การประชุมครบรอบ 10 ปี บีอาร์ไอ | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

กลางเดือนตุลาคมมีการประชุมครบรอบ 10 ปี Belt and Road Forum ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน การประชุมใหญ่ที่มีผู้นำและตัวแทนประเทศเข้าร่วมราว 130 ประเทศ

สำหรับผม ผมเรียกโครงการที่ใหญ่โตนี้ว่า มหายุทธศาสตร์ ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.2013 โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

เหตุที่เรียกว่า มหายุทธศาสตร์ ก็ด้วยว่าเป็นโครงการที่เกี่ยวพันกับมากกว่า 100 ประเทศ เชื่อมโยง 5 ทวีปทั่วโลก เริ่มจากแนวคิดเส้นทางการค้าโบราณ มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือ เส้นทางเดินเรือ ถนน เส้นทางรถไฟ มีเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ และบีอาร์ไอดิจิทัลอีกด้วย

แน่นอน ข้อริเริ่มนี้ได้ผลักดันการไหลเวียนของสินค้า ทุน เทคโนโลยี และผู้คนให้ไหลเวียน

ข้อริเริ่มนี้ผลักดันอย่างสำคัญหรือพูดอีกอย่างได้ว่าผู้ก่อตั้งคือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผ่านมา 10 ปีมีรายงานวิจัย บทความเฉพาะภาษาอังกฤษนับพันชิ้น ยังไม่นับภาษาจีนที่มีหน่วยงานทั้งของรัฐ มหาวิทยาลัย และรัฐวิสาหกิจจีนผลิตเผยแพร่ออกมามากมาย

อย่างไรก็ตาม ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับข้อริเริ่มอันเป็นมหายุทธศาสตร์สำคัญของจีนและของโลกต่างมีมุมมองที่แตกต่างกัน ข้อคิดเห็นแตกต่างที่ยังค้างคาอยู่ ได้แก่

แรงผลักดันทางการเมืองของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

อิทธิพลจีน

ประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือการทหาร

กับดักหนี้ (Debt trap) และการทูตหนี้ (Dept Diplomacy)

ความขัดแย้งกับชุมชนท้องถิ่น การครอบงำตลาดและสินค้าในชุมชนท้องถิ่น

 

เสียงหนึ่งในที่ประชุม
Belt and Road Forum

ก่อนจะขยายความต่อไป ขออนุญาตสรุปบางประเด็นของการประชุมครบรอบ 10 ปี Belt and Road Forum ในบางประเด็นดังต่อไปนี้ จากรายงานของ Nikkei Asia1

สื่อแห่งนี้นำเอาความคิดเห็นของ Ammar A. Malik นักวิจัยอาวุโสของ AIDDATA สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย William and Mary สหรัฐอเมริกา ในประเด็นความสามารถของปักกิ่งในการขยายการให้เงินทุนยังอยู่ในกรอบแคบ แม้ว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะประกาศให้ China Development Bank และ Export-Import Bank of China สนับสนุนเงินทุนมูลค่า 350 พันล้านหยวน หรือเท่ากับ 48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในโครงการต่างๆ ของบีอาร์ไอในอนาคต

แต่นักวิเคราะห์ท่านนี้ยังเห็นว่า มูลค่าสมบูรณ์ของโครงการเหล่านี้ที่ดำเนินมาติดต่อกัน และในหลายๆ ประเทศอาจยังไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด

เขายังอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อเทียบกับเงินทุนเพื่อการพัฒนาของจีนอยู่ในราว 85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในช่วงเริ่มต้นโครงการ

ดังนั้น หมายความว่า เงินทุนเพื่อการพัฒนาโครงการต่างๆ ในบีอาร์ไอจึงนับว่าน้อยมาก2

 

สิ่งใหม่และความท้าทายของบีอาร์ไอ

ในความเห็นของนักวิจัยท่านนี้สังเกตการณ์จากที่ประชุมที่ปักกิ่ง ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พยายามเร่งการเชื่อมโยงโครงการบีอาร์ไอของจีนกับประเทศต่างๆ ในยุโรป แม้ว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผลักดันความผูกพันของโครงการต่างๆ กับทางยุโรปมากว่า 10 ปี อาจกล่าวได้ว่า โครงการเหล่านี้ไม่รุ่งโรจน์แต่อย่างใด

มีเพียงอิตาลีประเทศสมาชิก G 7 เพียงประเทศเดียว ที่ได้ลงนาม MOU ในข้อตกลงบีอาร์ไอ เมื่อ 23 มีนาคม ค.ศ.2019 เพื่อลงทุนก่อสร้างท่าเรือของอิตาลีคือ ท่าเรือ Trieste และท่าเรือ Genoe มูลค่าก่อสร้าง 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนั้น อิตาลียังลงนามกับจีน ในข้อตกลงอีก 30 ข้อตกลง มูลค่า 7 พันล้านยูโรหรือมูลค่า 7.93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ3

แต่ก็เห็นได้ว่า มีการส่งสัญญาณถอนตัวจากโครงการของชาติใหญ่ๆ ในยุโรป พร้อมทั้งมีการตรวจสอบความร่วมมือกับทางฝ่ายจีน

ตาม MOU จีนกับอิตาลีที่ลงนามในบีอาร์ไอ เมื่อมีนาคม 2019 MOU นี้จะหมดอายุเดือนมีนาคม ค.ศ.2024 แต่ต่อโดยอัตโนมัติหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ประกาศความตั้งใจถอนตัวก่อนล่วงหน้า 3 เดือน

บีอาร์ไอในจุดเริ่มต้นสำหรับอิตาลี อิตาลีหวังดึงการลงทุนจากจีนและเร่งการส่งออกไปยังจีน

แต่ปรากฏว่าทำได้เพียงมูลค่า 16.4 พันล้านยูโร หรือ 17.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปี ค.ศ.2022 อิตาลีส่งออกไปจีนคือ 13 พันล้านยูโร ใกล้เคียงกับมูลค่าการส่งออกไปจีนปี ค.ศ.2019

ในทางตรงกันข้าม จีนส่งออกไปอิตาลีก้าวกระโดดคือ 57.5 พันล้านยูโร จากเดิม 31.7 พันล้านยูโรในระยะเวลาเดียวกัน

เท่ากับเป็นการขยายการขาดดุลการค้าของอิตาลีต่อจีน

จะเห็นได้ว่า ความจริงแล้วแม้ว่าฝรั่งเศสและเยอรมนีไม่ได้ลงนามเป็นส่วนหนึ่งของบีอาร์ไอ ทั้งสองประเทศก็มีการส่งออกไปจีนก้าวกระโดดอย่างมาก4

เรื่องบีอาร์ไอของอิตาลียังมีประเด็นเรื่องบทบาทผู้นำระหว่างประเทศของอิตาลี ด้วยแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของจีนในอิตาลีกลายเป็นข้อกังวลของกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป

ด้วย China Communication Construction รัฐวิสาหกิจของจีนตกเป็นจำเลยถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกาแซงก์ชั่น สืบเนื่องจาก MOU 2019 อิตาลีเป็นสมาชิกบีอาร์ไอ มีการลงนามสัญญาก่อสร้างและพัฒนาท่าเรือ Trieste ทางอิตาลีตะวันออก

ยิ่งไปกว่านั้น อิตาลีจะเป็นประธาน G 7 ในปี ค.ศ.2024 ท่ามกลางความเป็นเอกภาพของประเทศในสหภาพยุโรป หลายประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีความกังวลที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Giorgia Meloni อาจได้รับความเสียหายต่อฐานะผู้นำนานาชาติ ถ้าอิตาลียังเกี่ยวข้องกับบีอาร์ไอ

นายกรัฐมนตรี Giorgia Meloni ของอิตาลีสามารถมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน โดยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบีอาร์ไอ เธอสามารถตัดสินใจเรื่องนี้ช่วงเดือนธันวาคมก่อนการต่อสัญญาใหม่ (มีนาคม ค.ศ.2024)

ในแง่ของจีน สำหรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง การมีอิตาลีอยู่ในวงโคจรของบีอาร์ไอเป็นประเด็นแห่งเกียรติยศ เรายังเห็นได้ว่า มีเจ้าหน้าที่ทูตระดับสูงในคณะกรรมการกิจการระหว่างประเทศแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเดินทางไปเจรจาให้อิตาลียังคงเป็นสมาชิกบีอาร์ไอต่อไป5

นอกจากนี้ จากประชุมบีอาร์ไอฟอรั่มครั้งนี้ ทางการจีนให้ความสำคัญกับประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจกำลังพัฒนาหรือประเทศซีกโลกใต้ (Global South)

สิ่งใหม่ที่เกิดควบคู่กันคือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เสนอผลักดันกรอบการบริหาร AI ระดับโลก เพื่อสนับสนุนกลุ่มประชากรสูงวัยและเพื่อทำให้การพัฒนาเกิดความมั่นคง กรอบการบริหาร AI ทางการจีนเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เคารพอธิปไตยของชาติ (National Sovereignty)

 

หนี้ คำถามที่ไม่มีคำตอบ แต่ซับซ้อน

จากการศึกษาล่าสุดของ Michael Schroeder6 ที่ยกตัวอย่างบีอาร์ไอจีนกับกระทรวงขนส่งและสื่อสารคีร์กีซสถาน (Kyrgyzstan) ประเทศเอเชียกลางใหญ่ที่อยู่คั่นกลางระหว่างจีนกับรัสเซีย สัญญาบีอาร์ไอที่คีร์กีซสถานทำกับจีนเป็นความลับ เมื่อดูในรายละเอียด มีข้อตกลงว่า สินค้า เทคโนโลยี และบริการเพื่อใช้ในการทำโครงการต่างๆ จะต้องซื้อจากจีนก่อน7

ไม่มีรายละเอียดเงื่อนไขคู่ขนานกันและข้อตกลงเป็นความลับ หมายความว่า หากเกิดปัญหามีการตีความได้ ส่วนเรื่องผิดชำระหนี้ (Default) และผิดชำระหนี้ข้ามกัน (Cross-default Clause) ยังไม่มีรายละเอียด หากดูข้อตกลงทั่วไป นี่แสดงถึงการยึดทรัพย์สินทางกายภาพ (เช่น ตัวอาคาร เขื่อน ท่อส่งก๊าซ น้ำมัน เป็นต้น) และถ้าจีนพยายามสร้างอิทธิพลทางการเมือง จะมีการทำข้อตกลงเกี่ยวข้องกับสัญญานั้นๆ ด้วย8

ปี ค.ศ.2021 คีร์กีซสถานลงนามบีอาร์ไอกับจีนทั้งหมด 46 โครงการ แบ่งเป็นการค้าและพัฒนาอุตสาหกรรม (17 โครงการ) โครงการประชาชนกับประชาชน ได้แก่ สร้างโรงเรียน สถาบันทางวัฒนธรรม ทางรถไฟและถนน (11 โครงการ) การเชื่อมโยงพลังงาน (5 โครงการ)

จะเห็นได้ว่าบีอาร์ไอนี้ไม่ใช่โครงการก่อสร้างทางรถไฟและถนนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างโรงเรียนและสถาบันทางวัฒนธรรม พร้อมกับโครงการด้านความเชื่อมโยงพลังงาน (Energy Connectivity) ด้วย

คีร์กีซสถานมีแหล่งพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำรองอยู่อันดับที่ 12 ของโลก คีร์กีซสถานเป็นประตูระดับภูมิภาค (regional gateway) ของภูมิภาคเอเชียกลางสู่จีนอีกด้วย

ข้อตกลงเป็นความลับ ไม่มีรายละเอียดของการผิดชำระหนี้เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ แล้วยังเป็นเทคนิควิธีที่อันตรายต่อประเทศลูกหนี้เป็นอย่างยิ่ง นี่เป็นความจริงของ 10 ปีที่เราไม่ควรปฏิเสธ ไม่ควรเอาแต่สรรเสริญเกินจริง


1 C K Tan, “Belt and Road Forum shows China recalibrating after 10 years”, Nikkei Asia, 19 October 2023 : 1.

2 Ibid., : 2.

3 Rintaro Hosokawa and Tetsushi Takahashi, “China pries open EU wall as Italy joins Belt and Road”, Nikkei Asia 24 March 2019 : 1-2.

4 Takayuki Tanaka, “Italy seeks off-ramp from China’s Belt and Road”, Nikkei Asia 4 August 2023 : 1.

5 Ibid., : 2.

6 Michael Schroeder, “Is the Devil in the Details? A Rare look into a BRI Contract in Kyrgyzstan”, Journal of Public and International Affairs 26 May 2023 : 7-8.

7 Anna Gelpern et al., How China lends : A Rare Look into 100 Debt Contracts with Foreign Countries, AIDDATA, Keil Institute for the World Economies, 2021.

8 Michael Schroeder, “Is the Devil in the Details? A Rare look into a BRI Contract in Kyrgyzstan”, Journal of Public and International Affairs, 26 May 2023 : 8.