คนขายพลั่วแห่งยุคตื่นทองไบโอเทค ตอนที่ 1 (ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 13)

ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

Biology Beyond Nature | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

 

คนขายพลั่วแห่งยุคตื่นทองไบโอเทค ตอนที่ 1

(ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 13)

 

“จงขายพลั่ว เมื่อทุกคนแห่กันไปขุดทอง (During the gold rush, sell shovels)”

การค้นพบแร่ทองคำในแคลิฟอร์เนียกลางศตวรรษที่ 19 ทำให้ผู้คนแห่กันอพยพไปบุกเบิกภาคตะวันตกของสหรัฐที่ยังแร้นแค้นกันดาร สุดท้ายก็รวยบ้างก็เจ๊งตามบุญวาสนา แต่ปรากฏว่าคนที่ดันรวยจริงๆ คือพ่อค้าหัวใสที่ขายพลั่วและอุปกรณ์ขุดทองอื่นๆ ให้พวกตื่นทอง (Gold Rush) อีกที

ทศวรรษที่ 1980s คือยุคตื่นทองของวงการไบโอเทคโดยแท้ Genentech สตาร์ตอัพไบโอเทคแห่งแรกของโลกเติบโตจากออฟฟิศให้เช่าเล็กๆ จนมาเข้าตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ที่มูลค่าบริษัทกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในไม่ถึงห้าปี

อีกหลายสิบสตาร์ตอัพร่วมวงการที่ก่อตั้งในช่วงไล่เลี่ยกันก็จ่อคิว IPO ตามมาติดๆ

นี่ยังไม่รวมถึงบริษัทยาใหญ่ๆ และทีมวิจัยตามมหาวิทยาลัยที่กระโดดมาทำงานสายนี้กันอย่างบ้าคลั่งหวังจะโกยทรัพย์จากการใช้พันธุวิศวกรรมผลิตโมเลกุลปังๆ แพงๆ ออกขาย

ตัวเลขเงินลงทุนรวมในงานสายไบโอเทคและชีววิทยาโมเลกุลพุ่งไปแตะหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Cr.ณฤภรณ์ โสดา

ความคึกคักของวงการไบโอเทคทำให้ความต้องการวัตถุดิบและเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับงานพันธุวิศวกรรมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

หนึ่งในบริษัทแรกๆ ที่มายึดหัวหาดในตลาดนี้ก็คือ New England Biolab (NEB) ก่อตั้งโดย Donald Comb อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Harvard ในปี 1974

เพียงหนึ่งปีหลังจาก Stanley Cohen – Herbert Boyer ตีพิมพ์ผลงานตัดต่อดีเอ็นเอสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก Comb คาดเดาถูกต้องว่าอีกไม่นานเทคโนโลยีการตัดต่อดีเอ็นเอจะต้องเป็นที่นิยมมากแน่ๆ และความต้องการเอนไซม์ตัดจำเพาะ (restriction enzyme) ที่ใช้ตัดต่อดีเอ็นเอจะต้องเพิ่มขึ้นมหาศาลเกินกว่าที่นักวิจัยจะผลิตกันเองขอแบ่งใช้กันเองอย่างที่ผ่านมา

NEB กลายเป็นบริษัทแรกที่ผลิตและจำหน่ายเอนไซม์พวกนี้ และก็ยังคงเป็นเจ้าตลาดจนถึงปัจจุบัน

นอกจากเอนไซม์สำหรับตัดต่อดีเอ็นเอยังมีเทคโนโลยีอีกอย่างน้อยสี่อย่างที่เปรียบเสมือน “พลั่ว” แห่งยุคตื่นทองไบโอเทค

: เทคโนโลยีอ่านลำดับอะมิโนในโปรตีน (protein sequencing), เทคโนโลยีเขียนลำดับเบสดีเอ็นเอ (DNA synthesis), เทคโนโลยีอ่านลำดับในเบสดีเอ็นเอ (DNA sequencing) และเทคโนโลยีก๊อบปี้ชิ้นดีเอ็นเอ (Polymerase Chain Reaction, PCR)

การกำเนิดขึ้นของบริษัทขาย “พลั่ว” แห่งยุคตื่นทองไบโอเทคทั้งสี่ชนิดนี้จะกลายเป็นตัวเร่งชั้นดีให้ทั้งฝั่งวิชาการและภาคอุตสาหกรรมพุ่งทะยานไปไวยิ่งขึ้นอีกในทศวรรษที่ 1980s ก่อนเราจะเริ่มเข้าสู่ยุคการศึกษาจีโนม (genomics) และชีววิทยาระบบ (systems biology) ในอีกทศวรรษหลังจากนั้น

บทความนี้และบทถัดไปจะปูพื้นฐานความรู้เทคโนโลยีเท่าที่จำเป็น แนะนำตัวละครใหม่ที่ได้ชื่อว่าเป็นเหล่าอัจฉริยะแห่งยุค และเล่าเรื่องราวของบริษัทขายพลั่วแห่งยุคตื่นทองไบโอเทคอย่าง Applied Biosystems (ABI) และ Cetus Corporation

เครื่องมือสำคัญสำหรับงานสายไบโอเทค
Cr.ณฤภรณ์ โสดา