ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | เครื่องเสียง |
เผยแพร่ |
ในงาน High End Munich ครั้งล่าสุดเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา มีลำโพงอยู่คู่หนึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานที่พูดถึงเชิงชื่นชมกันแบบปากต่อปาก
เป็นลำโพงจากค่าย PMC : The Professional Monitor Company ที่บ้านเราอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมักคุ้นกันมากนัก เนื่องเพราะย่างกรายเข้าสู่ยุทธจักรเมื่อช่วงต้นทศวรรษที่ 90s นี้เอง และเพิ่งเข้ามาในบ้านเราได้ไม่นานนัก
แต่ทางซีกโลกตะวันตกโดยเฉพาะแถบยุโรปนั้นเป็นแบรนด์ที่กำลังมาแรงมาก ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เนื่องเพราะคำว่า ‘คุณภาพคับตู้’ เป็นใบเบิกทางนั่นเอง
ลำโพงคู่ที่ว่าก็คือที่จ่าหัวไว้นั่นแหละครับ เป็นลำโพงเล็กแบบประกอบเข้าขาตั้ง หรือ Standmount Speaker (ที่ก่อนหน้านี้นิยมเรียกกันว่าลำโพงวางหิ้ง หรือ Bookshelf Speaker) และเป็นรุ่นเล็กสุดของอนุกรมนี้ ที่มีอยู่ด้วยกันเพียงสองรุ่นเท่านั้นเอง
ลำโพงสัญชาติอังกฤษแบรนด์นี้ก่อตั้งขึ้นโดยสองสหายอันประกอบไปด้วย Peter Thomas ผู้จัดการของ BBC Music Studios กับ Andrian Loader วิศวกรของ FWA Bouch (บริษัทเอกชนซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมบันทึกเสียง) ด้วยสาเหตุสุดคลาสสิคเหมือนกับใครต่อใครส่วนใหญ่ที่ออกมาตั้งบริษัททำเครื่องทำลำโพงนั่นแหละครับ คือไม่พอใจกับสิ่งที่มีอยู่ในตลาดเวลานั้น ทั้งในส่วนของลำโพงใช้งานในบ้านและใช้งานในสตูดิโอ
พวกเขาจึงได้ออกแบบตามแนวคิดของตนเองทั้งในส่วนของอุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่นำมาใช้ ซึ่งหลังจากได้ความลงตัวกับลำโพงต้นแบบ ก็พัฒนาเป็นรุ่น BB5 (Big Box Version 5)
แล้วก็ขายให้กับ BBC เพื่อนำไปใช้งานในสตูดิโอกระจายเสียง
ครับ, ก้าวแรกของพวกเขาในยุทธจักรนี้เริ่มต้นกันที่ตรงนั้นนั่นละ
จากนั้นก็เริ่มทำตลาดอย่างจริงจังในปี ค.ศ.1991 ด้วย Model LB1 ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจากบรรดาสตูดิโอในอุตสาหกรรมการออกอากาศแพร่ภาพและกระจายเสียง รวมทั้งถูกนำไปใช้เป็นมอนิเตอร์ในสตูดิโอบันทึกเสียงอีกมากกว่ามากด้วย
มิเพียงได้รับความนิยมในสหราชอาณาจักรและยุโรปเท่านั้น สองปีถัดมาความนิยมก็แพร่ขยายไปถึงอเมริกาเหนือ ด้วยมีวิศวกรเสียงมือรางวัลออสการ์ หรือ Academy Awards ของสตูดิโอในฮอลลีวู้ดหลายๆ แห่ง ได้เลือกใช้ลำโพงของ PMC นี่ละเป็นมอนิเตอร์ในการทำงาน
และนั้นเองทำให้เมื่อหันมาทำลำโพงสำหรับใช้งานในบ้านอย่าง Prodigy Series จึงได้ให้นิยามของลำโพงอนุกรมนี้ว่า Bring the Studio Home ทำนองว่านำเสียงจากสตูดิโอมาสู่ห้องฟังในบ้าน, อะไรแถวๆ นั้นแหละครับ
โดยถูกออกแบบมาภายใต้แนวคิดที่เน้นไปยังประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด ด้วยการนำเสียงที่เกิดขึ้นในห้องบันทึกไปสู่ห้องฟังที่บ้านอย่างสัตย์ซื่อ ตรงไปตรงมา ด้วยความเที่ยงตรงสูงสุด รักษาแก่นแท้ของต้นฉบับเอาไว้อย่างเคร่งครัด
ทุกเส้นเสียงนับแต่ที่เกิดขึ้นในห้องแต่งเพลงของศิลปิน ผ่านสตูดิโอบันทึกเสียง กระทั่งถึงห้องฟังในบ้าน จะต้องเสมอเหมือนกันอย่างไม่ผิดเพี้ยนแม้แต่น้อย
ลําโพงอนุกรมนี้ทั้งสองรุ่นที่เป็นแบบวางหิ้ง (คือต้องประกอบเข้าตั้งเวลาใช้งาน) กับแบบวางพื้น ล้วนถูกออกแบบและผลิตขึ้นในอังกฤษแบบ In-House ด้วยงานฝีมือระดับ Premium Handcraft ทุกขึ้นตอน โดดเด่นด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นสิทธิบัตรเฉพาะ นำเสนอคุณภาพเสียงด้วยความชัดเจน ให้รายละเอียดด้วยความคมชัดสูง และเปี่ยมไปด้วยพลังของเสียงเบสอย่างน่าทึ่ง แตกต่างกันก็เพียงขนาดเพื่อการนำไปใช้งานให้เหมาะสมกับขนาดของพื้นที่ห้องเท่านั้นเอง
กล่าวสำหรับ PMC Prodigy 1 แม้จะมีขนาดกะทัดรัด แต่สามารถส่งมอบคุณภาพเสียงระดับอ้างอิงให้สัมผัสได้ในทุกรายะเอียด เป็นลำโพงแบบ 2 ทาง โดยชุดตัวขับเสียงที่ใช้ประกอบไปด้วยทวีตเตอร์แบบซอฟต์ โดม ขนาด 27 มิลลิเมตร กับตัวขับเสียงกลาง/ต่ำ หรือ Mid/Bass Driver ขนาด 133 มิลลิเมตร ขึ้นรูปกรวยด้วย Natural-Fibre ที่มีการทำงานแบบช่วงชักลึก (Long-Throw) ไดรเวอร์ทั้งคู่ต่างได้พัฒนาขึ้นมาจากที่ใช้ในรุ่น Result 6 Studio Monitor ลำโพงระดับ 5 ดาว ที่ได้รับคำชื่นชมอย่างมากทั้งจากสื่อและนักฟัง
โดยชุดตัวขับเสียงได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้การทำงานอย่างเหมาะสม และไปกันได้ดีกับระบบ Bass-Loading ที่เป็นแบบ ATL : Advanced Transmission Line ร่วมกับการใช้เทคโนโลยี Laminair ในการขับเคลื่อนมวลอากาศภายในตู้ และส่งผ่านออกมาทาง Port หรือท่ออากาศทางด้านหน้าตู้ ที่ได้รับการคำนวณขนาดและผ่านการออกแบบรูปทรงมาอย่างเหมาะสม ด้วยทางเดินมวลอากาศภายในตู้เป็นระยะทางถึง 6.3 ฟุต ที่ต่างเป็นสิทธิบัตรเฉพาะของ PMC ในการสร้างพลังเสียงของย่านความถี่ต่ำออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งให้สัมผัสได้ถึงความเป็นเบสที่ให้การทำงานอย่างรวดเร็ว มีมวล กระชับและหนักแน่น รวมทั้งปราศจากความพร่าเพี้ยนอันเนื่องมาจากมวลอากาศขณะไหลผ่านปากท่อที่เรียกว่า Air Noise หรือบ้างก็เรียก Wind Noise อย่างสิ้นเชิง
ระบุคุณสมบัติทางด้านเทคนิคเอาไว้ว่าถูกออกแบบให้มีจุดตัดความถี่ที่ 1.7kHz ให้การทำงานตอบสนองความถี่ 50Hz-25kHz (-3dB) อิมพีแดนซ์ 6 โอห์ม วัดค่าความไว (Sensitivity) ได้ 87.5dB SPL 1w/1m ให้ระดับแรงดันเสียงสูงสุด (Peak SPL) ที่ 123dB กำหนดให้ใช้กับแอมปลิไฟเออร์กำลังขับ 20-250W
ทางด้านมิติโครงสร้างตู้ (กว้าง x สูง x ลึก) 165 x 320 x 237 มิลลิเมตร น้ำหนัก 4.5 กิโลกรัม/ตู้
PMC Prodigy 1 เดินทางมาเปิดตัวที่บ้านเราเป็นแห่งแรกในเอเชียเมื่อช่วงกลางปี คือหลังจบงานที่มิวนิกไปไม่กี่มากน้อย และเพิ่งเข้ามาทำตลาดเมื่อไม่นานวันที่ผ่านมานี้เอง ให้สุ้มเสียงสมกับที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างเชิงชื่นชมให้ได้ยินมาจากแดนไกลแบบเอาการเอางานมาก
เป็นสุ้มเสียงและบุคลิกเสียงที่บอกได้ว่าคู่แข่งในกลุ่มเดียวกันได้ฟังแล้ว มีหนาวแน่ๆ
กลุ่มเดียวกันที่ว่าก็คือกลุ่มราคาเกินครึ่งแสน (แบบไม่เกี่ยงว่าจะเป็น Bookshelf/Standmount หรือ Floorstanding) ไปไม่กี่มากน้อยนะครับ ด้วยในบ้านเราเปิดราคาโปรโมชั่นในช่วงนี้เอาไว้ที่คู่ละ 65,000 บาท จากป้ายราคาปกติที่แปะเอาไว้คู่ละ 87,000 บาทครับ
โดดเด่นอย่างมากกับการให้รายละเอียดเสียงออกมาด้วยความคมชัดอันน่าประทับใจยิ่ง น้ำเสียงมีความแม่นยำสูง และถ่ายออกมาด้วยความเป็นระเบียบโดยให้การแยกแยะน้ำเสียงที่มีความทับซ้อนกันออกมาให้สัมผัสความแตกต่างในความเหมือนได้ชัดเจนมาก ฟังดนตรีคลาสสิคกับงานซิมโฟนีขนาดใหญ่ช่วงที่ทุกชิ้นเครื่องดนตรีโหมประโคมขึ้นมาพร้อมๆ กันแล้ว จะรับรู้ถึงความยอดเยี่ยมและความสามารถในประเด็นนี้ของลำโพงคู่นี้ได้เป็นอย่างดี
ขณะที่เสียงเบสนั้นให้ออกมาได้อย่างเปี่ยมพลัง ยิ่งใหญ่ ลงได้ต่ำลึกและมีแรงกระแทกกระทั้นสูง อย่างชนิดที่แทบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นพลังเสียงที่ออกมาจากลำโพงตู้สูงแค่คืบกว่าๆ เท่านั้นเอง
ทำงานกับดนตรีทุกแนวได้อย่างสนุกสนาน ไม่เกี่ยงรูปแบบดนตรี ทำหน้าที่ถ่ายทอดออกมาอย่างตรงไปตรงมาเสมอด้วยลำโพงมอนิเตอร์ชั้นดี ที่มีความซื่อสัตย์ต่อต้นฉบับสูงมาก
ลองไปฟังกันดู, หูตนเองและความชอบส่วนตัวจะให้คำตอบแก่คุณได้ครับ •
เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022