ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 ตุลาคม 2566 |
---|---|
เผยแพร่ |
พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ นายทหารที่ผ่านสถานการณ์ต่างๆ มามากมายเล่าว่า ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้นเพิ่งจบออกมารับราชการเมื่อต้นปี 2512 ซึ่งอยู่ในยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร ก่อนหน้านั้นก็เป็นเด็กที่พอรู้ความ ที่อยู่ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทั้งหมดคือบรรยากาศที่อยู่ในช่วงสงครามเย็น
จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ คนรุ่นผมโดยเฉพาะพวกผมจะถูกปลูกฝังให้หวาดกลัวให้รังเกียจคอมมิวนิสต์
ความรู้สึกโดยรวมของคนในยุคนั้นก็คือว่าใครก็ตามที่โจมตีรัฐบาลด้วยความรู้สึกของเด็กๆ ส่วนผู้ใหญ่เป็นหรือเปล่าผมไม่รู้ แต่ความรู้สึกของผมคือว่าใครที่วิจารณ์รัฐบาล ใครบอกทหารเป็นเผด็จการ เราก็จะมีความรู้สึกว่า “ไอ้นี่มันคอมมิวนิสต์นี่หว่า”
ความรู้สึกอันนี้คือบรรยากาศในปี 2512 แล้วพวกผมก็แยกย้ายกันไป
มาถึงปี 2514 ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผมไปรบที่เวียดนาม เดือนพฤศจิกายน ซึ่งช่วงนั้นจอมพลถนอมปฏิวัติตัวเอง ช่วงนั้นผมอยู่ในเวียดนามก็ไม่มีความรู้สึกอะไร คนในยุคนั้นอาจรู้สึกเป็นบวกว่า ดีแล้ว เดี๋ยวคอมมิวนิสต์มันจะเข้ามายึดประเทศ
ณ ตอนนั้นบทบาทนิสิตนักศึกษายังไม่มีอะไรเท่าไหร่จนกระทั่งเมื่อผมกลับมาเมืองไทยใกล้ๆ เหตุการณ์ 14 ตุลาเข้าไปทุกขณะ เราก็พอจะรับรู้ได้ว่า เวียดนามดูท่าจะไปไม่รอดแน่ และเราก็เคยได้ยินเรื่องของโดมิโนเราก็กลัวว่าถ้าเวียดนามล้ม แล้วอะไรจะเกิดขึ้นตามมา เราก็มีความรู้สึกหวาดกลัว
โดยสรุปความรู้สึกพวกผมนายทหารเด็กๆ ในยุคนั้นก็คือเกลียดคอมมิวนิสต์ ก่อนที่ต่อมาการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาเข้มข้นขึ้น
พอการล้มลงของระบอบถนอม-ประภาส ด้านหนึ่งมาจากการลุกขึ้นของผู้รักชาติรักประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษา มีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ คําถามที่สำคัญที่ชวนคิดต่อมาก็คือในกองทัพ
ถ้าเราติดตามสถานการณ์ในกองทัพในยุคนั้นระบอบสืบทอดอํานาจของจอมพลสฤษดิ์มาสู่ถนอมในยุคนั้น วิเคราะห์ได้ว่าทําให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่อึดอัดนะ โดยเฉพาะยิ่งในยุคปลายของจอมพลถนอม คนที่มีบทบาทอย่างมากคือบุตรชายของท่าน (พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร) ซึ่งก็เติบโตมีอํานาจพิเศษมากมาย
ผมเชื่อว่าความอึดอัดในกองทัพมีอยู่จริง แต่ว่าระบอบที่เข้มแข็งและด้วยอํานาจผูกขาดของถนอม-ประภาส อาจจะยิ่งใหญ่จนกระทั่งไม่มีใครกล้าขยับ
ซึ่งเราก็ถูกปลูกฝังมาอยู่ในระบบการจัดลำดับชั้นของทหารที่พวกผมไม่ต้องคิดอะไรมาก เพียงรับคําสั่งแล้วก็นำไปปฏิบัติไปทําให้ดีที่สุดให้บรรลุตามคําสั่ง
แต่เราก็มีความรู้สึกนึกคิด เพราะว่าเราก็อ่านหนังสือพิมพ์ หรือฟังข่าววิทยุบ้าง โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ เราอ่านแล้วเราก็ได้เห็นทัศนะของฝ่ายนักศึกษาซึ่งอาจจะเรียกว่าฝ่ายก้าวหน้า ว่าทําไมเขาถึงออกมาเคลื่อนไหว ทําไมเหตุการณ์ 14 ตุลาถึงเกิดขึ้น
ซึ่งพออ่านแล้ว ถ้าคนที่มีจิตใจที่เป็นกลางสักนิดหนึ่งหลายๆ เรื่องที่เห็นมันก็เป็นจริงตามนั้น โดยเฉพาะเรื่องระบบรวมศูนย์อํานาจของกองทัพบก
การถอดบทเรียนที่สำคัญผ่านมา 50 ปี ว่าทหารไม่ควรจะไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองใน ขณะเดียวกันการเมืองก็อย่ามายุ่งเกี่ยวกับทหาร ในความเข้าใจในการศึกษาของผม ผมยังแยกไม่ออกนะว่าทหารเข้าไปยุ่งการเมืองหรือการเมืองเข้ามายุ่งกับทหาร
หากเรียกกันอย่างไม่เกรงใจคือวงจรอุบาทว์นี้ ผมคิดว่ามี 3 ส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ส่วนที่หนึ่งก็คือกองทัพ ส่วนที่สองคือนักการเมือง และส่วนที่สามก็คือราษฎร ในส่วนของนักการเมืองกับกองทัพที่ผ่านมาเราได้เห็นลักษณะของการแสวงประโยชน์ร่วมกัน คือการเมืองเข้ามายุ่งกับกองทัพ กองทัพเข้ามายุ่งกับการเมืองเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันอะไรก็แล้วแต่ ในขณะที่ราษฎรก็มีความรู้สึก
เพราะฉะนั้น ถามว่าจะแก้ไขอย่างไร ลําพังกองทัพกับการเมืองก็ส่วนหนึ่ง แต่โปรดอย่าลืมว่า การเมืองก็มาจากการเลือกของประชาชน
ส่วนตัวผมพอใจที่จะเห็นพัฒนาการทางการเมืองก็คือเลือกตั้งกันไปไม่พอใจ 4 ปีก็เลือกกันมาใหม่ อย่าได้มี หรือไม่อยากเห็นการรัฐประหารอีกแล้ว ก็ไปเริ่มต้นศักราชศูนย์กันใหม่ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเรื่องทหารกับการเมืองนี้ตัวหลัก เฉพาะหน้าคือนักการเมืองกับทหาร ถ้าจะเข้ามาเกี่ยวข้องกันก็ต้องเป็นไปด้วยเหตุผลที่อธิบายได้
อย่างปัจจุบันนี้เราได้เห็นนักการเมืองที่เป็นพลเรือนมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งผมไม่ได้คิดบวกคิดลบ ตราบใดที่ทั้งสองฝ่ายยึดประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง และตอบคําถามมโนธรรมของตัวเองได้ว่าทําไมทําอย่างนี้
มันก็ไปได้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022