ล้านนาคำเมือง : ค่าว

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ค่าว”

กล่าวถึงคำว่า “คร่าว” มีความหมายโดยทั่วไปว่า เป็นเส้นติดต่อไปในแนวเดียวกัน เช่น “เชือกคร่าว” อันหมายถึงเชือกใหญ่ขนาดยาวที่มีลักษณะเป็นเกลียวในทิศทางเดียวกันยาวติดต่อกันไป

แต่โดยปริยาย หมายถึง คำประพันธ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีทั้ง คร่าวร่ำ คร่าวก้อม คร่าวซอ คร่าวใช้ คร่าวปล่อย และ คร่าวว้อง

คร่าวร่ำ เป็นร้อยกรองที่แต่งเพื่อร่ำพรรณนาเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะ

คร่าวก้อม เป็นร้อยกรองที่แต่งขึ้นเป็นบทสั้นๆ มักเป็นโวหารที่กินใจ

คร่าวซอ (คร่าวธรรม) คือร้อยกรองที่แต่งจากวรรณกรรมประเภทชาดก มีลักษณะละม้ายนิทานคำกลอน

คร่าวใช้ คือร้อยกรองที่แต่งเป็นบทโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาวทำนองเพลงยาวของภาคกลาง

คร่าวปล่อย ได้ร้อยกรองที่เขียนแล้วให้คนอ่าน โดยไม่บอกที่มาหรือชื่อผู้แต่งทำนองบัตรสนเท่ห์

คร่าวว้อง ได้แก่ร้อยกรองขนาดสั้นโดยคำสุดท้ายของบทจะส่งสัมผัสกับท่อนต้นของบทคร่าวนั้นๆ ได้

แต่เดิมคนล้านนานิยมแต่งคร่าวกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่ยังใช้อักษรล้านนาอยู่ ภายหลังเปลี่ยนมาใช้อักษรไทย ผู้คนจึงค่อยๆ เสื่อมความนิยมคร่าวลง กระนั้นก็ตาม ยังมีการใช้คร่าวรับใช้สังคมล้านนาอยู่ แต่ลดน้อยถอยลงเหลือเพียง คร่าวร่ำ และคร่าวก้อม ดังตัวอย่าง

ตัวอย่าง คร่าวร่ำเรื่อง “เสาอินทขีล”

เสาอินทขีล ปิ่นเมือง มิ่งรัฐ สถิต อยู่วัด ชื่อเจ- ดีย์หลวง

บุปผา ดอกไม้ มาลัย จันทน์จวง ฅนแปลง ฅะพวง ใส่ขัน ดอกหั้น

มีคำ กล่าวขาน โบราณ เบื้องบั้น เล่าเปน ตำนาน ว่าไว้

ว่าเดิม นั้นหนา รัฐา แต่ไธ้ มีชื่อ ตามได้ ยินมา

นพบุ- รีรัตน์ หมู่ลวะ รักษา เก้าตระ กูลนา อาศัย ใฝ่เฝ้า

ชาวเมือง มีศีล สัตย์ใส บ่เส้า บ่บก บางเบา สิ่งทรัพย์

เมืองมี บ่อเงิน บ่อฅำ อ่านนับ รวมแผว บ่อแก้ว เรืองรอง

สุวัณ- ณรัตน์ หิรัญ ถมถอง เหตุอยู่ ในคลอง ศีลธัมม์ พระเจ้า

ตัวอย่าง คร่าวก้อม “อวยพรปีใหม่”

อรุณ เบิกฟ้า อาจอ้า ดิถี ประเสริฐ เลิศดี ศรีใส ผ่องแผ้ว

ขอปัน พรชัย ขึ้นปี ใหม่แก้ว ค่าม- ณีแวว วาดฟ้า

อายุ วัณณ์วัย ใสงาม สะง้า พละ เกิดกล้า แรงดี

นิราศ ปราศทุกข์ เจริญ สุขี ไภยะ อย่ามี ไพรี อย่าใกล้

เคราะห์ร้าย หลายเหลือ เหนือตก ออกใต้ เสนียด จังไร หลีกละ

สิทธิ กิจจัง ธะนัง ลาภะ เตชะ เกียรติก้อง ธานี

ภิญโญ ใหญ่ยศ ปรากฏ ศักดิ์ศรี โชคช้าง ไชยดี ปีใหม่ เนอเจ้าฯ

(สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : ร้อยกรอง)