เขายูนิคอร์นสังเคราะห์ vs นอแรดเพาะเลี้ยง | ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ในปี 2019 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟูดาน (Fudan University) และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยแปลกประหลาด แต่ว่ากระตุกต่อมคิดออกมาในวารสาร Scientific Reports

ผลงานวิจัยเรื่อง “Creating artificial Rhino Horns from Horse Hair” ของพวกเขานำเสนอแนวคิดในการสร้างนอแรดสังเคราะห์ขึ้นมาจากขนม้าและโปรตีนใยไหม

เพราะถ้ามองว่าองค์ประกอบส่วนใหญ่ของนอแรดนั้นเป็นโปรตีน “เคราติน (keratin)” ที่มักพบในขนและเล็บ นอแรดก็คือกระจุกขนก้อนโตที่มาประกอบเป็นโครงสร้างที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จนเป็นที่ติดตาต้องใจของทั้งนักล่า ดีไซเนอร์ แพทย์แผนโบราณและผู้ทีชื่นชอบอาหารเสริมแนวเปิบพิสดาร

สินค้าที่มาจากนอแรดนั้นก็มีทั้งที่เป็นยา อาหารเสริม และเครื่องประดับ ซึ่งแต่ละอย่างถือเป็นสินค้าพรีเมียม สูงค่า หายาก และเป็นที่ต้องการของตลาด

ด้วยจำนวนแรดที่มีเหลืออยู่เพียงน้อยนิดจนติดลิสต์ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต ราคาของนอแรดที่หาได้ยากแสนยากจึงสูงค่ามีราคาแพงยิ่งกว่าทอง

และนั่นทำให้มีผู้ลักลอบแอบล่าและแอบค้านอแรดอยู่เสมอ แม้จะมีการแบนสารพัดสินค้าจากนอแรดแล้วในหลายประเทศแล้วก็ตาม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวียดนามและจีน ความนิยมในการบริโภคสินค้านอแรดแบบลับๆ ทำให้ราคานอแรดในท้องตลาดนั้นพุ่งทะยานขึ้นไปติดลมบนที่กิโลกรัมละราวๆ 80,000 เหรียญสหรัฐ หรือเกือบๆ 3 ล้านบาทเลยทีเดียวในปี 2011

และนั่นทำให้ทีมวิจัยมากมายเริ่มหันมาสนใจคิดหาหนทางสร้าง “นอแรดสังเคราะห์” มาตอบสนองความต้องการของตลาด และช่วยลดการลักลอบล่าแรดเอานอ

 

แมตธิว มาร์คัส (Matthew Markus) จึงได้ก่อตั้งสตาร์ตอัพสายดีปเทค “เพมเบียน (Pembient)” ขึ้นมาในปี 2015 เขาเชื่อว่าถ้าราคานอแรดในท้องตลาดถูกลงจนถึงจุดหนึ่ง แรงจูงใจในการลักลอบล่าจะหมดไป เพราะต่อให้แอบล่าจนได้นอมาขาย ก็ปล่อยได้ในราคาที่ไม่คุ้มเสี่ยง

และถ้าโปรเจ็กต์นี้ของเขาสำเร็จ ประชากรแรดที่แทบจะไม่เหลืออยู่แล้วในธรรมชาติอาจจะได้มีโอกาสฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง

จากการสำรวจตลาด แมตธิวและทีมเพมเบียนพบว่าในวงการแพทย์แผนโบราณในหลายประเทศ พวกเขาจะป่นนอแรดจนเป็นผงก่อนจะมาผสมเครื่องดื่มเพื่อชงดื่มเป็นยา

และนั่นคือยูเรก้าโมเมนต์ของแมตธิวและทีม ก็ถ้าองค์ประกอบของนอแรดส่วนใหญ่เป็นโปรตีนเคราติน ทำไมเราไม่สร้างโปรตีนเคราตินของแรดขึ้นมาด้วยวิธีทางพันธุวิศวกรรม

แค่ตัดต่อเอายีนเคราตินของแรดไปใส่ลงในจุลินทรีย์เพื่อให้จุลินทรีย์ปั้มโปรตีนออกมาให้ แค่นั้นก็ได้เคราตินเวอร์ชั่นแรดออกมามากมายไม่รู้เท่าไหร่

ยีนเคราตินที่ใช้ก็สังเคราะห์เอาได้ จากลำดับพันธุกรรมแรดที่มีในฐานข้อมูล ไม่ต้องไปวุ่นวายกับแรดตัวเป็นๆ และเนื่องจากยีนที่ใช้เป็นยีนจากแรด แม้จะผลิตในจุลินทรีย์ โปรตีนที่ได้มายังไงก็เป็นโปรตีนของแรด ต่อให้เอาไปวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี องค์ประกอบส่วนใหญ่ในนั้นก็แทบจะไม่ได้มีความแตกต่างอะไรไปจากที่ป่นมาได้จากนอแรดจริงๆ

หมายความว่าถ้าพวกเขาสามารถสกัดโปรตีนพวกนี้ออกมาจากจุลินทรีย์ แล้วเอาไปป่นเป็นผงชงขาย สรรพคุณของนอแรดเพาะเลี้ยงที่ได้ ก็น่าจะใกล้เคียงกับดื่มนอแรดผงชงดื่มที่ได้จากนอแรดป่า แต่ว่าผลิตได้ง่ายและไม่ทำอันตรายใดๆ ต่อประชากรแรด อีกทั้งราคานั้นยังน่าจะทำให้ถูกลงได้จนเหลือแค่เพียงไม่ถึงเศษเสี้ยวกระผีกหนึ่งของราคานอแรดจริงที่ได้จากป่า

ซึ่งในมุมมองของเฟรดเดริก เฉิน (Frederick Chen) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวกฟอเรสต์ (Wake Forest University) ในสหรัฐอเมริกา “จะเป็นผลดีต่อประชากรแรด”

ด้วยไอเดียที่แตกต่าง ในปี 2018 เพมเบียนเริ่มโด่งดังและกลายเป็นสตาร์ตอัพที่เป็นที่จับตามองของสื่อและนักลงทุนมากหน้าหลายตา

ทว่า ความคาดหวังของนักลงทุนนั้นมีมากกว่าแค่นอแรดเพาะเลี้ยงป่นผงสำหรับชงดื่ม พวกเขาอยากเห็นนอแรดจริงๆ ที่สร้างขึ้นมาจากโปรตีนเคราตินแรดที่ผลิตมาจากจุลินทรีย์

ซึ่งบอกเลยว่า “ยากมหาหิน” การผลิตโปรตีน กับการเอาโปรตีนมาขึ้นรูปเป็นอวัยวะนั้นเป็นคนละเรื่อง แม้ว่าในเวลานี้ นักวิทยาศาสตร์จะเริ่มเข้าใจและเริ่มสามารถควบคุมการสร้างโปรตีนต่างๆ ได้เป็นอย่างดีแล้ว แต่องค์ความรู้ของเราเกี่ยวกับกลไกในสิ่งมีชีวิตที่ควบคุมการรวมตัวกันของโปรตีนเคราตินจนได้เป็นเส้นขน ที่ต่อมาหลอมรวมกันโครงสร้างที่แข็งแรงและซับซ้อนอย่างนอแรดนั้นยังมีอยู่เพียงน้อยนิด การประกอบนอแรดขึ้นมาจากเคราตินบริสุทธิ์นั้นจึงเป็นภารกิจที่ท้าทายอย่างที่สุด

แน่นอนว่า ทีมเพมเบียนก็ไม่ได้จะกลัวความท้าทาย พวกเขาเริ่มคิดค้นหาวิธีที่จะปรับแต่งและขึ้นรูปโปรตีนเคราตินของพวกเขาให้ออกมาเป็นรูปร่างเหมือนนอแรดได้บ้างแล้ว

แต่นอแรดจำแลงของพวกเขานั้น ถ้ามองในเชิงโครงสร้างแล้ว ก็ไม่ต่างอะไรกับโปรตีนเคราตินอัดก้อน แทบจะไม่ได้มีอะไรเหมือนกับนอแรดจริงๆ เลยแม้แต่น้อย

และนั่นทำให้งานวิจัยนอแรดสังเคราะห์ของทีมฟูดาน-ออกซ์ฟอร์ดน่าสนใจ

แทนที่จะเริ่มจากโปรตีนเคราตินซึ่งก็ยังไม่รู้จะทำยังไงในเชิงวิศวกรรมถึงจะฟั่นออกมาเป็นขนที่แข็งและเหนียวเหมือนขนแรดได้ พวกเขามองต่างมุมโดยออกแบบวิธีการขึ้นรูปนอแรดสังเคราะห์ของพวกเขาจากขน และถ้ามองว่านอแรดคือโครงสร้างที่ประกอบกันขึ้นมาจากขนของแรด โดยมีโปรตีนและสารเคลือบอื่นๆ มาช่วยประสานจนหลอมรวมกันเป็นโครงสร้างของนอที่แข็งแรงทนทาน

ถ้าพวกเขาสามารถหาขนที่มีคุณสมบัติเหมือนขนแรดมาใช้ตั้งต้นได้ ที่เหลือก็แค่หาตัวประสานที่เหมาะสมมาเชื่อมยึดพวกมันให้หลอมรวมเข้าด้วยกันก็น่าจะได้นอแรดสังเคราะห์ที่มีโครงสร้างภายในไม่แตกต่างไปจากนอแรดจริงๆ มากนัก

และจากการสกรีนคุณสมบัติเบื้องต้น ฟริตซ์ วอลล์ราธ (Fritz Vollrath) หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ตัดสินใจเดินหน้าเลือกใช้ขนม้ามาแทนขนแรด

เพราะม้าเป็นสัตว์เท้ากีบที่อยู่ในตระกูลใกล้เคียงกันกับแรด อีกทั้งขนของพวกมันยังมีความเหนียว แข็ง และคุณลักษณะทางกายภาพไม่ต่างกันมากนักกับขนแรด

และในส่วนของตัวประสาน เขาเลือกใช้โปรตีนไฟโบรอินจากหนอนไหมมาเป็นกาวเชื่อม

ผลที่ได้น่าตื่นเต้นมากๆ เรียกว่าแทบพลิกวงการ เพราะนอแรดจำแลงแปลงมาจากขนม้าของพวกเขานั้น มีลักษณะโครงสร้างทั้งในระดับมหภาค (ที่ตาเห็น) และจุลภาค (ที่ต้องส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์) เหมือนกันกับนอแรดของจริงเปี้ยบแบบแทบจะแยกไม่ออก

การทดสอบคุณสมบัติเชิงกลทั้งหมดก็บ่งชี้ชัดว่านอแรดจำแลงของพวกเขานั้นมีความแข็งแรงทนทานไม่แตกต่างเลยกับนอแรดที่มาจากแรดจริงๆ ที่ไม่เหมือนกันก็แค่ขนข้างในเป็นขนของสัตว์คนละประเภทก็เท่านั้น

 

อ่านเปเปอร์นี้จบก็ทำให้ผมย้อนกลับไปนึกถึงม้าเขาเดียวในตำนานอย่างยูนิคอร์น (Unicorn)

เพราะถ้าพิจารณาองค์ประกอบทางเคมีจริงๆ นอจำแลงนี้ไม่ใช่นอแรด แต่เป็นนอ (เขา) ม้า…หรือถ้าจะมองแบบบ้าๆ นิดนึง ก็อาจจะเป็น นอ (เขา) ยูนิคอร์น เพราะถ้าม้าจะมีเขา เขาม้าก็น่าจะออกมาประมาณนี้นี่แหละ

และถ้าเอาสรรพคุณของนอแรดที่เชื่อกันว่ามี มาเทียบกับสรรพคุณของอลิคอร์น (alicorn) หรือเขายูนิคอร์นที่ป่นผงขายกันในยุคกลางในประเทศเยอรมนี มีมนต์วิเศษ รักษาโรคได้สารพัด และกำจัดพิษ บอกได้เลยว่าเกือบจะเหมือนกันเป๊ะ

แม้ว่าผมจะไม่ได้เชื่อในสรรพคุณของทั้งนอแรดและเขายูนิคอร์น และไม่เชื่อด้วยว่ายุทธศาสตร์แบบนี้จะช่วยพิทักษ์แรดได้จริง

แต่สำหรับผม เรื่องนี้ก็ยังน่าตื่นเต้นและมีมนต์ขลัง เพราะการสร้างนอแรดเขายูนิคอร์นในแล็บ คือ “การคิดทะลุกรอบ” ที่โดนใจอย่างแท้จริง