รัฐบาลเศรษฐา โชว์ฟอร์ม พูดจริง-ทำจริง กดสวิตช์รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ประเดิมสีม่วง-สีแดง…ไปต่อหรือพอแค่นี้

นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นอีกหนึ่งนโยบายชูโรงของรัฐบาล ชุดเศรษฐา 1

เป็นนโยบายที่ประชาชนและคนในแวดวงคมนาคมจับตาอย่างมากว่าจะสามารถทำได้จริงหรือไม่

หากทำแล้วจะยิ่งสร้างความสับสนวุ่นวายให้กับประชาชนหรือเปล่า

แม้จะมีคำถามมากมาย แต่ล่าสุดนโยบายดังกล่าวก็ถูกรัฐบาลทำคลอดได้สำเร็จ

พ่อทัพคมนาคมคนใหม่ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นนโยบายที่รัฐบาลตั้งใจทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนระยะเวลาที่จะเห็นผลนั้น เนื่องจากแต่ละเส้นทางมีระบบแตกต่างกัน ทั้งเรื่องการให้สัมปทานเอกชน บางเส้นทางรัฐดำเนินการเอง หรือบางเส้นทางให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำ

ดังนั้น การให้เก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายเท่ากันทุกเส้นทาง ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องใช้เวลาเจรจาและวางระบบเทคนิคการทำตั๋วร่วมเป็นระบบเดียวกัน ต้องวางระบบการเก็บเงินให้เป็นเทคนิคเดียวกัน

 

ทั้งนี้ ในส่วนของเส้นทางที่รัฐบาลดำเนินการเอง คือรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ สามารถดำเนินการทันที เพราะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ดำเนินการเอง

ซึ่งเดิมคาดการณ์ว่าภายใน 3 เดือน ประชาชนจะได้ใช้รถไฟฟ้า 2 เส้นทางดังกล่าว ในอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย

และภายใน 2 ปี ประชาชนจะได้ใช้รถไฟฟ้าทุกเส้นทางในอัตราดังกล่าวต่อไป

การที่ไม่สามารถเห็นผลได้ทุกเส้นทางในทันที เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการเจรจาและวางระบบตั๋วร่วม นโยบายนี้จะทำเพื่อคนทุกกลุ่ม นอกจากช่วยคนรายได้น้อยแล้วยังช่วยให้คนใช้รถยนต์มาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ลดปัญหามลพิษ

ส่วนการคำนวณราคาค่าโดยสาร ยกตัวอย่าง หากเดินทางจากรังสิตไปสยาม ก็สามารถนั่งรถไฟฟ้าสายสีแดงมาลงที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ แล้วต่อสายสีน้ำเงิน ไปที่สถานีจตุจักร และต่อสายสีเขียวไปลงที่สถานีสยาม จากปัจจุบันค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 108 บาท

แต่ถ้านโยบายสำเร็จจะจ่ายค่าโดยสารเพียง 20 บาทตลอดสายเท่านั้น

 

ส่วนความคืบหน้าล่าสุดของนโยบายดังกล่าว เบื้องต้นได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีผลเริ่มใช้ทันที

โดยช่วงแรกจะใช้ได้เฉพาะการเดินทางภายในสายเดียว คือรถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟชานเมืองสายสีแดง

ขณะที่การเดินทางเชื่อมระหว่าง 2 สายดังกล่าว คาดว่าจะใช้ได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการติดตั้งซอฟต์แวร์เพื่อให้สามารถเดินทางข้ามระบบได้ต่อไป

ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ จะดำเนินการในระยะต่อไป ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมตั้งคณะทำงานขึ้นมาเจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทาน

ขณะเดียวกันเตรียมเร่งรัดผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อทำให้ผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้าแต่ละราย หันมาใช้บัตรโดยสารรูปแบบเดียวกันทำได้ง่ายขึ้น ประชาชนไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าหลายครั้ง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ประชาชนได้

และตั้งเป้าหมายภายใน 4 ปีของรัฐบาลชุดนี้ ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพื่อให้ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาไม่แพง และเป็นธรรมทั้งกับประชาชน และผู้ประกอบการเดินรถ

 

ด้าน นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เผยว่า การรถไฟฯ มีความพร้อมดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล โดยหลังจาก ครม.อนุมัติแล้ว ร.ฟ.ท.จะต้องหารือกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และธนาคารกรุงไทย เพื่อปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ของรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ให้สามารถเชื่อมถึงกันได้ แต่จะแล้วเสร็จเมื่อใดนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ปรับปรุงระบบ ซึ่งในครั้งนี้คือธนาคารกรุงไทย

ขณะเดียวกัน จากผลการศึกษานโยบายดังกล่าว ร.ฟ.ท.จะสูญเสียรายได้ และรัฐต้องสนับสนุนเงินชดเชยประมาณ 80 ล้านบาทต่อปี

แต่การลดค่าโดยสารจะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนให้หันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 5-20% ต่อปี ส่งผลให้รายได้ของ ร.ฟ.ท.เพิ่มขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรถไฟชานเมืองสายสีแดง มีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 2 หมื่นคนต่อวัน

 

ขณะที่ ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เผยว่า รฟม.มีความพร้อมในการดำเนินการเช่นเดียวกับการรถไฟฯ โดยในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. เห็นชอบปรับอัตราค่าโดยสารเหลือ 14-20 บาท และมีมติเพิ่มเติมกำหนดค่าโดยสารของเด็กและผู้สูงอายุ จะได้รับส่วนลด 50% และนักเรียน-นักศึกษา จะได้รับส่วนลด 10% จากอัตราค่าโดยสารใหม่

อย่างไรก็ดี จากนโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้รายได้ค่าโดยสารสายสีม่วงลดลงประมาณ 190 ล้านบาทต่อปี หรือลดลงประมาณ 60% ของรายได้รวมในส่วนค่าโดยสาร

ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อเริ่มใช้นโยบายดังกล่าวจำนวนผู้โดยสารสายสีม่วงจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นคนต่อวัน หรือคิดเป็น 17% จากปกติมีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 5.6 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 6.6 หมื่นคนต่อวัน โดยมีการเดินทางเฉลี่ยอยู่ที่ 8 สถานี จากจำนวนทั้งหมด 16 สถานี ค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 23 บาท

ส่วนการเดินทางข้ามสายระหว่างสายสีม่วงกับสายสีแดงปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มาก ประมาณ 100-200 คนต่อวัน

 

ฟากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กทม. นำทีมโดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เผยถึงนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวยังมีส่วนที่เป็นสัญญาสัมปทาน ทางเอกชนสามารถเก็บค่าโดยสารได้ตามสัญญาถึงปี 2572 ซึ่งถ้าจะให้เก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ก็ต้องจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเอกชน เป็นเรื่องที่ต้องคิดว่าจะต้องนำเงินส่วนใดมาจ่าย และเมื่อหมดสัญญาสัมปทานแล้ว ก็มีสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าถึงปี 2585 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในราคาสูง

“หลังจากสัญญาสัมปทานหมดในปี 2572 กทม.จะตั้งราคาค่าโดยสารเท่าใดก็ได้ แต่มีข้อผูกมัดค่าจ้างเดินรถ ที่ทำสัญญาล่วงหน้าไปอีก 13 ปี ถ้าเราเก็บถูกในราคาต่ำกว่าค่าจ้างเดินรถ ก็ต้องหาเงินส่วนต่างไปจ่าย คงต้องดูตัวเลขให้ดีเหมือนกัน โดยค่าจ้างเดินรถเฉลี่ยอยู่ที่ 33 บาท แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นราคาที่เหมาะสม ถ้าเกิดเก็บต่ำกว่า รัฐก็ต้องจ่ายส่วนต่างตรงนี้ต่อไป” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว

แค่เริ่มก็ทำท่ากึกๆ กักๆ… 20 บาทตลอดสาย จะทำได้ครบทุกสาย หลังประเดิมสายสีม่วง และสีแดงไปแล้ว จะไปได้ไกลขนาดไหน…มาลุ้นกัน