TAR | ‘ศิลปะ VS ศิลปิน’

นพมาส แววหงส์

ขอสารภาพว่าเพิ่งได้ดู Tar ใน HBO GO ค่ะ

เป็นหนังที่หมายใจไว้ว่าจะดูให้ได้ และติดตาวไว้ในลิสต์ “ต้องดู” มาตั้งแต่เมื่อปีมะโว้ในความรู้สึก แต่ที่จริงก็คือเมื่อปลายปีที่แล้วนี่เอง

โอ้เอ้ ปล่อยเวลาให้ล่วงผ่านนานเนิ่นมาจนจะเวียนบรรจบครบขวบปี…ด้วยความที่ไม่ได้ขวนขวายหามาดูเองแหละ

แรกเริ่มคือ หนังมี “อินโทร” ให้กดข้ามไปได้ เช่นดังในหนังที่สตรีมมาถึงบ้าน แต่ด้วยความที่อยากดูให้เต็มตาตามที่ผู้กำกับหนังตั้งใจให้ดู ก็เลยปล่อยให้เล่นไปเรื่อยๆ ตามเพลง เมื่อไหร่หนังอยากเริ่ม ก็ตัดเข้าเรื่องเองนั่นแหละน่า

เป็นอินโทรที่นับว่าพิสดารละค่ะ นอกจากเอาเครดิตท้ายเรื่องมาเล่นเป็นการเริ่มเรื่องแล้ว ยังเป็นการเล่นถอยหลังจากส่วนหลังสุดของเครดิตท้ายเรื่อยย้อนมาสู่จุดเริ่มต้นของเอ็นด์เครดิต

เป็นการย้อนเวลา เพื่อกลับมาเดินหน้าต่อจากปัจจุบัน…เหมือนจะให้เราฉุกใจคิดพิจารณาทบทวนวิเคราะห์วิจารณ์หลังเหตุการณ์ผ่านพ้นไป

ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดลงท้าย อดีตและปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไป สร้างสรรค์หรือหักเหไปสู่อนาคตที่ไม่มีใครบอกได้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ความไม่แน่นอน (Maybe) เปิดกว้างไว้สำหรับสิ่งที่ยังไม่เกิด

ตัวเอกของหนังคือ ลิเดีย ทาร์ (เคต บลานเช็ตต์) ซึ่งกำลังจะก้าวขึ้นเวทีในเทศกาลศิลปะ เพื่อการพูดคุยสัมภาษณ์ตัวต่อตัวกับนักหนังสือพิมพ์ของ “เดอะ นิวยอร์กเกอร์” ตัวจริงเสียงจริง คือ อดัม กอปนิค ซึ่งเล่นเป็นตัวเอง

หลังจากแนะนำตัวศิลปินอย่างเป็นทางการด้วยเกียรติประวัติในอาชีพการงานและความสำเร็จอันน่าทึ่ง-หนึ่งในนั้นคือการได้ขึ้นทำเนียบ EGOT ซึ่งหมายถึงศิลปินที่ได้รับรางวัลใหญ่สี่รางวัลทั้งหมด คือ เอ็มมี่ แกรมมี่ ออสการ์และโทนี่

ลิเดีย ทาร์ เป็นวาทยกรหญิงผู้ควบคุมวงเบอร์ลิน ฟิลฮาร์โมนิก ออร์เคสตรา อันน่าภาคภูมิ และกำลังมีผลงานใหญ่สองชิ้นที่จะออกสู่สายตาประชาชน นั่นคือ ซิมโฟนีหมายเลข 5 ของนักแต่งเพลงผู้ยิ่งใหญ่ กุสตาฟ มาห์เลอร์ และหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเธอเองในชื่อว่า Tar on Tar (ทาร์เล่าเรื่องทาร์)

เรียกได้ว่า ลิเดีย ทาร์ ก้าวขึ้นสู่จุดสุดยอดของอาชีพการงานในวงการที่ผู้ชายครอบครองมาตลอดกาลอันยาวนาน

แต่สถานะอันสูงสุดในวงการศิลปะนี้กำลังคลอนแคลนและซวดเซ ด้วยเหตุการณ์เหนือคาดเรื่องหนึ่ง นั่นคือ การฆ่าตัวตายของคริสตา เทย์เลอร์ (ซิลเวีย โฟลต) นักดนตรีในวงออร์เคสตราภายใต้การควบคุมวงของลิเดีย ทาร์

การตายของคริสตาถูกโยงไปสู่ความสัมพันธ์ของเธอกับลิเดีย ทาร์ และการใช้อำนาจอันน่าเคลือบแคลงของทาร์

ลิเดีย ทาร์ โดนกระแสสังคมประณาม รังเกียจเดียดฉันท์ ต่อต้าน และถูกขับออกจากสังคม ในลักษณะที่เรียกกันในปัจจุบันว่า cancel culture

แต่ขณะเดียวกัน เนื้อหาของหนังก็เป็นมากกว่านั้นอีกมาก

หนังตั้งคำถามที่ตอบได้ยาก ในเรื่องศิลปะกับตัวศิลปิน ศิลปะที่ยิ่งใหญ่นั้นควรจะแยกออกจากตัวตนของศิลปินหรือไม่

ในสังคมที่อ่อนไหวและไวต่อความรู้สึกของชนกลุ่มต่างๆ ตามศัพท์ปัจจุบันที่เรียกว่า woke นี้ ตัวตนของศิลปินอาจโดนโจมตีกระหน่ำ จนถึงขั้นถูกขับออกจากวงการ ต้องหลบลี้หนีหน้าไปหาจุดเล็กๆ ที่ไม่มีใครรู้จักก็ได้

หนังไม่ได้เล่าเรื่องตามขั้นตอนที่จะเข้าใจได้ง่าย แต่คนดูจะต้องปะติดปะต่อและตีความเอง ซึ่งคนดูที่ต้องการอ้าปากรับอาหารที่ป้อนเข้าปากอย่างเดียว อาจงงงันจนถึงขั้นดูไม่ค่อยรู้เรื่องไปเลย

แต่นี่เป็นหนังที่สร้างสำหรับนักดูหนังที่สนุกกับการใช้ความคิดขบปริศนาแบบที่ไม่ให้ความกระจ่างออกโต้งๆ โดยจะต้องเก็บเล็กผสมน้อยและประมวลตีความเอาเอง

สิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนติดตามเรื่องได้แบบไปไหนไม่พ้น คือการแสดงอันเยี่ยมยอดของเคต บลานเช็ตต์ ซึ่งสร้างแคแร็กเตอร์ของลิเดีย ทาร์ ให้เป็นหญิงเก่งและแกร่งที่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังซับซ้อน

เธอสร้างตัวเองให้ขึ้นมายืนผงาดในแถวหน้าของอาชีพการงานด้วยพรสวรรค์และความสามารถทางดนตรีล้วนๆ โดยทิ้งอดีตอันไม่อยากเปิดเผยไว้เบื้องหลัง และเปลี่ยนแม้กระทั่งชื่อเสียงเรียงนาม

แต่ถึงที่สุดแล้ว เธอก็ต้องกลับไปเผชิญหน้ากับอดีตที่เธอทิ้งมา

ผู้เขียนชอบฉากจบของหนังมากเลย เป็นการพลิกลงเอยไปสู่การที่ทาร์จำต้องรับงานควบคุมวงดนตรีสำหรับงานเปิดตัวอย่างอลังการของวิดีโอเกมใหม่ชื่อ Monster Hunter

ทำให้ต้องคิดว่าใครเป็นตัวอสูร (monster) ใครเป็นนักล่า (hunter) สำหรับหนังเรื่องนี้กันแน่

ผู้ล่ากลายเป็นผู้ถูกล่า

สัตว์กินเหยื่อเพลี่ยงพล้ำตกเป็นเหยื่อเสียเอง

และการนำเสนอฉากตอนจบนั้นหักมุมอย่างเหนือคาด

ทาร์ก้าวขึ้นสู่เวทีเพื่อควบคุมวงออร์เคสตรา ขณะที่จอยักษ์เลื่อนจากเหนือเวทีลงมาครึ่งหนึ่ง วงออร์เคสตราอยู่ใต้จอที่ฉายภาพการต่อสู้ของนักล่ากับอสูร เป็นการเปิดตัววิดีโอเกม Monster Hunter สู่สายตาแฟนๆ เป็นครั้งแรก

และกล้องแพนไปท่ามกลางหมู่คนดูในโรงละครนั้น คนดูทุกคนแต่งกายด้วยแฟชั่น Monster Hunter

นี่เป็นวัฒนธรรมใหม่ที่เริ่มแพร่หลายในสังคม ซึ่งมีศัพท์เรียกว่า Cosplay (costume + play)

ตอนจบของหนังจึงทำให้ผู้เขียนได้หัวเราะออกมาดังๆ เลย!! •

TAR

กำกับการแสดง

Todd Field

แสดงนำ

Cate Blanchett

Nina Hoss

Noemie Merlant

Sophie Kauer

Mark Strong

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์