วัตถุมงคล ‘ในหลวง ร.๙’ พระพุทธรูป-กริ่ง ภ.ป.ร. วัดบวรนิเวศวิหาร 2508

หนังสือ “จาตุรงคมงคล” วัดบวรนิเวศวิหาร โดยเสด็จพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในมหามงคลสมัยพระชนมายุเสมอด้วยสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ 29 สิงหาคม 2508 ตั้งแต่หน้า 203-204 และหน้า 206-207 มีใจความว่า…

“วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม 2508 เวลา 16.20 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชนีนาถ เสด็จฯ เข้าสู่พระอุโบสถ ทรงประเคนผ้าไตรแด่สมเด็จพระราชาคณะ พร้อมพระสงฆ์ที่มาในพิธีพุทธาภิเษกทั้งหมดแล้ว เฉพาะสมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะ 10 รูป ที่เจริญพระพุทธมนต์ออกไปครองผ้าแล้วกลับมานั่งยังอาสนะ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย สมเด็จพระราชาคณะ ประธานคณะสงฆ์ถวายศีลจบ พระราชครูวามเทพมุนี ถวายน้ำเทพมนต์แล้วพระสงฆ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์และลงคาถาในแผ่นโลหะที่จะผสมหล่อพระพุทธรูปจบแล้วได้เวลาพระฤกษ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนทองทรงตั้งสติสัตยาธิษฐานแล้วถวายเทียนทองนั้นแด่สมเด็จพระราชาคณะ ผู้เป็นประธานสงฆ์จุดเทียนชัย พราหมณ์เป่าสังข์ ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตรบัณเฑาะว์และดุริยางค์ พระสงฆ์เจริญคาถา…”

“วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้เสด็จฯ พระภาวนาจารย์และพระเกจิอาจารย์หมุนเวียนกันนั่งปลุกเสกโลหะที่จะใช้หล่อพระตลอดทั้งคืนเช่นเดียวกันกับวันแรก”

“วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปยังปะรำพิธีมณฑล หน้าตึกมนุษนาควิทยาทาน ในบริเวณโรงเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงจุดเทียนชัยสักการบูชาพระรัตนตรัยเสร็จแล้ว เสด็จฯ ไปยังเบ้าหล่อพระทรงหย่อนทองสำหรับหล่อ ‘พระพุทธรูป ภ.ป.ร.’ จนครบ 32 เตา ขณะนั้น พระสงฆ์ในวิหารและพระคณาจารย์ที่นั่งอยู่รอบพิธีมณฑลทั้ง 8 ทิศ เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์แตรดุริยางค์ พระราชครูวามเทพมุนีรดน้ำสังข์เบ้าที่หล่อพระทุกเบ้าแล้ว จากนั้นเสด็จฯ ไปประกอบพิธียังพระเจดีย์หลังพระอุโบสถพระพุทธชินสีห์”

พระพุทธรูป ภปร

ที่กล่าวมาแล้ว เป็นความเป็นมาของการสร้าง “พระพุทธรูป ภ.ป.ร.ปี 2508” และ “พระกริ่ง ภ.ป.ร.” วัดบวรนิเวศวิหาร ปี พ.ศ.2508 วัตถุมงคลอีกรุ่นที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง

เนื่องจากการจัดสร้างครั้งนี้ เป็นพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยหลังจากที่พระองค์ทรงนำพระพุทธรูป ภ.ป.ร. วัดเทวสังฆาราม ที่จัดสร้างเมื่อปี พ.ศ.2506 ไปพระราชทานแก่หน่วยทหาร-ตำรวจและหน่วยงานราชการอื่นๆ อีกหลายแห่งทำให้ประชาชนทั่วไป ต่างมีความต้องการได้ไว้บูชาเป็นจำนวนมาก พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่าน่าจะมีการสร้างขึ้นมาอีก ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อสนองความต้องการของผู้ศรัทธา

ดังนั้น มีการตั้งคณะกรรมการจัดสร้างพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ขึ้นอีกครั้งอย่างเป็นทางการ โดยจัดเป็นงานใหญ่ระดับชาติในเดือนสิงหาคม 2508 โดยพระพุทธรูปที่จัดสร้างครั้งนี้คณะกรรมการต้องการให้จัดสร้างตามแบบพระพุทธรูป ภ.ป.ร. รุ่นพระกฐินต้น วัดเทวสังฆาราม

แต่เมื่อคณะกรรมการได้นำพระพุทธรูปที่ออกแบบ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบให้ถูกต้องเหมาะสมกับพระพุทธลักษณะยิ่งขึ้น ด้วยพระบรมราชวินิจฉัยของพระองค์ มีการแก้ไขพุทธลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย

 

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้พระราชทานภาษิตสำหรับจารึกไว้ที่บานด้านหน้า เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชาติว่า “ทยฺยชาติยา สามคฺคิยํ สติสญฺชานเนน โภชิสิยํ รกฺขนฺติ” แปลว่า “คนชาติไทยจะรักษาความเป็นไทยอยู่ได้ ด้วยมีสติสำนึกอยู่ในความสามัคคี”

ส่วนที่ฐานด้านหลังจารึกว่า “เสด็จพระราชดำเนินในพิธีหล่อ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๘” โดยมอบให้ ศ.ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ นายช่างศิลป์กรมศิลปากรปั้นหุ่นขึ้นใหม่ โดยอยู่ในพระบรมราชวินิจฉัยโดยตลอด

สำหรับ พระพุทธรูป ภ.ป.ร. มีขนาดหน้าตักกว้าง 9 นิ้ว และ 5 นิ้ว

ทั้งนี้ การสร้างพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ขนาด 5 นิ้ว ในแต่ละครั้งขึ้นใหม่ มีจำนวนไม่เกิน 10,000 องค์ และหลังจากสร้างเพิ่มเป็นครั้งที่ 3 จะไม่มีการตอกลำดับครั้ง พร้อมลำดับองค์พระอีก

ขณะเดียวกัน พระพุทธรูป ภ.ป.ร. ขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว ที่สร้างเพิ่มตั้งแต่ครั้งที่ 1-3 ได้ถูกเรียกขานจากบรรดาเซียนพระว่า “รุ่นหนังไก่” เนื่องจากผิวพระด้านในหลังจากล้างปูนออก มีลักษณะย่นคล้ายหนังไก่

พระกริ่ง ภ.ป.ร. รุ่นนี้ จัดสร้างด้วยวิธีการปั๊มโดยนำชนวนจากการเททองหล่อพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ทั้งสองขนาดมาปั๊มเป็นองค์พระ จัดสร้างเป็น 3 เนื้อ คือ 1.เนื้อทองคำ จัดสร้างเพียง 32 องค์ 2.เนื้อทองแดงรมดำ จัดสร้างประมาณ 10,000 องค์ และ 3.เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง ไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด

พระกริ่ง ภปร

พระกริ่ง ภ.ป.ร. รุ่นนี้ มีการสร้างขึ้นสองครั้ง ครั้งแรกสร้างเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2508 ในคราวพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุเสมอด้วยสมเด็จพระราชบิดา และงานสมโภชพระเจดีย์ทอง

ครั้งที่สอง สร้างเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2515 ในพิธีพุทธาภิเษก-มังคลาภิเษกวัตถุมงคลอนุสรณ์ ในงาน “วชิรวงศานุสรณ์” (อนุสรณ์ 100 ปี พระชนมายุสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระบรมราชอุปัธยาจารย์)

ทั้งสองพิธีนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีทั้งสองครั้งเช่นกัน •

 

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]