‘ข่วงชุมแก้ว’ ชุมทางการค้าฟากตะวันออกของลุ่มน้ำแม่ทา

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ฉบับที่แล้วดิฉันได้เปิดประเด็นเรื่อง “เวียงควก” ว่าเป็นอีกหนึ่งเวียงโบราณขนาดเล็กที่ค่อนข้างอันซีน ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของตำบลบ้านแป้นและตำบลหนองนาม อำเภอเมืองลำพูน

โดยดิฉันได้ตั้งคำถามทิ้งไว้ว่า ทำไม “เวียงควก/เวียงควัก/เวียงครก” จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ข่วงชุมแก้ว” และเวียงแห่งนี้มีคูน้ำคันดินด้วยหรือไม่

หากไม่มีจะยังคงเรียกว่า “เวียง” ได้อยู่อีกไหม?

ฉบับนี้ อาจารย์ภูเดช แสนสา นักประวัติศาสตร์ล้านนา ผู้ซึ่งได้ร่วมลงพื้นที่สำรวจโบราณสถานสองฟากแม่น้ำทา กับคณะของสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดลำพูน มาตั้งแต่ครั้งแรกคือ เวียงทาคาม (เวียงป่าซาง) ครั้งที่สอง ท่าเชียงทอง จนมาถึงครั้งที่สามคือ เวียงควก ครั้งนี้

เขาได้มองเห็นความเชื่อมโยงว่าทั้งสามเวียงนี้มีพัฒนาการมาแล้วอย่างน้อยสามช่วง ช่วงแรกสมัยหริภุญไชย แต่จะต้องเก่าถึงยุคพระนางจามเทวีทั้งหมดไหม ค่อยศึกษากันต่อไป

ช่วงที่สองเป็นพัฒนาการในสมัยล้านนา ซึ่งน่าจะได้รับการฟื้นฟูในยุค “พระเจ้าติโลกราช”

และยุคที่สาม เวียงทั้งสามมีความเกี่ยวข้องกับ “พระญากาวิละ” ทั้งหมด

อาจารย์ภูเดชพร้อมที่จะมาเฉลยคำตอบในสิ่งที่ดิฉันตั้งคำถาม โดยสิ่งที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้เป็นความเห็นของอาจารย์ภูเดช ในเวทีเสวนาที่วัดหนองหนามเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา

ศิลาจารึกวัดข่วงชุมแก้ว ผู้เขียนถ่ายจากห้องศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย มีสองด้าน

นัยยะแห่งศิลาจารึก

วัดนี้ต้องเก่าถึงยุคพระเจ้าติโลกราช

จากศักราชของศิลาจารึกวัดข่วงชุมแก้วที่ระบุว่าจารขึ้นในปี พ.ศ.2032 อันตรงกับสมัยของ “พระญายอดเชียงราย” หรือ “พระยอดเชียงราย” กษัตริย์เชียงใหม่องค์ที่ 10 แห่งราชวงศ์มังรายนั้น อาจารย์ภูเดชชี้ให้เห็นว่า

“พระเจ้าติโลกราชเพิ่งสิ้นพระชนม์หมาดๆ เมื่อ พ.ศ.2030 เวลาผ่านไปเพียง 2 ปีเท่านั้น ก็มีการกระทำจารึกหลักนี้ สังเกตให้ดีว่าผู้สร้างจารึกคือ “พระมหาเทวี” ผู้เป็นพระราชมารดาของยุวกษัตริย์ยอดเชียงราย (และพระนางยังเป็นพระมเหสีของท้าวบุญเรือง โอรสพระเจ้าติโลกราช ที่ถูกพระเจ้าติโลกราชประหารอีกด้วย)

ซ้ำคำเรียกชื่อกษัตริย์ ก็ไม่เรียกว่าพระยอดเชียงรายตรงๆ กลับต้องอิงไปถึงบารมีของอดีตมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ นั่นคือการใช้คำว่า “ศรีธรรมราชนัดดา” ซึ่งแปลว่า ผู้เป็นหลานของพระเจ้าศรีธรรม (โศกราช) นาม “ศรีธรรม” หรือ “สิริธรรม” นี้ปรากฏในชินกาลมาลีปกรณ์ตอนที่พระเจ้าติโลกราชสร้างอุโบสถาคารวัดป่าแดง (ตั้งชื่อวัดว่า อโศการาม) ได้ลงนามว่าวัดนี้สร้างโดย “พระเจ้าสิริธรรมจักรพรรดิติลกราชาธิราช”…

ทำให้เชื่อได้ว่า วัดข่วงชุมแก้วแห่งนี้ น่าจะได้ลงมือวางรากฐานวิหาร อุโบสถ พระธาตุเจดีย์ ฯลฯ มาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยกษัตริย์องค์ก่อนคือพระเจ้าติโลกราช ซึ่งการก่อสร้างวัดแต่ละแห่งมักใช้เวลาหลายปีกว่าจะแล้วเสร็จ

ส่วนศักราช 2032 นั้นสะท้อนว่า หลังจากพระยอดเชียงรายครองราชย์ได้ไม่นาน เสนาสนะภายในวัดข่วงชุมแก้วก็สร้างเสร็จพอดี แล้วยุวกษัตริย์ก็เสด็จมาทำหน้าที่เป็นประธานในการ “ฉลอง” หรือภาษาล้านนาเรียกงาน “ปอยหลวง”

ภาพจากหนังสือ “จารึกในจังหวัดลำพูน” ถ่ายภาพและปริวรรตโดย ดร.ฮันส์ เพนธ์ จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พระราชวิเทโศบายในการขยายดินแดน

เวียงยิ่งเพิ่มทวี ยิ่งเก็บภาษีได้มากขึ้น

อะไรที่ทำให้อาจารย์ภูเดชเชื่อว่า วัดข่วงชุมแก้วและเวียงควก มีมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช?

อาจารย์ภูเดชอธิบายว่า บ้านเล็กเวียงน้อยทั้งหลายที่กระจายทั่วดินแดนล้านนานี้ จากการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาในภาพรวม พบว่ามากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของเวียงหรือเมืองต่างๆ ได้รับการขยายตัวในยุคพระเจ้าติโลกราชทั้งสิ้น

กรณีของ “เวียงควก” ก็ดี “เวียงทาคาม” (ต่อมาคือเวียงป่าซาง) ก็ดี ในสมัยหริภุญไชยน่าจะมีสถานะเป็น “ชุมชน” หรือ “หมู่บ้านขนาดเล็ก” คือมิใช่ว่าไม่มี หากยังมิอาจเรียกว่าเป็น “เวียง” หรือ “เมือง” ได้เต็มปากเต็มคำนัก และในเอกสารก็ใช้คำว่า “บ้าน” หรือ “ตำบล” มาตลอด

เราจะเห็นว่าบ้านเมืองสมัยหริภุญไชยมีเวียงเพียงไม่กี่แห่ง นอกจากนครรัฐหริภุญไชยแล้ว ก็มีเวียงบริวารแค่ เวียงท่ากาน เวียงมโน เวียงฮอด เวียงเถาะ เวียงรัตนา เวียงเขลางค์ เวียงอาลัมพางค์ เวียงเจ็ดลิน เวียงกุมกาม เป็นต้น

ครั้นถึงสมัยต้นล้านนาคือตั้งแต่รัชกาลของพระญามังรายจนถึงสมัยพระญาสามฝั่งแกน แม้บ้านเมืองจะขยายตัวขึ้นตามลำดับ แต่ขึ้นชื่อว่า “เมือง” หรือ “เวียง” หลักๆ ก็ยังมีน้อยมาก ในแว่นแคว้นลำพูนหรือหริภุญไชย ก็มีแค่เวียงหริภุญไชย เวียงลี้ หรือโซนตะวันตกก็มีเวียงพร้าว เวียงฝาง เวียงไชยปราการ เป็นต้น

เกิดอะไรขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราชล่ะหรือ? ไยจึงสถาปนาบ้านเล็กเมืองน้อยขึ้นเป็น “เวียง” อย่างง่ายดายและดูเอิกเกริกเสียเหลือเกิน

อาจารย์ภูเดชชี้ว่าเรื่องนี้มีเหตุผล การยกระดับชุมชน/หมู่บ้าน/ตำบลที่ค่อยๆ เริ่มมีประชากรอยู่อย่างหนาแน่นขึ้นให้เป็น “เวียง” นั้น หนุนเนื่องมาจากมูลเหตุด้านความต้องการที่จะ “เก็บส่วยสาอากร” มากขึ้นนั่นเอง กล่าวคือ ในอดีตกษัตริย์จะให้เจ้าเมืองต่างพระเนตรพระกรรณดูแลแต่ละเมือง แล้วทุกสิ้นปีเมืองนั้นๆ ต้องส่งส่วยภาษีให้แก่ศูนย์กลางเชียงใหม่

จำนวนเมืองยิ่งน้อยเท่าไหร่ ศูนย์อำนาจคือเชียงใหม่ก็จะยิ่งได้ภาษีจากหัวเมืองน้อยลงตามสัดส่วนเท่านั้น การยกระดับชุมชนขนาดย่อมขึ้นเป็นเวียงหรือเมือง แล้วสถาปนายศให้เมืองใหม่ๆ มีเจ้าเมือง ขุนนางเหล่านั้นก็จะช่วยเป็นหูเป็นตา เก็บส่วยสาอากรส่งเข้าท้องพระคลังหลวงแห่งเมืองเชียงใหม่ เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวตามจำนวนของเมืองเหล่านี้

ด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้ตลอดรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช เราจะเห็นชื่อของบ้านเล็กเมืองน้อยผุดพรายขึ้นเป็นดอกเห็ด มากมายเป็นทวีคูณเมื่อเทียบกับรัชสมัยก่อนๆ

อนึ่ง การจักตั้งเมืองหนึ่งๆ ได้ มิใช่ว่าอยู่ๆ ก็ตั้งขึ้นกันง่ายๆ จำเป็นจะต้องมีปัจจัยที่เหมาะสมด้วย เหตุที่ยุคของพระเจ้าติโลกราช มีการขยายพระราชอาณาจักรออกไปทุกทิศทุกทาง ทั้งด้านการค้า การสงคราม การศาสนา ทั้งหมดนี้ทำให้ประชากรมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เมืองขยายตัวเติบโตขึ้น

แต่มีข้อน่าสังเกตว่า บ้านเล็กเวียงน้อยเหล่านี้มีความเจริญแบบสูงสุดเพียงแค่ช่วงสั้นๆ ไม่ได้มีพัฒนาการสืบต่อเนื่องมากนักในช่วงปลายสมัยราชวงศ์มังราย และยิ่งถูกลดบทบาทลงอย่างสิ้นเชิงในสมัยที่พม่าปกครองล้านนา

ทำให้เมื่อถึงสมัยพระเจ้ากาวิละฟื้นล้านนาจากพม่านั้น ชื่อบ้านย่านถิ่นหลายแห่ง ล้วนเป็นชื่อเรียกใหม่ เพราะคนที่อพยพมาอยู่ใหม่นั้น ไม่สามารถเชื่อมต่อประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของคนในพื้นที่ดั้งเดิมได้ทั้งหมด เช่น คนยุคหลังมาเรียกบริเวณที่อาศัยนี้ว่า “หนองหนาม” คือเรียกตามพรรณไม้ สภาพภูมิศาสตร์

กว่าเราจะรู้ว่าในอดีตที่แห่งนี้มีชื่อว่า “เวียงควก” หรือ “ข่วงชุมแก้ว” นั้น ต้องอาศัยหลักฐานจากด้านศิลาจารึกและตำนานพงศาวดารมาประกอบกัน

บารายหรือสระน้ำรูปสี่เหลี่ยม มีบันไดทางลง พื้นล่างค่อนข้างลึก ก่อด้วยอิฐทับศิลาแลง ในวัดหนองหนาม

เวียงควก ทำไมไม่มีคูน้ำคันดิน?

อาจารย์ภูเดชอธิบายว่า ตามความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น เมื่อเอ่ยถึง “เวียง” หรือ “เมือง” ทุกคนมักปิดตาเห็นภาพ “คูน้ำคันดิน” จะ 1 ชั้น 2 ชั้น หรือ 3 ชั้น ก็แล้วแต่ ทว่าเหตุไฉนมีบ้านเล็กเวียงน้อย จำนวนไม่น้อยเลยที่ “ไม่พบคูน้ำคันดิน” อันควรจะเป็นองค์ประกอบหลักของความเป็นเวียง?

เรื่องนี้อาจารย์ภูเดชวิเคราะห์ว่า พัฒนาการของเวียงควกมีความพิเศษ เพราะเป็นเวียงตอนใน ตั้งอยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำทา ซึ่งถือว่าไม่ใช่จุดยุทธศาสตร์ที่ต้องใช้ตั้งรับข้าศึก ดังที่เรารู้จักกันดีว่าคือพม่า ผู้ต้องมุ่งหน้ามาจากทางทิศตะวันตก

เมื่อเปรียบเทียบกับเวียงอีกสามแห่งที่ตั้งอยู่ประชิดกับแม่น้ำปิง หรือฟากตะวันตกของแม่น้ำทา คือเวียงหนองล่อง เวียงผำ และเวียงทาคาม แต่ละเวียงล้วนจำเป็นต้องมีป้อมปราการรายรอบ เพราะเป็นเวียงที่ทำหน้าที่ “ต้านทัพ-รับศึก”

ภาพระยะใกล้ของบ่อน้ำ เพื่อจะได้เห็นสภาพของศิลาแลงที่เปื่อยผุ

ในขณะที่เวียงควกอยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำทา หากเวียงทั้งสามคือเวียงหนองล่อง เวียงผำ และเวียงทาคาม สามารถต้านศึกไว้ได้แล้ว เวียงควกก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องสร้างป้อมปราการให้ซ้ำซ้อนอีก ดังนั้น รูปแบบของเวียงควกจึงมีความพิเศษคือ มีสถานะเป็นเวียงก็จริง แต่ไม่จำเป็นต้องมีคูน้ำคันดิน

ทั้งนี้ อาจารย์ภูเดชออกตัวไว้ก่อนว่า หากคนในพื้นที่พบหลักฐานว่าเวียงแห่งนี้มีคูน้ำคันดินและป้อมปราการอยู่ ณ จุดไหน โปรดแจ้งให้เขาทราบด้วย จะได้แก้ไขข้อมูลใหม่ให้ถูกต้อง

พระเจดีย์และวิหารวัดหนองหนามในปัจจุบัน ซึ่งไม่มีใครทราบได้ว่า เนื้อหาในศิลาจารึกที่กล่าวถึงการก่อพระมหาธาตุข่วงชุมแก้วนั้น จะหมายถึงพระเจดีย์องค์ใด องค์เดิมของพระเจดีย์ใหม่องค์นี้ที่ถูกครอบด้านใน หรือว่าจะหมายถึงวัดร้างหนองผ้าขาว ที่มีรากไม้ปกคลุม?

ความหมายของ “ข่วงชุมแก้ว”

อาจารย์ภูเดชชี้ชวนให้เราพิจารณาถึงความหมายของคำว่า “ข่วง-ชุม-แก้ว” โดยแยกแปลทีละคำ “ข่วง” หมายถึงลานอันกว้างใหญ่ “ชุม” คือจุดนัดพบ ชุมทาง ชุมรุม ชุมชนมาชุมนุมกัน แสดงว่าย่านนี้ต้องเป็นเส้นทางการค้าขนาดใหญ่และมีความสำคัญยิ่งนั่นเอง

ส่วนคำว่า “แก้ว” ภาษาล้านนามักใช้คำว่า “แก้ว-แสง” เป็นสร้อยต่อท้ายถึงสิ่งที่ต้องการบ่งบอกว่ามีค่า มีความสำคัญ มีความบริสุทธิ์ เช่นคำว่า แก้วทั้งสาม หรือสร้อยของวัดแห่งนี้ “วัดหนองหนามแก้วกว้าง” เป็นต้น

นัยยะแห่งชื่อ “ข่วงชุมแก้ว” นี้สำคัญยิ่ง เพราะสะท้อนว่า เป็นย่านที่พัฒนามาจากชุมทางการค้า ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวในตำนานมูลศาสนา ที่กล่าวว่าทางตอนล่างของบ้านทารคาม (เวียงทาคาม) นั้น เป็นย่านอาศัยของพ่อค้าชาติต่างๆ คำว่าล่างหรือใต้นั้น หมายถึงใต้แม่น้ำทาลงไป ก็คือบริเวณฟากตะวันออกของแม่น้ำทาปัจจุบันนั่นเอง

ซากโบราณสถานนอกวัดหนองหนาม ปัจจุบันเรียกว่า วัดร้างหนองผ้าขาว (วัดผ้าขาวร้าง) ในอดีตควรจะเป็นมหาธาตุข่วงชุมแก้ว ที่กล่าวถึงในศิลาจารึกได้หรือไม่?

จากการก่อเกิดของชุมชนพ่อค้านานาชาติพันธุ์ในบริเวณนี้มาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยหริภุญไชย นานวันเข้าย่านดังกล่าวค่อยๆ เติบโตขึ้นในสมัยล้านนา จนกระทั่งพระเจ้าติโลกราชเล็งเห็นความสำคัญ จึงได้สถาปนาให้มี “เจ้าเมือง” กินพันนาระดับ “หมื่น” ซึ่งเรายังไม่พบเอกสารที่ระบุชื่อเฉพาะของ “เจ้าพันนาควก”

อาจารย์ภูเดชกล่าวทิ้งท้ายว่า ยุคพระญากาวิละราวปี 2348 ช่วงที่มาฟื้นบ้านเล็กเวียงน้อยบริเวณลุ่มน้ำทานี้ ได้มีการระบุว่าพระองค์ทำการฟื้นเวียงทาคามและเวียงควกขึ้นพร้อมๆ กัน ดังนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสองฟากแม่น้ำทานี้จึงมีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ที่ทำให้เราได้เห็นความเป็นไปของประวัติศาสตร์ล้านนาผืนใหญ่ชัดเจนขึ้น •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ