บทเรียนเรื่องศาสนากับการเมือง สืบเนื่องจากสงคราม ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

www.facebook.com/bintokrit

 

บทเรียนเรื่องศาสนากับการเมือง

สืบเนื่องจากสงคราม

ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

 

ข่าวใหญ่ที่สุดในตอนนี้คงหนีไม่พ้นสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสของชาวปาเลสไตน์ ซึ่งนับตั้งแต่วันแรกที่เปิดฉากยิงกันก็ได้สร้างความย่อยยับแหลกลาญทั้งต่อพลเรือนและนักรบของทั้งสองฝ่ายมหาศาล

ความวินาศสันตะโรที่มีทีท่าว่าจะลุกลามบานปลายและไม่สามารถจบลงง่ายๆ นี้ ได้ดึงความสนใจของสาธารณชนมาอยู่ที่ข่าวนี้เพียงข่าวเดียวจนกลบข่าวใหญ่อื่นๆ ไปหมด

ไม่ว่าจะเป็นเหตุกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าสยาม พารากอนเมื่อสัปดาห์ก่อน และการครบรอบ 50 ปี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ในสัปดาห์นี้

ความขัดแย้งระหว่างสองชาติคือชาวยิวและชาวปาเลสไตน์นี้กินเวลามาอย่างยาวนานข้ามศตวรรษ

และไม่ได้เป็นความขัดแย้งกันเฉพาะเพียงสองเชื้อชาติเท่านั้น แต่ยังกินวงกว้างไปถึงชนชาติอื่นที่นับถือศาสนาอิสลามด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง

ทำให้เกิดสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานและหาทางออกไม่ได้

รวมทั้งยังสะสมความเกลียดชังระหว่างชนชาติจนยากที่จะพูดคุยเพื่อหาจุดในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้เลย

ซึ่งต้นตอของเรื่องราวทั้งหมดนี้หากย้อนกลับไปสืบหาสาเหตุต้นทางแล้ว ก็มาจากความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกันสุดขั้วอันนำมาสู่ความขัดแย้งที่มิอาจรอมชอมได้

 

ประเด็นต่างๆ ในรายละเอียดของสงครามครั้งนี้ เช่น มูลเหตุของสงครามครั้งนี้มาจากอะไร มีลักษณะและวิธีการรบเป็นเช่นใด ควรแก้ไขความขัดแย้งอย่างไร และคาดการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมาหลังจากนี้บ้าง

ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นหัวข้อที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญศึกษาลงลึก ตลอดจนเกาะติดสถานการณ์ของภูมิภาคนี้มาอย่างต่อเนื่อง

และจนถึงตอนนี้ก็คงมีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านออกมาวิเคราะห์แสดงทัศนะต่อเรื่องดังกล่าวไปมากแล้วผ่านสื่อต่างๆ

บทความนี้จึงไม่ต้องการลงไปร่วมวิจารณ์ในประเด็นดังกล่าว แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญในการนำเสนอแง่มุมต่างๆ ให้สาธารณชนได้พิจารณา

สิ่งที่บทความนี้สนใจก็คือ กรณีนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของความขัดแย้งที่มีรากฐานมาจากความไม่ลงรอยกันของความเชื่อทางศาสนา

ซึ่งท้ายที่สุดได้นำมาสู่โศกนาฏกรรมที่ต่อเนื่องยาวนาน และมีระดับความรุนแรงสูงกว่าการก่ออาชญากรรมที่ไม่ได้มีฐานความขัดแย้งมาจากความเชื่อทางศาสนา

ทั้งยังทำให้ผู้เข้าร่วมสงครามมีความกล้าหาญและกำลังใจที่กล้าแข็งกว่าคนที่ขาดหลักยึดทางศาสนาด้วย เนื่องจากเชื่อว่ากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องหรือทำในนามภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์

ทั้งหมดนี้ทำให้ตั้งคำถามได้ว่าการเมืองที่อิงอาศัยความเชื่อทางศาสนาจะนำมาสู่สังคมที่ดี หรือผลลัพธ์ที่ดีงามได้จริงหรือไม่

หากไม่ เราควรแยกเรื่องการเมืองกับศาสนาออกจากกันอย่างเด็ดขาดหรือเปล่า

 

การแยกศาสนาออกจากการเมือง (Secularization) เป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับค่อนข้างมากในสังคมสมัยใหม่เพราะ

(1) การที่ผู้คนมีศาสนาและความเชื่อส่วนบุคคลอันแตกต่างหลากหลายต้องมาอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันนั้นไม่ควรนำความเชื่อของคนบางกลุ่มมาใช้กับคนทุกคน ทำให้เกิดการยึดถือกฎหมายของรัฐซึ่งไม่นำความเชื่อทางศาสนาเข้ามาบัญญัติไว้ในตัวบทกฎหมาย แต่ต้องอาศัยหลักการทั่วไป หรือการใช้เหตุผลในการแสวงหาความยุติธรรม แล้วแสดงออกผ่านทางตัวบทกฎหมายที่คนทุกศาสนาสามารถยึดถือร่วมกันได้

เนื่องจากความเชื่อทางศาสนาเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล หาใช่เรื่องทั่วไปของสมาชิกทุกคนในสังคม ฉะนั้น จึงไม่ควรนำความเชื่อเฉพาะกลุ่มมาบังคับใช้กับคนทุกกลุ่ม

(2) นอกจากนี้ ความเชื่อทางศาสนายังถูกโจมตีด้วยว่าแต่ละคนต่างเห็นไม่ตรงกัน เมื่อมีความเห็นไม่ตรงกันจึงยิ่งสร้างความขัดแย้งที่ไม่มีวันจบสิ้น แบบเดียวกับที่ชาวยิวเป็นศัตรูกับชาวมุสลิม หากไม่มีความเชื่อทางศาสนาเสียตั้งแต่ต้น ความขัดแย้งดังกล่าวนี้ก็ย่อมไม่มีขึ้นตั้งแต่แรก

หรือแม้กระทั่ง (3) ภายในหมู่ศาสนิกชนที่นับถือศาสนาเดียวกันเองก็ยังตีความเรื่องศาสนาออกมาไม่เหมือนกัน อย่างกรณีของสังคมไทยก็มีการตีความพุทธศาสนาออกมามากมายหลายแบบ บางสำนักก็ต่างกันอย่างสุดขั้ว

เช่น สำนักธรรมกายเชื่อว่านิพพานเป็นอัตตา ในขณะที่พุทธกระแสหลักเชื่อว่าเป็นอนัตตา

หรือการมองว่านิพพานเป็นสภาวะว่างของจิตที่พ้นไปจากอวิชชาซึ่งทำให้สามารถบรรลุได้ในชีวิตนี้เลย ไม่ใช่ในชาติภพหน้าแบบที่เป็นอีกชีวิตหนึ่ง

ขณะที่สำนักอื่นๆ จำนวนมากในสังคมไทยเชื่อเรื่องนิพพานจากการสั่งสมบุญบารมีข้ามชาติข้ามภพแบบที่มีชีวิตข้างหน้า

ยังไม่นับสำนักต่างๆ อีกมากมายมหาศาล ทั้งวัดป่าสายหลวงปู่มั่น สำนักสันติอโศก เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่มีการตีความหลักธรรมทางพุทธศาสนาแตกต่างกันสารพัดแบบ

ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหาทางสร้างสันติสุขในสังคมได้ผ่านการอิงอาศัยความเชื่อทางศาสนา

 

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นด้านมืดของการอาศัยความเชื่อทางศาสนาเข้ามาใช้ในทางการเมืองก็คือกรณีของพระกิตติวุฑโฒภิกขุที่มองว่าการฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป หรือหากบาปก็น้อยกว่าบุญที่ได้ เพราะเป็นการปกป้องพระพุทธศาสนาให้พ้นจากภัยคอมมิวนิสต์

ท้ายที่สุดความคิดนี้ได้เป็นส่วนสำคัญอันจุดประกายให้มวลชนขวาจัดบุกตะลุยเข้าไปสังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้อย่างเลือดเย็นโดยไม่รู้สึกผิดบาป

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการนำความเชื่อทางศาสนามาใช้ในทางการเมืองนั้นสามารถนำไปสู่การกระทำที่โหดร้ายได้

และอาจรุนแรงกว่าพฤติกรรมของคนที่ไม่ใช้หลักความเชื่อทางศาสนาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แนวทางการแยกศาสนาออกจากการเมืองเช่นนั้นก็ถูกโต้แย้งจากแนวคิดที่ไม่ได้แยกศาสนาออกจากการเมืองว่า

(1) ลำพังกฎหมายอย่างเดียวไม่สามารถควบคุมความประพฤติของผู้คุมได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่สบช่อง คนที่ไม่มีศีลธรรมก็จะหาทางหลบหลีกกฎหมายเพื่อทำสิ่งไม่ดีได้เสมอ ความเชื่อเรื่องศีลธรรมแม้จะหาทางลงรอยกันได้ยาก แต่ก็จำเป็นต่อการเป็นรากฐานของสังคมสำหรับกำกับพฤติกรรมถูกผิดดีชั่วของผู้คนอยู่ตลอดเวลา แม้ในบริเวณช่องว่างที่กฎหมายเข้าไปไม่ถึง

(2) ถึงแม้ในทางปฏิบัติจะมีเหตุการณ์ต่างๆ มากมายที่แสดงให้เห็นว่ามีคนทำสิ่งไม่ดีอยู่แทบตลอดเวลา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรมีหลักยึดทางศาสนา ทว่ากลับยิ่งต้องมีอยู่ เพื่อทำให้สามารถตัดสินถูกผิดดีชั่วได้ และทำให้สังคมได้มีโอกาสเจริญเติบโต หรือยกระดับมาตรฐานของสังคมไปสู่สิ่งดีงามตามอุดมคติได้ต่อไปในอนาคต

อีกประการหนึ่งก็คือ (3) ต่อให้อยากแยกศาสนาออกจากการเมืองสักเพียงใดก็ตาม มนุษย์ก็ไม่สามารถแยกออกได้อยู่ดี เพราะความคิดเรื่องศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของวิธีคิดของมนุษย์ เนื่องจากการออกกฎหมายใดๆ ก็ตามล้วนแล้วแต่ผ่านการตัดสินคุณค่าทางศีลธรรม (moral judgement) เสมอ ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรดี อะไรชั่ว

กฎหมายที่ออกมาก็คือผลลัพธ์ของความเชื่อว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกที่ผิด

เมื่อใดก็ตามที่กฎหมายออกมาได้ โดยคนในสังคมยอมรับกฎหมายร่วมกัน ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าคนในสังคมนั้นมีฐานความเชื่อทางศีลธรรมนั่นเอง

 

ประเด็นเรื่องการเมืองกับศาสนาควรแยกออกจากกันหรือไม่เป็นคำถามที่มีมาช้านานแล้ว

สำหรับผู้ที่เชื่อว่าไม่ควรแยกออกจากกันนั้นมองเห็นว่าศาสนาทำให้การเมืองดี สังคมดี ขาดไร้ซึ่งศีลธรรมทางศาสนาเสียแล้ว สังคมที่ดีย่อมเป็นไปไม่ได้

แนวความคิดสายนี้นำมาสู่ความเชื่อเรื่อง “สงครามที่ชอบธรรม” (just war) รวมทั้ง “สงครามศักดิ์สิทธิ์” (holy war) ซึ่งบางครั้งจำเป็นต้องยอมรับการเข่นฆ่าเพื่อนำไปสู่สังคมที่ดีงาม

ในขณะที่อีกแนวความคิดหนึ่งซึ่งมองว่าควรแยกศาสนาออกจากการเมือง เนื่องจากเป็นความเชื่อเฉพาะกลุ่ม เฉพาะบุคคล ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์มองเห็นเรื่องนี้ไม่ตรงกัน และการที่มีทัศนะทางศีลธรรมไม่ตรงกันนี้เอง สามารถนำไปสู่ความชั่วร้ายได้มาก และรุนแรงกว่าเดิมด้วย ดังเช่นการประหัตประหารกันในสงครามทางศาสนา หรือการเมืองที่อิงกับฐานความเชื่อทางลัทธิศาสนา

รัฐไทยและสังคมไทยดูจะไม่คุ้นชินกับการถกเถียงในประเด็นเหล่านี้มากนัก ตลอดจนไม่เคยมีบทสรุปที่แน่ชัดว่าภายในสังคมการเมืองของประเทศไทยควรแยกเรื่องศาสนาออกจากการเมืองหรือไม่

แต่ถึงแม้ไม่มีบทสรุปดังกล่าวอย่างจริงๆ จังๆ เลยก็ตาม ไทยยังโชคดีกว่าภูมิภาคอื่นตรงที่ไม่เคยถลำเข้าไปสู่ความขัดแย้งถาวรถึงขีดสุด แบบที่มีรากฐานมาจากความเชื่อทางศาสนาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และระเบิดเป็นสงครามรุนแรงถึงขั้นนั้น