นั่งรถไฟไปปากน้ำ

ปริญญา ตรีน้อยใส
ภาพประกอบ : ตัวขบวนรถรางไฟฟ้าชนิด EMU จอดอยู่ที่สถานีปากน้ำ

ทุกวันนี้ การเดินทางไปปากน้ำ สมุทรปราการ ด้วยรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นเรื่องธรรมดา

แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน สมัยที่คนในกรุงเทพฯ ยังเดินทางไปไหนๆ ด้วยเรือตามแม่น้ำลำคลอง แม้ว่าปากน้ำจะอยู่ในปริมณฑลของกรุงเทพฯ แต่ก็อยู่ห่างไกลจากพระนคร การเดินทางไปปากน้ำ จะเป็นเรื่องใหญ่

ครั้นเมื่อคนไทยถูกฝรั่งหลอกว่า จะย้ายไปอยู่ปากน้ำ โดยขอให้ขุดคลองลัดจากคลองพระโขนงมายังพระนคร

รวมทั้งเมื่อฝรั่งด้วยกันก็ถูกหลอกว่า ปากน้ำจะกลายเป็นท่าเรือใหญ่ รองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ ที่ไม่ต้องวิ่งอ้อมบางคอแหลม กว่าจะมาถึงพระนคร

ฝรั่งที่ชื่อไทยว่า พระยาชลยุทธโยธิน (André du Plessis de Richelieu) ชาวเดนมาร์กเชื้อสายฝรั่งเศส และพระนิเทศชลธี (Alfred loftas) ชาวเดนมาร์ก เลยคิดการใหญ่ ขอรับสัมปทานเดินรถไฟสายปากน้ำ เพื่อขนสินค้าและผู้โดยสาร

พระยาชลยุทธโยธิน (André du Plessis de Richelieu)

ด้วยเป็นโครงการใหญ่และล้ำยุค โครงการรถไฟสายปากน้ำ เลยใช้เวลาวางแผน ออกแบบและระดมทุนอยู่นานหลายปี กว่าที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเริ่มงานก่อสร้างทางรถไฟได้ เวลาก็ผ่านไปหลายปี

จนงานก่อสร้างมาแล้วเสร็จในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2436 สามารถเปิดเดินรถจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ถึงสถานีปากน้ำ รวมระยะทางยี่สิบกว่ากิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม การเปิดเดินรถไฟสายแรกสายนี้ ทำให้สยามประเทศ ได้ชื่อว่า ก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกล

แผนที่เส้นทางรถไฟสายหัวลำโพง-ปากน้ำ (ปัจจุบันเส้นทางดังกล่าวถูกยกเลิกแล้ว) แผนที่ถูกเขียนในปี ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2480)

ส่วนมิติทางด้านการเมืองนั้น นอกจากทางรถไฟสายนี้ เป็นทางรถไฟสายสั้นๆ เขตปริมณฑลพระนคร จึงอยู่ในสายตาของรัฐ แต่เหตุผลที่รัฐบาลสยามยอมอนุมัติสัมปทานให้บริษัทของชาวเดนมาร์กสร้างทางรถไฟนั้น เพราะเดนมาร์กมิได้เป็นเหมือนประเทศจักรวรรดินิยมอื่น ที่กำลังแผ่อิทธิพลในภูมิภาคแถบนี้ อย่างอังกฤษและฝรั่งเศส

ประการสำคัญ ทางรถไฟสายปากน้ำจะช่วยส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ของไทย ด้วยการติดต่อจากพระนครถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เมืองสมุทรปราการนั้น เดิมมีเพียงทางน้ำเท่านั้น ทางรถไฟจึงกลายเป็นยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ

เพียงแต่ว่า เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ พ่อค้าชาวต่างประเทศ หาได้โยกย้ายกิจการและถิ่นพำนัก อีกทั้งไม่มีการสร้างท่าเรือที่ปากน้ำ ทำให้กิจการรถไฟสายปากน้ำไม่ประสบผลทางธุรกิจถึงขั้นขาดทุน

ยิ่งต่อมามีการตัดถนนสุขุมวิท (กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ) ยิ่งทำให้ผู้ใช้บริการรถไฟน้อยลง จนในที่สุด บริษัทจำต้องคืนทางรถไฟสายปากน้ำ ก่อนหมดระยะสัมปทาน ใน พ.ศ.2479

ต่อมา ด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการตัดทางหลวงและถนนจำนวนมาก จึงมีการยกเลิกเส้นทางรถไฟสายปากน้ำ ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2503

รวมทั้งรื้อถอนรางรถไฟและถมคลอง เพื่อขยายผิวการจราจร กลายเป็น ถนนพระรามที่สี่

และถนนอีกสายที่ทุกวันนี้ยังชื่อว่า ทางรถไฟสายเก่า

 

แม้ว่าเรื่องราวของรถไฟสายแรกจะจบสิ้นไป

แต่ทว่าแนวรางรถไฟสายปากน้ำในอดีต กลับกลายมาเป็นแนวรางรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงิน ระหว่างสถานีหัวลำโพงกับสถานีคลองเตย

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจรของกรุงเทพฯ จึงเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลก เพียงแต่ว่า เรื่องแบบนี้ ไม่อยู่ในตำราฝรั่ง นักเรียนนอกเลยไม่รู้จักและไม่เข้าใจ •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส