‘เวียงควก’ วัดร้างผ้าขาว ปราสาทตาพรหมแห่งล้านนา

เพ็ญสุภา สุขคตะ

“เวียงควก” บ้างเรียก เวียงครก/เวียงควัก/เหมืองกวัก ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของเทศบาลตำบลบ้านแป้น และ อบต.หนองหนาม (ทั้งสอง อปท.นี้ สังกัดเขตอำเภอเมืองลำพูน ยังไม่ได้เข้าเขตอำเภอป่าซาง) เป็นอีกหนึ่งเวียงเล็กเวียงน้อยที่ช่วยกันประกอบสร้างให้เกิดจิ๊กซอว์ภาพใหญ่ เห็นพัฒนาการของความเป็นเมืองลำพูนหรือนครหริภุญไชยแถบลุ่มน้ำแม่ทาได้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

เชื่อว่าเมื่อพูดถึงทั้งคำว่า “เวียงควก” ก็ดี หรือ “ข่วงชุมแก้ว” ก็ดี คนลำพูนแทบไม่มีใครรู้จัก เพราะเป็นชื่อเก่าที่หายสาบสูญไปแล้ว

แต่หากดิฉันบอกว่า ก็หมายถึงบริเวณ “วัดหนองหนาม” ในปัจจุบันไงเล่า กับเขตซากโบราณสถาน “วัดผ้าขาวร้าง” เองนั่นไง บางท่านอาจพอพยักหน้าว่า อ๋อ! ซากวัดร้างที่มีต้นไทรไกรกร่างปกคลุมอยู่กลางป่ากลางทุ่ง ที่เราเคยเรียกว่า “วัดผ้าขาวร้าง” ใช่ไหม?

ใช่ค่ะ! วัดผ้าขาวแห่งนี้ร้างไปนานแล้ว ส่วนที่มาของคำว่า “ผ้าขาว” นี้ชาวบ้านสันนิษฐานว่า เป็นจุดที่พระนางจามเทวีมาบำเพ็ญธรรมนุ่งขาวห่มขาวที่นี่ หลังจาก “ปลงเมือง” หรือสละราชสมบัติให้แก่โอรสแฝดพี่ เจ้ามหันตยศ พระแม่เจ้าก็หันมาปฏิบัติธรรมตลอดชีพ เรื่องนี้ยังไม่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่แน่ชัดนัก หากเป็นมุขปาฐะ เรื่องเล่าสืบต่อๆ กันมา

วัดร้างผ้าขาว ไม่ไกลจากวัดหนองหนาม เคยเป็นศาสนสถานสำคัญของ “เวียงควก” หรืออาจเป็นใจกลาง “วัดข่วงชุมแก้ว”

เนื่องมาจากบริเวณนี้ ในอดีตช่วงวันพระใหญ่ ผู้คนจะเห็นผู้หญิงวัยกลางคน ใบหน้าคล้ายกับอนุสาวรีย์ของพระแม่เจ้าที่กาดหนองดอก สวมขุดขาวแบบอุบาสิกาหรือแม่ขาว เดินเวียนเทียนรอบต้นไม้ใหญ่นี้

ชาวบ้านทั้งปีติ ทั้งกลัว ใครก็ไม่กล้าเข้าใกล้ เว้นแต่เหล่าชีปะขาว พระธุดงค์ในสายนุ่งขาวห่มขาวเท่านั้น ที่เข้าไปนั่งกัมมัฏฐานบริเวณนี้

แต่ในที่สุด ก็มีมิจฉาชีพแอบลักขุดโบราณสถานโบราณวัตถุกระจุยกระจายหมดแล้ว ทั้งๆ ที่สมัยที่ดิฉันยังทำงานในกรมศิลปากรได้เข้าไปห้ามปราม และได้จัดทำทะเบียนโบราณสถานร้างนำเสนอต่อสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ (ปัจจุบันคือสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่) เพื่อให้ความคุ้มครอง แต่พวกมิจฉาชีพก็มิได้ยำเกรง

แผ่นแบนเนอร์ที่ใช้ประชาสัมพันธ์ในสื่อออนไลน์เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คนทั่วไปให้หันมามองและตั้งคำถามกับเวียงควกว่าคืออะไร อยู่ที่ไหน และจะคล้ายกับปราสาทตาพรหมอันมีชื่อเสียงจริงไหม?

“เวียงควก” กับ “ข่วงชุมแก้ว”

อีกชื่อหนึ่งของ “เวียงควก” มีชื่อว่า “ข่วงชุมแก้ว” อันเป็นชื่อโบราณที่หายสาบสูญ ชาวบ้านรู้จักเพียงแต่คำว่า วัดหนองหนาม อันเป็นการเรียกชื่อตามสภาพภูมิศาสตร์

ในความเป็นจริง กรมศิลปากรได้พบศิลาจารึกหลักหนึ่งใกล้กับวัดหนองหนาม เนื้อจารึกทำด้วยหินแปรสีดำขัดมัน จารึกหลักนี้ค่อนข้างบางและจัดวางองค์ประกอบของการผูกดวงฤกษ์ยามตอนต้นก่อนขึ้นข้อความได้งดงามมาก

แผ่นจารึกมีขนาดกว้าง 33.5 ซ.ม. สูง 61 ซ.ม. หนา 19 ซ.ม. ได้รับการขึ้นทะเบียนเลขที่ 349/18 (ลพ.23) เขียนด้วยอักษรไทล้านนา ประเภทตัวอักษรฝักขาม ภาษาไทยวน ตัวเลขอักษรธัมม์

นักจารึกภาษาโบราณถอดความแล้วกันหลายท่าน ในที่นี้ขอยึดสำนวนการปริวรรตของ ดร.ฮันส์ เพนธ์ แห่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่แปลระหว่างปี 2543-2546 ไม่ได้ยึดสำนวนฉบับหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เนื่องจากปริวรรตตั้งแต่ปี 2518 ถือว่าข้อมูลบางอย่างไม่ร่วมสมัยแล้ว

พบว่าจารึกนี้เขียนขึ้นในปี พ.ศ.2032 จารที่ วัดข่วงชุมแก้ว (เป็นชื่อเก่าในจารึก ก่อนจะมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดหนองหนามในปัจจุบัน) ณ เมืองควก (เหมืองกวัก) เราจึงเรียกศิลาจารึกหลักนี้ว่า “ศิลาจารึกวัดข่วงชุมแก้ว” เรื่องที่จารึกสรุปได้ดังนี้

พ.ศ.2032 มหาราชเทวีให้ทองสักโก (ทองจังโก หมายถึงแผ่นทองเหลือง) อันเกลือกด้วยทองคำเป็นจำนวน 100 บาท กับอีก 1 เฟื้องคำ เพื่อหุ้มยอด พระเจดีย์เจ้าวัดข่วงชุมแก้วที่เมืองควก พร้อมกับได้ถวายข้าคนไว้อุปัฏฐากพระประธาน 10 ครัว มีพระมหาเถรมังคลพุทธิมาเจ้าหยาดน้ำ (กรวดน้ำ) ร่วมเป็นพยานในการตั้งศิลาจารึกหลักนี้ หลังจากนั้น 2 วัน มีการผูกพัทธสีมา 2 ชั้น โดยได้ชุมนุมพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายจากอารามเชียงเรือก ได้แก่ พระมหาพุกามเจ้า ชื่อมหาญาณมังคลเจ้า และมหาสามีศรีสุนันทกัลยาณะ

ดิฉันทำไดอาแกรมให้ผู้เข้าร่วมเสวนาดูว่า จาก “เวียงควก” ประเด็นเดียว ทำให้เราสามารถเชื่อมโยงไปยังเรื่องราวอะไรได้อีกบ้าง

อธิบายขยายความเพิ่มเติมจากเนื้อหาจารึก

ในจารึกเขียนว่าศักราช 851 ปีกัดเร้า อันหมายถึงจุลศักราช 851 ทุกครั้งที่พบตัวเลขในจารึกสมัยล้านนา เราต้องเอา 1181 ไปบวก = พุทธศักราช 2032 ตรงกับสมัยของ พระญายอดเชียงราย กษัตริย์เชียงใหม่แห่งราชวงศ์มังรายองค์ที่ 10 ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2031-2040

ส่วนคำว่า “มหาเทวี” พระนางนี้ คือพระราชมารดาของพระองค์ ผู้เป็นชายาของ “พ่อท้าวบุญเรือง” (ท้าวบุญเรืองคือโอรสของพระเจ้าติโลกราช ถูกพระเจ้าติโลกราชประหาร เพราะหวาดระแวงไปเองว่าลูกชายจะยึดราชบัลลังก์ พระเจ้าติโลกราชอภิเษกหลาน หรือโอรสของท้าวบุญเรืองขึ้นเป็นกษัตริย์ล้านนาแทน) ณ ปัจจุบันไม่มีใครทราบชื่อของมเหสีพ่อท้าวบุญเรือง ผู้เป็น “มหาเทวี” ที่แปลว่าแม่ของกษัตริย์ หรือพระราชมารดาของพระญายอดเชียงรายว่าชื่ออะไร

ประเด็นถัดมาที่เชื่อมโยงกัน ณ วัดหนองหนามเอง เคยเป็นที่ประดิษฐาน “พระเจ้าทองทิพย์” องค์เดียวกันกับที่ปัจจุบันอยู่ใน “อุโบสถพระเจ้าทองทิพย์” ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือนอกเขตพุทธาวาส วัดพระธาตุหริภุญชัย ลำพูน อีกด้วย

พระพุทธปฏิมาองค์งามนี้เราไม่ทราบว่าสร้างเมื่อใด เนื่องจากยังไม่มีโอกาสขอดูฐานพระพุทธรูปว่ามีการเขียนข้อความจารึกอะไรบ้างหรือไม่ ทราบแต่เพียงว่า พลตรีเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้มาขออัญเชิญพระเจ้าทองทิพย์องค์นี้ไปจากวัดหนองหนามราวปี 2470 ปลายๆ ช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยกำลังบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถจำนวนหลายหลังในวัดพระธาตุหริภุญชัย

ดิฉันตั้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับพระเจ้าทองทิพย์ไว้สองกรณี

1. อาจสร้างก่อนหน้ายุคพระยอดเชียงรายเล็กน้อย นั่นคือสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 9 เพราะเห็นได้จากรายชื่อพระมหาเถระชั้นสูง ที่มาร่วมงาน ณ วัดหนองหนามแห่งนี้ ล้วนเป็นพระมีสมณศักดิ์สูงที่มีบทบาทมาแล้วตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช แสดงว่าวัดข่วงชุมแก้วจะต้องมีความสำคัญมาก่อนแล้ว

2. พระเจ้าทองทิพย์อาจสร้างปีเดียวกันกับพระมหาธาตุข่วงชุมแก้วปี 2032 นั่นเลย เพราะต่างก็ใช้ “ทองทิพย์” เป็นองค์ประกอบของวัสดุเหมือนๆ กัน ดังที่จารึกระบุว่า ทองที่อยู่ยอดธาตุนั้นใช้ทองสักโกเกลือกด้วยทองคำ ซึ่งทองเหลืองผสมทองคำนี้เป็นส่วนผสมของ “พระเจ้าทองทิพย์” หากเป็นตามข้อสันนิษฐานหลังนี้ ก็เท่ากับว่า พระเจ้าทองทิพย์องค์งามทั้งสององค์ของเมืองลำพูน (อีกองค์อยู่ที่วัดพานิชสิทธิการาม อ.ป่าซาง) สร้างในเวลาไล่เลี่ยกันเลย คือตรงกับสมัยพระญายอดเชียงราย

ประเด็นที่น่าสนใจอีกข้อคือ ชื่อเดิมของวัดหนองหนาม เคยมีนามอันไพเราะเพราะพริ้งว่า “วัดข่วงชุมแก้ว” (ปัจจุบันชาวบ้านไม่มีใครรู้จักชื่อนี้อีกแล้ว) เป็นวัดหลวงตั้งอยู่ใน “เวียงควก” หรือ “เวียงกวัก” บ้างเรียก “เวียงครก”

ชื่อนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับการเป็นเวียงที่เกิดจากการขุดดินช่วงทำเหมืองฝาย เป็นเวียงขนาดเล็กที่มีสถานะเป็นเวียงหน้าด่านด้านทิศใต้แถบลุ่มน้ำแม่ทา สันนิษฐานว่ามีความเจริญมาตั้งแต่ยุคหริภุญไชย และมีการใช้งานสืบเนื่องต่อมาจนถึงยุคล้านนา จนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้ากาวิละมาฟื้นฟูเวียงป่าซาง ได้ผนวกรวมเอาเวียงทาคามกับเวียงควกมาไว้ด้วยกัน

ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งที่ขาดหายไปจากการรับรู้ของผู้คน

ภาพผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกภาคส่วน ทั้งกรรมการและสมาชิก สสทน.ลำพูน ทั้งฝ่ายพื้นที่ เทศบาลตำบลบ้านแป้น อบต.หนองหนาม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.ของสองตำบล เจ้าอาวาสวัดหนองหนาม และสื่อมวลชน ผู้สนใจทั่วไป

“วัดร้างผ้าขาว : ปราสาทตาพรหมแห่งล้านนา”

ด้วยเหตุนี้เมื่อวันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม 2566 4 เดือนที่ผ่านมา สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดลำพูน หรือ (สสทน.ลำพูน) จึงได้จัดกิจกรรม “สำรวจเวียงควก ข่วงชุมแก้ว” นี้ขึ้นมา โดยเปิดกว้างให้ทั้งเพื่อนสมาชิกและผู้สนใจทั่วไปร่วมลงพื้นที่กับเราได้

ดิฉันได้จัดทำแผ่นแบนเบอร์ประชาสัมพันธ์ ใช้สโลแกนเพื่อให้เกิดการดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็นว่า “วัดร้างผ้าขาว : ปราสาทตาพรหมแห่งล้านนา” โดยใช้รูปลักษณ์ภายนอกของซากโบราณสถานวัดร้างผ้าขาว ที่ดู Amazing น่าตื่นตาตื่นใจ เพราะเป็นซากกองอิฐสูงใหญ่ที่ถูกปรกลุมไปด้วยเถาวัลย์รากไม้เลื้อยพันตัวโบราณสถานจนแทบเป็นเนื้อเดียวกัน เราไม่อาจแยกรื้อต้นไม้ออกจากตัวโบราณสถานนั้นได้เลย

ภาพนี้ อุปมาอุปไมยดั่งโบราณสถานชิ้นสำคัญยิ่งในกัมพูชาที่ปราสาทตาพรหม สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งมีสภาพคล้ายคลึงกัน ประมาณว่าหากรื้อรากไม้ใบเถาออกจากตัวศาสนสถานเมื่อไหร่ปั๊บ กองหินที่ร้อยรัดให้เห็นรูปว่าเป็นอาคารก็คงพังครืนเมื่อนั้นทันที

สัปดาห์หน้ามาอ่านกันต่อว่าผลการศึกษาเรื่องเวียงควกมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง หลังจากที่ดิฉันและคณะได้ลงสำรวจพื้นที่จริงกับคนในชุมชนอีกครั้งนั้น เราได้พบหลักฐานอะไรในเชิงประจักษ์ รวมทั้งได้ฟังตำนานมุขปาฐะคำบอกเล่าของคนในพื้นที่วาอย่างไรกันบ้าง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาฟังการวิเคราะห์เรื่อง “เวียงควก” และ “วัดข่วงชุมแก้ว” ในมุมมองของอาจารย์ภูเดช แสนสา นักประวัติศาสตร์ล้านนารุ่นใหม่ไฟแรง พลาดไม่ได้! •

ภาพการลงพื้นที่วัดร้างผ้าขาว มีการเล่าเรื่อง ตำนานมุขปาฐะโดยปราชญ์ชาวบ้าน และมีการวิเคราะห์เชิงวิชาการด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะโดยนักวิชาการ ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันทั้งสองฝ่าย

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ