หลังเลนส์ในดงลึก / “ในฝัน”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“ในฝัน”

ถึงวันนี้ ความก้าวไกลของเทคโนโลยีมีประโยชน์อย่างยิ่งกับงานศึกษาทำความรู้จักสัตว์ป่า

โดยเฉพาะการติดตามพวกมันด้วยสัญญาณวิทยุ ที่เครื่องส่งติดอยู่กับตัวสัตว์ป่า

วิธีการนี้ทำให้เราได้เรียนรู้มากยิ่งขึ้น รู้ถึงความเป็นไปซึ่งไม่เคยได้รับรู้มาก่อน

สัญญาณส่งมาถึงผู้ติดตามในระบบผ่านดาวเทียม

กระนั้นก็เถอะ งานติดตามพวกมันทางภาคพื้นดินก็ยังคงจำเป็น และในกรณีนี้ ความเหน็ดเหนื่อยที่ต้องเผชิญ ดูเหมือนเทคโนโลยีจะช่วยไม่ได้สักเท่าไร

“ในฝัน”

ในที่นี้ ผมไม่ได้หมายถึงสิ่งที่เป็นความฝันอันยากเย็น ที่เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วจะอันตรธานหายไป

แต่เป็นเพียงการได้พักอยู่ในแคมป์ริมน้ำอย่างสบายๆ เท่านั้น

หลังจากใช้เวลากว่าครึ่งเดือนอยู่ตามสันเขาซึ่งสูงตั้งแต่ 800 ถึงระดับพันกว่าเมตรจากระดับน้ำทะเล ในสภาพป่าที่เรียกว่าป่าดิบเขาต่ำ

เราก็ได้มาพักแรมในป่าเชิงเขาริมลำห้วย ที่ราบเล็กๆ รายล้อมด้วยป่าแน่นทึบ

ขณะอยู่บนสันเขา ที่เราขาดแคลนที่สุดคือน้ำ เราออกมาตรการใช้น้ำ ใช้ได้เพียงคนละสองถ้วยกาแฟในการล้างหน้า แปรงฟัน เพราะต้องลงไปเอาน้ำในหุบ และใช้เวลาไต่ขึ้นมาอีกไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง

อยู่บนสันเขาที่สูงเพื่อรับสัญญาณจำเป็น

เมื่อฝนตก ภารกิจคือรองน้ำฝนจากผ้ายาง

ฝนในป่าส่วนใหญ่มักคาดการณ์ได้ และตกตรงตามเวลา บางวัน เราจึงเตรียมพร้อมเพื่ออาบน้ำฝน

เมื่อฝนตกไม่เฉพาะแต่เราที่ยินดี บรรดาทากต่างชื่นชมไม่น้อย พวกมันคืบคลานไปทั่วความสั่นสะเทือน รวมทั้งความร้อนจากร่างกายเราคือจุดหมาย

เราหลบทากไม่พ้น แม้แต่ตอนกินข้าว

นอกจากตอนขึ้นเปลนอนแล้วนั่นแหละ

อยู่บนความสูงหนึ่งพันกว่าเมตร ใช่ว่าจะพ้นจากกองทัพยุง ดูเหมือนจะมากกว่าขณะเราอยู่ในที่ต่ำๆ เสียด้วยซ้ำ

ความยุ่งยากอีกประการคือ เมื่อต้องลงจากสันเขา

เก็บสัมภาระใส่เป้ การลงยากกว่าตอนขึ้นหลายเท่า ความชันและลื่นไถลของเส้นทาง ทำให้บางครั้งตอนหยุดพัก มือโอบต้นไม้ดึงไว้ไม่ให้ลื่น

ผมอดถามตัวเองไม่ได้ว่า ขึ้นมาได้อย่างไร

คนเดินป่าทุกคนรู้ดีว่า เมื่อขึ้นถึงสันเขา บทเรียนที่ภูเขาบอกไว้คือ

ความลำบากยังไม่หมด มันเพิ่งเริ่มต้น

เมื่อได้ลงมาพักแรมริมลำห้วยเชิงเขา

เช่นนี้จะไม่เรียกว่า แคมป์ “ในฝัน” ได้อย่างไร

ลําห้วยสายน้ำไหลเอื่อยๆ พื้นเป็นทรายให้ความรู้สึกนุ่มเท้า เรามักใช้เวลานอนแช่ให้คุ้มกับที่ไม่ได้อาบน้ำมานาน

จุดแดงๆ แผลจากเห็บและทากกัด มีทั่วร่างกาย เสื้อ กางเกง มีคราบเลือดเป็นหย่อมๆ

เราใช้เวลากับแคมป์ในฝันอย่างคุ้มค่า

ประดิดประดอยประกอบอาหาร ผักกูดยอดอวบๆ คือส่วนประกอบแกงส้มรสจัดจ้าน กระทือ กลิ่นหอมๆ ไว้จิ้มน้ำพริก ในฤดูเห็ด เห็ดโคนดอกโตๆ นั่น 3-4 ดอก ก็ได้ต้มยำรสเด็ดเต็มหม้อสนาม

ตั้งแต่เช้ามืด เสียงชะนีเป็นคล้ายนาฬิกาปลุก พวกมันสองครอบครัวส่งเสียงโต้ตอบ นี่คือเรื่องธรร,ดา

และไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่พวกมันจะโหนกิ่งไม้มาอยู่เหนือบริเวณแคมป์ หากินใบไม้ตามปกติ

นานๆ ก็ชะโงกหน้าดูความเป็นไปข้างล่างสักหน่อย

ลูกชะนีโหนกิ่งไม้ตามแม่มาติดๆ ลูกอยู่กับอกแม่ราวสองปี ต่อจากนั้นต้องฝึกฝนการอยู่ด้วยตัวเอง แม่จะคอยควบคุมดูแลใกล้ๆ

ช่วงเย็น เก้งส่งเสียงสำเนียงคล้ายเสียงหมาเห่า

มันได้กลิ่นควันไฟ จึงส่งเสียงติดต่อกันยาวนาน

บางครั้งมีเสียงโครมคราม ต่อด้วยเสียงวิ่งตะบึงจากไป กระทิงตื่นหนีเพราะกลิ่นคน การมาของเราคือการรบกวนพวกมัน

ผมยกมือไหว้ขอโทษอยู่ในใจ

“ปีนี้มีคนโดนกระทิงชนตายนะครับ” ถาวร ผู้ช่วยนักวิจัยพูด

“เป็นคนเข้ามาหาของป่า แต่พบลูกปืนในย่ามตั้ง 4 ลูก”

ชายผู้นั้นได้รับการหามออกไปไว้ริมชายป่า ไม่ไกลจากหน่วยพิทักษ์ป่า โดยเพื่อนๆ ที่มาด้วย ก่อนพวกเขาจะหลบเลี่ยงไป

“คงเข้ามายิงกระทิงแหละครับ เอากระทิงไม่อยู่เลยโดนชาร์จ” ถาวรสรุปเหตุการณ์

กระทิงมีความเป็น “นักสู้” มากกว่าสัตว์ชนิดอื่น

เป็นเรื่องเล่าต่อกันมาเนิ่นนาน

ในความเป็นจริง มีชีวิตใดหรือ จะไม่หันกลับมาสู้

เมื่อถูกต้อนกระทั่งจนมุม

อยู่ในป่านานๆ สิ่งหนึ่งที่เชื่อมเราไว้กับที่อื่นๆ คือเสียงจากวิทยุสื่อสาร

แคมป์ในหุบเขา เรารับฟังได้ แต่ไม่สามารถส่งข้อความถึงสถานีใดๆ ได้ ต่างจากตอนที่อยู่บนสันเขาสูง

ในแคมป์จึงมีแต่ความเงียบ จะมีเรื่องอะไรให้พูดคุยกันนักล่ะ หรือถ้าคุยกัน ก็เป็นเรื่องเก่าๆ ซ้ำไปมา

การสำรวจตัวเอง ข้อเท้าบวมไหม ปลายเล็บฉีกหรือเปล่า แผลที่แขนลุกลามหรือว่าแห้งจวนหาย นี่คือสิ่งสำคัญ

เพราะอวัยวะเหล่านี้คือเครื่องมืออันทำให้เราเดินได้ถึงจุดหมาย

ว่าตามจริง งานทำให้เราไม่สามารถใช้เวลาอยู่กับแคมป์ในฝันได้นานๆ หรอก ภารกิจการติดตามสัญญาณจากสัตว์ป่านั้น เราจำเป็นต้องขึ้นไปอยู่บนตำแหน่งสูงๆ

ดังนั้น หากวันใดมีสายฝนโปรย ฟ้าคำราม ตั้งแต่ก่อนสว่างและมีไปตลอดวัน เราจึงมี “ข้ออ้าง” พอในการเลื่อนการขึ้นเขาไปอีกวัน

ส่วนใหญ่เรากำหนดจุดหมายจากตำแหน่งจีพีเอส ที่ใช้ประกอบกับแผนที่ ซึ่งค่อนข้างละเอียด

แต่กระนั้น หลายครั้งเมื่อเดินขึ้นเขา เราก็พบกับความสลับซับซ้อน เดินขึ้น-ลงหุบเขา ถึงสันเขา

สภาพเช่นนี้ ดูในแผนที่ไม่ได้บอกเอาไว้ เช่นเดียวกับในแผนที่บอกมีลำห้วย แต่ไม่ได้บอกว่าห้วยนั้นไม่มีน้ำแล้ว

ไม่มีอะไรแท้จริงมากไปกว่า

การได้ “เห็น” ด้วยตาของเราเอง

ช่วงเวลาพลบค่ำ หลังอาบน้ำในลำห้วย นั่งข้างกองไฟใต้ผ้ายาง สายฝนโปรยละออง

น้ำต้มสมุนไพร หรือรากไม้อะไรสักอย่างที่ถาวรต้มไว้อุ่นๆ อยู่ในถ้วยที่ถือไว้ในอุ้งมือ

เรากำลังอยู่ในแคมป์ที่พูดถึงเสมอๆ ตอนอยู่บนสันเขา

พรุ่งนี้จุดหมายอยู่บนสันเขา ที่ระดับความสูง 1,200 เมตร การเดินทางพร้อมสัมภาระ คงไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง หรือมากกว่า

เราไม่รู้หรอกว่า จะพบกับสภาพจริงอย่างไร

ผมจิบน้ำอุ่นๆ รสเฝื่อน

ถ้วยอบอุ่นอยู่ในฝ่ามือ

เมื่อได้อยู่ในแคมป์ “ในฝัน” ในความสบาย บนสันเขาสูง

ไม่ได้หมายความว่าการเดินทางสิ้นสุดแล้ว

คล้ายกับว่า มันเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น

และเป็นอย่างที่ทุกคนรู้

ความยากลำเค็ญรออยู่ในตอนลง