หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร หอศิลป์ในสถาบันการศึกษาอันเปี่ยมคุณภาพ ที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ถ้าจะถามว่าพื้นที่ทางศิลปะแห่งไหนที่ผมผูกพันที่สุด ด้วยความที่ผมเคยเรียนอยู่ที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็คงต้องตอบว่าคือ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (Art Centre Silpakorn University) หรือที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยคุ้นเคยในชื่อว่า หอศิลป์ วังท่าพระ

ครั้งแรกที่ผมเข้าชมหอศิลป์แห่งนี้คือตอนยังเป็นนักเรียนมัธยมที่ใฝ่ฝันจะเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยทางศิลปะชั้นนำของประเทศ และเข้ามาเรียนติวเพื่อจะสอบเข้าที่นี่

ผมยังจำความรู้สึกตื่นตาตื่นใจที่ได้เข้าชมงานศิลปะในหอศิลป์แห่งนี้เป็นครั้งแรกได้ กับผลงานศิลปะอันแปลกตา น่าทึ่ง ของนักศึกษาและคณาจารย์ที่แสดงอยู่

เมื่อสอบเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้สำเร็จ ก็เป็นหอศิลป์แห่งนี้อีกนั่นแหละที่ผมตั้งตารอคอยนิทรรศการศิลปนิพนธ์ของเหล่าบรรดารุ่นพี่ที่เรียนจบในแต่ละปี เพื่อชื่นชมกับผลงานศิลปะอันเต็มไปด้วยฝีไม้ลายมือและความสดใหม่ (ในความรู้สึกของผมตอนนั้น) อย่างมาก

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิทรรศการการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ กับผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมของศิลปินระดับอาชีพและศิลปินระดับอาจารย์ที่ส่งผลงานมาชิงรางวัลทางศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในช่วงเวลานั้น

นิทรรศการเหล่านี้นี่เองหล่อหลอมให้ผมหลงใหลการชมงานศิลปะมาถึงทุกวันนี้

หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร

แต่เมื่อผมก้าวพ้นจากสถาบันการศึกษา และได้สัมผัสกับโลกศิลปะนอกรั้วมหาวิทยาลัย จึงได้พบความจริงว่า ผลงานศิลปะที่จัดแสดงในหอศิลป์ที่ผมเคยชื่นชมแห่งนี้ไม่อาจเชื่อมโยงกับสังคมและโลกร่วมสมัยภายนอก

หากแต่สงวนที่ทางให้กับงานศิลปะที่ยืดโยงกับแนวทางการทำงานแบบเก่าๆ ที่ยึดมั่นถือมั่นมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นขนบและค่านิยมเดิมๆ ที่คนภายนอกเรียกขานในเชิงสัพยอกว่า “ศิลปากรนิยม”

ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับหอศิลป์แห่งนี้จึงห่างหายกันไปเนิ่นนาน

จนกระทั่งอีกสิบกว่าปีให้หลัง ผมได้ข่าวว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรแห่งนี้ ด้วยทีมผู้บริหารใหม่ที่มุ่งเน้นในการลบภาพเดิมๆ ของหอศิลป์ มาตั้งแต่ก่อนการบูรณะปรับปรุงมหาวิทยาลัยครั้งใหญ่

และผลักดันให้เกิดการแสดงนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่ก้าวทันโลกศิลปะสากลและเชื่อมโยงกับสังคมและโลกภายนอกมากขึ้น

ผมจึงกลับไปเริ่มต้นสานสัมพันธ์กับหอศิลป์แห่งนี้ และกลับมาตามชมนิทรรศการศิลปะที่นี่อีกครั้ง

นิทรรศการ Human AlieNation

ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการ Human AlieNation (2016) โดยกลุ่มศิลปินอย่าง จิตติ เกษมกิจวัฒนา, นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์, วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร และ นพไชย อังควัฒนพงษ์ ที่ทำให้เราค้นพบว่างานศิลปะร่วมสมัยกับความรู้ด้านมานุษยวิทยานั้นสามารถสอดประสานกันได้อย่างกลมกลืน และสร้างผลงานศิลปะอันเปี่ยมสุนทรียะทางสายตา ความแหลมคมของแนวความคิดและความแปลกใหม่ในการนำเสนออย่างยิ่ง

นิทรรศการ มงกุฎ

หรือนิทรรศการของศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่าง อริญชย์ รุ่งแจ้ง ที่หยิบเอาผลงานที่เคยแสดงในหอศิลป์ระดับโลกมาแล้วกลับมาแสดงให้มิตรรักแฟนศิลปะชาวไทยได้ชมกันอย่าง มงกุฎ (Mongkut) (2018) ผลงานศิลปะจัดวาง ที่จำลองพระมหาพิชัยมงกุฎจำลอง ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ถวายให้จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ในปี ค.ศ.1861 ให้กลายเป็นผลงานศิลปะร่วมสมัย

ที่นอกจากจะเป็นเครื่องมือสำรวจความสัมพันธ์สยาม-ฝรั่งเศส ในช่วงเวลาที่โลกตะวันตกขยายอาณานิคมครอบครองพื้นที่จำนวนมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว

นิทรรศการที่จัดขึ้นในหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร พื้นที่เดิมของวังท่าพระ ที่ก่อสร้างขึ้นราวต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ยังเป็นการจุดประกายและเปิดประเด็นมุมมองและการเชื่อมโยงของผลงานชุดนี้กับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ กับผลงานที่ถูกจัดแสดงและตีความใหม่ภายในพื้นที่ใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ไม่แพ้นิทรรศการเดิมที่จัดขึ้นในหอศิระดับโลกเลย

นิทรรศการ de-CONSCIENTIZATION

หรือนิทรรศการกลุ่ม de-CONSCIENTIZATION : ถอดจิต (2021) ที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มศิลปินจากสามสัญชาติอย่าง หอสินกางธ่งมหาสารคาม (หอสิน กธม), กลุ่มศิลปิน TRA-TRAVEL จากประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มศิลปิน Load na Dito จากประเทศฟิลิปปินส์ ที่สำรวจและตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม อย่างปัญหาการกดขี่ และความเหลือมล้ำต่อกลุ่มคนมีทุนทางสังคมน้อยกว่าผู้อื่นอย่างคนยากจน แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ คนไร้บ้าน และผู้พิการได้อย่างน่าสนใจ

นิทรรศการ Extended Release

หรือนิทรรศการของศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับสากลและมีผลงานแสดงในนิทรรศการศิลปะในหลายประเทศทั่วโลกอย่าง ปรัชญา พิณทอง กับนิทรรศการ Extended Release (2021) ที่ใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาในการบูรณะปรับปรุงมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ และอาคารท้องพระโรง ตำหนักกลาง และตำหนักพรรณราย ซึ่งเป็นที่ตั้งของหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร อันมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มาสร้างเป็นผลงานศิลปะร่วมสมัยที่เป็นเหมือนการร่อนตะกอนของอาคารเพื่อย้อนรอยประวัติศาสตร์ของพื้นที่

และทำให้เกิดบทสนทนาที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ไทยเข้ากับประวัติศาสตร์โลกได้อย่างแหลมคม

นิทรรศการ keep in the dark

หรือผลงานของศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้มีชื่อเสียงในระดับสากลอย่าง ตะวัน วัตุยา ที่ใช้ภาพวาดของเขาเป็นเครื่องมือบันทึกประวัติศาสตร์ของสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย หรือแม้แต่เป็นกระบอกเสียงในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่มวลชนผู้ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย ที่ถูกกดขี่และคุกคามรังแกอย่างอยุติธรรม ด้วยผลงานภาพวาดสีน้ำสีสันจัดจ้าน ฝีแปรงเลื่อนไหล ฉับไว หากจะแจ้ง ตรงไปตรงมา ในนิทรรศการ keep in the dark (2021) ที่เบิกเนตรให้เราเห็นว่า “ศิลปะกับการเมืองก็เป็นเรื่องเดียวกันได้จริงๆ อะไรจริง!”

นิทรรศการ Déjà-vu

หรือผลงานของศิลปินร่วมสมัยระดับแนวหน้าผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นที่รู้จักทั้งในแวดวงศิลปะเมืองไทยและในระดับสากลอย่าง นที อุตฤทธิ์ ในนิทรรศการ Déjà-vu: When the Sun Rises in the West (2022) ที่หลอมรวมแนวคิดของโลกตะวันตกและตะวันออกเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกล่อม ผ่านผลงานศิลปะที่สื่อถึงแนวคิดทางพระพุทธศาสนาอันเป็นแก่นแกนทางจิตวิญญาณและวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชีย ด้วยเทคนิคการทำงานของศิลปะตะวันตกอันหลากหลาย รวมถึงงานแบบไทยประเพณี เพื่อทำหน้าที่เป็นเหมือนเส้นไหมที่ศิลปินนำมาถักทอเข้าด้วยกัน

จนเกิดเป็นเรื่องราวที่หลอมรวมความเป็นตะวันตกและตะวันออกเข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบเนียน

นิทรรศการ Existence of Void

หรือนิทรรศการของ ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้มีผลงานแสดงในหอศิลป์, พิพิธภัณฑ์ศิลปะ และมหกรรมศิลปะร่วมสมัยทั้งในและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ อย่าง Existence of Void (2022) กับผลงานประติมากรรมจัดวางที่เป็นการผสมผสานระหว่างความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และความรู้สึกภายในที่ได้จากการกำหนดจิตให้อยู่กับปัจจุบันขณะ

จนได้ออกมาเป็นผลงานศิลปะที่สั่นคลอนขนบทางศิลปะแบบเดิมๆ และขยายขอบเขตการรับรู้ใหม่ๆ ให้แก่ผู้ชม

นิทรรศการ Somewhere Only I Know (2022)

หรือนิทรรศการของ อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ ศิลปินชาวไทยผู้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล อย่าง Somewhere Only I Know (2022) ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ชมได้เข้าไปสร้างประสบการณ์ใหม่ในการรับชมงานศิลปะ ผ่านภาพวาดนามธรรมอันเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ผสมผสานหลากสื่อหลายวัสดุ ผลงานประติมากรรมจัดวางจากวัสดุเก็บตกเหลือใช้ที่พบเจอในชีวิตประจำวัน สอดแทรกด้วยกิจกรรมสันทนาการในชีวิตประจำวันอันสนุกสานอย่างการละเล่น ดนตรี เกม กีฬา จนทำให้เราอดทึ่งปนสนเท่ห์ไม่ได้ว่า ศิลปะนั้นสนุกสนานและเข้าถึงง่ายถึงเพียงนี้เชียวหรือ

นิทรรศการ Ju Ju

หรือนิทรรศการของศิลปินหนุ่มสุดป๊อป โลเล ทวีศักดิ์ ศรีทองดี เจ้าของผลงานศิลปะอันเปี่ยมจินตนาการที่ถ่ายทอดผ่านแคแร็กเตอร์การ์ตูนใบหน้าเรียบเฉย ยียวน แต่เปี่ยมสไตล์ ในนิทรรศการชื่อแปลกหูอย่าง Ju Ju (จู จู) (2023) ที่เต็มไปด้วยความอิสระเสรี สนุกสนาน สดใส เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา แต่ก็แฝงไว้ด้วยความเย้ายวนใจ จนเรียกได้ว่าสามารถเบรกความเคร่งขรึมแห้งแล้งของหอศิลป์ในระบบราชการได้เป็นอย่างดี

นิทรรศการ BLISS

หรือนิทรรศการของ มิติ เรืองกฤตยา ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้ทํางานในสื่อภาพถ่ายอย่าง BLISS ที่สํารวจและตั้งคำถามเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสื่อภาพถ่าย ที่เกิดขึ้นจากการมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง AI หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ ที่เป็นประเด็นร้อนในวงการสร้างสรรค์ปัจจุบันได้อย่างแยบคาย

และล่าสุดกับนิทรรศการทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 22 ที่ถือเป็นนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยที่มีคุณภาพไม่แพ้นิทรรศการศิลปะในระดับสากลเลยก็ว่าได้ ซึ่งผมจะเขียนถึงนิทรรศการนี้ในโอกาสต่อไป (ส่วนนิทรรศการที่ร่ายมาก็เขียนถึงไปแล้วในหลายวาระ)

 

ในยุคสมัยปัจจุบันที่หอศิลป์ร่วมสมัยในมหาวิทยาลัยต่างพากันล้มหายตายจากไปหลายแห่ง หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร นับและเป็นหอศิลป์ในสถาบันการศึกษาแห่งเดียวที่เหลืออยู่ในประเทศไทยที่มุ่งเน้นในการทำนิทรรศการและกิจกรรมร่วมสมัยของตัวเองอย่างต่อเนื่อง

และยังสร้างบรรทัดฐานในการจัดแสดง คัดสรร และผลิตนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่เปี่ยมคุณภาพไม่น้อยหน้าสถาบันทางศิลปะชั้นนำของโลก สร้างองค์ความรู้ที่มีประโยช์ต่อคนในวงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทยอย่างมาก

ในฐานะแฟนคลับของหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ผมต้องขอขอบคุณต่อความทุ่มเทของทีมงานผู้บริหารหอศิลป์ยุคปัจจุบัน และวิสัยทัศน์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่เปิดโอกาสให้หอศิลป์แห่งนี้ดำรงอยู่อย่างโดดเด่นมานับ 10 ปี ท่ามกลางกระแสแห่งความเปลี่ยมแปลงอันผันผวนของวงการศิลปะไทย

ขอเชียร์ให้ทางหอศิลป์และมหาวิทยาลัยยืนหยัดอย่างทรงคุณค่าเช่นนี้ต่อไปในอนาคต

นับแต่นี้ก็จะคอยติดตามชมนิทรรศการดีๆ จากหอศิลป์แห่งนี้ต่อไปด้วยใจระทึกพลัน! •

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์