2 กุมาร สยาม มุม คึกฤทธิ์ ปราโมช มองอย่าง พินิจ

บทความพิเศษ

 

2 กุมาร สยาม

มุม คึกฤทธิ์ ปราโมช

มองอย่าง พินิจ

 

แล้วในที่สุด ขรรค์ชัย บุนปาน สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็ได้รับการเขียนถึงจาก คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่หน้า 5 ของ สยามรัฐ

เป็นสยามรัฐฉบับประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2513

คุณขรรค์ชัย คุณสุจิตต์ ส่งหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กให้พร้อมๆ กัน หนังสือของคุณขรรค์ชัยชื่อ “ช้างประสานงา” หนังสือของคุณสุจิตต์ชื่อ “เดินหน้าเข้าคลอง”

การเขียนของ คึกฤทธิ์ ปราโมช ทรงความหมาย

มิได้เป็นความหมายจำเพาะต่อ สุจิตต์ วงษ์เทศ มิได้เป็นความหมายจำเพาะต่อ ขรรค์ชัย บุนปาน

หากสะท้อนถึง “ความหมาย” ที่ดำรงอยู่ใน “สยามรัฐ”

ขณะเดียวกัน ก็สะท้อนถึง “ความหมาย” แห่งการปรากฏขึ้นของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน ในจุดอันเป็น “รุ่นใหม่”

ประกาศ “ทำงานเคียงกันไปบนถนนหนังสือ”

 

ความหวัง แสนงาม

เหวแห่ง ความผิดหวัง

ได้เห็นข้อความหลังปกข้างต้นนี้แล้วก็รู้ได้ทันทีว่านักเขียนทั้งสองคนนี้ยังเป็นหนุ่ม เมื่อยังเป็นหนุ่มก็ตั้งความหวังในชีวิตไว้อย่างสวยงาม

ขณะเดียวกัน ก็กำลังมุ่งหน้าไปตกเหว

คือ เหวแห่งความผิดหวัง

การ “กำหนดในใจว่าจะทำงานเคียงกันไปบนถนนหนังสือ” เป็นความหวังอันสวยงามนั้น เมื่อกำหนดในใจว่าจะทำงานเคียงกันไปบนถนนหนังสืออย่างนี้แล้ว ชีวิตแห่งการเขียนหนังสือของทั้งสองคน

ก็จะต้องมีแต่การหยุดรอเมื่ออีกคนหนึ่งยังมาไม่ถึง

ความล่าช้าซึ่งเป็นธรรมดาของการเดินทางสองคน อุปสรรคในการเติบโต เพราะการเติบโตของอีกคนหนึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของอีกคนหนึ่ง

และการพลัดพรากจากกันในที่สุด ซึ่งจะนำมาแต่ความทุกข์ยาก

 

กำหนด ท่าที

จากทั้งสองคน

ปลิโพธ คืออุปสรรคแห่งความสำเร็จ (พระนิพพาน) ถ้าจะเอามาอนุโลมต่อความสำเร็จในการเขียนหนังสือก็พอจะได้

คุณสุจิตต์และคุณขรรค์ชัยเริ่มต้นด้วยการหาคณะปลิโพธ

คือความเป็นห่วงพวกพ้องเอามาใส่ตัวเองเสียแต่แรก

คนเรานั้นจะรักกัน เคารพกันและจะหวังดีต่อกันเพียงใดก็ได้ แต่จำเป็นจะต้องจูงมือกันเวลาเดินไปไหนด้วยหรือ

เพราะนอกจากจะเป็นอุปสรรคต่อตนเองแล้วก็ยังเป็นอุปสรรคต่อคนอื่นอีกด้วย

เมื่อได้มีจิตกรุณาส่งหนังสือมาให้ก็อยากจะวิจารณ์ให้ แต่เมื่อมาเป็นชุดเป็นตัวเป็นฝาเช่นนี้ ก็หมายความว่าต้องวิจารณ์ทั้งสองเล่มพร้อมกันไป ถ้าจะวิจารณ์แต่เพียงคนใดคนหนึ่งอีกคนหนึ่งก็จะต้องน้อยใจ

และหน้าตาก็ดูเหมือนจะใจน้อยอยู่ทั้งสองคนเสียด้วย

 

กรรมของ สุจิตต์

สยามรัฐ หน้า 5

หนังสือของคุณสุจิตต์ “เดินหน้าเข้าคลอง” มีค่าสูงในทางความรู้ทางโบราณคดีสำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีเวลาศึกษาจากตำรับตำรา

เพราะเป็นความรู้ที่ตรงตามตำรา

อะไรที่ยังไม่แน่ก็บอกว่าไม่แน่ แต่ผู้อ่านก็จะได้เห็นภาพเมืองไทยตั้งแต่ยุคแรกเริ่มลงมาจนถึงสมัยสุโขทัยอย่างกระจ่างแจ้งพอสมควร

ทำไมจึงว่าพอสมควร ทำไมจึงไม่บอกว่ากระจ่างแจ้งที่สุด

กระจ่างแจ้งนั้นอยู่ที่วิธีเขียน

คุณสุจิตต์บังเอิญมีกรรมเวรดลใจให้ไปเอาสไตล์เขียนหนังสือคอลัมน์คึกฤทธิ์ในสยามรัฐหน้า 5 นั้นมาใช้

ถ้าจะเปรียบกับการเข้าคลองคุณสุจิตต์ก็เป็นคนแจวเรืออย่างมีจุดหมาย

เปรียบได้กับการแจวเรือไปในคลองเพื่อให้คนรู้จักกับวัดวาอารามที่น่าสนใจ มีเป้าหมายที่จะต้องรักษาไว้

ส่วนผมพายเรือแบบเถรเรือลอย

ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีปลายทาง ใช้ชีวิตอยู่ในเรือเห็นอะไรริมฝั่งก็จอดดู ใครจะดูหมอร้องเรียกผมก็แวะ เห็นผีตายก็หยุดชะงักชักผ้าบังสุกุล ค่ำลงก็จอดนอน

วิธีพายเรือของผมจึงเป็นอีกอย่างหนึ่งซึ่งคุณสุจิตต์ไม่น่านำมาใช้

ที่พูดอย่างนี้อย่าหาว่าหวงเลย เพราะไม่ได้หวงสักนิดแต่เสียดายแทนมากกว่า ถ้าคุณสุจิตต์ใช้วิธีเขียนแบบที่ฝรั่งเรียกว่า Schorarly อีกสักหน่อยหนังสือเล่มนี้จะมีคุณค่าและมีความกระจ่างแจ้งยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นแล้ว คุณสุจิตต์ยังไม่ได้พายเรือเข้าคลองเฉยๆ แต่ได้แวะขึ้นฝั่งไปตีกับเขาเป็นระยะๆ ไปอีกด้วย

ข้อนี้ผมก็ไม่ว่าอะไรหรอก

ยอมรับและทนได้ในความร้อนแรงของเลือดคนหนุ่ม แต่เกรงไปว่าผู้โดยสารเรือคนอื่นๆ เขาจะต้องเสียเวลาคอย

 

ขรรค์ชัย บุนปาน

ศิลปินหนุ่ม ผู้สับสน

“ช้างประสานงา” ของคุณขรรค์ชัยนั้นความจริงก็ไม่ได้ประสานงากับใคร แต่เป็นการชี้ให้ดูงาช้างสมัยนี้ซึ่งออกจะไม่น่าดูนัก

เห็นจะถูกกว่า

ถ้าจะเปรียบคุณขรรค์ชัยกับอะไรแล้วก็เห็นจะต้องเปรียบกับศิลปินหนุ่มผู้ซึ่งกำลังเดินอยู่ในความสับสนของสังคมปัจจุบันนี้

เมื่อศิลปินนั้นเห็นอะไรที่น่าสนใจก็สเกตช์ภาพนั้นไว้สดๆ ร้อนๆ

แล้วก็ออกเดินสเกตช์ภาพอื่นๆ ต่อไปอีก โดยที่แต่ละภาพไม่มีความสัมพันธ์กัน หนังสือของคุณขรรค์ชัยจึงเป็นการรวมภาพต่างๆ เหล่านั้นเข้าเป็นเล่ม

เรื่องสั้นแต่ละเรื่องไม่จำเป็นต้องมี plot หรือโครงเรื่อง แต่เป็นการบันทึกรายละเอียดของขณะหนึ่งแห่งชีวิตแล้วใส่กรอบไว้ ชีวิตที่ปรากฏนั้นเป็นชีวิตของคนที่อยู่ในฐานะและอาชีพต่างๆ กัน

มีนักเรียนมหาวิทยาลัย นักธุรกิจ คนขับเกวียน เศรษฐี สมณะ กะเทย ตลอดจนครู

ถ้าจะว่าไปก็กว้างขวางพอดู

แต่ภาพเหล่านั้นจะเหมือนของจริงหรือไม่ ก็ไม่แน่นัก แต่เป็นภาพเขียนที่ออกจะแอ็บสแตรกต์อยู่ด้วย

ผมทราบว่าภาพเขียนนั้นเป็นภาพแอ็บสแตร็กต์ได้ แต่การเขียนหนังสือจะได้หรือไม่ ผมไม่แน่ใจนัก แต่ดูหนังสือของคุณขรรค์ชัยได้เห็นการวางรูปประโยค การจัดวรรคตอนและการสรรหาถ้อยคำแล้ว

ก็แลเห็นความพยายามที่จะให้เป็นเช่นนั้น เมื่อแลเห็นแล้วก็ออกจะเหนื่อยแทน

ถุยส์

คุณขรรค์ชัยถ่มน้ำลายอย่างนี้ ผมลองถ่มอย่างคุณขรรค์ชัยดูแล้วน้ำลายไม่ยักหลุดออกจากปาก แต่ไพล่ไปติดอยู่ตามไรฟัน

ใครไม่เชื่อก็ลองดูเอาเองเถิดครับ

 

มองอย่าง พินิจ

คึกฤทธิ์ ปราโมช

คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อปี 2513 ยังแข็งแรง ดำรงอยู่อย่างเป็น “สดมภ์” หลักให้แก่มหาวิทยาลัยราชดำเนิน

เห็นได้จากที่ปรากฏผ่าน “หน้า 5”

เห็นได้จากที่ นพพร บุณยฤทธิ์ มอบหมายการพิสูจน์อักษรหากมิใช่ ขรรค์ชัย บุนปาน ก็ต้องเป็น สุจิตต์ วงษ์เทศ

เห็นได้จากการป่าวหมู่ “เทวฤทธิ์”

จัดทีมชุดใหญ่ทั้ง บรรณาธิการ คอลัมนิสต์ และนักข่าว ร่วมเดินทางแสวงหาร้านอาหารมีชื่อตั้งโต๊ะ

นี่ย่อมเป็นเวลาอันทรงความหมาย

ไม่เพียงความหมายในเชิง “ความรู้” ไม่เพียงความหมายในเชิง “การเมือง” ไม่เพียงความหมายในเชิง “หนังสือพิมพ์”

หากที่สำคัญยังเป็นเรื่อง “มารยาท” บนโต๊ะอาหาร

นี่ย่อมเป็นความเมตตาอย่างเป็นพิเศษ สำหรับ “นักศึกษา” แห่งมหาวิทยาลัยราชดำเนิน จาก “อธิการบดี”

เป็นคุณูปการที่ยากจะลืมเลือน

 

เส้นทาง สุจิตต์

เส้นทาง กำหนด

ความสุขในการทำงานอยู่ใต้ชายคา “สยามรัฐ” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ดำเนินไปในแบบครูพักลักจำ

ไม่ว่าจะจากคนพิสูจน์อักษรระดับ ภาษิต จิตรภาษา

ไม่ว่าจะจากบรรณาธิการ “มืออาชีพ” ระดับ ประหยัด ศ. นาคะนาท ระดับ อุษณา เพลิงธรรม ระดับ ประจวบ ทองอุไร

มือเขียนระดับ มานิต สังวาลย์เพชร ระดับ สำเนียง ขันธชวนะ

แต่แล้วเมื่อถึงกาละอันเหมาะสม ก็ถึงคราวที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ จะต้อง “จร” ไปจาก “สยามรัฐ” เป็นการชั่วคราว

เริ่มต้น จุดแห่ง “เมด อิน ยูเอสเอ”