COLLAPSED : ทรุด ภาพจำลองอินโฟกราฟิกภูมิทัศน์การเมืองไทย หลังการเลือกตั้ง 2566

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

หลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปในปี พ.ศ. 2566 ที่ดูเหมือนจะเป็นชัยชนะของฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย หากแต่กระบวนการได้มาซึ่งรัฐบาลยังเต็มไปด้วยความพลิกผันและความสับสนอลหม่านจากกลไกและกลเกมทางการเมืองอันเป็นผลพวงจากกติกาของรัฐธรรมนูญปี 2560

ไม่ต่างอะไรกับความหวังและความเชื่อมั่นของประชาชนไทยส่วนใหญ่ถูกปล่อยให้ลอยแพอยู่กลางทะเล เหลือไว้แต่เพียงร่องรอยของความทรงจำให้ได้เราได้ระลึกถึง และเรียนรู้ (หรือเปล่าก็ไม่รู้)

วิชญ มุกดามณี เป็นศิลปินร่วมสมัยชาวไทย ที่หยิบเอาร่องรอยความทรงจำจากเหตุการณ์นี้มาสร้างเป็นผลงานศิลปะของเขา

ราวกับจะเป็นการบันทึกเหตุการณ์สำคัญหน้าหนึ่งทางการเมืองไทยให้เราได้เห็นเป็นประจักษ์แก่สายตา

ในนิทรรศการที่มีชื่อว่า COLLAPSED : ทรุด นั่นเอง

“ผลงานชุดนี้ผมทำขึ้นในช่วงเวลาหลังการเลือกตั้ง ที่ทำให้ความหวังของเราหายไปได้อย่างน่าประหลาดใจ ผมรู้สึกร่วมไปกับหลายๆ คนที่เจ็บปวดกับสถานการณ์นี้ อันที่จริงผมไม่ได้คาดหวังหรอกว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล ผมรู้ว่ากระบวนการได้มาซึ่งรัฐบาลนั้นเป็นเรื่องของการต่อรอง ประนีประนอม แต่เราเจ็บปวดที่ว่าทำไมระบบการเมืองเราถึงได้บิดเบี้ยวขนาดนี้”

“เหมือนทุกอย่างในสังคมเราเต็มไปด้วยความหมิ่นเหม่ เปราะบาง พร้อมจะทรุดครืนลงมาต่อหน้าต่อตา ทำให้เรารู้สึกถึงความหวาดระแวง เกรงกลัวว่าจะเกิดเป็นความรุนแรง เราต้องอยู่กับความกลัว เหมือนทุกอย่างในสังคมไม่มีทางเดินต่อไปได้ ภายใต้กติกาที่ก่อให้เกิดข้อสงสัยและถูกตั้งคำถามตลอดเวลาเช่นนี้”

“ถึงแม้เราจะเลือกตั้งเสร็จ ถึงจะเซ็น MOU กันแล้ว ก็มีข่าวว่ายังตั้งรัฐบาลไม่ได้ ต้องรอรวบรวมเสียง ส.ว.เข้าไปด้วย ทุกอย่างดูสับสนไปหมด”

“แต่ในช่วงระหว่างและหลังเลือกตั้งผมชอบอินโฟกราฟิก (Infographic) ของสำนักข่าวหลายหัวที่ทำภาพแผนที่ประเทศไทยในจังหวัดต่างๆ แล้วใส่จุดสีแทนพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ชนะการเลือกตั้งในแต่ละเขต ตอนนั้นผมรู้สึกว่าแผนที่ประเทศไทยสวยมากๆ เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นฝ่ายเสรีนิยมชนะการเลือกตั้ง ซึ่งก็คือพรรคก้าวไกลนั่นแหละ ผมมองว่านโยบายของพรรคก้าวไกลที่มุ่งเน้นในการแก้ปัญหาโครงสร้างทางสังคม กล้าจะมองหาทางออกที่แตกต่างจากระบบการใช้อํานาจของการเมืองไทยรูปแบบเก่า คือความหวังของคนไทยจํานวนมากที่ลงเสียงเลือกตั้งและคาดฝันถึงอนาคตที่ดีขึ้นกว่าเดิม”

“แต่ถึงแม้พรรคก้าวไกลจะชนะการเลือกตั้ง แต่สถานการณ์การเมืองก็ยังอยู่ในความไม่ปลอดภัย ไม่น่าไว้วางใจ รู้สึกมองไม่เห็นปลายทาง ทำให้ผมรู้สึกว่า ทำไมภาพของแผนที่ประเทศไทยที่ดูสวย แต่กลับเต็มไปด้วยความรู้สึกน่ากลัว ไม่น่าไว้วางใจเช่นนี้”

“ผมทำงานชุดนี้ขึ้นมาเพื่อบันทึกสถานการณ์นี้เอาไว้ ในรูปแบบของงานวิดีโอจัดวาง โดยเริ่มต้นกระบวนการด้วยการวาดแผนที่ประเทศไทย และปักหมุดกำหนดตำแหน่งของจังหวัดแต่ละจังหวัด และเริ่มต้นใส่จุดสีลงไป โดยใช้เก้าอี้ที่มีสีแทนสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองแต่ละพรรควางซ้อนลงไปในพื้นที่แต่ละจังหวัด ทั้งสีส้ม, สีแดง, สีน้ำเงิน, สีฟ้า, สีเหลือง, สีเขียว, สีชมพู, สีน้ำตาล มีแค่สองพรรคที่ผมหาเก้าอี้สีอื่นไม่ได้แล้ว ก็เลยใช้เก้าอี้สีเดียวกันคือสีขาว โดยจำนวนเก้าอี้มี 400 ตัว เท่ากับจำนวน ส.ส. ในเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ 400 เขต”

เมื่อพูดถึงเก้าอี้ในบริบทของการเมืองไทย เราอดสงสัยไม่ได้ว่าศิลปินจงใจแฝงนัยยะแทนสัญลักษณ์ของการ “ฟาดเก้าอี้” ในเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือไม่?

“ผมไม่ได้คิดถึงเหตุการณ์นั้นนะ ที่เลือกเก้าอี้มาใช้ ก็เพราะผมอยากให้เป็นสัญลักษณ์แทน ‘เก้าอี้’ หรือที่นั่งของ ส.ส.ในสภา ตอนแรกผมอยากใช้เก้าอี้หนังหรูๆ ที่ ส.ส.ใช้นั่งในสภากันจริงๆ เลย แต่พอมาคิดดูว่า สีที่เกิดขึ้นในอินโฟกราฟิกนั้น จริงๆ แล้วไม่ได้แทนว่าใครได้เป็น ส.ส.ในสภา แต่แทนประชาชนที่เลือก ส.ส.เหล่านั้นเข้าไปต่างหาก”

“ผมเลยเลือกเก้าอี้พลาสติกแบบบ้านๆ ที่ประชาชนคนทั่วไปใช้นั่งกันทุกคน”

สิ่งที่บังเอิญพ้องกันจนน่าสนใจก็คือ เก้าอี้พลาสติก หรือเก้าอี้โมโนบล็อก (Monobloc chair ซึ่งเป็นเก้าอี้ที่ถูกผลิตขึ้นด้วยกระบวนการให้ความร้อนกับพลาสติกจนหลอมเหลวและนําไปฉีดขึ้นรูปเป็นเก้าอี้โดยแม่พิมพ์ตัวเดียว) ชนิดนี้ เป็นเก้าอี้ที่ วิโทลด์ ริบซินสกี้ (Witold Rybczynski) ผู้เขียนหนังสือ Now I Sit Me Down ยกให้เป็น เก้าอี้ที่มีความเป็นประชาธิปไตย (Democratic Chair) มากที่สุด เพราะมันถูกใช้ในทุกหนแห่ง ทั้งร้านอาหารข้างทาง ไปจนถึงงานเลี้ยงในโรงแรมหรู ในโรงเรียน, หอประชุม, ซุ้มเลือกตั้ง, วัด, โรงพยาบาล, หรือแม้แต่งานศพก็ตาม

“จริงๆ ก่อนหน้านี้ผมเลือกใช้วัสดุประเภทนี้ทำงานมาสักพักแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ผมสนใจวัสดุที่ดูราคาถูก ที่คนทั่วๆ ไปใช้สอยกัน แต่เก้าอี้ที่ผมเลือกมาใช้ก็ทำจากวัสดุคุณภาพดีพอสมควรนะ เพราะว่าเราต้องซ้อนให้มันขึ้นไปสูงมากๆ เก้าอี้ต้องแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักได้ เพราะผมอยากได้ความเป็นอินโฟกราฟิกที่เป็นจุดๆ แทน ส.ส.แต่ละพรรค”

“ซึ่งเก้าอี้พลาสติกไม่มีพนักแบบนี้เรียงแล้วดูเรียบง่ายที่สุดแล้ว และดูเหมือนจุดในอินโฟกราฟิกดี”

นอกจากงานศิลปะจัดวางจากเก้าอี้ และวิดีโอจัดวางบันทึกภาพกระบวนการเรียงเก้าอี้ของศิลปินแล้ว ในนิทรรศการครั้งนี้ยังมีผลงานภาพวาดนามธรรมหลากสีสัน พื้นผิวเต็มไปด้วยเส้นสายป้ายปาด เปี่ยมความเคลื่อนไหวรุนแรง

“พอผมรู้ว่าจะได้แสดงนิทรรศการนี้ พอดีเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการตั้งรัฐบาลขึ้นมาแล้ว ภาพวาดเหล่านี้ผมใช้ชื่อเป็นสีต่างๆ แทนสีของพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาในสภานั่นแหละ แต่ผมใช้กรอบสีแดง เพื่อสื่อถึงพรรคการเมืองสีแดงที่เป็นรัฐบาลในปัจจุบัน และใช้พื้นหลังเป็นสีน้ำเงิน เพื่อสื่อถึงพรรคการเมืองในโครงสร้างอํานาจและผลประโยชน์แบบเก่าที่ควบคุมชักใยอยู่เบื้องหลัง จะเป็นอนุรักษนิยม, ทุนนิยม หรืออะไรก็ตามแต่ การเสี่ยงหรือลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกลไกซึ่งขับเคลื่อนสังคมมายาวนานย่อมก่อให้เกิดการต่อต้าน อาจจะทั้งจากบางกลุ่มที่หวาดหวั่นถึงความเปลี่ยนแปลง หรือบางกลุ่มที่อาจสูญเสียประโยชน์ นี่คือเหตุผลของความสับสนอลหม่านของเกมการเมืองไทยทุกวันนี้ สีสันเส้นสายในภาพวาดก็ได้มาจากตัวเก้าอี้นั่นแหละ ภาพวาดพวกนี้ก็คือการเรียงตัวของเก้าอี้ดีๆ นี่เอง แต่ผมอยากให้ภาพวาดเหล่านี้เป็นส่วนเสริมมากกว่า เพราะประเด็นหลักของงานนี้คือเก้าอี้”

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการในนิทรรศการครั้งนี้ก็คือ งานศิลปะจัดวางจากเก้าอี้หลากสีเหล่านี้ถูกจัดเรียงซ้อนขึ้นไปสูงจนเกือบถึงเพดาน และวางเรียงต่อกันจนเป็นเหมือนกำแพงแบ่งห้องแสดงงานออกเป็นสองฟากฝั่ง ทำให้ผู้ชมไม่สามารถเดินผ่านไปอีกฝั่งได้

เพราะถ้าหากเผลอเฉียดโดนแม้เพียงเล็กน้อย กำแพงเก้าอี้เหล่านี้ก็อาจฟังครืนลงมาได้โดยง่ายดาย เพราะเก้าอี้แต่ละตัวถูกวางซ้อนกันอย่างหมิ่นเหม่โดยไม่ได้ยึดติดกันให้แน่นหนาแต่อย่างใด

ราวกับจะแทนภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยที่ถูกแบ่งแยกเป็นสองฝักฝ่าย และความหวังของประชาชนในประเทศที่เต็มไปด้วยความหมิ่นเหม่และเปราะบาง พร้อมจะแตกสลายพังทลายได้ตลอดเวลา

“ผมตั้งใจจัดเรียงเก้าอี้เหล่านี้ให้เป็นเหมือนกำแพงบางอย่าง แต่ผมไม่ได้คิดไปถึงขนาดการแบ่งประเทศนี้ออกเป็นฝั่งสองฝ่าย แต่อยากให้เป็นเหมือนอุปสรรคที่ขวางทางเราอยู่ จะเดินหน้าไปให้สุดทางก็ทำไม่ได้ จะถอยหลังก็ไม่มีทางให้ถอย ก็ต้องเดินอ้อมเอา ถ้าใครบังเอิญชนจนเก้าอี้ล้มลงมา ก็ปล่อยให้ล้มไป นี่ก็มีล้มไปบ้างแล้ว”

“ตอนแรกผมไม่ได้ตั้งใจทำงานชุดนี้เป็นนิทรรศการ แค่ทำเป็นงานวิดีโอแสดงสดแล้วลงในโซเชียลมีเดีย แต่พอทำเสร็จแล้วผมอยากแสดงให้คนเห็น เพราะไม่อย่างงั้นมันจะอยู่แค่ในเฟซบุ๊กหรือภาพถ่าย ผมอยากให้คนมาเห็นตัวงานของจริง ซึ่งเสน่ห์ของงานศิลปะจัดวางจะทำให้ผู้ชมสัมผัสถึงความรู้สึกของงานได้มากกว่า พอมาปรึกษากับทาง 333 Gallery ว่าพอจะมีพื้นที่ว่างในช่วงเวลานี้หรือเปล่า เอาแค่สัก 3 วันก็พอ เพราะถ้าไม่แสดงในช่วงเวลานี้ งานชุดนี้ก็ไม่มีความหมายแล้ว พอดีว่าเขามีช่วงว่างก่อนนิทรรศการถัดไปให้ผม 12 วัน ผมก็ตกลงทันที”

“จุดมุ่งหมายของงานชุดนี้คือ ผมคิดว่าครั้งหนึ่งประเทศเรามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ผมเลยอยากบันทึกเอาไว้ เพราะไม่อยากให้ทั้งตัวผมเองและคนอื่นๆ ด้วย ลืมสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเรา เพราะพอเราอยู่กับเรื่องเดิมนานๆ บางทีเราหลงลืมบางเรื่องไป บางครั้งเราก็เลือกที่จะลืมด้วย อย่างเหตุการณ์ทางการเมืองในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญ พอเราได้กลับไปอ่านก็รู้สึกว่าเราไม่ควรจะลืมเรื่องราวเหล่านั้น เหตุการณ์การเลือกตั้งในครั้งล่าสุดที่ผ่านมาก็เป็นอีกห้วงขณะหนึ่งที่เราไม่ควรลืม เราควรจดจำและเรียนรู้จากมัน อย่างน้อยที่สุด ถ้าเราจำได้ ครั้งต่อไปเราอาจจะตัดสินใจได้ดีขึ้นก็เป็นได้”

นิทรรศการ COLLAPSED : ทรุด โดย วิชญ มุกดามณี จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 10-22 ตุลาคม 2566 ที่ 333 Gallery โครงการ Warehouse 30 ซอยเจริญกรุง 30 (ตรอกกัปตันบุช) บางรัก กรุงเทพฯ (เข้าชมฟรี), สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Page Facebook @333anywhere โทร.092 682 0990 หรืออีเมล [email protected]

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก 333 Gallery, ภาพถ่ายโดย Preecha Pattara, ข้อมูล https://adaybulletin.com/life-feature-anatomy-of-chairs/55008

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์