เก็บความ นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เศรษฐกิจเสรีในไทยเกิดเมื่อรัชกาลที่ 3 มีมาก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เป็นที่ทราบกันดีในแวดวงการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ไทยว่า “ปากไก่และใบเรือ” เป็นหนังสือรวบรวมบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ของนักประวัติศาสตร์ระดับไอคอนของไทยผู้ล่วงลับไปเมื่อไม่นานมานี้อย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2527 นั้น เป็นงานวิชาการฉบับแรกของไทยที่พูดถึงการค้าเสรีสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ว่า ไม่ได้เพิ่งมีเมื่อเราจรดปากกาเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง แต่เริ่มเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว

ผมเองโชคดีที่ได้เคยพูดคุยกับ อ.นิธิ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในยุคหลังจากที่หนังสือปากไก่และใบเรือตีพิมพ์มาหลายสิบปีแล้ว

ความคิดเห็นของ อ.นิธิ จึงมีทั้งส่วนที่คงเดิม และแตกต่างไปจากในหนังสือระดับตำราประวัติศาสตร์ไทยชั้นเยี่ยมเล่มดังกล่าว

แถมยังโชคดียิ่งกว่า ที่ได้จดบันทึกบทสนทนาในครั้งนั้นเอาไว้ด้วย

ก็เลยอยากนำมาแบ่งปันให้ทุกท่านได้อ่านกันดังนี้นะครับ

 

อ.นิธิ บอกว่า ทุกครั้งที่เราพูดถึงเศรษฐกิจเสรี หรือการค้าเสรีก็ตามแต่ มันไม่ใช่ความจริงที่ลอยอยู่ในอากาศ แต่เป็นเรื่องที่นิยามขึ้นเอง หรือกำหนดเอาเอง ไม่ได้เป็นสภาวะที่มีอยู่จริง แต่ถูกนิยามขึ้นมาว่า แค่ไหนจึงถือว่าเป็นเศรษฐกิจเสรี?

ในปัจจุบันนี้เมื่อเราพูดถึงเศรษฐกิจเสรี หรือการค้าเสรีก็ค่อนข้างที่จะนิยามตามเสรีนิยม ของลัทธิเสรีนิยม กับเสรีนิยมในความหมายของฝรั่งค่อนข้างมาก

หนึ่งในลักษณะเด่นๆ ของเสรีนิยมแบบตะวันตกคือ การมีข้อผูกมัดการกระทำของคนในสังคมที่เป็นลายลักษณ์อักษร

ด้วยเหตุดังนั้น เวลากล่าวถึงเรื่องของการค้าเสรี นักประวัติศาสตร์จึงพยายามจะไปมองหาอะไรที่เป็นลายลักษณ์อักษร แล้วก็ไปหาเจอตัวสนธิสัญญา หรือกฎหมายอะไรก็แล้วแต่

เพราะฉะนั้น ในกรณีของไทยก็ไปเจอตัวสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ที่เป็นลายลักษณ์อักษร จึงใช้สนธิสัญญานี้เป็นตัวขีดเส้นแบ่งระหว่างก่อนการค้าเสรี กับหลังการค้าเสรี

แต่ความเป็นจริงเราไม่สามารถขีดเส้นอย่างนั้นได้เลยสักนิด เพราะมันมีความคลี่คลายของสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนตัวลายลักษณ์อักษร ในกรณีนี้ อ.นิธิ ท่านว่ามีข้อน่าคิดอยู่สองประการ

ประการแรก การค้าเสรีตามอุดมคติไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีความเสมอภาคในระดับที่จะสามารถทำให้มีการแข่งขันกันโดยเสรีได้จริง

และที่จริงแล้ว ในทุกครั้งก็ยังผูกขาดโดยทางตรง หรือทางอ้อม การผูกขาดที่ชัดๆ อย่างอาวุธ หรือยาเสพติด จำพวกบุหรี่ สุรา โดนรัฐเป็นผู้ผูกขาด คือ ไม่ได้ปล่อยให้มีการค้าโดยอิสระ

ประเด็นที่สอง เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง ให้ความสำคัญกับการกระทำของตัวเองมากเกินไปว่า การทำสัญญาเบาว์ริ่งสำเร็จเป็นการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน

อ.นิธิ ให้ข้อคิดว่า หากพิจารณาสภาพสังคมสมัยรัชกาลที่ 3 หรือจะเลยไปถึงรัชกาลที่ 1 เลยก็ได้ สยามมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ที่ค่อยๆ คลี่คลาย ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาก่อนหน้าสนธิสัญญาเบาว์ริ่งแล้ว ทำให้การทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งเป็นไปอย่างสงบ หลังจากการทำสนธิสัญญาเสร็จสิ้นจึงไม่มีการกบฏ หรือไม่มีการจลาจลใดๆ ทั้งสิ้น

ต่างจากอีกหลายๆ ชาติ ที่ยังไม่ทันมีการลงนามใดๆ กับฝรั่งก็มีการจลาจลวุ่นวายไปหมดแล้ว

อ.นิธิ อธิบายว่า ที่ไม่มีเหตุวุ่นวายก็เพราะในสังคมสยามมีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นที่ทำให้รองรับความเปลี่ยนแปลงที่เบาว์ริ่งอ้างว่าคือการปฏิวัติได้โดยราบรื่นกว่า

ดังนั้น จึงอาจจะกล่าวได้ว่า ได้เกิดการเปิดเสรีในพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และสังคมของสยามในระดับหนึ่งมาก่อนหน้าสัญญาเบาว์ริ่งแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัชกาลที่ 3 ซึ่งจะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างชัดเจนเลยทีเดียว

 

การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ และสังคมที่ว่านี้ ก็มีประเด็นที่สำคัญอยู่อย่างน้อยสองประการเช่นกัน

ประการแรก การผลิตเปิดเสรีขึ้นกว่าเก่ามาก ประเด็นนี้อาจจะไม่ใช่มาจากนโยบายรัฐบาลสยามเอง แต่มาจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกข้างนอก

“พระเอก” หรือตัวละครสำคัญของความเปลี่ยนแปลงของการผลิตคือ “คนจีน” อย่างที่หลายๆ ท่านทราบกันดี

แต่ก็ต้องระวังด้วยว่า ไทยกับจีนติดต่อค้าขายกันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว อยุธยามีคนจีนอพยพเข้ามาอยู่มากมาย แต่ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการอพยพเข้าของคนจีนในยุคต้นรัตนโกสินทร์อยู่ตรงที่ว่า คนจีนในสมัยอยุธยาซึ่งส่วนใหญ่เป็นฮกเกี้ยน มาอยู่ที่อยุธยาเพื่อที่จะทำการค้าระหว่างประเทศ

แต่คนจีนที่มากรุงเทพฯ ในสมัยรัตนโกสินทร์ไม่ได้มาทำการค้าแต่เพียงอย่างเดียว แต่เข้ามาทำการผลิตด้วย

อย่างไรก็ดี การผลิตโดยอิสระ หรือการผลิตเสรีในที่นี้ ไม่ได้เปิดกว้างถึงขนาดปัจจุบัน เพียงแต่เรียกได้ว่า เปิดกว้างกว่าที่เคยเป็นมาก่อน สิ่งที่ไม่เคยผลิตก็ได้ผลิต แล้วอำนาจที่เคยมีอยู่ ที่เข้ามาขวางก็ไม่ขวาง กลับมาส่งเสริมให้ทำเสียอีก เป็นต้น

ประการที่สองคือ การขยายตัวของเศรษฐกิจเงินตรา การขยายตัวของตลาดภายใน

แน่นอนว่า จะนำมาเทียบกันกับสมัยหลังไม่ได้ เพราะในสมัยโน้นยังมีจำนวนประชากรน้อยกว่า และเงื่อนไขอื่นๆ ร้อยแปด แต่อย่างน้อยสภาพการณ์อย่างที่ว่าก็ทำให้พื้นที่ในภาคกลาง ซึ่งมีการคมนาคมสะดวก และพื้นที่ที่ใกล้นิคมการผลิตใหญ่ๆ สามารถผลิต “อาหาร” เพื่อป้อนคนที่ไม่ได้ผลิตอาหารได้

ตัวอย่างที่น่าสนใจตัวอย่างหนึ่งก็คือ การที่ไพร่ชาวสยามจำนวนหนึ่งไปปลูกอ้อย

เพราะว่า “อ้อย” เป็นพืชที่ไม่ได้เอาไว้กินเอง ไม่ใช่การปลูกเพื่อเพื่อยังชืพ กล่าวคือ เศรษฐกิจแบบเลี้ยงตนเองในอดีตกำลังสลายลง แล้วคนก็ออกมา อย่างน้อยเนี่ยก็ได้แก่คนจำนวนหนึ่ง ซึ่งทำให้ตลาดขยายตัวมากขึ้น

 

โดยสรุปก็คือ การค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ก่อให้เกิดการผลิตขึ้นหลายอย่างมาก และมีผลกระทบตามมาอีกหลายอย่าง

ในขณะเดียวกัน นโยบายผูกขาดการค้าของรัฐเองโดยเฉพาะรัชกาลที่ 3 ก็ค่อนข้างจะผ่อนคลายลงบ้าง จนถึง 5-6 ปีสุดท้ายเท่านั้น ที่กลับมาใช้นโยบายผูกขาดใหม่

แต่ถ้านับตั้งแต่ต้นรัชกาลแล้ว เอกสารต่างชาติทั้งของเบอร์นี ของโปรตุเกส ฯลฯ ต่างกล่าวไปในทำนองเดียวกันว่า

“เจ้าชายองค์นี้ คือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ขึ้นครองราชย์เมื่อไหร่ก็จะเปิดเสรีทางการค้า อยากซื้ออะไรก็ซื้อได้ในประเทศไทย แก่การค้าต่างประเทศ”

อย่างน้อยที่สุด สินค้าที่เคยผูกขาดมาก่อนก็เลิกไปเป็นส่วนใหญ่ แต่หันมาเก็บภาษีแทน เพราะรัฐเห็นว่าตนเองจะได้รายได้มากกว่าในการหาประโยชน์กับการผลิต แทนที่จะหาประโยชน์กับการค้า

และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้มีการตั้งภาษีเพิ่มขึ้นเต็มไปหมดในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

 

“แรงงานเสรี” ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญเพราะไม่เคยมีมาก่อนในสังคมสยาม เพราะแรงงานที่ว่าส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากจีน ส่วนแรงงานไทยไปติดอยู่ในระบบสองอย่างคือ ระบบไพร่ กับระบบทาส

ที่น่าสนใจคือว่า ทั้งสองระบบ ไม่ว่าจะเป็น “ทาส” หรือ “ไพร่” ต่างก็เป็นระบบที่กำลังทรุดโทรมลงในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะว่าค่าตัวไพร่และทาสค่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งการซื้อทาสเพื่อเอาไปลงทุนเป็นแรงงานในการผลิต ไม่ค่อยเป็นสิ่งที่จะคุ้มเสียเท่าไหร่นัก (ต้องอย่าลืมว่า ทาสแบบไทยนั้น ต้องให้การดูแลด้วย ต่างจาก slave ในความหมายของฝรั่ง ดังนั้น เมื่อนำไปใช้ในการผลิตจึงไม่คุ้มทุน)

สรุปก็คือ ในช่วงเวลาดังกล่าว ระบบทาสและระบบไพร่นั้น เริ่มที่จะอยู่ไม่ได้กับสังคมไทย รัชกาลที่ 3 จึงมีความนิยมในการจ้างแรงงานเสรีในการสร้างวัดของพระองค์ ขุนนางก็ทำอย่างเดียวกัน จึงเห็นได้ว่า ระบบไพร่ถูกทิ้งให้ค่อยๆ โทรมลง

มีการสำรวจเลกไพร่ เมื่อต้นรัชกาลที่ 5 พบว่า จำนวนไพร่ที่แท้จริงที่อยู่ในบัญชีสูญหายไปมาก จำนวนของเลกไพร่ในสังกัดวังหน้าซึ่งควรมีเป็นหมื่น แต่มีอยู่แค่ 400 คน คือที่เหลือมันหายไปไหนก็ไม่รู้ ไม่มีการสำรวจ

ที่ทั้งหมดที่เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เพราะข้าราชการขี้เกียจนะครับ เพราะข้าราชการขี้เกียจมาตั้งแต่อยุธยาแล้ว แต่เป็นเพราะความจำเป็นในการใช้แรงงานเลกไพร่ลดลงไป จึงปล่อยให้ตัวระบบเลกไพร่พังทลายลง

ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงตรงนี้มันไม่ได้เกิดจากสัญญาเบาว์ริ่งอย่างไร สยามก็ต้องเลิกระบบไพร่ แต่จะเลิกโดยวิธีไหนนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ที่สำคัญคือ รัชกาลที่ 3 เองก็ทราบว่า เวลานั้นฝรั่งมีอำนาจมาก

มีหลักฐานว่าเมื่อตอนเกิดสงครามฝิ่น พระองค์โปรดให้แปลเรื่องสงครามฝิ่นจากหนังสือพิมพ์ฝรั่งที่สิงคโปร์มาถวายรายงานอยู่ตลอดเวลา

เพราะสำหรับสยามแล้ว จีนยิ่งใหญ่มาก เป็นทั้งตลาด เป็นทั้งแหล่งเทคโนโลยี เป็นทุน

เพราะฉะนั้น อ.นิธิจึงเห็นว่า รัชกาลที่ 3 ทรงทราบดีว่าฝรั่งน่ากลัวอย่างไร และสยามไม่มีทางจะไปสู้กับฝรั่งได้ โดยเอาผ่านการเกณฑ์เลกไพร่ไปสร้างกองทัพรบกับฝรั่ง พระองค์ทรงทราบว่าสู้ไม่ได้อย่างแน่นอน

ดังนั้น หากจะวิเคราะห์ให้ถึงที่สุดจริงๆ แล้ว เฉพาะกรณีการค้าเสรี ในสัญญาเบอร์นี กับสัญญาเบาว์ริ่ง จึงไม่ได้ต่างอะไรกันมากมายนัก ต่างกันอยู่เรื่องเดียวคือเรื่องอัตราภาษีศุลกากร (Taxes Carried) เท่านั้น

สรุปแล้ว อ.นิธิ ท่านยังยืนยันว่า เศรษฐกิจการค้าเสรี ไม่ได้เป็นแค่ตลาด และมีในสยามมาตั้งแต่ก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง โดยเห็นได้อย่างชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 3 ถ้าเราพิจารณาทั้งด้วยปัจจัยจากภายใน และหลักฐานจากภายนอก ไม่ได้ดูเฉพาะข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษร •

 

On History