สัมพันธ์ที่เหมาะสม ระหว่าง ‘พระพุทธรูป’ กับคนอยากกราบ ‘พระพุทธรูป’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

สัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่าง ‘พระพุทธรูป’กับคนอยากกราบ ‘พระพุทธรูป’

ถ้าจะถามกันว่าคนไทยส่วนใหญ่เรานับถือศาสนาอะไรกันแน่ จริงอยู่ว่าคำตอบที่เป็นมาตรฐานก็คงต้องเป็นคำตอบว่านับถือพระพุทธศาสนา

แต่ในภาคปฏิบัติแล้ว กลิ่นอายของความเชื่อในทางศาสนาพราหมณ์ฮินดู ตลอดจนเรื่องความเชื่อในการนับถือผีสางเทวดาทั้งหลายก็ยังมีบทบาทอยู่มากในชีวิตประจำวันของคนไทย

สมัยนี้คำว่า “สายมู” ซึ่งมีผู้บอกผมว่าย่อมาจากคำว่า มูเตลู กำลังมาแรง ผู้ที่มีความเชื่อในแนวทางนี้มีตั้งแต่ประชาชนสามัญทั่วไป ไปจนถึงนักการเมือง แถมยังเลี้ยวเข้าไปในวัดวาอารามทั้งหลายด้วยหลายแห่ง

จะผิดถูกหรือเหมาะสมประการใด ผมไม่ใช่ผู้พิพากษาศาลเตี้ยที่จะได้วินิจฉัยชี้ขาดอะไรได้ตามใจ

พูดมาแค่นี้ก็ต้องถือว่าแย้มปากเห็นไรฟันเข้าไปตั้งเยอะแล้ว ฮา!

และพูดไปทำไมมี เรื่องของเรื่องมันอยู่ตรงความพอดี และต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ในสังคมไทยที่มีความเชื่อหลากหลาย จะไปบอกว่าความเชื่อของเราเป็นฝ่ายถูกอยู่คนเดียว ความเชื่อแบบของคนอื่นเป็นอันผิดหมด ทำแบบนี้ก็ต้องยกพวกเข้าทำสงครามศาสนากันล่ะ

ไม่ต้องยกตัวอย่างอื่นไกล พูดถึงความเชื่อในบ้านของผมเองก็แล้วกัน

 

ตลอดชีวิตที่ผ่านมาจนกระทั่งแม่ของผมเสียชีวิตไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน ผมน่าจะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าแม่ของผมเป็นพุทธศาสนิกชนที่อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้เลยทีเดียว ตั้งแต่แม่ใส่บาตรเป็นประจำ บำเพ็ญกุศลตามวาระโอกาสต่างๆ ไม่เคยละเลย

เมื่อแม่อยู่ในวัยกลางคน แม่ได้เริ่มนั่งสมาธิตามคำสอนของพระเถระที่แม่นับถือว่าเป็นครูบาอาจารย์หลายรูป บางคราวแม่ไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่าในภาคอีสาน

ก่อนเสียชีวิตไม่นานแม่ปลาบปลื้มมากที่ได้ไปอินเดียเพื่อไปกราบสังเวชนียสถานที่สมเด็จพระบรมศาสดาของชาวเราท่านตรัสรู้และแสดงปฐมเทศนา

ท้ายที่สุดแม่ได้สร้างพระพุทธรูปเพื่อถวายเป็นพระประธานสำหรับวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์

นอกจากนั้น ในการครองชีวิตและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกครั้งคราว แม่ก็ได้ใช้ธรรมะในพระพุทธศาสนามาสอนใจตัวท่านเอง

ทำให้สามารถประคับประคองใจ ประคับประคองตัว ให้รอดพ้นอุปสรรคต่างๆ มาได้ด้วยความเรียบร้อย

 

แต่นั่นแหละครับ ต้องไม่ลืมว่าในขณะที่แม่เป็นพุทธศาสนิกชนที่สอบผ่านเกณฑ์ดังว่า แม่ก็ยังเป็นคนไทยคนหนึ่งที่แวดล้อมด้วยบรรยากาศของความเป็นไทยแบบของเรา

นั่นหมายความว่าแม่ไปดูหมอเป็นบางครั้งบางคราว และแน่นอนว่าบางครั้งแม่ก็ชวนผมไปดูหมอด้วย

ลูกกตัญญูอย่างผมจะไปขัดใจแม่ได้อย่างไร อิอิ

นอกจากนั้น นานปีจะมีสักครั้งหนึ่งที่แม่คิดบนบานศาลกล่าวเพื่อให้ความหวังของแม่สมปรารถนา การบนบานของแม่ไม่เคยมีที่อื่นใด นอกจากการบนพระแก้วมรกต หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรซึ่งเป็นสุดยอดแห่งความเคารพบูชาของคนไทย

ทุกครั้งที่ผมไปวัดพระแก้วจะเห็นว่าบริเวณด้านหน้าพระอุโบสถ มีผู้นิยมนำไข่ต้มจำนวนมากมา “แก้บน” กับพระแก้ว และถ้าจะให้สมบูรณ์แบบครบตามสูตร ว่ากันว่าต้องมีปลาร้าคู่มากับไข่ต้มด้วย

มีอรรถาธิบายว่า พระแก้วมรกตท่านไปประดิษฐานอยู่ที่เวียงจันทน์มาช้านาน ผมไม่แน่ใจ 100% ว่าพระแก้วมรกตเองหรือเทวดาที่เฝ้ารักษาพระแก้วมรกตกันแน่ที่คุ้นเคยกับไข่ต้มและปลาร้าซึ่งเป็นของพื้นเมืองทางนั้น

นี่แปลว่าในเวลาที่ไปกราบพระแก้วมรกต คนไทยจำนวนไม่น้อยมีมุมมองหรือทัศนะอย่างน้อยสองอย่างเจือสมกันอยู่

 

มุมมองที่หนึ่ง คือกราบท่านในฐานะที่เป็นรูปพระพุทธปฏิมาแทนองค์สมเด็จพระบรมศาสดา กราบแล้วควรนึกถึงพระรัตนตรัย นึกถึงคำสั่งสอนที่เป็นพระธรรมของท่าน กราบแล้วก็เห็นว่าเป็นสิริมงคลตามแนวทางพระพุทธศาสนา

มุมมองที่สอง คือกราบท่านในฐานะรูปเคารพศักดิ์สิทธิ์ สามารถดลบันดาลให้เราก้าวข้ามพ้นอุปสรรค พบความสำเร็จได้ดังที่ตั้งใจปรารถนา

สัดส่วนที่ประสมกันอยู่ระหว่างความคิดสองกระแสนี้ไม่สามารถพิสูจน์ชี้ขาดได้ว่าอะไรยิ่งหย่อนกว่ากัน ชะดีชะร้าย แม้สำหรับผู้ไปกราบไหว้เอง แต่ละวัน ในแต่ละเหตุการณ์ จิตใจคนคนเดียวกันอาจจะคิดไม่เหมือนกันก็ได้

เวลาผู้แก้บนนำไข่ต้มไปถวายพระแก้วมรกต ในทางปฏิบัติก็นำไปตั้งวางไว้ที่บริเวณแท่นสักการบูชาด้านหน้าพระอุโบสถ ไม่ได้เข้าไปตั้งวางไว้ถึงภายในพระอุโบสถ ตามวิธีการที่ผมเคยเห็นแม่ผมได้ปฏิบัติมา เมื่อนำไข่ต้มจำนวนมากซึ่งอยู่ในภาชนะที่เหมาะสมไปวางไว้ในที่อันสมควรแล้ว แม่จะจุดธูปเทียนน้อมถวายไข่จำนวนนั้นเป็นการแก้บน จากนั้นแม่จะนั่งเฝ้าอยู่เป็นระยะเวลาพอสมควร รอจนธูปหมดดอก เป็นอันเสร็จพิธี

ไข่ต้มที่ถวายพระแก้วแล้ว แม่จะลาและนำมาทำเป็นอาหาร เช่น ไข่พะโล้ใส่บาตรพระในวันรุ่งขึ้น หรือแจกเป็นทานแก่คนทั่วไป

แนวปฏิบัติของแม่ผมจะเหมือนกับของคนอื่นที่บนพระแก้วเหมือนกันหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ แต่น่าจะถือหลักว่า แม้ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงล่ะครับ

 

ดังนี้ พระพุทธรูปที่เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองอย่างพระแก้วมรกต นอกจากความหมายในฐานะรูปแทนพระองค์พระศาสดา หรือเป็นงานพุทธศิลป์ชั้นยอดแล้ว ท่านยังมีตำแหน่งพิเศษในใจคนจำนวนมากในฐานะที่พึ่งช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่เขาด้วย

ลองนึกดูให้ไกลกว่าพระแก้วมรกตไปอีกหน่อยไหมครับ

ไปแค่แปดริ้วหรือฉะเชิงเทรานี่เอง เราจะพบว่ามีหลวงพ่อโสธรหรือพระพุทธโสธรเป็นพระมิ่งเมืองและเป็นที่เคารพสักการะของผู้คนมาช้านานแล้ว

ในแง่มุมของการบนบานศาลกล่าว คนทั้งหลายก็นำไข่ต้มไปถวายหลวงพ่อเหมือนกัน แต่ผมยังนึกคำอธิบายไม่ออกว่าทำไมถึงต้องเป็นไข่ต้ม แต่ไม่เป็นไรครับ ถวายกันมาช้านานแล้ว เราก็ถวายกันต่อไป

นอกจากนั้น ยังมีการถวายละครเป็นการแก้บนหลวงพ่อด้วย

ต้องขออภัยที่ผมไม่เคยพินิจพิจารณาว่าละครที่ว่านั้นเล่นเรื่องอะไรหรือเล่นจนตลอดเรื่องหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่การจับระบำตอนใดตอนหนึ่งจากละครยอดฮิตทั้งหลาย ความรู้จึงจำกัดอยู่เพียงแค่มีละครแก้บน และมีคนจำนวนไม่น้อยประกอบอาชีพด้วยการเป็นคณะละครแก้บนถวายหลวงพ่อ

 

พูดถึงเฉพาะกรณีหลวงพ่อโสธร ไม่กี่วันมานี้ผมได้สนทนากับรุ่นน้องคนหนึ่งที่คุ้นเคยกันมานานและเป็นผู้ที่มีความสนใจศึกษาในเรื่องทางศาสนาและความเชื่อต่างๆ ของสังคมไทย

เขาตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่มีการสร้างพระวิหารองค์ใหม่ถวายหลวงพ่อแล้ว ได้มีการจัดระเบียบการปฎิบัติหลายอย่างที่ทำให้หลวงพ่อโสธรมีระยะห่างจากผู้คนทั้งหลายมากกว่าเดิม เป็นต้นว่า เราไม่อาจนำไข่ต้มไปถวายหลวงพ่อข้างในพระวิหารได้แล้ว หากต้องนำไข่ต้มไปวางถวายไว้ที่อาคารอีกหลังหนึ่งซึ่งแม้จะอยู่ในบริเวณวัดก็ตาม แต่ชาวบ้านไม่ได้ใกล้ชิดสนิทสนมกับหลวงพ่ออย่างที่เคยปฏิบัติได้ในอดีตได้ต่อไป

ละครแก้บนก็เหมือนกัน โรงละครแก้บนอยู่ห่างไกลจนกระทั่งคนที่ไปแก้บนหลายคนนึกเป็นห่วงว่า แล้วหลวงพ่อท่านจะเห็นละครหรือ

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องถือว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยทางจิตใจ คือ การปิดทองที่องค์หลวงพ่อโสธร เรื่องนี้มีมุมมองที่ต้องระมัดระวังมาก เพราะแต่เดิมประชาชนทั้งหลายสามารถเข้าไปปิดทองที่องค์หลวงพ่อได้ ปิดเสียจนทองนั้นพอกพูนขึ้นมาทำให้ไม่สามารถเห็นองค์หลวงพ่อที่แท้ได้

เวลานี้หลวงพ่อโสธรองค์ที่ประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร สาธุชนได้แต่เพียงไปกราบไหว้สักการะ แต่เข้าไปปิดทองถึงองค์ท่านไม่ได้ ถ้าอยากปิดทองก็ต้องไปปิดอีกองค์หนึ่งที่เป็นองค์จำลองและประดิษฐานอยู่ที่อาคารอีกหลังหนึ่งซึ่งไม่ใช่พระวิหารหลังเดียวกันกับหลวงพ่อของแท้

ไปๆ มาๆ หลายคนเริ่มนึกเสียแล้วว่าหลวงพ่อองค์ที่ปิดทองได้เป็นองค์จริง ยุ่งล่ะสิ

 

ที่พูดพร่ำเพ้อมาทั้งหมดนี้ ผมไม่มีปัญญาจะบอกหรอกครับว่าต้องแก้ไขหรือปรับปรุงอะไรหรือไม่ หรือที่ทำอยู่ปัจจุบันเป็นของดีเหมาะสมแล้ว

เพียงแต่อยากจะทำให้เห็นประเด็นว่า พระพุทธรูปตลอดถึงรูปเคารพต่างๆ ในศาสนาอะไรก็ดี จะเป็นที่เลื่อมใสของผู้คนและมีตำแหน่งพิเศษอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของคนทั้งหลายได้ ท่านต้องอยู่ใกล้ชิดกับประชาชน ประชาชนสัมผัสได้ เข้าถึงได้ และรู้สึกว่าเขามีส่วนเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ

พระพุทธรูปหรือรูปเคารพที่ประชาชนผูกพันกราบไหว้กันทุกเมื่อเชื่อวัน เปรียบไปก็เสมือนว่าท่านได้ชาร์จพลังงานเพิ่มเติมทุกวันเหมือนกัน

แต่ถ้าขาดคุณสมบัติหรือลักษณะอย่างนี้ไปแล้ว พระพุทธรูปหรือรูปเคารพเหล่านั้นก็จะมีคุณค่าเป็นแต่เพียงงานศิลปะที่น่าชื่นชมจากยุคสมัยต่างๆ สำหรับตั้งไว้ให้คนชื่นชมอยู่ในพิพิธภัณฑ์นานาประเทศเท่านั้น

การหาจุดหรือตำแหน่งความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างพระพุทธรูปกับคนที่อยากกราบพระพุทธรูปจึงท้าทายสติปัญญาของผู้คนที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง

นัดกันไปกราบหลวงพ่อโสธรที่แปดริ้วกันสักวันหนึ่ง ดีไหมครับ

เผื่อจะนึกอะไรออกมากกว่านี้