ซมเซยครูดี สะบายดี เซกอง (1) WELCOME TO LAOS

สมหมาย ปาริจฉัตต์

บทความพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

ซมเซยครูดี

สะบายดี เซกอง (1)

WELCOME TO LAOS

 

ข้อความหน้าบัตรแจ้งเข้าเมือง ประเทศลาวในชื่อทางการ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เชิญชวนให้นักเดินทางคนแล้วคนเล่าพลิกกลับไปมา ชมภาพอันสวยงาม ธาตุหลวง, หอพระแก้ว, กรุงเวียงจันทน์, วัดเชียงทอง, แขวงหลวงพระบาง, ปราสาทวัดพู, แขวงจำปาศักดิ์, ทุ่งไหหิน, แขวงเชียงขวาง ก่อนกรอกรายละเอียดส่วนตัวและจุดประสงค์การเดินทาง หน้าในให้ครบถ้วน

แผ่นหลังเป็นภาพเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงธาตุหลวง สปป.ลาว ตึกสูงหลายร้อยแท่งเรียงรายรอบบึงน้ำใหญ่ บรรยายภาษาอังกฤษ International New City in Capital of Laos The Only Special Economic Zone in the Center of Vientiane City ควบคู่ภาษาจีน

เป็นสัญญาณบ่งบอกให้รับรู้ว่า ลาวยุคใหม่ 5 G กำลังเร่งเครื่องจักรเศรษฐกิจขนานใหญ่ ทั้งการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน

ขณะเครื่องบินสายการบินแอร์เอเชีย เที่ยวบินดอนเมือง-เวียงจันทน์ กำลังลดระดับสู่สนามบินนานาชาติวัดไต มองผ่านม่านเมฆลงไปเบื้องล่าง พื้นดินกว้างใหญ่ เขียวครึ้มขจี ถนนหลายสายเชื่อมโยงต่อกันยาวเหยียด บางจุดปรากฏร่องรอยสีแดงหม่นบ้าง อาคารบ้านเรือนใหม่สร้างด้วยคอนกรีตกระจายอยู่ทั่วไป

กัปตันลงจอดด้วยความราบรื่น ผู้โดยสารเต็มลำทยอยลงตามลำดับ เสียงทักทายภาษาลาว เวียดนาม จีน อังกฤษ และไทยดังให้ได้ยินเป็นระยะ

โฆษณาเบียร์ลาว คนจิงใจ อยู่ไสก็มีสะเน่

กลุ่มหนึ่งในนั้นเป็นคณะมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นำโดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิฯ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงศึกษาธิการ

นักการศึกษาไทยเลื่องชื่อ ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้จัดการมูลนิธิฯ ดร.จักรพรรดิ วะทา อดีตเลขาธิการคุรุสภา ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กศส.) นางชัดเจน ไทยแท้ อดีตศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ นายสรรชัย หนองตรุต รองผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ ดร.อัญชลี เกษสุริยงค์ อดีตศึกษานิเทศก์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายบวรศักดิ์ เพชรานนท์ รองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุน มูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นายสันติพงษ์ ช้างเผือก ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ สถานีโทรทัศน์ไทย พีบีเอส

ผศ.ดร.อมรวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา ดร.ชวพันธุ์ เพชรไกร อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผม นักสังเกตการณ์ทางการศึกษาในฐานะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ติดตามไปในเช้าวันรุ่งขึ้น

ทั้งหมดเดินทางมาปฏิบัติภารกิจด้านการศึกษาเป็นหลัก เสริมสร้างสายสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างลาว-ไทย ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

จุดหมายปลายทางคือ โรงเรียนประถมสมบูรณ์ บ้านเพยใหม่ เมืองละมาม แขวงเซกอง ที่ทำงานของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สปป.ลาว คนที่ 5 ล่าสุด ครูเป็นใคร เหตุใดถึงเรียกโรงเรียนประถมสมบูรณ์ และคณะเราไปทำอะไรกันที่นั่น ค่อยเว้ากันต่อไป

 

แขวงเซกองตั้งอยู่ตอนใต้ของประเทศลาว เขตติดต่อจากแขวงจำปาศักดิ์ตรงข้ามจังหวัดอุบลราชธานี เป็น 1 ในแขวงหรือจังหวัดของลาวซึ่งมีทั้งหมด 16 แขวง กับ 1 เขตปกครองพิเศษ คือ นครหลวงเวียงจันทน์ พื้นที่เมืองหลวงชั้นใน ขณะที่พื้นที่รอบนอกแยกเป็นอีกหนึ่งแขวงต่างหาก คือ กำแพงนครเวียงจันทน์

นักเดินทางบางคนคิดว่านครหลวงเวียงจันทน์กับกำแพงนครเวียงจันทน์เป็นที่เดียวกันเพียงแต่เรียกชื่อต่างกัน ความจริงเป็นคนละแขวง นครหลวงเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวง ศูนย์กลางการบริหารประเทศทุกด้าน จึงประกาศเป็นเขตปกครองพิเศษ

ทำนองเดียวกัน นักเดินทางไม่น้อยสับสนระหว่างเขตปกครองพิเศษกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ คิดว่าเป็นพื้นที่เดียวกัน

เขตปกครองพิเศษของลาวมีเขตเดียว ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเขตที่จัดตั้งเพื่อส่งเสริมการลงทุน ได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ จากรัฐ มีทั้งที่จัดตั้งโดยรัฐและเอกชน กระจายอยู่ทั่วประเทศ ลาวมีพื้นที่ทั้งหมด 236,800 ตารางกิโลเมตร ประชากร ณ พ.ศ.2562 จำนวน 7.23 ล้านคน การรุกคืบของทุนนิยมระบบตลาดยังคงเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะทุนจีนเป็นหัวเรือใหญ่

ทางด้านเศรษฐกิจ ลาวประกาศตำแหน่งประเทศเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชียแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าออกจำหน่ายเป็นรายได้หลัก และประกาศปีแห่งการท่องเที่ยว Visit Laos Simply Beautiful ตั้งแต่ พ.ศ.2555 เรื่อยมา

เวียงจันทน์ยามราตรี

การขยายตัวของเศรษฐกิจจึงเป็นที่มาของป้ายโฆษณาแสงไฟสีสดใสทั่วสนามบินและริมถนนใหญ่ ด้วยสำนวนบรรยายภาษาลาว ละมุนละไม น่าอ่าน ชวนให้ผู้มาเยือนแปลความลาวเป็นไทย ไทยเป็นลาว ไปตลอดทางอย่างสนุกสนาน

วันนี้ภาษาโฆษณาก้าวไปไกลอีกระดับหนึ่ง พูดถึงเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ย้ำเตือนให้บริษัทธุรกิจ นักลงทุนคิดถึงสิ่งแวดล้อม เช่น “ทางเลือกที่ดีกว่าสู่ความยั่งยืน เลือกบันดาธุรกิจที่ผ่านการยั่งยืน ความยืนยง”

“Make better choices for sustainability Choose Certified Sustainable Business”

อีกป้ายถัดไป ภาพหนุ่มสาวลาวกำลังหยอกล้อ ด้านหลังเป็นรูปกระป๋องเบียร์ “เบียลาว” ด้านล่างเขียนว่า “คนจริงใจอยู่ไสก็มีสะเน่” โดนใจจริงๆ

ผมรีบกดโทรศัพท์บันทึกภาพลงอัลบั้มทันที ในใจนึกถึงคำคม 6 ส. ของลาว ส.สอาด ส.สว่าง ส.สงบ ส.สีเขียว ส.ศิวิไล ส.สะเน่ ขณะที่ไทยมี 5 ส. ส.สะสาง ส.สะอาด ส.สร้างนิสัย ส.สะดวก ส.สุขลักษณะ

คิดย้อนไปถึงหลักการจัดการศึกษาของลาว เน้นพัฒนา 5 องค์ประกอบ ได้แก่ คุณสมบัติศึกษา ปัญญาศึกษา ศิลปศึกษา พลศึกษา และแรงงานศึกษา

ส่วนของไทย มี 4 องค์ประกอบ พุทธิศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา และหัตถศึกษา

ระหว่างนั่งรถไปสมทบกับคณะใหญ่ที่กำลังรอไปปฏิบัติภารกิจแรกของเช้าวันแรก มองผ่านสองข้างทาง ธงชาติลาว แถบสีแดงใหญ่ประกบน้ำเงิน ตรงกลางเป็นรูปวงกลมสีขาว ปักคู่กับธงสีแดง กลางผืนเป็นรูปค้อนเคียวสีเหลืองไขว้กัน สัญลักษณ์พรรคประชาชนปฏิวัติ พรรคการเมืองพรรคเดียวของลาวที่มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2518 ถึงปัจจุบัน ท่านทองลุน สีสุลิด เลขาธิการพรรค ดำรงตำแหน่งประธานประเทศ ท่านสอนไช สีพันดอน เป็นนายกรัฐมนตรี

แม้ลาวจะเปิดประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจ “จินตนาการใหม่” จนเติบโตขยายตัวมาตลอดกว่ายี่สิบปีที่ผ่านมา ในทางการเมืองกลิ่นอายสังคมนิยมในนามของระบอบประชาธิปไตยประชาชน ยังคงอยู่อย่างมั่นคง

แต่เพราะความใกล้ชิดสนิทสนม คุ้นเคย วัฒนธรรมประเพณีคล้ายคลึงระหว่างสองชาติ ไทย-ลาว ดำเนินมายาวนานตั้งแต่อดีต ทำให้นักเดินทางโดยเฉพาะคนไทยไม่ค่อยรู้สึกว่า ความแตกต่างเรื่องระบอบการปกครองจะเป็นอุปสรรคขวางกั้นการท่องเที่ยวไปมาหาสู่ระหว่างกัน บนความสัมพันธ์แบบญาติมิตร

การเยี่ยมยามลาว เยือนครู นักเรียน โรงเรียน และผู้คนในชุมชนของคณะมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเที่ยวนี้จึงเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ หยอกเอินอันอบอุ่น ตำจอกเป็นกันเองตลอดทุกรายการ ตั้งแต่จุดแรกใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ ใกล้หอคำ ทำเนียบประธานประเทศ และหอพระแก้ว

คณะไปที่ไหน พบใคร พูดคุยกันเรื่องอะไร ทั้งเจ้าภาพลาว ทั้งแขกไทย โอ้โลม ฮับต้อนกันอย่างสนิทสนมแค่ไหน

โปรดติดตาม