จุฬาฯ กับความเหลื่อมล้ำ | คำ ผกา

คำ ผกา

“เด็กจุฬาฯ บ้านรวย ไม่ใช่รวยแค่ตัวเม็ดเงิน แต่รวยต้นทุน จะอยู่จุฬาฯ มันต้องรวยทั้งเรื่องความคิด mindset การอ่าน การศึกษา อาจารย์หลายคนชอบบอกว่าเด็กเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นี่ก็อยากถามกลับว่า คุณคาดหวังกับเด็กแบบไหนวะ เด็กแบบเตรียมอุดมฯ ที่อยู่ข้างๆ คุณหรอ อย่าลืมว่ามีเด็กอีกกลุ่มที่ก็ต้องใช้ความสามารถอย่างมากในการเรียนรู้และทำให้ความรู้แพงอย่างที่คุณต้องการ” แทนไท ทิ้งท้าย

“คนที่บ้านรวยไม่ได้มาแบ่งหรือเลือกคบเพื่อนหรอก แต่การใช้ชีวิตมันมีปัจจัยการเงินมาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น เพื่อนบางคนปกติกินข้าวในห้างทุกวัน แต่ฐานะเราไม่เอื้อให้ทำแบบนั้น มันก็ยากที่จะสนิทสนมเพราะไลฟ์สไตล์ต่างกัน สิ่งนี้เลยเป็นเหมือนเส้นแบ่งโดยปริยาย”

“การใช้ชีวิตในมหา’ลัยที่มีแต่ร้านแพงๆ มันยากมาก มันคือการทำทุกอย่างให้ตัวเองได้เข้าสังคม เพราะถ้าเราไปไม่ได้ เราก็จะไม่มีเพื่อน ไม่มีสังคม สิ่งที่เราทำเพื่อแก้ปัญญาหนูจน คือ การสอนพิเศษ สอนพิเศษเยอะๆ เอาเงินมาใช้ชีวิต และก็ต้องรู้จักปฏิเสธคนบ้าง” มอสระบุ

อย่างไรก็ตาม เหตุที่มอสยังเลือกเรียนจุฬาฯ ทั้งที่ค่าใช้จ่ายสูง เพราะเขาเชื่อว่ามันคือการลงทุนอย่างหนึ่ง ที่แม้จะลงทุนสูง แต่เชื่อว่าผลตอบแทนก็อาจจะสูงเช่นกัน

อ่านบทความเต็ม อยู่อย่างไรในสังคมต้นทุนสูงลิ่ว? สำรวจวิธีเอาชีวิตรอดฉบับนักเรียนทุนจุฬาฯ

 

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาเถียงกันว่า เหลื่อมล้ำจริงหรือไม่ เพราะตัวเลขมันแสดงให้เห็นชัดเจนถึงความเหลื่อมล้ำนี้

นั่นคือ

ข้อมูลการวิจัยของ Credit Suisse Global Wealth Data Book พบว่า ประชากรที่รวยที่สุดร้อยละ 10 ของไทยถือครองทรัพย์สินมากกว่าร้อยละ 77 ของคนทั้งประเทศ และประชากรที่รวยที่สุดร้อยละ 1 มีความมั่งคั่งเฉลี่ย 33 ล้านบาทต่อคน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรที่จนที่สุดร้อยละ 20 ถึง 2,500 เท่า และเด็กในครัวเรือนยากจน มีโอกาสศึกษาระดับ ‘อุดมศึกษา’ แค่ 5%

เราจะแก้ปัญหาทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำนี้น้อยลง แคบลงอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เช่น พรรคเพื่อไทยเชื่อเรื่องการทำให้เศรษฐกิจโต ทำให้จีดีพีโต ทำให้เค้กก้อนใหญ่ขึ้น เพื่อให้ประเทศมีทรัพย์สิน มีความมั่งคั่งมากพอที่จะให้แต่ละคนในสังคมได้ส่วนแบ่งของเค้กก้อนที่ใหญ่ แม้ว่าส่วนแบ่งของเค้กนั้นจะไม่ใช่ก้อนที่เท่ากันทุกก้อน แต่ในความไม่เท่ากันทุกก้อน เค้กของทุกคนจะก้อนใหญ่ขึ้นกว่าที่เคยได้รับ

พูดง่ายๆ คือ ความเหลื่อมล้ำอาจจะไม่ได้ลดลงมาก แต่ทุกคนจะมีสินทรัพย์ มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น ตามความสามารถในการแข่งขันของตัวเอง ซึ่งแปลว่ารัฐจะไม่เข้ามาจัดแจงเยอะ ปล่อยให้เอกชนแข่งกัน

ส่วนพรรคก้าวไกล มองเรื่องการลดความเหลื่อมในแง่ของเค้กจะก้อนใหญ่หรือเล็กไม่สำคัญ แต่ไม่ควรมีใครได้เค้กก้อนใหญ่กว่าคนอื่น ถ้าเค้กมันก้อนเล็กก็แบ่งชิ้นเล็กๆ เท่าๆ กัน เหมือนๆ กัน หรืออย่างน้อยใกล้เคียงกัน และก็ต้องพยายามทำให้เค้กมันก้อนใหญ่ขึ้น เพื่อให้ทุกคนมีส่วนแบ่งมากขึ้น แต่ก็ต้องแบ่งให้เท่าๆ กัน แปลว่ารัฐต้องเข้ามาแทรกแซงการแบ่งนี้

พูดให้เข้าใจง่ายว่านี่คือการแข่งขันทางนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเชื่อในเสรีนิยม ส่วนพรรคก้าวไกลเชื่อในแนวทางสังคมนิยม และไม่ว่าจะใช้แนวทางไหน ฉันก็เชื่อว่า เราย่อมอยากเห็นการขยายตัวของชนชั้นกลาง และอยากเห็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในประเทศของเราเหลือน้อยลง

 

การลดความเหลื่อมล้ำจำเป็นต้องเปลี่ยนประเทศเป็นรัฐสวัสดิการหรือเก็บภาษีคนรวยให้จุกๆ ไปเลยเสมอไปหรือไม่?

ถูกครึ่งหนึ่ง แต่ในระหว่างที่เรายังไม่สามารถสร้างรัฐสวัสดิการได้ เพราะประเทศไทยยังไม่มีประชากรที่มีรายได้สูงจนถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีในจำนวนที่มากพอจะให้รัฐมีรายได้มาทำรัฐสวัสดิการ เราทำอะไรได้บ้าง?

ฉันคิดว่า สิ่งที่เราทำได้เลยและต้องเร่งทำคือ

หนึ่ง กระจายอำนาจ ที่หมายถึงกระจายอำนาจในการบริหารจัดการภาษีและงบประมาณของท้องถิ่นด้วย เช่น เมื่อท้องถิ่นจัดเก็บภาษีแล้ว สามารถนำมาใช้เป็นงบฯ ท้องถิ่นได้มากกว่าร้อยละห้าสิบ แทนที่จะส่งเข้าส่วนกลาง แล้วส่วนกลางเป็นผู้จัดสรรงบฯ กลับมาที่ท้องถิ่น

สอง เมื่อท้องถิ่นมีรายได้เป็นของตนเอง มีอิสระในการบริหารจัดการงบประมาณ ก็สามารถนำไปพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ทำบริหารสาธารณะ ห้องสมุด สนามกีฬา สวนสาธารณะ บริหารโรงเรียนของท้องถิ่นให้มีคุณภาพสูง ค่าเทอมไม่แพง ไปจนถึงมีมหาวิทยาลัยของตนเอง

สองสิ่งนี้ถ้าทำได้ จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ไม่ต้องซื้อรถ ไม่ต้องซื้อมอเตอร์ไซค์ให้ลูกขี่ไปโรงเรียน และการได้เรียนโรงเรียนที่คุณภาพดี มีระบบการเรียนการสอนที่ไม่ต่างจากโรงเรียนแพงๆ หรือโรงเรียนรัฐบาลหัวกะทิ โดยไม่ต้องจ่ายค่าเทอมแพง ไม่ต้องไปเรียนในกรุงเทพฯ ไม่ต้องจ่ายค่ากวดวิชา เรียนจบแล้วมีงานดีๆ ทำ มีทางเลือก มีโอกาสในชีวิต

แค่นี้ก็ลดความเหลื่อมล้ำได้มหาศาล

 

และนี่คือความหมายของคำว่า “ความเหลื่อมล้ำ” ที่ “แทนไท” ให้สัมภาษณ์กับ The Matter นั่นคือ ความเหลื่อมล้ำในที่นี้ มันไม่ใช่ “เงิน” แต่หมายถึง “ทุนสังคมและทุนวัฒนธรรม” ซึ่งแทนไทใช้คำว่า mindset

ฉันเข้าใจว่า แทนไท หมายถึง “ประสบการณ์” ที่ไม่ใช่แค่มีเงิน เช่น เด็กที่มาจากครอบครัว นักวิชาการ พ่อแม่ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อาจจะไม่ได้ร่ำรวยมีเงินมาก แต่สิ่งแวดล้อมในบ้าน เป็นเรื่องการอ่าน การฟังดนตรี การเสพศิลปะ การได้ตามพ่อแม่ไปต่างประเทศในการประชุมวิชาการได้ เจอเพื่อนพ่อแม่ที่เป็นปัญญาชน เป็นนักคิด นักเขียน ได้ฟังบทสนทนาของผู้ใหญ่ที่อุดมไปด้วยความรู้ ก็ย่อมทำให้เป็นเด็กมี “ความรู้รอบ” โลกกว้างกว่าเด็กคนอื่น ที่อาจมีฐานะใกล้เคียงกัน

หรือเด็กที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางในเมือง ได้พาลูกเล่นกีฬา ดนตรี ได้ไปดูคอนเสิร์ต ดูหนัง ดูละคร หรือหยาบกว่านั้น แค่การมีเงินจ่ายค่าสมาชิก Netflix บ้านที่จ่ายได้ กับบ้านที่จ่ายไม่ได้ ความหลากหลายของหนัง และละครที่เสพก็ต่างกัน หรือระหว่างบ้านที่ดู Netflix กับบ้านที่มีความรู้และมีทรัพยากรมากพอที่จะพาลูกไปดู ไปเสพ ศิลปะการแสดงที่ท้ายที่สุดก็ตกผลึกมาเป็น “ทุนชีวิต” ที่แตกต่างกัน

บ้านที่พ่อแม่รู้จักอาหาร รู้จักศาสตร์แห่งการกิน การดื่ม กับบ้านที่กินแต่อาหารถุง หรือข้าวกล่องเซเว่น ก็นำมาซึ่ง “ต้นทุนชีวิต” ที่แตกต่าง หรือเราอาจจะเรียกว่า “เหลื่อมล้ำ”

 

สําหรับฉัน ความเหลื่อมล้ำอันนี้ ไม่ต้องรอให้เราเป็นประเทศที่ร่ำรวยมาก แต่เราสามารถจัดการกับความเหลื่อมล้ำนี้ได้เลย ขอเพียงแค่เรามีบริการ หอศิลป์ โรงหนัง โรงละคร โรงคอนเสิร์ต ห้องสมุด ในทุกจังหวัด

บางครั้งการปลูกฝัง “ทุนชีวิต” เหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องมาจากทรัพยากรหรือความรู้ของพ่อแม่ แต่สามารถสร้าง “ทุนชีวิต” ให้แก่พลเมืองได้ ผ่านภัณฑารักษ์ ผ่านมิวเซียม หอศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรมที่จัดกิจกรรมศิลปะ ดนตรี ละคร “สากล” ให้ประชาชนเข้าถึงได้มากที่สุด ไม่ใช่มีแค่บัลเลต์ โอเปร่าที่ศูนย์วัฒนธรรมปีละครั้ง และมีแต่ “คนบางกลุ่ม” เท่านั้นที่ได้เสพ

ฉันคิดว่า เรื่องนี้ไม่ต้องให้ประเทศร่ำรวยก็น่าจะพอทำได้ในระดับหนึ่ง ขี้หมูขี้หมาเอาห้องสมุดก่อนก็ได้

แต่ในทางกลับกัน คำว่า “ทุนชีวิต” หรือทุนวัฒนธรรม สังคม ไม่จำเป็นต้องเป็นบัลเล่ต์ โอเปร่า เด็กต่างจังหวัดก็มีทุนวัฒนธรรมที่เหนือกว่าเด็กรุงเทพฯ หรือลูกชนชั้นกลางในหลายเรือง หากเราเข้าใจในคุณค่าของมัน เช่น ตัวฉันมีประสบการณ์เรื่องอาหาร เรื่องการฆ่าหมู เรื่องผัก เรื่องต้นไม้ เรื่องฤดูกาล ที่เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว รู้สึกว่าตัวเอง “เหนือกว่า” เพื่อนๆ ที่เป็นลูกชนชั้นกลางหรืออีลีต

ความน่าสนใจคือ เด็ก “ยากจน” ที่เข้ามาเรียนจุฬาฯ ไม่ได้จนแค่เงิน แต่จนในมิติของ “ทุนสังคมวัฒนธรรม” คำถามต่อมาคือ เด็กแบบ “แทนไท” มีสมบัติทาง “วัฒนธรรม” ชุดไหนติดตัวพวกเขามาบ้างที่สามารถ “แปร” ให้เป็นคุณค่าเพื่อสู้กลับ respectability มาตรฐานที่ถูกสถาปนามาโดยชนชั้นกลาง

 

แต่ที่น่าสะเทือนใจแต่เป็นความจริงอีกเรื่องคือ ต้นทุนเชิง “เครือข่าย” หรือ network อันสะท้อนผ่านคำพูดที่ว่า “เด็กรวยเขาไม่ได้กีดกัน ดูถูกเรา แต่ด้วยเงินที่มีต่างกัน ไลฟ์สไตล์ต่างกัน มันก็ทำให้เขากับเราไม่ได้เป็นเพื่อนกันไปโดยปริยาย”

แต่การได้มาเป็นส่วนหนึ่งของจุฬาฯ แม้จะไม่ได้เป็น one of them แต่ก็ไม่ถึงกับแร้นแค้น network ที่จะเอาไปต่อยอดในอนาคต

สำหรับฉันที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กอีก 95% ที่เหลืออยู่มากกว่า ดังนั้น นโยบาย soft power ของรัฐบาลเพื่อไทย สำหรับมันสำคัญมาก เพราะมันจะแปร “ความแร้นแค้นให้เป็นทุน” ให้เป็น power ได้ โดยไม่ต้องใช้สถาบันอย่างจุฬาฯ ธรรมศาสตร์

ว่าแล้วก็นึกถึงนวนิยายเรื่อง “แวววัน” ของโบตั๋นที่พูดถึงแวววัน เด็กสาวลูกชาวสวนที่มาเรียนอักษร จุฬาฯ แทนไท ก็เหมือน แวววัน ในนวนิยายเรื่องนี้