‘หนึ่งแถบเส้นทาง’ กับกัมพูชาโอฬาริก

อภิญญา ตะวันออก

เราจึงได้เห็นประธาน CP กรุ๊ปแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นายเซ ปิง (Tse Ping) จับมือกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายฮุน มาแนต อย่างอบอุ่นพร้อมทีมเจรจาในข้อตกลงการค้าอย่างราบรื่นระหว่างการประชุม BRF (Belt and Road Forum) ครั้งที่ 3 รอบนี้

ก่อนหน้าสมัยพ่อฮุน เซน เขามีข้อตกลงการค้า BRI (Belt and Road Initiative) ก่อนหน้านี้ที่จีนรุกคืบอย่างสุดเงียบไม่เปิดเผย

ว่าไปแล้ว ตอนนั้นทีมโครงการนี้ซึ่งเป็นเฟสแรกๆ ยังไม่พร้อมจะเปิดเผย จนกระทั่งรอบนี้ ที่ดูเหมือนจะข่มสหรัฐที่กำลังรุกคืบเข้ามาสร้างฐานในภูมิภาคอาเซียนตามโครงการ BRI ด้วย

เรียกว่าเป็นการบลั๊ฟฟ์กัน ตามยุทธศาสตร์สงครามการค้าหลังยุคสงครามเย็น

ทว่า รอบนี้เมื่อมหาอำนาจทำสงคราม “กวนเกษียรสมุทร” ยื้อยุดกันไปนั้น ผลประโยชน์มหาศาล (จากน้ำนมที่กลั่น) กลับมาลงเต็มๆ ที่กัมพูชา!

เรียกว่า อุ้มเขมรสุดกำลังไม่มีวันจะปล่อยมือ

ใช่แต่กัมพูชาเท่านั้น แต่หมายถึงประเทศในกลุ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (BRI) ลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด (ยกเว้นเวียดนาม) ซึ่งแน่ล่ะ มีพี่ไทยเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน

หนึ่งในนั้น คือเจ้าสัว CP กรุ๊ป ณ ปักกิ่งที่ประกาศจะลงทุน 3 ด้าน 3 ขาที่ค้ำยันกัมพูชา คือ ภาคการเกษตร สาธารณสุข และอสังหาริมทรัพย์

และ CP ปักกิ่งซึ่งชื่อเดียวกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ของเจ้าสัว CP ไทย หนึ่งในคณะผู้ติดตามรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ไปร่วมประชุมโครงการ BRF รอบนี้เช่นกัน

เราเห็นฮุน มาแนต ในห้องรับรองการประชุมพบปะและทำพิธีเซ็นสัญญาระหว่างภาครัฐและเอกชนกัมพูชา 2 ระดับ แบบ “ทวิ x ทวิ” เอกชน x ภาคี ที่ไม่เคยพบมาก่อนอย่างออกหน้าในยุคประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก่อนหน้านี้

แสดงว่าจีนคิดว่าตนมาถูกทาง ในการสู้กับสหรัฐ ต่อนโยบายอินโด-แปซิฟิก แต่ตนนั้นได้เปรียบนัก เมื่อหลายประเทศในภูมิภาคเลือกยืนข้างจีนในการลงทุน 2 ฝ่าย ที่มุ่งเน้นระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีกองทุนจากธนาคาร Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) ที่ธนาคารแม่แห่งชาติจีนดูแล

นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมแหล่งทุนธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ของ World Bank ซึ่งเป็นคู่แข่ง จึงออกมาคาดการณ์ถึงเศรษฐกิจกัมพูชาว่า อาจแตะ 6% ทั้งที่ไม่เห็นปัจจัยทางบวกเลย เมื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอค่อยๆ ทยอยปิดตัวลง ภาคแรงงานถูกลอยแพ แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในประเทศกลับเติบโตได้อย่างไร?

เพราะเม็ดเงินอัดฉีดจากจีนกำลังหว่านโปรยลงมาตาม “เมกะโปรเจ็กต์” อภิมหากาพย์แห่งการลงทุนครั้งใหม่

ใครที่ปรามาสว่า จีนจะขยาดไม่กล้าลงทุนให้กัมพูชาคงต้องคิดใหม่ และเห็นแก่นแท้ว่า กัมพูชาคือหัวแก้วหัวแหวนที่รองลงมาจากไต้หวันเลยทีเดียว!

นับเป็นความโชคดีของสมเด็จมหาบวรธิบดีฮุน มาแนต (หรือประชาชนกัมพูชา?) เขาคือผู้นำที่ทำลายสถิติ 90 วันในผลงานรัฐบาล ด้วยการลงนาม “ข้อตกลงการค้า” กับสาธารณรัฐประชาชนจีนรัวๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนรัวๆ หลายร้อยโครงการ มูลค่ารวมๆ โครงการลับด้านความมั่นคง ร่วมครึ่งแสนล้านเหรียญสหรัฐ!

จริงๆ สำหรับสิ่งอันเกินคาด! หรือไม่ ก็คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า สำหรับโครงการที่มีระยะ 5 ปีข้างหน้า

ครอบคุลมตั้งแต่โครงการระบบรางรถไฟ จากพนมเปญถึงชายแดนปอยแปต และนครเสียมเรียบ จนถึงโครงการรถไฟฟ้าสนามบินแห่งชาติ “เตโช” จังหวัดกันดาลซึ่งกำลังก่อสร้าง ขนาดของพื้นที่โครงการ ว่ากันว่า ติด 10 อันดับต้นๆ ของโลก!

นั่นเป็นเรื่องของการลงทุนโครงการพื้นฐาน แต่ที่เหนือคาดกว่านั้น คือความช่วยเหลือทุกการร้องขอแบบ “ทวิภาคี” นั้น ก็ถูกนำมาเป็นคู่มือด้านการลงทุน

รวมทั้งกรณีปราสาทเขาพระวิหาร มรดกโลกที่ถูกทิ้งร้างหลังได้รับการจดทะเบียน ก็ต้องการนักโบราณวิทยาลูกหลานจู ต้ากวนมาดูแลและอุปถัมภ์ทางการเงิน

เท่ากับว่านอกจากจะกินรวบอาณาจักรเขมรปัจจุบันแล้วยังถอยไปอีกพันปีแล้ว

BRF/หนึ่งแถบหนึ่งถนนฟอรัม 3 จึงสั่นสะเทือนไปทั่วภูมิภาค ใครที่บอกว่า “จีนเองก็ลำบาก…” จากพิษเศรษฐกิจและสงครามการค้าจีน-สหรัฐ กระนั้น จีนก็ยังเทหมดหน้าตัก

อย่างที่เห็น ท่านประธานสี ได้เดินแต้มคูแบบไม่กลัวคู่ต่อกรซึ่งก็อ่อนแรงเช่นกัน จากสงครามยูเครนและอิสราเอล มากกว่านั้นคือจีนยิ่งสร้างอิทธิพลต่อภูมิภาคอาเซียน!

ตัวอย่างเชิงประจักษ์ คือโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงข้ามมณฑลจีน-สปป.ลาว และปัญหาล้มละลายในการชำระหนี้ที่อาจจะเกิดตามมา แต่นั่นไม่ใช่การถอดบทเรียนทั้งหมดของทางการจีนต่อกัมพูชาประเทศที่มีต้นทุนสูงกว่า โดยเฉพาะภูมิรัฐศาสตร์

การสร้างกัมพูชาให้พัฒนา คือภารกิจสุดยอดที่จีนจำเป็นต้องผลักดันให้สำเร็จ ไม่มีข้อเปรียบเทียบประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ที่จีนไม่มีวันจะปล่อยมือ

ทั้งจีน-กัมพูชาได้ร่วมประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะการเป็นตัวแปรที่ทำให้สหรัฐไม่น่าจะพลิกเกมในภูมิภาคนี้ได้ โดยเฉพาะเมื่อกัมพูชาถูกลั่นดาลทุกประตูจากนโยบาย BRI ไม่ว่าจะเป็นโครงการด้านทหารที่จังหวัดกำปงสะปือ ที่จีนดูแล มาตั้งแต่สมัยเขมรแดง/พล พต เมื่อ 48 ปีก่อน

ฮุน เซน ยังสงวนที่แห่งนี้ไม่ให้กองทัพของปักกิ่งดูแล เสมือนว่ากัมพูชายังไม่พร้อมจะมีกองทัพอากาศ

แต่รอให้ฐานทัพเรือเรียมเสร็จสิ้นการก่อสร้างก่อนเถอะ! แล้วจะรู้ว่า กัมพูชา สมเด็จฮุน เซน นั้นไม่ได้บ้าจี้ กลัวถูกบอมบ์ “ทำเนียบ” เหมือนที่นายพลลอน นอล เคยโดนมาตอนถูกลอบสังหาร แต่จนกว่าภารกิจ “เรียม” จะแล้วเสร็จ

การขยายฐานทัพกัมพูชาไปสู่กองทัพอากาศ เฟส 2 เฟส 3 ตามกรอบแนวคิดสมเด็จฮุน เซน ที่วางไว้

รวมทั้งการฝากฝังอนาคต “กัมพูชา” ในกำมือฮุน มาแนต ลูกชายไว้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน!

ก่อนหน้านี้ สมัยสมเด็จฮุน เซน นั้น มีแต่ความคลุมเครือ แบบฉบับลับลวงพราง ไม่มีใครเห็นวงกว้างถึงระดับความสัมพันธ์กัมพูชา-จีน

ไม่แต่ภาคเอกชนตามโครงการ BRI ที่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์แห่งปักกิ่งเท่านั้น แต่ยังมีอาลีบาบา และภาคพลังงานโดย China Machineering Corporation ที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท

เท่ากับจีนจัดหนักให้ครบสรรพทุกภาคส่วน แม้แต่ด้านอีคอมเมิร์ซ ที่เห็นได้ว่ากัมพูชายังไม่พร้อม แต่จีนก็ยังลงทุนให้?

รอบนี้เห็นชัดว่า กัมพูชาได้กลายเป็นตัวแทนสงครามการค้านอกภูมิภาคของจีนไปแล้ว ซึ่งแบบทดลองนี้ เท่ากับปลุกตลาดอาเซียนที่จีนมาต่อยอดไว้ อีกยังพยุงฐานเศรษฐกิจของจีนเองและประเทศในเครือด้วย

ต้องเข้าใจว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลปักกิ่งเคยระดมทุนจากตลาดเซี่ยงไฮ้มาลงทุนในเขมรภาคอสังหาริมทรัพย์จนฟองสบู่แตก แต่บ่ยั่น กลับรอบคอบคัดสรรเฉพาะเอกชนที่แข็งแกร่ง มีประสบการณ์ด้านทรัพยากรกัมพูชาและเข้าใจข้อจำกัดทั้งหมดโดยเฉพาะภาคแรงงานทดแทนที่ซีพีสามารถระดมมาซัพพอร์ตทั้งจากไทยและเวียดนาม รวมทั้งการมีธนาคารแห่งชาติจีนของตนมาซัพพอร์ตโครงการอื่นๆ นั้น

ถ้าประสบความสำเร็จก็เท่ากับว่า ข่มสหรัฐไม่ให้เข้ามาแผ่อิทธิพลภูมิภาคนี้ ซึ่งดูท่าสหรัฐจะเพลี่ยงพล้ำในการเดินเกมเชิงรุกแบบ BRI ที่เอื้อต่อปักกิ่ง ขณะที่วอชิงตันไม่มีพิมพ์นิยมสร้างคอนเน็กชั่นในรูปแบบธุรกิจการเมืองที่ซับซ้อนแบบนี้

เอาจริงตอนนี้จีนได้หว่านเม็ดเงินให้กัมพูชาผ่านโครงการ BRI โดยสถาบันการเงินของตน แต่ที่พิเศษกว่านั้น สำหรับกัมพูชา คือการพัฒนาไปสู่ทฤษฎีสมคบคิดอื่นๆ ว่าด้วยยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง การซ้อมรบ การเช่าพื้นที่พิเศษในรูปสัมปทานการลงทุนพัฒนาทั้งกองทัพจีนและกัมพูชา

ซึ่งนอกจากที่มาของ BRF รอบนี้ ที่จีนเทหมดหน้าตักนั้น ผลลัพธ์อันตามมา นอกจากจะรักษาระบอบฮุนเซนให้แข็งแรงแล้ว

ยังโชคดีมีเจ้าสัว “ไท้กัว” เป็นตัวช่วย!