ปราโมทย์ ในจิต เพลง ‘คนกับควาย’ กับสังคมไทย อะไรคือ ‘ตำนาน’

“พ.ศ.2516 ประพันธ์คำร้อง เพลง “คนกับควาย” สมคิด สิงสง กับสุรชัย จันธิมาธร เช่าบ้านพักหลังเดียวกันที่กรุงเทพฯ คืนนี้วันฝนตก ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และรุ่งเช้าขณะสุรชัยขลุกกับกีตาร์เพลง Master of war ของ Bob Dylan สมคิด สิงสง คิดถึงบ้านซับแดง คิดถึงท้องไร่ท้องนา ฤดูกาลไถนาและปักดำ จึงถ่ายทอดความคิดถึงนี้มาเป็นบทเพลง “คนกับควาย”

(ข้อความย่อหน้าหนึ่งในหนังสือ 68 วงปีชีวิต สมคิด สิงสง 45 ปีคนกับควาย หน้าที่ 33 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2561 ของสำนักกระท่อมลายสือ)

เป็นข้อความที่บันทึกตำนานไว้ค่อนข้างสั้น หากได้ใจความแห่งก่อกำเนิดเพลงในตำนาน อันเป็นบทเพลงที่ใช้คำที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังอย่างไม่น่าเชื่อ หากขยายรายละเอียดให้กระจ่างแจ้งเพิ่มเติมได้ว่า

คุณหงา สุรชัย จันทิมาธร ได้ฟังเพลง Master of war ของ Bob Dylan ครั้งแรกจากแผ่นเสียงที่บ้านเสถียร จันทิมาธร ชื่นชอบมากจึงนำมาหัดเล่นอยู่บ่อยๆ

สมคิด สิงสง กับสุรชัย เช่าบ้านพักหลังเดียวกันในกรุงเทพฯ เช้าวันหนึ่งในช่วงฤดูฝนแห่งปี 2516 สุรชัยกำลังขลุกกีตาร์เล่นเพลง Master of war อยู่นั้น สมคิดได้ยินเข้าทำให้หวนคิดถึงบ้านท้องไร่ท้องนาบ้านซับแดงในฤดูไถนาปักดำของตน

จึงนำทำนองเพลงนี้มาแต่งเนื้อเพลงเป็นภาษาไทย ใช้ชื่อเพลงคนกับควายขึ้นมา จนเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนๆ ในกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว และมักจะเล่นฝึกซ้อมกันออกบ่อยครั้ง โดยสมคิดสีไวโอลิน ส่วนสุรชัยเล่นกีตาร์

ปรากฏว่า เพลงคนกับควาย ได้ออกแสดงสู่สาธารณชนครั้งแรกในงานแต่งงานของวีระประวัติ วงศ์พัวพันธุ์ เพื่อนนักเขียนในกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวนั่นเอง (และได้ลูกชายคนหัวปีที่ชื่อ เคน ธีรเดช วงศ์พัวพันธุ์ และก็คือพระเอกอันโด่งดังทั้งจอแก้วและจอเงินแห่งยุคนี่เอง) ซึ่งเป็นจุดเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ จนกึกก้องในยุคแสวงหาอันเข้มข้นนั้น

และเราปฏิเสธไม่ได้ว่า “เพลงคนกับควาย” มีอิทธิพล มีส่วนที่เป็นแรงผลักดันหนุนเนื่องให้เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์วิปโยคครั้งใหญ่ 14 ตุลาคม 2516 ขึ้นนั้น หลังจากแสดงคอนเสิร์ตในงานนิทรรศการเพลงเพื่อชีวิตที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสุรชัย จันทิมาธร และวีระศักดิ์ สุนทรศรี ร่วมกันเล่นเพลง คนกับควาย เปิบข้าว และข้าวคอยฝน

ในที่สุดกลางปี 2518 อัลบั้มเพลงชุดแรกของวงคาราวานก็ออกมาอย่างท้าทายยิ่ง ในชื่อชุด “คนกับควาย” อัลบั้มวงคาราวานชุดแรก

 

ปกหน้า

เนื้อเพลงคนกับควาย

คนก็คนทำนาประสาคน
คนกับควายทำนาประสาควาย
คนกับควายความหมายมันลึกล้ำ
ลึกล้ำทำนามาเนิ่นนาน
แข็งขันการงานมาเนิ่นนาน
สำราญเรื่อยมาพอได้สุขใจ
คนก็คนทำนาประสาคน
คนกับควายทำนาประสาควาย
คนกับควายความหมายมันลึกล้ำ
ลึกล้ำทำนามาเนิ่นนาน
แข็งขันการงานมาเนิ่นนาน
สำราญเรื่อยมาพอได้สุขใจ

ไปเถิดไปพวกเราไปเถิดไป
ไปเถิดไปแบกไปไถไปทำนา
ยากจนหม่นหมองมานานนัก
นานนักน้ำตามันตกใน
ยากแค้นลำเค็ญในหัวใจ
ร้อนรุ่มเพียงไรไม่หวั่นเกรง

เป็นบทเพลงเสียงเพลงแห่งความตาย
ความเป็นคนสลายลงไปพลัน
กระฏุมพีกินแรงแบ่งชนชั้นชนชั้นชาวนาต่ำลง
เหยียดหยามชาวนาว่าป่าดง
สำคัญมั่นคงคือความตาย

ไปเถิดไปพวกเราไปเถิดไป
ไปเถิดไปแบกไถไปทำนา
ยากจนหม่นหมองมานานนัก
นานนักน้ำตามันตกใน
ยากแค้นลำเค็ญในหัวใจ
ร้อนรุ่นเพียงใดไม่หวั่นเกรง
เป็นบทเพลงเสียงเพลงแห่งความตาย
ความเป็นคนสลายลงไปพลัน
กระฏุมพีกินแรงแบ่งชนชั้น
ชนชั้นชาวนาต่ำลง
เหยียดหยามชาวนาว่าป่าดง
สำคัญมั่นคงคือความตาย
สำคัญมั่นคงคือความตาย
สำคัญมั่นคงคือความตาย

ปกหลัง (ปกหลัง คือภาพการแสดงของวงคาราวาน บนรถบรรทุกชมรมชาวไร่มันสำปะหลังบ้านซับแดง ณ ตลาดสุขาภิบาลแก้งคร้อ ประมาณปี 2517-2518)

ครั้นเมื่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เกิดขึ้น ทำให้อัลบั้มคนกับควายถูกต้องห้าม ถูกทำลายทิ้งทั้งหมด เพื่อความปลอดภัยของผู้ครอบครอง ทั้งผู้แต่ง และคณะผู้ร้อง ต้องหลบลี้หนีภัยสู่ราวป่า และได้ออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยช่วงปี 2523-2525

และแล้วเพลงชุดนี้ ก็ได้ทำขึ้นมาใหม่ในปี 2538 โด่งดังติดตลาด ทำเป็นคาราโอเกะ เทปคลาสเส็ต ออกจำหน่ายมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งทุกวันนี้สามารถโหลดฟังจาก YOUTUBE ได้ทุกเวลา

อย่างไรก็ตาม ความโด่งดังของเพลงคนกับควายนั้น มีอิทธิพลรุกล้ำเข้ามาถึงพื้นที่เพลงลูกทุ่งของไทยจนได้ สดใส รุ่งโพธิ์ทอง นำทำนอง และเนื้อหา แปลงมาแต่งเป็นเพลงลูกทุ่งและร้องเองในชื่อ “เราคนจน” ก็โด่งดังพอสมควรในช่วงปี 2518-2519 และต่อมา ยอดรัก สลักใจ ก็ได้นำมาร้องใหม่อีกครั้งด้วย

แต่ปัจจุบันนี้ ดูเหมือนว่าเพลง “เราคนจน” ไม่มีใครนำมาร้อง และเปิดฟังกันแล้ว แต่เพลง “คนกับควาย” นั้นเล่า ยังคงทรงพลัง และนิยมร้องกันออกบ่อยครั้งทีเดียว

ท่านผู้อ่านสามารถโหลดเพลงเราคนจนจาก YOUTUBE มาฟังได้ทุกเวลา สามารถมาดูเนื้อเพลง และวิเคราะห์เนื้อเพลงเราคนจน เปรียบเทียบกับเพลงคนกับควายได้เลย

เนื้อเพลงเราคนจน

เรามันคนชาวนา อยู่กับควาย
เรามันคนจนๆ ทนเดียวดาย
จะหน้าหนาวหน้าร้อน ก็นอนหนาว
ขาดสาวนอนอยู่คู่หมาย
แน่แล้วตัวเราคงหนาวตาย
ไร้สายคู่กายแนบอุรา
ก็ชาวนาหน้าดำ กำด้ามเคียว
ใครจะมาแลเหลียวให้เกี้ยวพา
สู้ทนอาภัพจับคันไถ
ผิวกายดำคล้ำตามประสา
ตากฝนตากลมตรมอุรา
มีไอ้ทุยเล็มหญ้าอยู่ริมธาร
ฟังเสียงพิณ เสียงแคนแดนบ้านเรา
เสียงขลุ่ยเกี้ยวสาวดังกังวาล
เสียงแอ่วแว่วดังฟังไพเราะ
เสียงเสนาะหมู่เฮาชาวอีสาน
ไม่เคยหลงแสงสีที่โอฬาร
ภัตตาคารไม่เข้าเราคนจน…
ขี่หลังควายครวญเพลง แทนเก๋งงาม
ใครจะเกลียด เหยียดหยามเราก็คน
ใครว่ากินข้าวเหนียว เสี่ยวหนักหนา
ใครจะว่าจะด่าเราไม่สน
ขอเพียงน้องสงสารพี่สักคน
อย่าคิดชังคนจนกันนักเลย
กลัวนารีหลงชายที่ร่ำรวย
อันนารีรูปสวยกลัวชวดเชย
เธอใฝ่ฝันนั่งรถเงินเป็นล้าน คนจนเดินผ่านทำเฉย
ไร้รถเก๋งเงินถังอย่าหวังเชย
แม้เพียงเอื้อนเอ่ยคงน่าอาย
เรามันคนจนจริง ปองหญิงงาม
เลยโดนคน เหยียดหยามอยู่ร่ำไป
คนรวยรวยเศรษฐีมีเงินถม
เรามันจนทนข่มน้ำตาไหล
นั่งรถเก๋งศักดิ์ศรีเกินขี่ควาย
สาวใดจะใฝ่มาคู่กา…

 

ข้อสังเกตสำคัญ

ณ ปัจจุบันกาล ปี 2566 ปีนี้ 50 ปี 14 ตุลา เพลงเราคนจน ไม่มีใครรู้จักมากนัก จนไม่มีใครร้องกันเลย

แต่สำหรับเพลงคนกับควายแล้ว ผู้คนยังร้อง คนส่วนมากยังคงฝังจำทั้งร้องได้ ตกผลึกว่า เพลงคนกับควาย คือเพลงเพื่อชีวิตของคาราวานอย่างอมตะตลอดไป…