เครื่องเคียงข้างจอ วัชระ แวววุฒินันท์ / อำลา…หน้ากระดาษ

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

อำลา…หน้ากระดาษ

คอลัมน์เครื่องเคียงข้างจอ เล่าเรื่องราวต่างๆ ที่บรรเลงผ่านหน้าจอโทรทัศน์และจอภาพยนตร์เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่การทำธุรกิจผ่านจอโทรทัศน์ก็เกิดวิกฤตมา 3-4 ปีแล้ว นับแต่มีการประมูลโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลขึ้น

ซึ่งความวัวยังไม่ทันหาย ระหว่าง กสทช. ผู้ให้การประมูล กับผู้ประมูลที่ถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์และกฎหมายต่างๆ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายแซงหน้ารายได้ไปนักต่อนัก จนแทบเอาตัวไม่รอด ความควายก็มาแทรกจากการเติบโตของโซเชียลมีเดีย ที่มาแย่งผู้ชมและเม็ดเงินโฆษณาจากทีวีไป

ไม่เท่านั้น ยังทำให้พฤติกรรมการเสพสื่อและข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของคนเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง และมันก็ได้กวาดต้อนให้จอกระดาษ หรือหน้าหนังสือ ได้รับความหายนะไปเต็มๆ

ดังจะเห็นได้จากข่าวการทยอยปิดตัวลงของนิตยสารหัวต่างๆ ทั้งหัวไทยและหัวนอก

รวมทั้งหัวล่าสุด “คู่สร้างคู่สม”

พี่เลาะห์ หรือ คุณดำรง พุฒตาล เจ้าของและผู้บริหารนิตยสารคู่สร้างคู่สม ได้ออกมาชี้แจงจากปากของตนเองถึงสาเหตุของการปิดนิตยสารที่ได้ชื่อว่ามียอดจำหน่ายสูงสุดของประเทศ

ขนาดจำหน่ายสูงสุด มีผู้อ่านติดตามต่อเนื่องมาอย่างยาวนานถึง 37 ปียังปิดตัวเองลงแล้ว

พี่เลาะห์ได้ชี้เป้าไปถึงการเข้ามาของพฤติกรรมการอ่านออนไลน์ว่า

“โซเชียลทำให้เราท้อใจ”

ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ดูได้จากยอดจำหน่ายของหนังสือพิมพ์รายวันลดลงอย่างต่อเนื่อง การโฆษณาที่เคยต้องจองล่วงหน้ากลับด้อยค่าลงกว่าเดิมมาก

หลายคนไม่ได้บอกรับหนังสือพิมพ์ตอนเช้ามานานแล้ว เพราะตื่นนอนมาก็สามารถเสพข่าวผ่านมือถือได้ทันที แถมยังรวดเร็วและอัพเดตกว่าสิ่งพิมพ์แบบหนังสือพิมพ์เสียอีก

คุณดำรงให้รายละเอียดว่า คอลัมน์ดูดวงของคู่สร้างคู่สมที่เป็นคอลัมน์ยอดฮิต ที่แฟนหนังสือจะพลิกอ่านเป็นอันดับแรกด้วยกระแสฮือฮาว่า แม้น…แม่น ก็พลอยโดนโซเชียลขโมยเอาคอนเทนต์ไปลงดื้อๆ แล้วคนก็ไม่อ่านกันในหนังสือแล้ว

ความจริงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของสื่อสิ่งพิมพ์ไม่ใช่เรื่องใหม่ ได้มีการประเมินไว้นานแล้ว โดยดูจากโลกตะวันตกเป็นหลักที่แม้แต่สื่อสิ่งพิมพ์ใหญ่ๆ ก็ลดขนาดธุรกิจลง หรืออย่าง New York Time ก็ปิดตัวเองไปและหันไปเล่นบนออนไลน์แทน ผลกระทบนี้ ไม่เว้นแม้แต่ตำนานหนังสือปลุกใจเสือป่าอย่างเพลย์บอย ที่หนุ่มๆ หันไปหาความเซ็กซี่วาบหวิวได้ง่ายๆ จากโลกออนไลน์ แถมเคลื่อนไหวได้ด้วย แฮ่ม

ผมเคยได้พูดคุยกับ คุณปกรณ์ พงศ์วราภา เจ้าของและผู้บริหารจีเอ็มกรุ๊ป ที่มีนิตยสาร GM เป็นหัวหอก และหัวหนังสือในเครือนับสิบ คุณปกรณ์แสดงทัศนคติว่า

“ก็เป็นเรื่องปกติของโลกที่ต้องเปลี่ยนแปลง เราฝืนไม่ได้ จะว่าไปแล้วก็ตั้งสี่พันปีแล้วนะที่ประเทศจีนได้สร้างกระดาษขึ้นมาในโลก หากของที่มีอายุเป็นพันๆ ปีอย่างนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้”

ซึ่งคุณปกรณ์ก็ได้ขยายเนื้อหาจากสิ่งพิมพ์ไปสู่ออนไลน์และทีวีมาสักระยะแล้ว เป็นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงแต่เนิ่นๆ

ถึงกระนั้นก็ยังต้องต่อสู้กับพฤติกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอีกมาก

อย่างการออกหนังสืออ่านฟรี หรือ Free Copy คุณปกรณ์ก็ทำมานานแล้ว มีหลายเล่มด้วย ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่อ่านน้อยลง ไม่ควักเงินซื้อหนังสือไม่เป็นไร ก็ให้อ่านฟรีซะเลย แต่ก็ต้องไม่หนา ไม่เยอะ ไม่ยาว เพราะคนที่อ่านจะใช้เวลาแค่ 10-15 นาทีในการอ่านเท่านั้น ชั่วดื่มกาแฟหนึ่งถ้วย หรือระหว่างรอเพื่อน

อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าสื่อสิ่งพิมพ์จะตายไปจากโลก หรือล่มสลายโดยสิ้นเชิง แต่จะต้องปรับเปลี่ยนไปสู่ “เนื้อหาเฉพาะ” ที่มีกลุ่มผู้สนใจอ่านที่ชัดเจน และพร้อมจะควักเงินซื้อเพื่ออ่านเอาข้อมูล เอาสติปัญญา

ที่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนและเห็นมาแล้ว คือ หนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ในช่วงที่ผ่านมานั้น ได้รับความสนใจอย่างมาก ที่ผู้คนต่างจับจองค้นหาเพื่อเป็นเจ้าของ ทั้งเพื่อดู อ่าน และเก็บเป็นของสำคัญประจำบ้าน

แล้วทางออกของสื่อสิ่งพิมพ์คืออย่างไร ผู้สันทัดกรณีแนะนำว่าก็ต้องใช้หลายวิธี นับแต่การลดต้นทุนโดยการลดจำนวนพนักงาน เหลือไว้แต่คนควบคุมหลักๆ นอกนั้นใช้ฟรีแลนซ์ได้ เปลี่ยนสื่อจากกระดาษเป็นออนไลน์ เพราะ “เนื้อหา” ยังขายได้อยู่ แต่ต้องปรับเปลี่ยนให้เนื้อหานั้นเหมาะกับการเสพทางออนไลน์

ไม่ก็ต้องหาความเฉพาะทางของเนื้อหาที่คนต้องการจริงๆ

จากข้อมูลการวิจัยก็พบว่า สิ่งพิมพ์เนื้อหาเฉพาะด้านอย่าง แม่และเด็ก สุขภาพ ตกแต่งบ้าน เครื่องยนต์ หรือกีฬา และงานอดิเรกต่างๆ ประเภทนี้ยังอยู่ได้

แต่ไม่เห็นบอกว่า แนวสาระการบ้านการเมืองปนปกิณกะอย่าง “มติชนสุดสัปดาห์” จะอยู่ได้หรือเปล่า แฮะๆ

ยังไงก็ขอให้อยู่กันไปอีกยาวๆ นะครับ อย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ได้เจอกันทีก็ยังดีงั้นเหงาตายเลยละตัวเอง