ก้าวที่ต้องฮึดของรัฐบาลเศรษฐา เดินหน้าแจกเงินดิจิทัล ร้านค้าลงทะเบียน พ.ย.นี้

บทความพิเศษ | ศัลยา ประชาชาติ

 

ก้าวที่ต้องฮึดของรัฐบาลเศรษฐา

เดินหน้าแจกเงินดิจิทัล

ร้านค้าลงทะเบียน พ.ย.นี้

 

นโยบาย “แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” หรือที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาเรียกว่า “นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต” ถูกคัดค้านอย่างหนัก จากบรรดานักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ รวมถึงอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งมีการออกแถลงการณ์ ทั้งการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ โดยทั้งหมดล้วนมองว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย”

ขณะเดียวกันก็มีคำกล่าวที่มักจะได้ยิน ก็คือ “ไม่เห็นมีนักเศรษฐศาสตร์คนไหน เห็นด้วยกับนโยบายแจกเงินดิจิทัลสักคน”

ทำให้รัฐบาลนั่งไม่ติด โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า ตั้งแต่เข้ามาเป็นนายกฯ รัฐบาลและคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำทั้งหลายจากทุกหน่วยงาน รวมถึง ธปท.ด้วย น้อมรับไปพิจารณา เพื่อปรับปรุงแต่งเติมให้ทุกอย่างดูดีขึ้น แต่ไม่มีการยกเลิก

“โครงการเงินดิจิทัล ไม่ใช่โครงการหาเสียง ไม่ใช่โครงการที่มาโปรยเงินให้ประชาชนเลือกตั้งให้เรากลับมาใหม่ แต่เป็นโครงการที่เราตระหนักดีถึงความจำเป็นและความต้องการของประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

 

ขณะที่กระทรวงการคลังส่ง 2 รัฐมนตรีช่วย พร้อมด้วยปลัดกระทรวงการคลัง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และทีมที่ปรึกษารัฐมนตรี ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงตอบโต้ทันที

โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีความคิดที่จะยกเลิก “เติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต” แน่นอน แต่พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น และข้อท้วงติงที่เป็นประโยชน์ ซึ่งการออกมาแสดงความเห็นลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ดี เป็นบรรยากาศที่ไม่ได้เห็นกันมานาน

“เราไม่ได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะอย่างนี้ในรัฐบาลก่อนหน้า ทั้งที่ก่อนหน้านี้นโยบายหลายตัวก็มีข้อถกเถียงในเรื่องของความคุ้มค่า ในเรื่องของการที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ไขเรื่องการฟื้นตัวหลังการระบาดของโควิด-19 ได้หรือไม่” นายจุลพันธ์กล่าว

นายจุลพันธ์กล่าวอีกว่า นโยบายเติมเงินรอบนี้ จะมีประสิทธิภาพกว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในอดีต ด้วยเงื่อนไขที่กำหนด จะบังคับให้เงินนี้นำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า เพราะไม่สามารถนำไปสู่การออม ไม่สามารถนำไปสู่การชดใช้หนี้สิน และไม่สามารถนำไปสู่อบายมุขได้

อย่างไรก็ดี สำหรับรัศมีการใช้จ่ายที่กำหนดไว้ที่ 4 กิโลเมตรนั้น ขณะนี้มีความโน้มเอียงค่อนข้างมากที่จะขยายกรอบระยะทาง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและสะดวกต่อประชาชนมากขึ้น โดยอาจจะขยายเป็นใช้จ่ายในตำบล หรืออำเภอ หรือจังหวัด ซึ่งจะเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา เพื่อให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนตุลาคมนี้

“คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการ จะประชุมนัดแรกวันที่ 12 ตุลาคม และจากนั้นจะประชุมหาข้อสรุปอีกครั้งในวันที่ 19 ตุลาคม ก่อนเสนอรายละเอียดให้คณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน ในวันที่ 24 ตุลาคม” นายจุลพันธ์กล่าว

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวย้ำว่า การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของมาตรการขึ้นอยู่กับการพิจารณาความเหมาะสม โดยหากไม่กระทบกับวัตถุประสงค์หลักของนโยบายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้น ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ถูกออกแบบมาเพื่อจุดชนวน “กระตุกเศรษฐกิจ” ให้เติบโตขึ้นมาอีกครั้ง โดยจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง กระจายไปทุกที่ ให้เงินหมุนเวียนไปถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิต และโอกาสในการประกอบอาชีพ เกิดการจ้างงาน เกิดการลงทุน ซึ่งภาคธุรกิจก็จะได้รับอานิสงส์ด้วย

โดยคาดว่าในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเริ่มเปิดให้ร้านค้าเข้ามาลงทะเบียนร่วมโครงการได้

“อันนี้เป็นหลักคิดที่เราได้วางไว้ตั้งแต่ต้น และเรายังเชื่อมั่นว่าด้วยกลไกของนโยบาย จะประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่เราวางไว้ได้ แน่นอนว่าในที่สุดรัฐจะได้รับเงินคืนมาในรูปของภาษี และจะเป็นการวางรากฐานในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าว

 

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เนื่องจากตอนนี้ นโยบายยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ยังอยู่ระหว่างออกแบบมาตรการ ดังนั้น สิ่งที่วิจารณ์กันก็เป็นการวิจารณ์นโยบายในร่างแรก โดยมาถึงวันนี้ก็มีพัฒนาการในเรื่องรายละเอียด อย่างไรก็ดี พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ ข้อท้วงติงที่เป็นประโยชน์ เพื่อมาออกแบบมาตรการเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด

“หลายๆ เรื่องก็มีการปรับเปลี่ยน ไม่ใช่อย่างวันแรกที่เกิดขึ้น มันมีพัฒนาการอยู่ ซึ่งที่พูดกันว่า 5.6 แสนล้านบาท ก็ต้องบอกว่า โครงการนี้ออกแบบว่า ให้คนอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีคนกลุ่มนี้อยู่ 56 ล้านคน ดังนั้น ถ้าจะให้เงินคนละ 10,000 บาท ก็ต้องใช้เงิน 560,000 ล้านบาท แต่นั่นต้องหมายความว่าทุกคนต้องเข้าร่วมโครงการทั้งหมด แต่โครงการนี้เมื่อเกิดขึ้นจริง จะต้องมีการลงทะเบียน ต้องมีการยืนยันตัวตนเพื่อเข้าร่วมโครงการ ดังนั้น จะเกิดขึ้นจริงเท่าไหร่ต้องว่ากันอีกที” นายลวรณกล่าว

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า ต้องยอมรับว่าวันนี้ เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ จะเห็นได้จากการปรับลดประมาณการการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มจะลดลงอีก ซึ่งจะกระทบต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ ถือว่าไม่ผิด เพื่อทำให้กลับไปอยู่ในจุดที่ใกล้เคียงศักยภาพ และนโยบายการเงินกับนโยบายการคลังก็ต้องทำงานไปในทิศทางเดียวกันด้วย ซึ่งตนจะมีการหารือกับ ธปท. ถึงเรื่องนี้ต่อไป

“ผมเพิ่งมาทำงาน ก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องไปพูดคุยกับ ธปท. เพื่อจะได้เข้าใจถึงความตั้งใจของรัฐบาล ถึงทิศทางที่จะเดินไป เราไม่ได้ละเลยเรื่องเสถียรภาพ แต่ว่าต้องพูดความจริงกันว่า ในเมื่อวันนี้ GDP โตต่ำกว่าศักยภาพ จะเกิดปัญหาอะไรบ้าง เพราะ GDP ที่โต คือ ความกินดีอยู่ดีของประชาชน มันคือภาษีที่โต มันคือเศรษฐกิจที่โต มันคือสิ่งที่รัฐบาลอยากจะทำหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องเงินเดือน เรื่องค่าแรง ก็ต้องสอดรับกับ GDP ที่โต” นายลวรณกล่าว

 

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า อยากให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพของกระทรวงการคลัง ในการรักษาวินัย ทั้งเรื่องแหล่งเงิน การใช้จ่าย และการใช้คืน ทั้งหมดนี้จะมีความชัดเจนในสิ้นเดือนตุลาคมนี้

ในเมื่อรัฐบาลยืนยันหนักแน่นว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องเดินหน้านโยบายนี้

หลังจากนี้ก็คงต้องมาพิจารณาในรายละเอียดกันแล้ว ว่าจะลดความเสี่ยง หรือข้อกังวลต่างๆ ลงไปได้แค่ไหน

ต้องติดตามกันต่อไป