‘พรหม’ ไม่ต้อง ‘ลิขิต’ อุ๊งอิ๊ง แม่ทัพ ‘เพื่อไทย’

การแข่งขันทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ หลีกเลี่ยงมิได้ที่จะต้องยึดกฎกติกามาก่อน

แต่การยึดตามกฎกติกาอย่างเดียวไม่พอแน่ๆ หากจะพูดถึงเรื่องการ “ครอง” ความชอบธรรมทางการเมืองให้ได้

อย่างการเมืองไทยปัจจุบัน ถ้าจะเล่นการเมืองโดยใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นหลังพิงอย่างเดียว แม้สามารถที่จะชนะในทางกติกา เข้ามามีอำนาจทางการเมืองได้ แต่จะชนะใจประชาชน ช่วงชิงความชอบธรรมทางการเมืองได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะใครก็รู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีต้นกำเนิดจากรัฐบาลทหารที่มาจากการยึดอำนาจ แม้จะอ้างเรื่องประชามติ แต่ก็เป็นประชามติที่ไม่ได้อยู่ในบรรยากาศประชาธิปไตย

แต่แล้ววันนี้ พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคที่ถูกกระทำในทางการเมืองจากขั้วอำนาจเก่ามาตลอดเกือบ 2 ทศวรรษ กลับหันไปตั้งรัฐบาลพลิกขั้วจับมือกับฝ่ายที่ครั้งหนึ่งเคยสนับสนุนจนถึงร่วมกระทำทางการเมืองต่อพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาล

ด้วยหวังที่จะมีอำนาจการเมือง และใช้อำนาจนั้นมาแก้ปัญหาปากท้องประชาชน แลกกับการลดวาระทางการเมือง เลี่ยงไม่พูดถึงปัญหาหลักของประเทศ กระทั่งการแก้รัฐธรรมนูญ ก็เปลี่ยนจุดยืนที่เคยแน่วแน่มั่นคงไปอย่างน่าสงสัย

จากพรรคที่ถูก “กระทำ” ในทางการเมืองมาเป็นเวลายาวนาน วันนี้พลิกกลับมาอยู่ในบทบาทใหม่ กลับมาเป็นผู้ “กระทำ” ในทางการเมือง

ด้วยความหวังจะใช้การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจกอบกู้ความเชื่อมั่น แต่หลายนโยบายขณะนี้ดำเนินการไปอย่างทุลักทุเล

ตัวอย่างชัดๆ คือนโยบายเรือธงแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท นั่นแหละ

ขณะที่นโยบายลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ทำได้ทันที ก็เป็นการบรรเทาปัญหาระยะสั้น มิใช่การแก้ไขระยะยาว ยังไม่สามารถกอบกู้คะแนนได้อย่างที่คาดหวัง

สรุปคือความชอบธรรมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยกำลังอยู่ในระดับต่ำ ต่ำกว่ายุคไทยรักไทย พลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ยุค ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เสียอีก

ปัญหาจึงอยู่ที่ในสนามการแข่งขันทางการเมืองนับจากนี้ พรรคเพื่อไทย จะกอบกู้ฟื้นฟูความชอบธรรมทางการเมืองที่สูญเสียไปอย่างไร?

 

นั่นจึงถึงเวลาของตระกูล “ชินวัตร” ตัวจริงแห่ง “เพื่อไทย” ที่จะต้องก้าวเข้ามาคุมเกม เดินหน้าช่วงชิงคะแนน และฟื้นฟูความชอบธรรม คู่ขนานไปกับการทำงานในภาครัฐบาล โดยไม่ต้องรอให้ “พรหมลิขิต” หากแต่ลิขิตเกมการเมืองเอง

การปรากฏชัดขึ้นในทางการเมืองของ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงเป็นการมาถึง เพื่อเข้ามาอุดช่องโหว่ความชอบธรรมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยที่สูญเสียไป

ที่จริงรู้กันมานานแล้วว่า การประชุมวิสามัญพรรคเพื่อไทย เพื่อเลือก “หัวหน้าพรรคคนใหม่” และคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) ชุดใหม่ วันที่ 27 ตุลาคมนี้ ไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์

เพราะนี่คือจุดขายสุดท้ายที่จะมาช่วยต่อลมหายใจให้พรรคเพื่อไทย ทวงคืนภาพความสำเร็จที่ทักษิณ ชินวัตร บิดาเคยทำไว้

ขณะที่เจ้าตัวก็ให้สัมภาษณ์ส่งสัญญาณยอมรับล่วงหน้ามาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ว่าพร้อมนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค

ยิ่งโดยเฉพาะเสียงสนับสนุนแทบจะเป็นเสียงเดียวกันของแกนนำรุ่นใหญ่พรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็น ภูมิธรรม เวชยชัย สมศักดิ์ เทพสุทิน ประเสริฐ จันทรรวงทอง ในเวลาเดียวกัน ก็ยิ่งตอกย้ำความพร้อมของขุนพลแกนนำพรรค ที่จะรอต้อนรับและทำงานร่วมแม่ทัพเพื่อไทยคนใหม่

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้อีกหนึ่งด่านสำคัญก็คือครอบครัว โดยเฉพาะคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ มารดา ที่เคยพูดในลักษณะอยากให้ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร อายุมากกว่านี้ การกระโดดเข้าวงการเมือง และนั่งเก้าอี้นายกฯ ในขณะนี้ อาจจะยังไม่เหมาะ อยากให้รออีกสักหน่อย

การขยับนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคเพื่อไทยวันนี้จึงสะท้อนว่า คนในครอบครัวชินวัตร ไฟเขียว เห็นตรงกันแล้วว่า แพทองธาร ชินวัตร สามารถเข้าสู่สนามการเมืองได้เต็มที่ เป้าหมายต่อไปคือเก้าอี้นายกฯ ต่อจาก เศรษฐา ทวีสิน

 

ขณะที่คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของเพื่อไทย รอบนี้พุ่งเป้าไปที่การผลักดันบทบาทของคนรุ่นใหม่ อาทิ สรวงศ์ เทียนทอง ในตำแหน่งเลขาธิการพรรค รวมคนดังโลกโซเชียลอย่าง จิราพร สินธุไพร เป็นต้น

จะเห็นได้ว่ายุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยในการตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่รอบนี้ จึงสะท้อนเป้าหมายการแข่งขันทางการเมืองชัดเจน ว่าเป็นการปรับโครงสร้างระดับนำของพรรคเพื่อสู้กับพรรคก้าวไกลโดยตรง

วันนี้อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร จึงได้จังหวะเป็นแม่ทัพผู้ถือธงนำ เดินหน้าดึงคะแนนเพื่อไทยกลับคืนมาจากก้าวไกล

ก่อนหน้านี้ บทบาทของ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร เด่นชัดขึ้นจากการเข้าไปทำงานในทำเนียบรัฐบาล ในตำแหน่ง รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ ที่มีนายกฯ เป็นประธาน มีหน้าที่สร้างนวัตกรรมซอฟต์เพาเวอร์ เสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้รัฐบาล

ต่อมา อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ยังได้รับแต่งตั้งเป็นประธานพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นนโยบาย 30 บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่

จะเรียกว่าเป็นนายกฯ เงาก็คงได้

 

นอกจากได้รับมอบหมายดำรงตำแหน่งสำคัญ ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเพื่อไทย ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมายังมีภาพประกบข้าง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อยู่ตลอดในทำเนียบรัฐบาล และยังเป็นผู้เดินทางไปเปิดงานเกี่ยวกับวัฒนธรรม ศิลปะ อีเวนต์ความบันเทิงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

นับเป็นก้าวย่างทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยที่น่าสนใจยิ่ง

เป็นการขยับในภาวะ กระแสของก้าวไกลในวันนี้ ไม่ได้ดีนัก หลังเกิดกรณีอื้อฉาว ปัญหาการคุกคามทางเพศและการใช้ความรุนแรงในพรรคที่เกิดขึ้นหลายกรณีกับคนระดับผู้แทนราษฎร ยิ่งเป็นโอกาสทางการเมืองที่ดีของเพื่อไทยในการเข้ามาเก็บคะแนนจากคู่แข่ง

แต่ก็เป็นการพยายาม “รีแบรนด์พรรค” ช่วงจังหวะที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผู้ซึ่งเป็นเบื้องหลังทางภูมิปัญญาของพรรคเพื่อไทย กำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนักเรื่อง 2 มาตรฐานกระบวนการยุติธรรมและการคุมขังในโรงพยาบาลตำรวจในขณะนี้ โดยเฉพาะการเริ่มขยับของศัตรูเก่าที่เคลื่อนไหวกดดันผ่านรูปแบบยื่นคำร้ององค์กรอิสระแล้ว

ผิดกับพรรคก้าวไกล ที่วันนี้แทบไม่มีใครตั้งคำถามหรือพูดถึงเรื่องนี้เลย

 

จะเห็นว่า ห้วงการเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยขณะนี้ เป็นการพยายามกอบกู้พรรค ทวงคืนศรัทธา ทวงคืนความชอบธรรมทางการเมืองที่สูญเสีย ลดหายไปช่วงเลือกตั้ง ช่วงพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมา

แน่นอนพรรคเพื่อไทยรู้ตัวดีว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้พรรคเพื่อไทย กลับมาแข็งแกร่งแบบที่ไทยรักไทย เคยเป็น เพราะวันนี้ความชอบธรรมทางการเมืองเปลี่ยนไปมากแล้ว ผลคะแนนเลือกตั้งใหญ่วันที่ 14 พฤษภาคม ก็ตอบคำถามทั้งหมดชัดเจนว่า ตระกูลชินวัตร และพรรคเพื่อไทยซึ่งชนะการเลือกตั้งมาตลอดเกือบ 2 ทศวรรษ ได้แพ้การเลือกตั้งเป็นครั้งแรก

และยิ่งเจอกับคำถามเรื่องการพลิกขั้วเปลี่ยนข้าง จับมือกับอำนาจเก่าตั้งรัฐบาล ก็ไม่จำเป็นต้องอธิบายว่า ศึกเลือกตั้งครั้งต่อไป เพื่อไทยจะเหนื่อยแค่ไหน

เอาแค่ประคองรัฐบาลชุดนี้ ให้อยู่รอดปลอดภัยไปให้ถึงชายฝั่งยังเหนื่อย นโยบายที่เคยเป็นจุดเด่น หลายเรื่องถูกตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักวิชาการ

ทั้งยังเป็นรัฐบาลที่รับไม้ต่อจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อหนี้ไว้จำนวนมาก ต้องแบกรับต้นทุนมหาศาลเรียกได้ว่าต้นทุนติดลบ แทบจะไม่มีงบฯ ไปทำเมกะโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ ใหม่ๆ ในระดับฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ใน 1-2 ปีนี้

กองเชียร์ก็มีน้อย ส่งเสียงเบาลงทุกวัน มิตรสหายเดิมก็หันหน้าหนี มิตรสหายใหม่ก็ตั้งหน้าตั้งตาต่อรองทางการเมือง-เศรษฐกิจ งบประมาณก็แทบจะอยู่ในสถานะถังแตก

สถานการณ์รัฐบาลนี้ยิ่งเหนื่อย

 

อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร และทีมบริหารชุดใหม่ จึงเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงมิได้ ที่จะต้องมานำทัพพรรคเพื่อไทย ช่วงชิงความชอบธรรมทางการเมืองกลับคืนมา

ดึงเอาคะแนนที่เคยไหลออก หรืออาจจะไหลออกอีกในอนาคตให้กลับคืน และเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองสำคัญถึงคนที่ยังอยู่ ว่าให้เดินหน้าทำงานต่อ ท่ามกลางกำลังใจที่อาจจะลดน้อยถอยลง ไม่เหมือนเดิม

เป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะพรรคเพื่อไทยได้ทุบหม้อข้าวตัวเอง เดินเครื่องเต็มกำลังสู้ในการเดิมพันทางการเมืองครั้งสุดท้ายครั้งนี้ไปแล้ว

วิกฤตความชอบธรรมพรรคเพื่อไทยวันนี้จึงฝากความหวังไว้ อยู่ในมือ “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร”