14 ตุลาฯ กับทหาร (4) การปฏิวัติประชาธิปไตย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

14 ตุลาฯ กับทหาร (4)

การปฏิวัติประชาธิปไตย

 

“หากการเรียกร้องครั้งนี้ ทำให้เกิดการเดินขบวนขึ้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมทันที…”

พล.ต.ท.ประจวบ สุนทรางกูร

 

กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญเริ่มเปิดตัวการเคลื่อนไหวด้วยการแถลงข่าวกับสื่อในวันที่ 5 ตุลาคม 2516 และในวันถัดมาจึงเริ่มออกเดินแจกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญ และถูกจับกุมในบริเวณย่านประตูน้ำ ผู้ถูกจับกุมในเบื้องต้นมีจำนวน 11 ราย และถูกจับกุมเพิ่มอีก 2 ราย รวมเป็น 13 ราย

ผู้ต้องหาทั้ง 13 รายถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้ง 3 ข้อหา คือ 1) เป็นการชุมนุมในที่สาธารณะเกิน 5 คน 2) ยุยงให้เกิดกบฏในราชอาณาจักร และ 3) มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์…

การเปิดการจับกุมเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับการ “โยนไฟ” เข้าใส่กองฟืนแห่งการประท้วงที่มีอยู่ในหมู่นิสิตนักศึกษาทันที และความเห็นของผู้นำนักศึกษาในขณะนั้นล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่ต้องการให้มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในเรื่องนี้ แม้ในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นกำหนดการสอบปลายภาคต้นของปีการศึกษา 2516 ก็ตาม

และทุกฝ่ายในศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเห็นตรงกันที่จะใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นศูนย์กลางของการต่อสู้

 

กระแสคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลง

การเคลื่อนไหวตอบโต้การจับกุมของรัฐบาลเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคม และภาพการต่อสู้ของยุคนั้นคือ การติดโปสเตอร์ไปทั่วมหาวิทยาลัย พร้อมกับการเปิดเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาล โดยมีพื้นที่ “ลานโพธิ์” เป็นจุดศูนย์รวม อีกทั้งยังมีการเดินทางเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาที่ศูนย์ฝึกตำรวจนครบาลบางเขน และเรียกร้องให้มีการหยุดสอบเพื่อเข้าร่วมการประท้วง และการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ขยายตัวไปสู่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค และยังขยายลงสู่ระดับโรงเรียนอีกด้วย

ขณะเดียวกันสำหรับการเคลื่อนไหวในส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น เป็นสัญญาณของการต่อสู้ของนักศึกษาอย่างชัดเจน มีการนำเอาปูนปลาสเตอร์อุดรูกุญแจห้องสอบในทุกคณะ มีการตัดไฟเพื่อไม่ให้สามารถใช้ลิฟต์ตามตึกต่างๆ อันจะทำให้นักศึกษาเข้าห้องสอบไม่ได้ และหลายมหาวิทยาลัยเริ่มใช้การปิดห้องสอบ เพื่อผลักดันให้นักศึกษาเข้าร่วมการประท้วงกับศูนย์กลางนิสิตฯ…

แล้วนิสิตนักศึกษาจำนวนมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ก็หลั่งไหลเข้าร่วมการต่อต้านรัฐบาล แม้รัฐบาลจะรับมือด้วยการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีฉุกเฉิน และตั้งจอมพลประภาส จารุเสถียร เป็น “ผู้อำนวยการรักษาความสงบ”

ผู้ชุมนุมไม่สนใจท่าทีของรัฐบาลแต่อย่างใด และการปราศรัยโจมตีเป้าหมายหลักคือ “3 ทรราช” (จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร) ทวีความเข้มข้นมากขึ้นอย่างชัดเจน พร้อมกับการสนับสนุนก็ทวีมากขึ้นตามไป ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการบริจาคเป็นตัวชี้วัด ซึ่งในเที่ยงของวันที่ 13 ตุลาคม ศูนย์กลางนิสิตฯ ประกาศว่ามียอดบริจาคสูงถึง 5 แสนบาทเศษ

 

การตอบโต้ของทางรัฐบาลปรากฏชัดในเช้าของวันที่ 13 ตุลาคม มีการจัดตั้ง “บก. เฉพาะกิจ” ที่สวนรื่นฤดี พร้อมมีการเคลื่อนกำลังทหารพร้อมอาวุธจากกรมทหารราบที่ 11 (บางเขน) รถถังจากกองพันทหารม้าที่ 4 (เกียกกาย) และสมทบด้วยกำลังจากหน่วยรบพิเศษ (ลพบุรี) ทั้งยังมีการตั้งเครื่องกีดขวางและลวดหีบเพลงในบริเวณสวนรื่นฯ การจราจรในบริเวณนี้ถูกปิดทั้งหมด และมีการตรวจอย่างเข้มงวด พร้อมกับครอบครัวของนายทหารทั้ง 3 ถูกย้ายเข้ามาอยู่ในสวนรื่นฯ เพื่อความปลอดภัย

การวัดกำลังระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านเริ่มอย่างชัดเจนแล้ว… ถ้าฝ่ายรัฐบาลมีกองบัญชาการใหญ่อยู่ที่สวนรื่นฯ ฝ่ายนักศึกษาก็มีศูนย์บัญชาการอยู่ที่ธรรมศาสตร์ และในช่วงราว 6 นาฬิกาของวันที่ 14 ตุลาคม การปะทะระหว่างนักศึกษากับกำลังของตำรวจปราบจลาจลก็เกิดขึ้นบริเวณถนนพระราม 5 หน้าสวนจิตรลดา (ฝั่งตรงข้ามสวนสัตว์ดุสิต) เพราะตำรวจไม่ยอมให้นักศึกษาและประชาชนที่ต้องการกลับบ้านผ่านบริเวณดังกล่าว ทั้งที่มีการประกาศสลายการชุมนุมในช่วงตีห้า เราคงต้องยอมรับว่าการปะทะนี้คือ จุดพลิกผันของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

น่าคิดเล่นๆ ว่า ถ้าตำรวจเปิดทางให้ผู้ประท้วงกลับบ้านตามปกติ ไม่เกิดการปะทะแล้ว การเมืองไทยหลังวันที่ 14 ตุลาคม จะแปรเปลี่ยนไปอย่างไรหรือไม่ และจนถึงปัจจุบัน ข้อมูลการปะทะนี้ยังไม่มีความชัดเจน

หลังจากการปะทะเกิดในช่วงเช้า ต่อมาในช่วงก่อนเที่ยงของวันดังกล่าวกำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามก็เคลื่อนเข้าสู่ถนนราชดำเนิน ผลที่ตามมาคือ การต่อสู้ขยายตัวไปทั่วถนนราชดำเนิน ประชาชนและนักศึกษาตัดสินใจต่อสู้ด้วยมือเปล่ากับกำลังทหารของรัฐบาลอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

จิตใจกล้าต่อสู้บนถนนราชดำเนิน

ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมการเมืองไทยคือ การที่ประชาชนจำนวนมากออกมาสมทบร่วมการชุมนุมกับนิสิตนักศึกษา มีตัวเลขประเมินของสื่อว่าผู้ร่วมชุมนุมในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม มีจำนวนราว 5 แสนคนบนถนนราชดำเนิน

ดังนั้น รัฐบาลแม้จะมีกำลังทหารในมือ แต่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์บนถนนได้แต่อย่างใด ภาพของนักศึกษาหนุ่มจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ประพัฒน์ แซ่ฉั่ว หรือปัญญาชาติรักษ์) ถือไม้ที่กล้าต่อกรกับกำลังทหารติดอาวุธหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ ภาพการต่อสู้นี้ถูกเรียกตามชื่อภาพยนตร์ที่เข้าฉายในยุคนั้นว่า “ไอ้ก้านยาว” เนื่องจากตัวเอกในเรื่องใช้ไม้กระบองเข้าปราบอธรรม… ภาพที่สะท้อนจิตใจกล้าต่อสู้ของ “พี่ประพัฒน์” ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ออกไปทั่วโลก เป็นภาพที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ และพี่ประพัฒน์ถูกยิงบาดเจ็บที่ขาซ้าย

อีกภาพที่ถูกเผยแพร่ในสื่ออย่างกว้างขวางคือ ภาพของจิระ บุญมาก นักศึกษาปริญญาโท สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่ถูกยิงด้วยอาวุธสงครามบนถนนราชดำเนิน รวมทั้งภาพการต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนในรูปแบบต่างๆ

การต่อสู้บนถนนราชดำเนินต้องสังเวยด้วยชีวิตนักศึกษาและประชาชน… ภาพที่ปรากฏออกสู่สาธารณะที่กำลังทหารของฝ่ายรัฐบาลที่ถือปืนเอ็ม 16 หรือปืนกลหนักเอ็ม 60 หรือรถถังที่เปิดการยิงใส่รถเมล์ที่กำลังพุ่งเข้าชนรถถัง และฝ่ายต่อต้านที่เป็นนักศึกษาประชาชนไม่ได้มีอาวุธอะไร ภาพเหล่านี้เป็นคำตอบในตัวเองว่า รัฐบาล “แพ้การเมือง” แล้ว

ความพ่ายแพ้ปรากฏชัดในอีกด้านเมื่อผู้นำทหารอีกส่วนตัดสินใจที่จะไม่เคลื่อนกำลังออกมาสมทบกำลังทหารเดิมบนถนนราชดำเนิน กล่าวคือ ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ (พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา) และแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 (พล.ท.ประเสริฐ ธรรมศิริ) ตัดสินใจไม่เอากองทัพบกเข้ามาสนับสนุนการใช้กำลังของรัฐบาลตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี (จอมพลถนอม) ซึ่งการตัดสินใจเช่นนี้คือ ภาพสะท้อนของ “รอยปริแยก” ของเอกภาพของผู้นำทหาร ที่ปัญหาเริ่มก่อตัวมาตั้งแต่รัฐประหาร 2514 แล้ว

 

ในสภาวะเช่นนี้มีคำอธิบายเพียงประการเดียวว่า สถานการณ์หลุดมือไปจากการควบคุมของฝ่ายจอมพลถนอมแล้ว

หรือกล่าวในมิติของสงครามคือ รัฐบาลไม่ได้เป็นฝ่ายที่กุมความริเริ่มในการต่อสู้ ซึ่งผลในทางการเมืองก็คือ รัฐบาล “ขาลอย” จากการเป็นผู้กุมอำนาจรัฐ และส่งผลให้จอมพลถนอมต้องลาออกในเย็นวันที่ 14 ตุลาคม พร้อมกับมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่สืบแทน แต่กระนั้นยังมีการปะทะบางจุดต่อเนื่องจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม และประชาชนอีกส่วนยังคงชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ชัยชนะของนิสิต นักศึกษา ประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ทำให้ระบอบทหารเดิมที่สืบทอดอำนาจกันต่อมาจากยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ต่อเข้ายุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สู่ยุคจอมพลถนอมนั้น สิ้นสุดลง หรือถือเป็นการ “สิ้นยุคทหาร” อย่างมีนัยยะสำคัญ จนเป็นดัง “การปฏิวัติทางการเมือง” (political revolution) อีกครั้งของสังคมไทย

 

14 ตุลาฯ เปรียบเทียบ 24 มิถุนาฯ

หากมองในมิติทางรัฐศาสตร์แล้ว เราอาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 คือ “การปฏิวัติทางการเมือง” ครั้งแรกของสังคมไทย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นได้สร้าง “ภูมิทัศน์การเมืองใหม่” ของสยาม ทั้งยังนำไปสู่การเปิด “พื้นที่การเมืองใหม่” ที่กลุ่มพลังในสังคมอื่นๆ จะเข้ามาแสดงบทบาท และการเมืองไม่ได้ถูกผูกขาดกับราชสำนักและขุนนางในระดับสูงเท่านั้น หากเป็นโอกาสที่ภาคสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น พร้อมกับการขับเคลื่อนของลัทธิเสรีนิยม… เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ก็เป็นเช่นนั้น เพราะไม่ใช่ “การปฏิวัติทางสังคม” (social revolution) ที่รื้อทิ้งโครงสร้างเก่า

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเปิดพื้นที่ใหม่หลัง 2475 กลายเป็นโอกาสอย่างดีให้ผู้นำทหารไทยแทรกแซงการเมือง เช่นเดียวกับบทบาทของผู้นำทหารในหลายประเทศของยุคหลังอาณานิคม อันส่งผลให้เกิดการขยายบทบาทและอำนาจของกลุ่มทหารและข้าราชการพลเรือน อันนำไปสู่ “การเมืองแบบราชการ” (bureaucratic polity) หรือเป็นรากฐานของการสร้าง “ระบอบรัฐราชการอำนาจนิยม” (bureaucratic authoritarianism regime หรือ BA Regime) ซึ่งเป็นฐานรองรับต่อระบอบทหาร

อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญของการสร้างอำนาจของผู้นำทหารในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ การสนธิพลังระหว่าง “อนุรักษนิยม-จารีตนิยม-เสนานิยม” เพื่อโค่นล้มพลัง “เสรีนิยม” ด้วยการรัฐประหารในปี 2490 และรัฐประหารครั้งนี้เป็นการปูทางไปสู่การจัดตั้ง “ระบอบทหาร” อย่างยาวนานในการเมืองไทย อันอาจกล่าวได้ว่าการเมืองไทยเป็นพื้นที่การแข่งขันทางการเมืองของผู้นำทหาร และโดยผู้นำทหารเท่านั้น

การสืบทอดอำนาจของผู้นำทหารสามารถดำรงต่อเนื่องมาได้อย่างยาวนานนั้น เป็นผลจากเงื่อนไขหลักสองประการ คือ 1) กลุ่มผู้นำหลักทางทหารต้องสามารถควบคุมความขัดแย้งภายในกองทัพได้ และ 2) การต่อต้านรัฐบาลทหารต้องไม่ขยายตัวเป็นการประท้วงใหญ่ จนไม่สามารถควบคุมได้

แต่เงื่อนไขสองประการล้มเหลวในเดือนตุลาคม 2516… สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดก็คือ การพังทลายของระบอบทหารของจอมพลถนอม หากมองจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว 14 ตุลาฯ คือการสิ้นสุดของระบอบทหารแบบเดิมในโครงสร้างอำนาจการเมืองไทย แต่การสิ้นสุดเช่นนี้มิได้หมายความว่า พลังอำนาจทางการเมืองของกองทัพสิ้นสุดไปทั้งหมด

นอกจากนี้ การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหาร เกิดขึ้นจากมวลชนจำนวนมากอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ดังนั้น ในบริบทเช่นนี้ 14 ตุลาฯ จึงเป็นดัง “การปฏิวัติทางการเมืองครั้งที่ 2” ของไทย ที่ไม่ต่างจากการปฏิวัติ 2475 ในการก่อกำเนิดของภูมิทัศน์การเมืองใหม่ เพราะรัฐบาลทหารถูกโค่นล้มด้วย “พลังมวลชน” และตามมาด้วยการเปิดพื้นที่ให้แก่กลุ่มพลังต่างๆ โดยเฉพาะการขยายตัวของ “การเมืองแบบมวลชน” (mass politics) ที่เข้ามาเป็นปัจจัยในการกำหนดทิศทางการเมืองในอนาคต

ในอีกด้านคู่ขนาน เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ก็เปิดประตูทางการเมืองให้แก่ทหารอีกแบบ จนเกิด “การเมืองของทหาร” (military politics) ชุดใหม่อย่างน่าสนใจด้วย!