ในความเป็นนิธิ (จบ)

บทความพิเศษ | สุชาดา จักรพิสุทธิ์

 

ในความเป็นนิธิ (จบ)

 

เรื่องผิดพลาดในชีวิตนั้นมีแน่นอน อย่างน้อยเรื่องหนึ่งที่ค้างคาใจคนจำนวนไม่น้อยก็คือ ครั้งที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ รับเป็นกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) ที่มีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานคณะ คู่ขนานกับหมอประเวศ วะสี ที่เป็นประธานในอีกคณะหนึ่ง ซึ่งคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้แต่งตั้ง ภายหลังเหตุการณ์ล้อมปราบคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553

นิธิรับหน้าที่ยกร่างแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาความอยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำ คณะกรรมการดังกล่าวนี้มีอาจารย์ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ร่วมอยู่ด้วย…

ข้อเท็จจริงเบื้องลึกเป็นอย่างไร เป็นเรื่องในใจที่นิธิไม่นิยมพูด หากไปกระทบต่อชื่อเสียงเกียรติคุณของผู้อื่น หรือคิดว่าพูดแล้วจะกลายเป็นเรื่องแก้ตัว จึงจะบอกเล่าได้แต่เพียงปรากฏการณ์ว่า คุณอานันท์นั้นนับเป็นเพื่อนคนหนึ่งที่นิธิให้ความนับถือ

เมื่อโทร.มาเกลี้ยกล่อมชักชวนและยอมรับการต่อรองจากนิธิ ที่จะไม่ยอมให้นายกฯ อภิสิทธิ์เป็นผู้ลงนามในเอกสารใดๆ ในการแต่งตั้งนิธิ หากแต่ต้องเป็นคุณอานันท์เท่านั้น นิธิก็รับปากเข้าร่วม

และเป็นผู้ประสานชักชวนอาจารย์เสกสรรค์ให้… ผ่านการประชุมครั้งแล้วครั้งเล่านานนับปี ดูเหมือนนิธิมีความเครียดกับภารกิจนี้ ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการ คปร.ก่อนที่คณะกรรมการชุดนี้จะหมดอายุลงเกือบครึ่งปี อาจารย์เสกสรรค์ก็ลาออกด้วย

แต่การลาออกของนิธิกับเสกสรรค์ไม่เป็นข่าว เสียงก่นด่าจึงไม่จางหาย ภรรยาเคยได้ยินนิธิโทรศัพท์ขอโทษอาจารย์เสกสรรค์ และบางครั้งก็ขอโทษนักวิชาการรุ่นหลังที่เอ่ยปากถาม

อยากจะยืนยันแต่เพียงว่า นิธิเป็นคนโบราณที่ถือคติว่าเพื่อนคืออาภรณ์ของชีวิต จดหมายหรือโน้ตข้อความและโปสการ์ดใดๆ ที่มีคนส่งมาให้ นิธิเก็บรักษาไว้หมด แม้แต่ ส.ค.ส.เชยๆ ทำเองจากเพื่อน อบ.ที่แก่เฒ่าแล้ว ก็ยังคงเก็บไว้จนทุกวันนี้

 

ช่วงทศวรรษหลังของชีวิต นิธิมีความตั้งใจที่จะเขียนงานวิชาการชิ้นใหญ่อีกประมาณ 3 เรื่อง เท่าที่ทราบคือ ประเด็นเกี่ยวกับ ความเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อและพุทธศาสนาในสังคมไทย เขาเคยชวนสนทนาถึงปรากฏการณ์ที่คนชั้นกลางเสื่อมความนิยมในการตั้งศาลพระภูมิในบ้าน และรูปแบบสถาปัตยกรรมของศาลพระภูมิที่เปลี่ยนไป ข้อสังเกตที่คนไทยหันไปสมาทานลัทธิพิธีด้านความมั่งคั่งร่ำรวยมากขึ้นๆ

แต่แล้วเขาก็บอกว่า มีนักวิชาการฝรั่งศึกษาวิจัยประเด็นนี้แล้ว นี่อาจเป็นเหตุที่ไม่ได้ยินเขาพูดถึงการทำงานในประเด็นนี้อีก

นิธิยังอ่านเอกสารโบราณและค้นคว้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคเหนือตอนบนอีกด้วย ไปจนถึงหนังสือและเอกสารเกี่ยวกับอาณาจักรโบราณจากจีนตอนใต้ น่านเจ้า ลุ่มสาละวิน โขง เยว่ ฯ

เขาปรารภว่า ได้กินอยู่สุขสบายบนแผ่นดินเชียงใหม่มาถึงค่อนชีวิต ยังไม่ได้ตอบแทนบุญคุณแผ่นดินเชียงใหม่หรือแผ่นดินล้านนาเลย

จึงดำริที่จะค้นคว้าและเขียนงานวิชาการ ประวัติศาสตร์ล้านนานอกกระแส เข้าใจว่าในระหว่างการค้นคว้าและอ่านเอกสารจำนวนมากเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้

นิธิได้ค้นพบประเด็นใหม่ที่ชวนตื่นเต้นมากกว่า นั่นคือ ZOMIA โซเมีย อันหมายถึงดินแดนที่ราบระหว่างซอกเขาแถบลุ่มน้ำสาละวิน เรื่อยมาเป็นแนวนอนผ่านลุ่มน้ำโขงจนถึงเยว่หรือเวียด และการค้าแบบวัวต่างลาต่างผ่านที่ราบซอกเขาเหล่านี้ ที่เป็นเหตุให้เกิดตลาดและเกิดชุมชน จนในที่สุดก่อเกิดเป็นอาณาจักรและราชอาณาจักร

โดยชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ในดินแดนแถบนี้ก็คือ ไตหรือไท

 

น่าเสียดายยิ่งนัก ที่นิธิไม่มีเวลาทำงานที่รักและวาดหวังให้เสร็จสมบูรณ์ ประเด็น ‘โซเมีย’ ถูกเขียนขึ้นเป็นร่างสังเขปหรือเรื่องย่อความยาว 22 หน้า A4 กับบทที่ 1 ซึ่งลงมือเขียนเป็นรายละเอียดแล้ว… ในวันเวลาที่สุขภาพย่ำแย่ลง นิธิยังตั้งใจที่จะเขียนบทความขนาดยาว 10 ตอน ตั้งชื่อว่า สั่งเสีย โดยได้จดบันทึกประเด็นต่างๆ ที่จะเขียนไว้ด้วยลายมือ จั่วหัวเรื่องเป็นตัวย่อว่า ส.ส. หลายหน้าด้วยกัน

คาดว่านิธิจะเริ่มด้วยการเขียนวิเคราะห์ปัญหาในประวัติศาสตร์ที่ส่งทอดมาถึงปัจจุบัน ก่อนจะพูดถึงปัญหาในปัจจุบัน โดยเฉพาะมิติทางการเมืองและความขัดแย้ง ความรุนแรงและความอยุติธรรมในตุลาการภิวัฒน์ ปัญหารัฐธรรมนูญและสถาบันหลักต่างๆ จนถึงข้อห่วงใยและข้อเสนอบางประการ

ทำนองการส่งสัญญาณเตือนให้ศึกษาอดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบันและเท่าทันอนาคต ดูจากโน้ตลายมือ key word ในตัวอย่างบางส่วนเหล่านี้

– สยามรอดพ้นอาณานิคมได้อย่างไร?

– Modernity เป็น power สำหรับแย่งชิงอำนาจกันภายใน ( Kullada) จึงมี limitation มาก เพราะบาง aspect ของ modernity บ่อนทำลาย traditional power ลงเอง

– ไม่ได้ใช้ Modernity ในการต่อสู้ป้องกันตนเองจากจักรวรรดินิยม เปรียบเทียบญี่ปุ่น จีน VN พม่า

– มุ่งรักษาราชตระกูลมากกว่าราชอาณาจักร

– Metanarratives เมื่อใช้ใน definition แบบเรา จะใกล้ไปทาง meta histories ของ Heden White แต่ความหมายกว้างกว่า history เพราะรวมเรื่องอื่นหมด

– สมบูรณ์ฯ สยาม successful + influential even though with short life > WHY

– ต้องช่วงชิง กีดกัน + control เปรียบเทียบจีน ญี่ปุ่น อินเดีย

ถ้าติดตามข้อเขียนของนิธิในมติชนสุดสัปดาห์ จะได้พบร่องรอยการสั่งเสียนี้ในบทความชื่อ “ความยุติธรรมที่ล่มสลาย” ฉบับวันที่ 26 พฤษภาคม-1 มิถุนายน 2566 ความว่า “ผมอยากจะเรียกความชอบธรรมตามความหมายกว้างๆ อย่างนี้ว่า metanarratives หรือนิทานที่เหนือนิทานทั้งปวง แต่คงต้องอธิบายกันยาวกว่านี้ จึงเก็บไว้ในงานที่หวังว่าจะได้เขียนก่อนตาย”

รวมทั้งที่ได้พาดพิงประเด็นนี้ในการให้สัมภาษณ์ผ่านช่องทาง Youtube ของมติชน

นิธิคงจะคิดเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา แม้ในยามที่นอนอยู่โรงพยาบาลกับเข็มน้ำเกลือและยา เขาบอกกับเพื่อนคนหนึ่งที่ไปเยี่ยมว่า

“ผมเป็นห่วงว่าความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น มีเรื่องต้องระวังหลายเรื่อง ผมอยากจะเขียนเตือนไว้ก่อนตาย”

 

นิสัยเก็บงำความในใจมาแต่ไหนแต่ไร บ่มเพาะความเป็นสุภาพบุรุษ อดทนอดกลั้น ความไม่สนใจตัวตนของตัวเอง ทั้งไม่นินทา ไม่ก้าวล่วงเรื่องส่วนตัวของใคร ไม่เป็นฝ่ายเรียกหาเรียกใช้ใคร

เคยมีเรื่องโจษจันกันว่า ถ้านัดพบกินข้าวพูดคุยกับนิธิ ทุกคนต้องแบ่งกันเตรียมประเด็นคำถามชวนสนทนาไว้ให้ดี เพราะนิธิจะนั่งนิ่งๆ มองคนนั้นคนนี้ ไม่เป็นฝ่ายเปิดปาก จนเกิด dead air

แต่ก็รู้กันดีว่านิธิเปลี่ยนไปหลังวัยเกษียณเป็นต้นมา โอภาปราศรัยกันเองมากขึ้น

ในช่วงหลังของชีวิต นิธิก็คือคนแก่ธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่มีบุคลิกภาพของคุณปู่ใจดีมีรอยยิ้มบางๆ ชอบขับรถท่องเที่ยวไปชนบทมากกว่าท่องเที่ยวต่างประเทศ พกกล้องไว้ถ่ายรูปชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และยังนิยมขี่จักรยานซอกแซก อ่านโลก อ่านชีวิตไป…

ในวัย 60 ปี นิธิแสดงศรัทธาปสาทะในพุทธศาสนาและเชื่อในการบำเพ็ญกุศลเกื้อกูลศาสนา (แม้จะเขียนบทความวิพากษ์จริงจังตลอดมา หรือนั่นคือการบำเพ็ญกุศลแด่พุทธศาสนาอย่างหนึ่ง) โดยได้สร้างพระพุทธรูปขนาดพระประธานองค์ย่อม รูปแบบพุทธรูปหลวงพระบาง ถวายแด่วัดป่าสุคะโตที่มีพระไพศาลวิศาโลเป็นเจ้าอาวาส

ด้านหลังองค์พระสลักข้อความ ‘นิพพฺนํ ปจฺจโย โหตุ’ สมดังแนวคิดของเขาเรื่องสังคมและชาติหน้า (นิพพาน) คือเรื่องเดียวกัน ปัจจุบันประดิษฐานให้ผู้คนได้กราบไหว้สักการะอยู่ที่ลานหินโค้ง วัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ

 

นิธิถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 3 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 และเป็นชนิด small cell ที่แพร่กระจายง่ายแต่ก็ตอบรับกับการรักษาแบบคีโมได้ดี

อันที่จริงเขาถามหมอด้วยซ้ำว่า “ถ้าไม่รักษา ผมจะมีเวลาเหลือเท่าไหร่ และถ้ารักษา ผมจะได้เวลาคืนมาเท่าไหร่” และแล้วเราก็ตัดสินใจร่วมกันที่จะรับการรักษา

เหตุผลสำคัญที่สุดก็เพราะคาดหวังว่าจะได้ทำงานเขียนเรื่อง ZOMIA ที่คั่งค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ และให้ภรรยาได้มีเวลาเตรียมใจ

ซึ่งในการรักษารอบแรกพบว่าได้ผลดีจนเหมือนว่ามะเร็งสงบไป แต่นิธิก็เตรียมตัวตายอยู่ตลอดมา เขาวางแผนที่จะเขียนงาน ZOMIA ให้แล้วเสร็จก่อนวันเกิดปีที่ 83…

ทุกๆ วันที่กิจวัตรคือการจิบกาแฟยามเช้าแล้วนั่งนิ่ง ครุ่นคิด จดบันทึกในสมุด ค้นหนังสือจากชั้น อ่าน เปิดเพลงคลาสสิคฟัง และนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อติดตามข่าวสารและกระแสสังคม

บางทีก็ถกเถียงแลกเปลี่ยนประเด็นที่อยากเขียนกับภรรยาและเพื่อนคนหนึ่ง

แต่แล้วเข็มนาฬิกาก็เดินหน้าต่อไป มะเร็งกลับคืนมาอีกในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2566

รอบนี้ นิธิอ่อนแรงลงไปมากเนื่องด้วยถูกซ้ำเติมจากอาการปอดอักเสบครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เขาก็ยังสงบ อ่านและเขียนทุกวันเท่าที่จะทำได้

เขาเคยรำพึงว่า “การแพทย์สมัยใหม่ทำให้คนตายยากตายเย็น” และปรารภกับภรรยาบ่อยขึ้นว่า “ถ้าผมตายคุณก็…” ภรรยามารู้ภายหลังนิธิจากไปว่า เขาเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับการเดินทางครั้งสุดท้ายอย่างดีเยี่ยม เมื่อได้พบสมุดเล่มเล็กๆ ที่จด password คอมพิวเตอร์ แม็คบุ๊ก อีเมลส่วนตัว บัญชีธนาคาร และบรรดาเครื่องใช้ดิจิทัลไว้ให้ จัดการข้อมูลในเครื่องคอมพ์ใส่ซีดีไว้…

ก่อนการแอดมิตโรงพยาบาลครั้งสุดท้าย นิธิเตรียมแม้กระทั่งชาร์ตแบตเต็มเครื่องแม็คบุ๊ก ไอแพด และสั่งซื้อเครื่องเสียง BOSE เล็กๆ ให้ภรรยา เตรียมแม้กระทั่งสั่งซื้อกาแฟเจ้าประจำไว้ให้!

ในห้วงเวลาสุดท้าย นิธิยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีที่จะตอบปฏิเสธด้วยตัวเองเมื่อหมอเวรจะขอเจาะคอใส่ท่อ หมอเจ้าของไข้บอกกับภรรยาภายหลังเขาจากไปว่า จุดวิกฤตที่สุดที่ทำให้เกิดอาการปอดติดเชื้อครั้งแล้วครั้งเล่า ก็คือมะเร็งก้อนสุดท้ายที่เหลืออยู่ตรงขั้วปอดซึ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ

 

นิธิจากไปอย่างสงบในเวลา 11.47 น ของวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม 2566 เขาอุทิศร่างให้แก่โรงพยาบาลสวนดอกตั้งแต่หลายปีก่อนหน้านี้…

ใครจะค่อนว่าข้อเขียนนี้เป็นนิธิบูชา ก็ไม่เป็นไร “ไม่สำคัญว่าใครคิดยังไงกับเรา สำคัญว่าตัวเราเองเป็นยังไงจริงๆ”

กล่าวอย่างถึงที่สุด ในความเป็นนิธิก็คือ… นิธิเป็น ‘ครู’ ทั้งตัวตน หัวใจและจิตวิญญาณมาตลอดชีวิต

ครูในความหมายดั้งเดิมที่เป็นผู้ให้ เป็นผู้ใช้ความรู้และความรักเสริมสร้างอนาคตแก่ลูกหลาน

ครูที่เปี่ยมด้วยปัญญาญาณและมนุษยนิยม

ครูที่วาดหวังให้ชาติในความหมายของประชาชนเป็นของทุกคน

ครูที่ปรารถนาเห็นบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองด้วยประชาธิปไตยและความเสมอภาค ภราดรภาพ

ครูที่ส่งเสียงเตือนพวกเราว่า…

“เข็มนาฬิกาจะเดินต่อไปข้างหน้าเสมอ”