิโร่ เป็นรายที่ 2 ความพ่ายแพ้สองครั้งติดกันเป็นความเสียหน้าร้ายกาจของตระกูลโยชิโอกะ ต้องไม่มีครั้งที่สามเด็ดขาด

การดวลครั้งที่สามเกิดที่ศาลเจ้าอิชิโจจิ ตระกูลโยชิโอกะเกณฑ์นักดาบมาเป็นร้อยเพื่อล้อมจับโรนินรายนี้ โชทาโร่วาดภาพมูซาชิจับดาบคู่เป็นครั้งแรก มูซาชิเร้นกายเหมือนน้ำไหลเข้าไปตัดหัวโยชิโอกะ มาตาชิจิโร่ จากนั้นใช้ดาบคู่สังหารศัตรูไปมากมาย เวลานั้นเขาอายุ 21 ปี

จบภาคคัมภีร์น้ำ

 

ต่อไปคือคัมภีร์ไฟ บทนี้มูซาชิดวลสามครั้งกับผู้ใช้อาวุธต่างรูปแบบกัน นั่นทำให้เขาเองพัฒนาจุดย่อยของแก่นวิชามากขึ้นและเข้าใกล้สัจธรรมมากขึ้นไปอีก ก่อนจะมาถึงบทที่สี่อันเป็นไคลแม็กซ์ของเรื่องเล่าทุกเวอร์ชั่น นั่นคือการดวลกับสุดยอดนักดาบ โคจิโร่ ซาซากิ

ต่อไปคือคัมภีร์ลม การดวลสะท้านโลกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 เดือน 4 เวลาแปดโมงเช้า เรื่องเล่าตอนนี้เหมือนๆ กันทุกเวอร์ชั่น นั่นคือมูซาชิเจตนาไปช้ากว่าเวลานัดหมายมาก มากมายเสียจนโคจิโร่หงุดหงิดและเสียสมาธิ บ้างว่ามิใช่ฝีมือดาบที่มูซาชิใช้เอาชนะยอดนักดาบแห่งยุคได้แต่เป็นเล่ห์กล

แต่เล่ห์กลก็เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เสมอมา

 

โชทาโร่เขียนสี่บทแรกตามคัมภีร์ดิน น้ำ ไฟ ลม พร้อมคำอธิบายท้ายเล่ม ทำให้ (พอจะ) เข้าใจคัมภีร์ห้าห่วงได้อย่างง่ายๆ แน่นอนว่าย่อมมิได้ลึกซึ้งอะไรเพราะนี่เป็นการ์ตูนแต่อย่างน้อยก็ง่ายสำหรับผู้เริ่มต้นทำความรู้จักคัมภีร์ห้าห่วงที่เลื่องลือว่าเอาไปใช้กับงานธุรกิจได้ด้วย

เนื้อเรื่องในการ์ตูนนับจากบทนี้เป็นการขมวดเข้าสู่คัมภีร์แห่งความว่างเปล่าและบทสรุปของชีวิต

ไม่ชัดเจนว่าหลังจากดวลกับโคจิโร่แล้วเขาได้ประดาบกับใครอีกหรือไม่ เวลานั้นมูซาชิอายุ 29 ปี

เป็นการ์ตูนฟันดาบที่อ่านสนุกดี จะเริ่มไม่สนุกก็ตอนท้ายที่เข้าใกล้ธรรมะนี่แหละครับ เขียนย่อเขียนสั้นอย่างไรก็ไม่เข้าใจ ครั้นเขียนยาวก็มิใช่วิสัยคนอ่านการ์ตูน ฮา ฮา

โชทาโร่ อิชิโนะโมริ เล่าเรื่องตรงตามประวัติมูซาชิค่อนข้างมาก ชวนให้นึกถึงหนังไตรภาค Samurai Trilogy ปี 1954-1956 ประกอบด้วยหนังสามเรื่อง Musashi Miyamoto, Duel at Ichijoji Temple, Duel at Ganryu Island มิยาโมโตะ มูซาชิ รับบทโดยโตชิโร มิฟูเน่ กำกับฯ โดย Hiroshi Inagaki สร้างจากนวนิยายของ Eiji Yoshikawa

เฉพาะเรื่องแรกนั้นคว้ารางวัลออสการ์ต่างประเทศในปีนั้นด้วย

ด้วยความที่สร้างจากนวนิยายจึงต่อเติมเสริมแต่งเสียมากมาย แม้จะไม่ตรงตามบันทึกอื่นๆ แต่ก็กลายเป็นหนังที่ถูกกล่าวขวัญเรื่อยมา ใครมีโอกาสก็ควรหาดูสักรอบ

สนุกดีเหมือนกัน •

 

การ์ตูนที่รัก | นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์