ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
ต่างประเทศ
จับตาท่าทีมหาอำนาจ
อันเนื่องมาจากศึกกาซา
สงครามอิสราเอลกับฮามาสที่ครองอำนาจเหนือดินแดนฉนวนกาซา อาจกลายเป็นที่มาของความขัดแย้งที่ใหญ่โตกว่าได้ไม่ยากนัก หากการสู้รบขยายตัว ขยายวง ออกไปมากกว่าที่เป็นอยู่
ตัวเลขการสูญเสียชีวิตในกาซาจากเหตุการณ์ครั้งนี้ จากการแถลงของสหประชาชาติเมื่อ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา ทะลุเกินกว่า 5,000 รายไปแล้ว ชนิดที่ยังไม่มีเค้าลางว่าจะสร่างซา
แต่ความตายและความสูญเสีย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมจะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ หากการสู้รบครั้งนี้ลามออกไปจนกลายเป็นสงครามระหว่างประเทศต่างขั้วในตะวันออกกลาง แล้วกลายเป็น “สงครามตัวแทน” ของชาติมหาอำนาจขึ้นตามมา
ท่าทีของชาติมหาอำนาจต่อสงครามกาซาครั้งนี้จึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง
ข่าวร้ายก็คือ ศึกกาซา ไม่เพียงก่อให้เกิดความแตกต่างทางความคิดเห็นของบรรดาชาติยักษ์ใหญ่ทั้งหลายเท่านั้น แต่ยิ่งทำให้ความแตกแยก ขัดแย้งซึ่งมีอยู่แต่เดิม ร้าวลึกลงไปมากยิ่งขึ้น
ทางหนึ่งนั้นมีสหรัฐอเมริกา กับกลุ่มพันธมิตรเป็นแกน ในอีกทางหนึ่งนั้น การสู้รบครั้งนี้ยิ่งทำให้การจับมือกันเป็นพันธมิตร “ไร้ขีดจำกัด” ระหว่างรัสเซีย กับจีน ที่เห็นเป็นรูปร่างชัดเจนตั้งแต่ก่อนหน้ารัสเซียส่งกองทัพบุกยูเครน ยิ่งแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นตามลำดับ
ภาพสะท้อนเรื่องนี้เห็นได้ชัดจากการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ความพยายามจะออก “มติ” เพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์การสู้รบในครั้งนี้ถูกขัดขวางจากบรรดาชาติสมาชิก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน ซึ่งทั้งหมดมีสิทธิ “วีโต้” ด้วยกันทั้งสิ้น
รัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงท่าทีชัดเจนในการให้การสนับสนุนอิสราเอล ผ่านการประณามพฤติกรรมโหดของกองกำลังติดอาวุธฮามาส เมื่อ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา แล้วระบุว่า อิสราเอลมีสิทธิในการโจมตีเพื่อ “ป้องกันตนเอง”
ทำนองเดียวกับสิทธิที่สหรัฐอเมริกาเคยอ้างอิงใช้เมื่อครั้งถูกโจมตีด้วยการ “ก่อการร้าย” ในเหตุการณ์ 9/11 ที่ผ่านมา
ในขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีน กับวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย กลับตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยวิธีที่แตกต่างออกไป แต่คล้ายคลึงจนแทบเป็นเนื้อเดียวกันจนสังเกตเห็นได้ชัดเจน
โดยรวมแล้ว ทั้งสองผู้นำไม่ได้แสดงท่าทีต่อการโจมตีของฮามาสเมื่อ 7 ตุลาคม อย่าว่าแต่จะประณาม แต่กลับประสานเสียงประณามการโจมตีต่อ “พลเรือน” และตั้งข้อเรียกร้องคล้ายๆ กันคือให้ “หยุดยิง” โดยแสดงท่าทีเสนอตัวเป็น “ตัวกลางไกล่เกลี่ย” หย่าศึกในครั้งนี้
หลังการพบหารือร่วมกันระหว่างสี จิ้นผิง กับปูติน ที่กรุงปักกิ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้นำทั้งสองเสนอ “ทางแก้” ของปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนๆ กันว่า อยู่ตรงที่การ “สถาปนารัฐปาเลสไตน์ที่เป็นอิสระ” ย้ำด้วยซ้ำไปว่า จีนกับรัสเซียกำลัง “ประสานนโยบายตะวันออกกลาง” เข้าด้วยกันใกล้ชิดอย่างยิ่ง
ไจ้ จุ้น ทูตพิเศษจีนประจำตะวันออกกลาง บอกกับมิคาอิล บ็อกดานอฟ ทูตรัสเซีย ในการพบกันที่กาตาร์ ระหว่างการทัวร์ตะวันออกกลางว่า “สาเหตุพื้นฐาน” ของความขัดแย้งปาเลสไตน์-อิสราเอลนั้น อยู่ตรงที่ “สิทธิความเป็นชาติอันชอบธรรมของคนปาเลสไตน์ ไม่ได้รับการคุ้มครอง”
โรเบิร์ต ซุตเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านกิจการระหว่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ชี้ว่า ท่าทีของจีนและรัสเซีย ที่แสดงออกต่อศึกกาซาครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “ความพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียนั้นมั่นคง” โดยการเอนเอียงเข้าข้างทางปาเลสไตน์อย่างเห็นได้ชัด
ในขณะที่อเล็กซี มาสลอฟ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียและแอฟริกาศึกษา ประจำมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมอสโก ชี้ให้เห็นว่า การเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกของปูติน หลังจากถูก “ออกหมายจับสากล” เพราะก่อศึกยูเครนเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ เพื่อเข้าร่วมเวทีการประชุมข้อริเริ่มหนึ่งสายแถบหนึ่งเส้นทาง ในกรุงปักกิ่ง สะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างด้วยเหตุที่ว่า รัสเซียไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในข้อริเริ่มที่เป็นโปรเจ็กต์ของสี จิ้นผิง ดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย
มาสลอฟเชื่อว่า การเชื้อเชิญปูตินเข้าร่วมนั้น เป็นเพราะสี จิ้นผิง ต้องการแสดงออกให้เห็นว่า จีนให้ความสำคัญ ให้ความเคารพสูงสุดต่อปูติน ในระดับเดียวกับตัวสี จิ้นผิง เองถึงขนาดเดินเคียงบ่าเคียงไหล่กันเข้าที่ประชุมในมหาศาลาประชาชนเลยทีเดียว
สี จิ้นผิง ไม่ได้พาดพิงถึงศึกกาซาโดยตรง แต่หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศคนสำคัญของจีน บอกกับรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อสัปดาห์เศษที่ผ่านมาว่า การกระทำของอิสราเอล “เกินเลยไปกว่าขอบเขตของการป้องกันตนเอง” ไปมาก และควร “ยุติการลงโทษแบบเหมารวม” เสียที
ในขณะที่เกดาไลอาห์ อาฟเตอร์แมน ผู้อำนวยการโครงการนโยบายเอเชียประจำสถาบันอับบา เอบาน เพื่อการทูตระหว่างประเทศในอิสราเอล ระบุว่า มุมมองของอิสราเอลต่อกรณีนี้แตกต่างออกไป
การโจมตีของฮามาส ซึ่งคร่าชีวิตชาวอิสราเอลและอีกหลายชาติไปไม่น้อยกว่า 1,400 คนนั้น “คือ 9/11 ของอิสราเอล หรือเลวร้ายยิ่งกว่าด้วยซ้ำ” ในขณะที่จีนมองเหตุการณ์นี้ว่าเป็น “ปรากฏการณ์ปกติอีกรอบหนึ่ง” เท่านั้นเอง
มุมมองที่แตกต่าง ท่าทีแสดงออกที่แตกต่างเหล่านี้ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่เปรียบได้เสมือนเกลียวเชือกที่ถูกปั่นจนขึงตึงมากขึ้นทุกที
โลกในส่วนที่เหลือรับประกันได้ว่ายิ่งนับวันยิ่งอยู่อย่างสันติยากมากขึ้นทุกที
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022