วิถี หนังสือพิมพ์ เส้นทาง สุจิตต์ วงษ์เทศ เดินสู่ ‘สยามรัฐ’

บทความพิเศษ

 

วิถี หนังสือพิมพ์

เส้นทาง สุจิตต์ วงษ์เทศ

เดินสู่ ‘สยามรัฐ’

 

ไม่ว่า “สยามรัฐ” รายวัน ไม่ว่า “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ไม่ว่านิตยสาร “ชาวกรุง” ล้วนได้รับการเยี่ยมเยือนจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ

ที่ “สยามรัฐ” รายวัน เป็นบทความ ท.บ้านด่าน

ที่ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” เป็นเรื่องสั้นในชุด “ขุนเดช” ตีคู่มากับ ณรงค์ จันทร์เรือง “สุวรรณี” และ เพ็ญแข ศุกรสูยานนท์

ที่ “ชาวกรุง” หลายคนไม่ลืมบทความเรื่อง “เอ๋งติ๋งห้าว”

อย่าได้แปลกใจขณะที่ ขรรค์ชัย บุนปาน กับ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ได้รับเทียบเชิญจาก ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) เข้าไปประจำการในนิตยสาร “ประจำเดือน”

สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้รับการทาบทามจาก นพพร บุณยฤทธิ์

การมาเยือนสำนักงาน ณ อาคาร 6 ริมถนนราชดำเนินของ สุจิตต์ วงษ์เทศ จึงเป็น “ชาวกรุง”

ยังมิใช่ “สยามรัฐ” รายวัน

 

ผ่านประตู ชาวกรุง

กับ นพพร บุณยฤทธิ์

กระนั้น การมาของ สุจิตต์ วงษ์เทศ น่าจะเป็นการส่ง “สัญญาณ” แห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะตามมาในอีกไม่นาน

เพราะสถานีต่อไปของ นพพร บุณยฤทธิ์ คือ “สยามรัฐ” รายวัน

นั่นแสดงให้เห็นว่า นพพร บุณยฤทธิ์ ในฐานะ “สายตรง” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช น่าจะรับทราบ “ล่วงหน้า” แล้ว

เพราะต่อมาก็มอบตำแหน่งบรรณาธิการ “ชาวกรุง” ให้ ประมูล อุณหธูป

เพราะต่อมา นพพร บุณยฤทธิ์ ก็เข้าดำรงตำแหน่งเป็น “บรรณาธิการ” หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” รายวัน

โดยมี สุจิตต์ วงษ์เทศ อยู่ในฐานะ “มือขวา”

เมื่อ นพพร บุณยฤทธิ์ เป็นบรรณาธิการ “สยามรัฐ” รายวัน ประจวบ ทองอุไร ก็โยกเป็นบรรณาธิการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์”

นี่ย่อมเป็นเวลาที่ ขรรค์ชัย บุนปาน จักต้องมา

 

เมื่อ สุจิตต์ นำร่อง

ขรรค์ชัย บุนปาน ตาม

เส้นทางของ ขรรค์ชัย บุนปาน อาจคดเคี้ยวมากหน่อยเพราะปักหลักอยู่ที่นิตยสารรายประจำเดือน ณ ละแวกเฟื่องนคร อย่างยาวนาน

เมื่อได้เป็น “บัณฑิต” จากมหาวิทยาลัยศิลปากรอย่างเต็มรูปแบบ

งานแรกคือ การเข้าเป็นอาจารย์สอนภาษาไทย ณ โรงเรียนมาร์แตเดอี ย่านเพลินจิต ราชประสงค์

เป็นอยู่ระยะสั้นก่อนชีพจรลงเท้า

เนื่องจากได้รับการทาบทามจาก “เซ็นทรัล ดีพาร์ตเมนต์สโตร์” ให้รับผิดชอบเรื่องการเขียนคำ “โฆษณา”

แสดง “ฝีมือ” อยู่ไม่กี่ครั้งก็ต้อง “จร”

ในเมื่อทั้ง นพพร บุณยฤทธิ์ และ สุจิตต์ วงษ์เทศ ยืนยันอย่างหนักแน่นและจริงจังว่าควรจะประจำการที่ “สยามรัฐ” รายวัน

นั่นแหละ “สองกุมารสยาม” จึงต้องนั่ง “หันหลังชนกัน”

 

เล่นบท เสมอนอก

แล้วเข้าสู่ “วงใน”

ไม่ว่าจะเป็น สุจิตต์ วงษ์เทศ ไม่ว่าจะเป็น ขรรค์ชัย บุนปาน ต้องยอมรับว่าฉับไวอย่างยิ่งในการเรียนรู้

รุ่นพี่ที่ 2 คนนี้สนิทสนมคือ อนันต์ สายศิริวิทย์

เป็นการสนิทตั้งแต่ อนันต์ สายศิริวิทย์ เรียนอยู่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา และเมื่อเรียนจบก็เข้าทำงานที่ “สยามรัฐ”

เป็น “นักข่าว” สายการเมืองที่มีชีวิตโลดโผนอย่างยิ่ง

แม้ อนันต์ สายศิริวิทย์ จะเข้า “สยามรัฐ” ก่อนและได้รับความไว้วางใจจากบรรณาธิการให้เปิดคอลัมน์ “การเมือง”

แต่ก็มิได้เป็น “วงใน” เท่ากับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน

กระบวนท่าของ สุจิตต์ วงษ์เทศ กับ กระบวนท่าของ ขรรค์ชัย บุนปาน มีความแตกต่างกัน แต่ก็เป็นความแตกต่างอย่างกลมกลืน

สุจิตต์ วงษ์เทศ หนักไปทาง “วิชาการ” ชอบ “ค้นคว้า” อย่างมีสมาธิ

ขรรค์ชัย บุนปาน หนักไปทางการเป็น “นักข่าว” เข้าหาผู้คนได้กลมกลืน รวดเร็วและสร้างความไว้วางใจได้เป็นอย่างสูง

บทบาทของ 2 คนนี้เป็นบทบาท “บรรณาธิการบริหาร”

 

เส้นสน กลพลิกแพลง

อนันต์ สายศิริวิทย์

ความที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ มีความสนิทสนมกับ อนันต์ สายศิริวิทย์ อย่างเป็นพิเศษ เส้นทางของ อนันต์ สายศิริวิทย์ จึงเป็นเส้นทางแบบใหม่

เพราะ อนันต์ สายศิริวิทย์ คุ้นเคยกับ “พรรคประชาธิปัตย์”

คอลัมน์ “หัตถาธิปไตย” ของ อนันต์ สายศิริวิทย์ จึงเอนไปทางพรรคประชาธิปัตย์และลงลึกไปถึง “สารพรรคประชาธิปัตย์”

นี่เป็นความลับที่ อนันต์ สายศิริวิทย์ ปิด “ลับ” อย่างดียิ่ง

แต่คนที่รับรู้อย่างต่อเนื่องกลับเป็น สุจิตต์ วงษ์เทศ กลับเป็น ขรรค์ชัย บุนปาน และรวมถึง มหามานิตย์ สังวาลย์เพชร

โลกของ สุจิตต์ วงษ์เทศ โลกของ ขรรค์ชัย บุนปาน จึงกว้างขึ้น

และคนที่เปิด “โลกกว้าง” ให้กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ และ ขรรค์ชัย บุนปาน อีกผู้หนึ่งย่อมเป็น สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น เจ้าของนามปากกา “กาแฟดำ”

เส้นทาง โลดโผน

กับ สุทธิชัย หยุ่น

สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน คบหากับ สุทธิชัย หยุ่น ในสถานะแห่ง “เกลอ” ตั้งแต่ สุทธิชัย หยุ่น นั่งทำงานอยู่ “บางกอกโพสต์”

สำนักงาน “บางกอกโพสต์” กับ “สยามรัฐ” ไม่ห่างกันนัก

สุทธิชัย หยุ่น เอง ก็เขียนคอลัมน์ในชื่อ “กาแฟดำ” ตั้งแต่อยู่ “บางกอกโพสต์” และต่อเนื่องจนถึงยุค เดอะ เนชั่น

ตอนคิดทำ เดอะ เนชั่น ก็ดึง “เพื่อนฝูง” หลายคนเข้าร่วม “ระดมทุน”

ความสัมพันธ์ระหว่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน กับ สุทธิชัย หยุ่น เป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนาน

แต่ละคนล้วนอยู่ในสถานะ “ดาวฤกษ์” และมีเส้นทาง “โคจร” ของตนเอง

น่าสังเกตว่า สถานี “กลาง” ในการเผยแพร่ผลงานนอกเหนือจากสำนักที่ปักหลักอยู่เป็นประจำแล้ว ยังได้รับการเผื่อแผ่จาก สุทธิชัย หยุ่น ด้วย

ต้องยอมรับว่า การประจำการอยู่ “สยามรัฐ” เป็นช่วงแห่งการสะสม “บารมี”

 

มหาวิทยาลัย ราชดำเนิน

ตลาดวิชา “สวนพลู”

ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า “สยามรัฐ” ได้รับการเรียกขานว่าเป็น “มหาวิทยาลัย” อันเปี่ยมด้วยภูมิปัญญา

โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็น “อธิการบดี”

โดยมีนักหนังสือพิมพ์มือฉมังไม่ว่าจะเป็น ประหยัด ศ. นาคะนาท ไม่ว่าจะเป็น ประมูล อุณหธูป ไม่ว่าจะเป็น ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

ยังนักเขียนอย่าง “ตาหมอหลอ” อย่าง มานิตย์ สังวาลย์เพชร

ยังบรรณาธิการระดับ ประจวบ ทองอุไร นพพร บุณยฤทธิ์ จำรัส ดวงธิสาร และ ชะลอ อยู่เย็น

ยังนักเขียนระดับ วสิษฐ เดชกุญชร ระดับ “จิ๋ว บางซื่อ”

การเข้าไปอยู่ในแก่นอันเป็น “หัวใจ” ของ “สยามรัฐ” จึงเป็นโอกาสอันยอดเยี่ยมยิ่งสำหรับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน

ที่สำคัญเป็นการดำรงอยู่ในจุดแห่งความเป็น “บรรณาธิการ”

 

เครือข่าย สายสัมพันธ์

ช่อฟ้า ถึง สยามรัฐ

ไม่ว่า สุจิตต์ วงษ์เทศ ไม่ว่า ขรรค์ชัย บุนปาน เมื่อได้รับความไว้วางใจจาก นพพร บุณยฤทธิ์

นั่นหมายถึงได้รับจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ด้วย

เด่นชัดอย่างยิ่งว่า ท่วงทำนองแห่งการพูด ท่วงทำนองแห่งการดำเนินรายการ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้มาในแบบ “ครูพักลักจำ”

แม้กระทั่ง “น้ำเสียง” ก็แทบไม่ต่างไปจาก “อาจารย์”

ครั้งหนึ่ง สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้รับการเชื้อเชิญจาก พ.อ.เล็ก สุนทรศร และ ร.อ.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ให้ไปจัดรายการวิทยุที่ “ยานเกราะ”

หลายคนฟังเสียงแล้วยอมรับว่าละม้ายเหมือนกับ “อาจารย์” แต่สดกว่า หนุ่มกว่า

นั่นก็ได้จากวิทยาเขต ตลาดวิชา ซอยสวนพลู